ThaiPublica > คนในข่าว > “วิษณุ เครืองาม” นักเล่าเรื่อง – สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย (1)

“วิษณุ เครืองาม” นักเล่าเรื่อง – สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย (1)

6 ธันวาคม 2015


“ผมเป็นคณะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ประมาณ 10 ปี อยู่กับคณะรัฐบาลประมาณ 10 คณะ ฟังดูเท่เป็นบ้าเลย ผมไปแนะนำตัวกับฝรั่งว่า ผมเป็นเลขา ครม. อยู่กับรัฐบาล 10 ชุด เขาตกใจมาก ถามว่าผมอายุเท่าไหร่ ผมบอกอายุไม่มาก เขาบอกอายุไม่มาก แล้วทำไมถึงอยู่กับรัฐบาล 10 ชุด ผมก็กระซิบว่า ยูอย่าคิดอะไรมาก รัฐบาลไทยก็เปลี่ยนปีละชุด บางปีสองชุด เพราะฉะนั้น 10 ชุดนั้นไม่กี่ปีหรอก”

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในวงกว้าง ให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจคุณค่าตลอดจนประโยชน์ของวิชาประวัติศาสตร์ โดยมีนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจในประเด็นดังกล่าวเข้าร่วม มี ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย” มีใจความว่า

“ท่านรองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ท่านราชบัณฑิตผู้รู้ นักปราชญ์ ครูบาอาจารย์ และท่านผู้สนใจใฝ่รู้ในทางประวัติศาสตร์ไทยทุกท่าน ดูท่าเหมือนผมอยากบรรยายมากเลยนะครับ ขึ้นมาตั้งแต่เขายังไม่จัดเวที ที่เป็นเช่นนี้ก็ขอออกตัวว่าตื่นเต้นอยู่จริงๆ สำหรับการมาพูดเรื่องสำคัญให้แก่บรรดาท่านผู้รู้ทั้งหลาย

วันนี้ต้องถือว่าอยู่ในแวดวงท่ามกลางของท่านผู้รู้ทั้งสิ้น สักครู่ผมนั่งอยู่ติดกับท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ท่านก็กระซิบกระซาบว่าวันนี้ครูบาอาจารย์ทั้งนั้น ผมก็ยิ่งใจแป้วหนักลงไปอีก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ผมเองนั้นไม่ใช่ผู้รู้ อย่างมากก็เป็นผู้สอดรู้ ไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ อย่างมากก็เป็นแค่ นักเล่าประวัติศาสตร์ คือฟังเขาพูด อ่านจากที่เขาเขียน จำจากที่เขาบอก และเอามาเล่าต่อ อาศัยว่าอาจจะเล่าเก่งอยู่สักหน่อย ก็เลยพอปะติดปะต่อเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ ต้องขอบพระคุณกระทรวงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ที่จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้น นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ว่าไปแล้วกระทรวงควรต้องจัดอย่างยิ่ง และควรจะต้องจัดทุกปี

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นกิจกรรมสำคัญที่ถือว่าสนองนโยบายรัฐบาล ส่วนที่จะสนองนโยบายท่านนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเรื่องหนึ่ง แต่ผมถือว่าสำคัญยิ่งกว่านั้นคือสนองนโยบายรัฐบาล เพราะว่าในนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปีที่แล้ว (2557) นั้น นโยบายข้อหนึ่งของรัฐบาล มีว่าจะส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ในทางประวัติศาสตร์

“ผมอยู่กับรัฐบาลมาหลายชุดหลายปี ยังไม่เคยเห็นนโยบายรัฐบาลไหนพูดเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะส่วนใหญ่ก็จะพูดแต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง 30 บาทรักษาทุกโรค พูดง่ายๆ ก็คือพูดถึงเรื่องปากท้อง เรื่องกินดีอยู่ดี กินอิ่มนอนหลับ การที่พูดถึงเรื่องที่เป็นหลักวิชา เป็นนามธรรม เป็นวิชาการเสียบ้าง แล้วก็อย่าพูดเปล่า ต้องตั้งใจทำให้เป็นรูปธรรมนั้น”

ผมถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ เมื่อตอนที่ยกร่างนโยบาย ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีมีส่วนในการร่างเองค่อนข้างมาก ผิดกับนโยบายรัฐบาลหลายชุดในอดีต ที่มอบให้ข้าราชการประจำหรือมิฉะนั้นก็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปร่างกันเอง แล้วนายกฯ ก็เอามาอ่าน แต่ในสมัยนี้ ครั้งนี้ ประชุมกันหลายวัน ท่านนายกฯ นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ แก้กันทีละคำๆ ผมจำได้ว่า เมื่อไปถึงนโยบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ครั้งแรกในต้นร่างมันไม่มี ท่านขอให้ใส่ลงไป แล้วท่านก็กล่าวขึ้นว่า ท่านจำได้ว่าเมื่อปี 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้มีพระราชเสาวนีย์ในคราวเสด็จออกมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิดาลัย ว่ามีพระราชประสงค์จะให้คนไทยศึกษาประวัติศาสตร์ไทย รู้จักประวัติศาสตร์ไทย และเผยแพร่ประวัติศาสตร์ไทยให้มากยิ่งๆ ขึ้น นี่คือที่มาว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องเอาเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาใส่เอาไว้ในนโยบายที่แถลงต่อสภา แล้วหลังจากนั้นก็รู้สึกว่ากระทรวงวัฒนธรรมนั้นงานเข้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เพราะว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกนัด ก็จะมีการบ้านให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ แรกๆ ก็รู้สึกจะสร้างหนัง อยู่มาก็ต้องจัดการแสดง อยู่มาก็ต้องให้เขียนหนังสือ ก็เป็นการเปิดตัวกระทรวงวัฒนธรรมออกไปสู่โลกภายนอก อย่างน้อยคนไทยหลายคนก็ได้รู้ว่ากระทรวงนี้มีอยู่ แล้วก็ทำงานได้ดี เพียงแต่ว่าจะเอาเขามาทำงานหรือไม่เท่านั้น

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ หลังจากที่ผมจะแสดงปาฐกถาซึ่งก็ไม่รู้เขาจะเรียกว่าปาฐกถาหรือไม่ ท่านผู้รู้ก็จะขึ้นมาอภิปราย บรรยาย ถกแถลง แต่ละท่านล้วนแต่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต เป็นกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เช่น คุณชายศุภวัฒย์ เกษมศรี เมื่อกี้ผมก็ต้องยกมือไหว้ท่านก่อน ท่านก็ทำท่างุนงง ผมก็บอกว่าขอไหว้ครูก่อนขึ้นเวที ในส่วนของผมเองนั้นใคร่ที่จะต้องเริ่มต้นอย่างนี้ครับ เมื่อต้องพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นการเปิดเรื่องสำหรับการสัมมนาในวันนี้ ผมมีความเข้าใจซึ่งอาจจะผิด เพราะได้ออกตัวแล้วว่าไม่ใช่ผู้รู้

แต่ความเข้าใจของผมมีอยู่ว่า อันว่าเรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วก็พัฒนาหรือมีความเป็นมาเชื่อมมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เราเรียกเรื่องราวเหล่านั้นว่า ประวัติ ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นศาสตร์ เป็นแค่ประวัติ ประวัติของบุคคล ประวัติของสิ่งของ ประวัติสถานที่ ประวัติกำเนิดของเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรื่องราวในอดีตซึ่งเรียกกันว่าประวัตินั้นมีหลักมีฐาน มีการอ้างอิงถึงได้ มีการตรวจสอบได้ แล้วนำมาพูดซ้ำ นำมาศึกษา นำมาวิเคราะห์ คือดูเป็นวิชาการขึ้นกว่าที่จะบอกเล่าเก้าสิบ ซุบซิบกันธรรมดา บัดนั้นประวัติก็จะยกฐานะขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ พอมันเป็นประวัติศาสตร์ มันก็เป็นวิชาที่ต้องเรียน เป็นวิชาที่ต้องสอน เป็นวิชาที่ต้องสอบ

แล้วก็เป็นวิชาที่ควรแก่การไปทำความเข้าใจอย่างยิ่ง แม้เราจะไม่ต้องเอาไปสอบ เพราะว่าไปแล้วประวัติศาสตร์นั้นก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต และถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์ของไทย มันก็คือการพูดถึงเรื่องราวของตัวเรานั่นเอง และเวลาพูดถึงตัวเรานั้น เราในที่นี้ก็คือตัวเรา ครอบครัวเรา ญาติเรา ผู้คนที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา และมันก็พาดพิงไปถึงคนอื่นที่ซัดเซพเนจรเข้ามา ซึ่งอาจจะเป็นคนต่างด้าวท้าวต่างแดน หรือใครต่อใครที่เข้ามาอยู่ในวังวนของเรื่องราวในอดีต เมื่อศึกษาลึกลงไปก็จะได้ความรู้ ความเข้าใจ หลายคนศึกษาเอาแค่ได้ความรู้ แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น หลายคนศึกษาก็ได้ความเข้าใจ คนเราเมื่อเข้าใจเสียแล้วก็จะเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดต่อยอดต่อไปได้เยอะ แล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้ คำพูดที่นักประวัติศาสตร์เองมักจะพูดว่าประวัติศาสตร์นั้นเหมือนวงล้อที่หมุนไปหมุนมา มันก็ทับรอยตัวมันเอง คือเกิดแล้วมันก็เกิดอีก มันเป็นเรื่องจริง

ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เพราะฉะนั้น เมื่อมันเกิดอีก เราก็สามารถจะเรียนรู้ได้ว่าในอดีตเมื่อตอนที่มันเกิดขึ้นนี้เขาแก้ไขอย่างไร จนกระทั่งว่าเขาป้องกันอย่างไรไม่ให้มันเกิด ใครไปอ่านดูหนังสือเก่าๆ ก็จะพบว่าเมื่อมีเรื่องสำคัญเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านก็จะถามผู้รู้ ผู้มีอายุทั้งหลายว่า เรื่องอย่างนี้เมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เขาทำกันอย่างไร และเมื่อพระพุทธยอดฟ้าท่านเถลิงราชสมบัติ ท่านไม่ได้เป็นกษัตริย์มาตั้งแต่เกิด ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญมาก่อน เมื่อท่านจะต้องเป็นกษัตริย์ ท่านก็ต้องถามผู้รู้ว่าเรื่องอย่างนี้ในอดีตเขาทำกันอย่างไร เหมือนอย่างที่ทรงได้เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งรอดพ้นภัยเงื้อมมือพม่า แม้จะถูกจับเป็นเชลยไปขังอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น แต่ก็ไม่ได้ถูกประหารชีวิต จนเมื่อพระเจ้าตากสินไปทลายค่ายโพธิ์สามต้น ก็ช่วยเชลยออกมา รวมทั้งเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี แล้วก็ท่านมีชีวิตต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 1

เพราะฉะนั้น เมื่อรัชกาลที่ 1 สร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหม่ ตั้งพระบรมราชวงศ์ใหม่ เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด แล้วท่านจะไปเอาความรู้เก่ามาจากไหน ท่านก็ต้องอาศัยคนที่รู้ ท่านก็ต้องอาศัยนักประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มีอยู่หลายคนที่มีชีวิตในเวลานั้น เช่น เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี เจ้าพระยาธรรมาธิกร คนเหล่านี้รู้อดีต รู้ธรรมเนียม รู้ประวัติ รู้ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งเมื่อเกิดคดีสำคัญขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เราเรียกกันว่าคดีอำแดงป้อม อำแดงป้อมนั้นมีสามีแล้วชื่อนายบุญศรี ต่อมาไปมีชู้กับนายราชาอรรถ ชู้ก็ยุให้ไปฟ้องหย่าผัว เพื่อจะแบ่งสมบัติมาอยู่กินกับชู้ นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แม้ฟังแล้วอาจจะเหมือนสะใภ้เจ้าหรืออะไรสักหน่อยก็ตามเถอะ

ปัญหามีว่าผัวของอำแดงป้อมไม่ได้ทำอะไรผิด เมียต่างหากคืออำแดงป้อมที่ไปมีชู้ เพราะฉะนั้นเมื่อนางอำแดงป้อมฟ้องขอหย่าผัวคือนายบุญศรี ศาลก็งงว่ากฎหมายมันว่าอย่างไร ก็ต้องไปอาศัยพระมหาราชครูปู่ผู้เฒ่า คนเฒ่าคนแก่ ที่มีชีวิตสมัยอยุธยา มาเบิกความว่าจำได้ไหมว่าเรื่องอย่างนี้สมัยก่อนเขาว่าอย่างไร เอาง่ายๆ ใกล้ตัว ผมเป็นคณะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ประมาณ 10 ปี อยู่กับคณะรัฐบาลประมาณ 10 คณะ ฟังดูเท่เป็นบ้าเลย ผมไปแนะนำตัวกับฝรั่งว่า ผมเป็นเลขา ครม. อยู่กับรัฐบาล 10 ชุด เขาตกใจมาก ถามว่าผมอายุเท่าไหร่ ผมบอกอายุไม่มาก เขาบอกอายุไม่มาก แล้วทำไมถึงอยู่กับรัฐบาล 10 ชุด ผมก็กระซิบว่า ยูอย่าคิดอะไรมาก รัฐบาลไทยก็เปลี่ยนปีละชุด บางปีสองชุด เพราะฉะนั้น 10 ชุดนั้นไม่กี่ปีหรอก แต่มันก็ทำให้ผมได้เปรียบ อย่างน้อยก็ได้เปรียบคณะรัฐมนตรี ว่าเมื่อถึงเวลาประชุมกัน บ่อยครั้งที่ท่านนายกฯ ไม่คนใดก็คนหนึ่งจะถามว่า เลขาฯ เรื่องอย่างนี้ถ้าเกิดขึ้นในสมัยก่อน เขาทำอย่างไร

ผมก็ตอบ สมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เขาทำอย่างนี้ สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เขาทำอย่างนั้น สมัย พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ทำอย่างนู้น บางทีหนักๆ เข้าก็เผลอตอบไปเรื่อย สมัยเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาทำอย่างนี้ สมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาทำอย่างนั้น จนมีคนมาถามผมว่า คุณเกิดทันหรือ ผมบอก ผมกำลังตอบจากประวัติศาสตร์ เกิดไม่ทันก็เคยอ่าน อ่านไม่ทัน หาไม่เจอ ก็พอจะแต่งเองได้ ว่ามันน่าจะอย่างนี้

ความมีประโยชน์ของประวัติศาสตร์อยู่ตรงนี้เอง คือทำให้เราหยิบฉวยเอามาใช้ประโยชน์เทียบเคียงได้ จนแม้แต่หยิบมาไม่ได้ ก็สามารถจะอนุมานได้ เหมือนกับอย่างที่ผมบอกว่า เกิดไม่ทันหรอก แต่ผมเชื่อว่าสมัยเจ้าคุณมโนปกรณ์นิติธาดาทำอย่างนี้ คืออนุมานเอา คือเดาก็ถูกว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะว่ามันมีร่องมีรอยมีแนวมีวิธีการของมันอยู่ ปัญหาคือทำอย่างไรที่จะให้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์แพร่หลายไปทั่ว และทำอย่างไรที่จะให้ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อ รกรุงรังไปด้วยจุลศักราช พุทธศักราช พระนามพระมหากษัตริย์ รัชกาลนั้น รัชกาลนี้ เจ้านายองค์นั้นองค์นี้ ขึ้นกี่ค่ำแรมกี่ค่ำ ทหารยกทัพมากี่คน เราทั้งหลายได้ผ่านเหตุการณ์อย่างนี้กันมาทั้งนั้น ก็เลยเกิดความเบื่อหน่ายประวัติศาสตร์ แต่ในระยะหลังมานี้ มีคนที่รู้จักสอน รู้จักเล่า รู้จักเขียนประวัติศาสตร์ให้สนุกเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก

วงการประวัติศาสตร์เฟื่องฟูขึ้นอีกเป็นอันมาก ตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จไปเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนทหาร แล้วเชื่อผมเถอะว่านักเรียนทหารศิษย์สมเด็จพระเทพฯ นั้นมีความรู้ประวัติศาสตร์ไทยไม่แพ้นักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย

ก็เมื่อประวัติมันคือเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวในอดีตที่เอามาตั้งขึ้นเป็นระบบและศึกษาได้ สิ่งที่ควรจะเรียนต่อไปในความเข้าใจของผมคือ ผมเห็นว่า ประวัติศาสตร์ ไม่ว่าของชาติใด ประเทศใด ภาษาใด มีจุดอ่อนและจุดแข็งคล้ายๆ กัน จุดอ่อนของประวัติศาสตร์ไม่ว่าในชาติใดภาษาใดก็คือ ด้วยความที่มันเป็นเรื่องราวในอดีตซึ่งเราเกิดไม่ทัน มองก็ไม่รู้ ดูก็ไม่เห็น เรื่องราวในประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่อาศัยความทรงจำของคนอื่น การบอกเล่าจากคนอื่น หลายเรื่องที่เรานำมาตั้งเป็นประวัติศาสตร์มาจากนิทานพื้นบ้าน หลายเรื่องที่เราเอามาตั้งเป็นประวัติศาสตร์ พูดกัน เรียนกัน มาจากบันทึกโหร มาจากพงศาวดารซึ่งเขียนขึ้นด้วยเจตนาอย่างหนึ่ง เขาไม่ได้เจตนาจะให้เป็นประวัติศาสตร์ให้ไปเรียนกัน แต่ต้องการจะสรรเสริญสดุดียกย่องพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ผ่านไป เขาถึงได้เรียกว่าพงศาวดาร คือเรื่องราววงศ์ตระกูลพงศาของพระผู้อวตารตามคตินิยมที่ถือว่ากษัตริย์คือพระนารายณ์อวตารลงมาเกิด

เพราะฉะนั้น มันก็มีเรื่องที่ถูกบ้าง จริงบ้าง เท็จบ้าง แต่งบ้าง เติมบ้าง ใส่สีสัน ใส่ไข่ เพื่อให้ดูศักดิ์สิทธิ์ การอ่านจึงต้องแยกแยะ แล้วต้องตรวจสอบเทียบเคียงกับหลักฐานอื่นๆ นี่เป็นจุดอ่อนที่มีในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศ แล้วบางเรื่องหลักฐานแต่ละอย่างก็เกิดจะไม่ตรงกันเสียอีก บางทีวันเดือนปีศักราชไม่ตรงกัน บางทีชื่อคนไม่ตรงกัน บางทีเหตุการณ์ก็ไม่ตรงกัน บางเรื่องปรากฏอยู่ในบันทึกของราชการเล่มนี้ แต่เรื่องอย่างนี้ซึ่งแสนจะสำคัญไม่อยู่ในบันทึกของราชการร่วมสมัยอีกเล่มหนึ่ง ก็เลยทำให้เกิดความลังเลว่าเรืองนั้นมันมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีจริงทำไมไม่บันทึกไว้ให้ตรงกันให้หมด เรื่องอย่างนี้เราเข้าใจได้ง่าย เพราะมันขึ้นอยู่กับความสนใจของคน ขึ้นอยู่กับเจตนา เหมือนที่เขาพูดว่าประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับผู้เขียนนั่นแหละ แล้วก็ที่สำคัญก็คือขึ้นอยู่กับความรู้ ก็ถ้าคนที่เขียนอยู่ในรั้วในวัง เขาก็เขียนเรื่องในรั้วในวังได้ละเอียด ถนัดถนี่ คนนอกวังเขียนประวัติศาสตร์ ไม่มีวันถนัดถนี่รู้เห็นเหมือนกับคนในวังเขียน

แต่คนที่อยู่ในวังก็จะมาเขียนเรื่องของชาวบ้านร้านช่องนอกวังไม่ละเอียด ไม่น่าเชื่อถือเท่าชาวบ้านที่อยู่นอกวัง เขาพูดถึงเรื่องละเม็งละคร พูดถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเขากันเอง ที่สำคัญไทยเรามีจุดอ่อนเรื่องนี้มาก เพราะตั้งแต่อดีตมาแล้วที่คนไทยไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ใคร่จะบันทึกอะไร แต่เราเก่งในทางจำเอา ก็ยังดีที่อุตส่าห์จำได้ แต่ทีนี้อยู่ไปมันก็อาจคลาดเคลื่อน อยู่ไปมันก็แต่งเติมเสริมต่อเข้าไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเรียกกันว่าประวัติ เมื่อถึงวันนี้กลายเป็นศาสตร์ ก็อาจจะเป็นศาสตร์ที่คนถกเถียงขัดแย้ง หรือมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าประวัติศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ แต่ต้องการยั่วยุให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ยังต้องการการศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงอีกมาก

ฝรั่งนั้นดูจะช่างเขียนมากกว่าไทย เพราะฉะนั้น หลายเรื่องในประวัติศาสตร์ไทยต้องไปสอบทานจากฝรั่ง จดบันทึก แต่นั่นแหละ คนในวังเขียนเรื่องนอกวังมันก็ไม่ชัด คนนอกวังเขียนเรื่องในวังมันก็ไม่ชัด ฝรั่งเขียนเรื่องเมืองไทยมันก็ไม่มีทางชัดไปได้ เขาก็เขียนเท่าที่เขาเห็นเขารู้หรือเท่าที่เขาเข้าใจ หรือเท่าที่เขาได้รับคำบอกกล่าว ถ้าคนไทยที่ไปอธิบายให้เขาฟัง ไม่ใช่เป็นผู้รู้ หรือรู้ผิด ฝรั่งก็จดไปผิด และถ้าเราเชื่อฝรั่งอย่างงมงาย ก็เอาบันทึกผิดๆ ของฝรั่งมาว่ากันต่อไป

นี่คือจุดอ่อนของประวัติศาสตร์เกือบทุกประเทศในโลก นี่ขนาดพูดถึงประวัติศาสตร์เมื่อสัก 100-700 ปี ซึ่งวันนี้คนไทยยังถกเถียงกันหลายเรื่อง อย่านึกว่าตกผลึกหมดแล้ว ยังไม่ตกฟากอีกตั้งหลายเรื่อง เพียงแต่ว่าเถียงกันในกลุ่มคนมากหรือกลุ่มคนน้อยเท่านั้น แม้เราจะเรียนกันว่าศิลาจารึกเกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เถียงว่าศิลาจารึกไม่ได้เกิดขึ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหง ข้อที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพม่าดูจะตรงกัน ทั้งฝรั่ง ไทย และพม่าก็เขียน แต่ข้อที่ว่าพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ไหนยังเถียงกันอยู่ เพราะถ้าถามชาวกาญจนบุรี ก็จะชี้ว่าที่เมืองนี้แหละ เมืองกาญจน์ ถ้าถามชาวสุพรรณ เขาจะบอกตรงดอนเจดีย์ ยังเถียงกันอยู่

จนแม้แต่พระมหาอุปราชของพม่าท่านสิ้นพระชนม์เพราะเหตุใด พงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าก็ยังขัดแย้งกัน พงศาวดารไทยนั้นพูดชัดว่าพระมหาอุปราชต้องพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวร เหมือนที่กรมพระปรมานุชิตชิโนรสท่านแต่งลิลิตตะเลงพ่ายว่า “อุรารานร้าวแยก” คือถูกฟันจนกระทั่งบ่า ไหล่ หน้าอก แยกขาดอกจากกัน แต่ถ้าพูดตามพงศาวดารพม่าเขาก็ยังอุตส่าห์เขียนว่าเขาไม่ได้มาเสียชั้นเชิง เพราะบอกว่ายุทธหัตถีครั้งนั้น เมื่อคราวเชิญพระมหาอุปราชกลับวัง พระศพนั้นมีรอยกระสุน ว่าไปนั่น

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ยังอาศัยสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้า และยังถกเถียงกันอีกเยอะ ลอยกระทงเมื่อวานซืนมาแล้ว คนที่เชื่อว่าลอยกระทงมีสมัยสุโขทัย นางนพมาศคิด ก็มี แต่คนที่ถกเถียงว่านางนพมาศไม่มีชีวิตอยู่ในสมัยสุโขทัย สุโขทัยไม่ได้ลอยกระทง หนังสือเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง นั่นก็ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกัน และนี่คือจุดอ่อนของประวัติศาสตร์ ไม่ต้องอื่นไกลที่ไหนหรอก แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมา หรือไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในสมัยเดียวกันนี้แท้ๆ ให้เราเขียนประวัติศาสตร์ 3-5 ปีที่ผ่านมา เรื่องคนใส่เสื้อมีสองกลุ่มขัดแย้งกัน ท่านคิดหรือว่าเขียนออกมาแล้วคนทั้งหมดจะปลงใจเชื่อ เพราะเห็นอยู่ว่าหลักฐานเป็นอย่างไร เรื่องนั้นตีความว่าอย่างไร

ที่สำคัญ ความในใจของคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเราล้วงไปไม่ได้ เมื่อไม่ได้ก็เขียนเท่าที่รู้ และเกิดการเถียงกันได้ แล้วนี่เป็นเหตุการณ์ที่เราเกิดทันที่บางทีเราอาจนึกว่าเราเป็นผู้รู้ด้วยซ้ำไป พอไปเทียบเคียงกับเรื่องเมื่อสัก 200-500 ปี ซึ่งไม่มีวันที่เราจะเป็นผู้รู้เห็นได้เลย อย่างมากก็เป็นผู้รู้โดยอาศัยตรรกะ หลักฐาน การสืบค้น มันก็ได้มาในระดับหนึ่ง แต่เรื่องอย่างนี้ผมเรียนแล้วว่ามันเป็นจุดอ่อนของนานาประเทศ แล้วประวัติศาสตร์มีสีสัน มีชีวิต สนุกตรงนี้เอง

ประเทศไทยจึงต้องมีกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อเอาไว้ชำระสะสางเรื่องที่ยังถกเถียงหรือไม่ลงรอยกันให้เป็นแบบแผนหนึ่งเดียวกัน จนกว่าใครจะมีหลักฐานใหม่ งัดขึ้นมาสู้กันใหม่ ก็ไม่เป็นไร ชำระใหม่

แต่จุดแข็งในประวัติศาสตร์ ซึ่งตรงกัน ร่วมกัน ทุกประเทศชาติ ภาษา คือประวัติศาสตร์ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ผูกหรือยึดโยงกับผู้นำทั้งสิ้น แม้ว่าในประวัติศาสตร์มันจะอุดมสมบูรณ์คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ในที่สุดสิ่งที่เป็นพระเอกของเรื่องหรือพระเอกของประวัติศาสตร์มาทุกสมัยและทุกชาติก็คือผู้นำ สุดแต่ว่าผู้นำนั้นเป็นใคร และเรียกตำแหน่งว่าอะไร บางประเทศอาจจะเรียกผู้นำว่าหัวหน้าเผ่า บางประเทศเรียกผู้นำว่ากษัตริย์ บางประเทศเรียกผู้นำว่าสุลต่าน บางประเทศเรียกว่าราชา บางประเทศเรียกว่าจักรพรรดิ ก็แล้วแต่ที่จะเรียก

แต่ประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ล้วนจะผูกโยงไปที่หัวหน้าหรือผู้นำทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าคนอื่นไม่สำคัญ และที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีคนอื่นอยู่ มีแต่ผู้นำโดดเดี่ยว มันมี แต่เพราะเหตุการณ์หลายอย่างทำให้ผู้นำต้องแสดงความโดดเด่นออกมา แม้จะไม่ตั้งใจสรรเสริญเยินยอ ก็ต้องยอมรับว่าเขามีความโดดเด่น มีบุญคุณ มีอำนาจ มีหน้าที่ แล้วคนทั้งหลายในประเทศต่างๆ ก็พอใจโยนทุกอย่างไปลงสุมเอาไว้ที่ผู้นำ ผู้นำก็เลยรับทั้งส่วนที่เป็นบาปบุญ และส่วนที่เป็นคุณโทษ

ประเทศไทยก็มีผู้นำซึ่งเราเรียกว่ากษัตริย์ พระราชา มหากษัตริย์ของไทยนั้นเป็นศูนย์กลาง เป็นจุดเชื่อมโยงร้อยเรื่องในประวัติศาตร์มาทุกยุคทุกสมัย เป็นเวลายาวนาน จนเกือบจะไม่มีว่างเว้นสักปี นักประวัติศาสตร์อาจจะยังถกเถียง ประวัติศาสตร์ชาติไทยเริ่มต้นเมื่อไหร่ บางคนบอกย้อนไปตั้งแต่สมัย 1,000 ปีมาแล้ว บางคนบอกย้อนไปเก่ากว่า 1,000 ปี บางคนบอกเพิ่งจะ 100 กว่าปีมานี่เอง บางคนบอกสั้นไป ย้อนไปสัก 700-800 ปี มันก็ต้องหาจุดไหนสักจุดหนึ่งเป็นจุดตัดที่เรารับกันในทางวิชาการในระดับหนึ่ง ผมใช้คำว่าระดับหนึ่ง เพราะยังมีคนเถียงนะ

ก็เห็นเท่าที่มีหลักฐาน และพูดจากันได้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นทางการหน่อย ก็เริ่มต้นเมื่อสมัยสุโขทัย ถ้าเรานับอย่างนั้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยเราถือว่านี่คือเส้นทางของความเป็นไทย เราก็จะพบว่าบนเส้นทางของความเป็นไทยนี้ เรามีผู้นำที่เป็นพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด โดยไม่เคยว่างเว้น อะไรที่มีขึ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดำรงอยู่ได้นาน ฝรั่งเรียกสิ่งนั้นว่าสถาบัน หรือ institute ไม่ใช่ว่าอะไรก็ตามเกิดขึ้นแล้วจะเป็นสถาบันได้หมด ของเกิดวันเดียวแล้วอีกสองวันล้มลุกคลุกคลานไม่ใช่สถาบัน เกิด 5 ปี ก็อาจไม่ใช่สถาบัน ถ้าหากว่าไม่มีใครยอมรับต่อ

แต่อะไรที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แม้จะดับไป แล้วยังเกิดใหม่ แล้วก็ตั้งอยู่ดับไป และเกิดใหม่ สืบทอดแล้วเป็นที่ยอมรับกันยาวนาน เขามีคำศัพท์เรียกเฉพาะว่า สถาบัน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันชาติ แล้วทีนี้ก็มาถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จริงๆ ก่อนนั้นก็มี แต่เมื่อจะตัดตอนตามหลักฐานที่ชัดเจน ก็มายุติรวบยอดเอาว่า สุโขทัย

วันนี้ ถ้านับตั้งแต่กษัตริย์สุโขทัยพระองค์แรกตามหลักฐานที่ทางราชการประกาศ ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 800 ปี เรามีกษัตริย์เป็นผู้นำ เป็นประมุข รวมทั้งสิ้น 8 ราชวงศ์ นับทั้งสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ 8 ราชวงศ์ คำว่าราชวงศ์ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า dynasty หรือว่า house ของกษัตริย์ที่สืบเชื้อสาย เป็นพระญาติ พระวงศ์กัน กษัตริย์อย่างนี้เราเรียกว่าร่วมวงศ์เดียวกัน ร่วมตระกูลเดียว ต่อเมื่อใดที่มีผู้ขึ้นเป็นใหญ่ โดยไม่ได้นับญาติกับกษัตริย์องค์ก่อน และนับก็ไม่ถูก เพราะไม่ได้เป็นญาติ อาจจะแย่งชิงราชสมบัติ อาจจะยึดอำนาจ อาจจะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นใหญ่ ก็ตั้งตนเป็นใหญ่ นั่นก็เท่ากับเริ่มราชวงศ์อีกราชวงศ์หนึ่ง แล้วพอพ่อตาย ลูกเป็น ลูกตาย หลานเป็น คนนั้นเป็น คนนี้เป็น ก็เป็นเครือญาติกันต่อไป ก็เป็นอีกราชวงศ์หนึ่งดังนี้

นับอย่างนี้ประเทศไทยมีกษัตริย์มาแล้วทั้งหมด 8 ราชวงศ์ ราชวงศ์ที่ 1 ก็คือราชวงศ์ที่ครองกรุงสุโขทัย มีกษัตริย์ 9 พระองค์ พอขึ้นกรุงศรีอยุธยาเราก็มีกษัตริย์ตลอดอายุ 417 ปีของกรุงศรีอยุธา มีกษัตริย์ทั้งหมด 5 ราชวงศ์ มีกษัตริย์ทั้งสิ้น 33 พระองค์ คือราชวงศ์เชียงราย ซึ่งเริ่มต้นด้วยพระเจ้าอู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ แล้วก็ตามมาด้วยราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัยเดิม แล้วตามด้วยราชวงศ์ปราสาททอง ซึ่งเริ่มต้นด้วยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อนับญาติท่านกับใครไม่ได้ ท่านก็เป็นต้นราชวงศ์ปราสาททอง แล้วก็ลูกหลานเหลนเป็นกษัตริย์สืบมา แล้วก็มาจบด้วยราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยาคือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็คือสมเด็จพระเพทราชา ท่านเป็นคนเลี้ยงช้าง ท่านเป็นสามัญชน ท่านมาจากบ้านพลูหลวงเมืองสุพรรณบุรี ท่านไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์กับใคร ท่านสถาปนาตนเป็นใหญ่ แล้วท่านก็เป็นต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง แล้วยาวมานกระทั่งมาสิ้นที่พระเจ้าเอกทัศน์ คราวเสียกรุง

วันนี้ผมเห็นละเม็งละครเล่นกัน ลิเกด้วย ไปจนกระทั่งถึงขนาดหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ขี้ข้าม้าครอก พูดกับเจ้านายที่เป็นหม่อมราชวงศ์ ก็ลงท้ายว่า ขอเดชะฯ

เมื่อจบสิ้นอยุธยา ก็เกิดกรุงธนบุรี ราชวงศ์ปกครองกรุงธนบุรีมี 1 ราชวงศ์ เรียกกันว่าราชวงศ์ธนบุรี มีกษัตริย์พระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วก็สิ้นราชวศ์ธนบุรี ขึ้นราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์จักรี ซึ่งปฐมกษัตริย์ก็คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระพุทธยอดฟ้านั้นท่านไม่ได้เป็นวงศาคณาญาติโดยสายเลือดกับพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือแม้แต่กษัตริย์อยุธยา จึงนับท่านไว้ในราชวงศ์เก่าราชวงศ์ใด ไม่ได้ ท่านก็ตั้งพระราชวงศ์ใหม่ของท่านคือราชวงศ์จักรี ซึ่งมีกษัตริย์สืบมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน รัชกาลที่ 9

ผมถึงได้เรียนว่าเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ พิสูจน์ได้จากการมีกษัตริย์สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่ขาดสายถึง 8 ราชวงศ์ รวมทั้งสิ้น 52 รัชกาล 52 พระองค์ สุโขทัย 9 อยุธยา 33 ธนบุรี 1 กรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพ 9 รวมเป็น 52

เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเราจะเรียกเอ่ยคำว่า สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าก็คือกษัตริย์ในอดีต เมื่ออดีตก็ต้องไม่นับรัชกาลปัจจุบัน เมื่อนับรัชกาลปัจจุบันเรามี 52 สมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ก็คือกษัตริย์ 51 พระองค์ที่มีมาในอดีต หรือมากกว่านั้นถ้าเราจะนับย้อนก่อนสมัยสุโขทัยขึ้นไป

แต่โดยมากเวลามีพระราชพิธีบวงสรวงวังเวยสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าก็จะนับกษัตริย์ดังที่ว่ามานี้ นี่คือความอยู่ยั้งยั่งยืนยงของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของประวัติศาสตร์ทั่วโลกและประวัติศาสตร์ไทย

พระมหากษัตริย์มีอยู่ 3-4 ประเภทด้วยกัน ลองนับดูว่ากี่ประเภท เหมือนกันตรงที่กษัตริย์ไทยนั้นต้องถือว่าไม่ได้เหมือนกันหมดทุกพระองค์

ในสมัยสุโขทัยนั้นเรามีกษัตริย์ที่เขาเรียกกันว่าพ่อปกครองลูก กษัตริย์ตอนนั้นท่านจึงเป็นพ่อขุน คนเข้าถึงท่านได้ง่าย อยู่กันเหมือนญาติ ไม่มีพิธีรีตอง แทบจะเรียกว่าคลุกคลีไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก นั่นเป็นกษัตริย์ในลักษณะที่ 1

ครั้นเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี 1893 โดยพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เราเริ่มรับเอาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อจากต่างด้าวเข้ามา ต่างด้าวที่สำคัญมาจากขอมและมาจากศาสนาพราหมณ์ ไม่น่าเชื่อเลยว่าการที่บ้านหนึ่งเมืองหนึ่งจะรับเอาอิทธิพลจากบ้านอื่นเมืองอื่นได้อย่างเร็วดูดดื่มซาบซึ้งตรึงใจหนักหนาขนาดนั้น

คือเรารับเอาขนบธรรมเนียมขอมและพราหมณ์เข้ามาเต็มประตู เพราะฉะนั้น จากที่ผู้ปกครองเคยเป็นพ่อขุนก็เริ่มจะไม่เท่แล้ว ต้องเป็นพระบาทสมเด็จพระ แล้วก็ต้องมีพระนามที่ผูกพันไปถึงพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ จึงได้เกิดคำว่าพระรามาธิบดีขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าถือว่ากษัตริย์นั้นคือพระนารายณ์อวตารลงมา คือพระราม

พระรามมาเป็นกษัตริย์ขอม เป็นกษัตริย์ไทย และก็เป็นกษัตริย์หลายประเทศในภูมิภาคแถบนี้ที่มีความเชื่อคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้น พ่อขุนก็เลยกลายสมเด็จพระรามาธิบดีไปตั้งแต่นั้นมา แล้วก็ยังเป็นพระรามาธิบดีจนถึงวันนี้

แม้วันนี้หรือระยะเวลาประมาณ 100 ปีมานี้ เราไม่ได้รับเอาคติของขอมหรือพราหมณ์เข้ามาด้วยความเชื่อ ไม่เหมือนสมัยอยุธยาที่รับเข้ามาด้วยความเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ สมัยอยุธยาจึงเปลี่ยนจากพ่อปกครองลูกมาเป็นแบบที่ฝรั่งเรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราช หรือ absolute monarchy เอ้า สมบูรณ์ก็สมบูรณ์ เดี๋ยวจะต้องมีอะไรถกกันนิดหน่อยเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราช

แต่ฝรั่งเรียกอย่างนั้นเพราะไม่มีชื่ออื่นจะเรียก จะไปเรียกว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นประชาธิปไตย เขาเรียกไม่ได้ ถ้าจะเรียกเขาก็ต้องเรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราช แต่สมบูรณาญาสิทธิราชสมัยอยุธยายาวมาจนอาจจะถึงสมัยกรุงธนบุรีด้วยซ้ำ เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชประเภทสมมติเทพ คือถือว่ากษัตริย์เป็นเทวดา เพราะฉะนั้น คำศัพท์หรือกริยาถ้อยคำที่ใช้กับเทวดา เอามาใช้กับกษัตริย์หมด

คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินจึงเริ่มเป็นพระบรมราชโองการซึ่งปกติพระราชโองการเขาใช้กับพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์เท่านั้น พ้นจากพระผู้เป็นเจ้า เทวดาอื่นก็ไม่ใช้ พระเจ้าแผ่นดินเคยเดินก็ต้องเปลี่ยนเป็นเสด็จพระราชดำเนิน พระเจ้าแผ่นดินเคยนอนก็ไม่นอน เพราะท่านบรรทม พระเจ้าแผ่นดินเคยกินก็จะไม่กิน เพราะต่อไปนี้เป็นเสวย

ทั้งหมดนี้คือธรรมเนียมขอม ธรรมเนียมพราหมณ์ ที่พยายามปลุกเสกผู้นำให้เป็นพระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะได้ยึดความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนไว้ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดการแข็งข้อขัดขืนขึ้น

เรื่องพระบรมราชโองการที่แปลว่าคำสั่งนั้นสำคัญ เพราะเป็นธรรมเนียมว่าขนาดเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เอาอย่างนี้ พูดให้มันใกล้ตัวเข้า เมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคต สภามีมติเป็นเอกฉันท์อันเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงรับก็เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9

รัชกาลที่ 9 ก็เริ่มรัชสมัยในวันนั้น คือวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ตอนเช้ารัชกาลที่ 8 สวรรคต ตอนค่ำสภามีมติอัญเชิญขึ้นครองราชย์สมบัติ ก็เป็นอันว่าเป็นพระมหากษัตริย์แต่โดยโบราณประเพณี ยังไม่ออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่เป็นพระโบราณประเพณี และธรรมเนียมพราหมณ์ห้ามไว้ ให้เรียกได้แค่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่เป็นพระบาทสมเด็จ

เพราะอะไร เพราะยังไม่ได้ทำพิธีพระบรมราชาภิเษก คือยังไม่ได้สวมมงกุฎ แล้วทำไมไม่สวมเสียเล่ามงกุฎ คำตอบคือแผ่นดินก่อนเพิ่งสิ้นไป งานพระบรมศพยังไม่เสร็จ พระองค์ใหม่เองก็ยังต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่างประเทศ เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงจะเสด็จกลับมาทำพิธีพระบรมราชาภิเษก เพราะฉะนั้น ยังต้องรอถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลก่อน

ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี ไอ้ตอนอีกหลายปีนั่นแหละทรงเป็นอยู่เพียงแค่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่เป็นพระบาทสมเด็จ ตามโบราณประเพณี

แล้วเวลาที่จะทรงสั่งอะไรลงไป แม้แต่จะสั่งหรือแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ ก็ห้ามไม่ให้ใช้คำว่าพระบรมราชโองการ ต้องไปใช้คำอื่น เพราะพระบรมราชโองการนั้นสงวนเอาไว้ใช้เมื่อพระบรมราชาภิเษกสวมมงกุฎเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังต้องแบ่งแยกขนาดนั้น

และแม้แต่เวลาใครไปกราบบังคมทูลก็ยังไม่ให้ใช้ขอเดชะฯ เพราะขอเดชะฯ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อทรงบรมราชาภิเษก สวมมงกุฎแล้ว ก็ในปี 2489-2492 นั้นยังไม่บรมราชาภิเษก เพราะฉะนั้น ใครไปกราบบังคมทูล ก็ไม่อาจจะลงท้ายว่า ขอเดชะฯ อย่างมากก็หยุดอยู่ที่ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แล้วก็กลั้นเอาไว้อย่าเลยต่อไปขอเดชะฯ

วันนี้ผมเห็นละเม็งละครเล่นกัน ลิเกด้วย ไปจนกระทั่งถึงขนาดหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ขี้ข้าม้าครอก พูดกับเจ้านายที่เป็นหม่อมราชวงศ์ ก็ลงท้ายว่า ขอเดชะฯ

อ่านต่อตอนที่2