ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้อุปสรรคคนแก่ไทยในชนบทเข้าถึงบริการสุขภาพยาก “ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ-ยากจน”

ธนาคารโลกชี้อุปสรรคคนแก่ไทยในชนบทเข้าถึงบริการสุขภาพยาก “ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ-ยากจน”

8 เมษายน 2016


รายงานผู้สูงอายุ

ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ: ความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และอีกไม่นานความต้องการของผู้สูงอายุและปัญหาทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจะมีจำนวนเกินกว่ากำลังการให้บริการทางสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ยากจนในชนบท พร้อมระบุว่าการขยายบทบาทหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะช่วยเพิ่มกำลังและรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ได้

ดร.อูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ประเทศไทยควรพิจารณาการปฏิรูปตั้งแต่ตอนนี้เพื่อเป็นตัวช่วยในการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคม สุขภาพ และการดูแลระยาว รวมถึงความคุ้มครองทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ไปพร้อมๆ กับการจัดการรายจ่ายสาธารณะอย่างยั่งยืน พวกเราทุกคนมีสมาชิกผู้สูงอายุในครอบครัวหรือมีเพื่อนสูงวัยที่ต้องการการดูแล ดังนั้นการเข้าถึงบริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุและการใช้มาตรการที่จะช่วยผู้สูงอายุให้ได้รับประโยชน์จากบริการดังกล่าวโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง”

ในปี 2558 ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนกว่าร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นถึง 17 ล้านคน ภายในปี 2583 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด เมื่อรวมกับประเทศจีนแล้วนั้น ประเทศไทยจะมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคาดว่าจะมีสัดส่วนมากเป็นลำดับแรกของภูมิภาคภายในปี 2583

ในขณะที่ประชาชนไทยทุกคนได้รับสิทธิคุ้มครองจากหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2545 รายงานพบว่ายังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนประสบกับความยากลำบากในการใช้บริการทางสุขภาพเหล่านี้ เหตุผลหลักประการหนึ่งคือ พวกเขาต้องพึ่งพาผู้ดูแลและญาติพี่น้องในเวลาที่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุยากจน และผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุมากกว่า 80 ปีและอาศัยอยู่ในชนบท

“หลายๆ คนเมื่อตอนอายุประมาณ 55-65 ปียังสามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลได้ด้วยตนเอง เมื่อแก่ตัวลงสุขภาพเริ่มอ่อนแอและมีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลได้อย่างเช่นเคย และเมื่อผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อพาพวกเขาไปยังสถานพยาบาล ความถี่ของการใช้บริการที่สถานพยาบาลก็ลดลงในที่สุด แนวโน้มเช่นนี้จะเห็นได้ชัดในหมู่ผู้สูงอายุยากจน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับลูกหลานวัยทำงาน” ดร.สุทยุต โอสรประสพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก และผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว

รายงานพบว่า การขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาย่อมเยาว์เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้กับทางหลวงหรือถนนสายหลักที่มีรถประจำทางวิ่งผ่าน จึงจำเป็นที่จะต้องจ้างรถ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ยากจนและดำรงชีวิตด้วยเบี้ยเลี้ยงยังชีพจากบำนาญถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียวมีความเสี่ยงที่สุดและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการเดินทางมายังสถานพยาบาลในเวลาที่เจ็บป่วย รวมถึงค่าอาหารและค่าที่พักใกล้กับโรงพยาบาลอีกด้วย

“ผู้สูงอายุยากจนในพื้นที่ชนบทประสบกับอุปสรรคต่างๆ มากมายในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ พวกเขาจำเป็นต้องจ่ายค่ายานพาหนะซึ่งมีราคาสูงเพื่อเดินทางมายังโรงพยาบาล รวมไปถึงค่าอาหารและที่พัก และยังมีอีกหลายกรณีที่ผู้สูงอายุต้องยืมเงินเพื่อมาจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการทางสุขภาพได้” นางสาวศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว

นอกจากนี้ อาสาสมัครประจำหมู่บ้านมีบทบาทในการช่วยเหลือทางด้านสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านการเยี่ยมเยียนตามบ้าน และการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่งได้มีบทบาทในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีบริการรถตู้ฉุกเฉินสำหรับชุมชนและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ประเทศไทยเองก็สามารถสนับสนุนและขยายการดำเนินงานแนวปฏิบัติที่ดีเหล่านี้ได้ รวมไปถึงบริการเยี่ยมบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และมาตรการต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในการเดินทางมายังสถานพยาบาลเมื่อจำเป็น