ThaiPublica > คนในข่าว > “วิษณุ เครืองาม” นักเล่าเรื่อง – สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย (2)

“วิษณุ เครืองาม” นักเล่าเรื่อง – สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย (2)

6 ธันวาคม 2015


เวลายึดอำนาจได้สำเร็จ มันจะต้องมีคำพูดที่บอกให้ประชาชนรู้ว่า เหตุใดจึงยึดอำนาจ เวลาจะยึดอำนาจหลังๆ มีสูตรสำเร็จ เขาจะต้องบอกว่า ด้วยปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลก่อนนี้มีการประพฤติทุจริต ไม่เคารพยำเกรงองค์กรอิสระ ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ผมท่องจำแม่น นั่นเป็นเหตุผลสมัยนี้ จะเป็น คสช. จะเป็น รสช. จะเป็น คมช. ก็ต้องอ้างเหตุผลอย่างนี้

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในวงกว้าง ให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจคุณค่าตลอดจนประโยชน์ของวิชาประวัติศาสตร์ โดยมีนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจในประเด็นดังกล่าวเข้าฟัง มี ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย” มีใจความว่า

ต่อจากตอนที่1

นี่คือธรรมเนียม ผมถึงได้เรียนว่ากษัตริย์ของเราแต่ยุคแรกนั้น พ่อปกครองลูก พอถึงอยุธยาก็เป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่เป็นแบบสมมติเทพ สังเกตจากชื่อพระเจ้าแผ่นดินที่จะมีคำว่ารามาธิบดี ไม่ติดหน้าก็ติดหลัง แต่ผ่านมาขึ้นกรุงรัตนโกสินทร์ท่านก็รับว่าท่านเป็นสมมติเทพ แต่ท่านลดดีกรีของสมมติเทพลง โดยเพิ่มดีกรีของการเป็นธรรมาราชาขึ้นแทน ซึ่งลักษณะนี้หาไม่ค่อยเจอในสมัยอยุธยา

คือการที่ดำรงพระองค์อยู่ในธรรมมากขึ้นกว่าที่จะอยู่ในฐานะของความเป็นเทพ นั่นอาจจะเป็นเพราะอิทธิพลพุทธศาสนาเข้ามามากขึ้น และอิทธิพลของพราหมณ์ลดลงก็เป็นได้ เราจะเห็นว่ากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ต่างไปจากกษัตริย์สมัยอยุธยาอยู่บ้าง ซึ่งต่างอย่างไรควรแก่การไปศึกษา

จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เปลี่ยนแปลงการปกครอง กษัตริย์ก็มาเป็นอีกแบบหนึ่งที่เราเรียกกันว่า พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่รู้ล่ะจะประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย ก็คือพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คือไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายดังในอดีตอีกต่อไป

แต่แม้กระนั้นก็ยังรักษาสิ่งที่เป็นโบราณประเพณีเอาไว้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ผมเอ่ยว่าพระเจ้าอู่ทอง ท่านเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีเต็มตัวเลย

วันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็ยังทรงเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีโดยพระปรมาภิไธยตามโบราณประเพณี ลองไปสังเกตพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีคนเคยถามว่าทำไมท่านถึงยังต้องเป็นพระรามาธิบดี อันนี้ไม่ได้เป็นเพราะความเชื่อ เป็นโดยประเพณี ประเพณีพระเจ้าแผ่นดิน จะต้องมีพระนามอย่างนี้ รัชกาลที่ 8 นั้นไม่ได้บรมราชาภิเษก คือท่านไม่ได้สวมมงกุฎ สวรรคตเสียก่อน เพราะฉะนั้นจะว่าไปแล้ว ท่านก็ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่จนกระทั่งสวรรคต แต่เมื่อสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันซึ่งเป็นน้องท่านได้โปรดให้สถาปนาเลื่อนท่านให้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ท่านก็เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โดยการสถาปนา มิใช่โดยบรมราชาภิเษก

แล้วก็นึกกันว่าแค่นั้นเต็มตามพระเกียรติยศโบราณประเพณี จนกระทั่งไม่นานมานี้เอง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรณ์คำนึงว่า ไหนๆ ก็ควรจะทำให้ถูกต้องตามโบราณประเพณีแล้ว ควรจะตั้งพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งซึ่งยังไม่เคยมีการตั้งพระปรมาภิไธยให้ตรงกับโบราณประเพณี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระนามาภิไธยรัชกาลที่ 8 ซ้ำอีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์ตามประเพณี

เพราะฉะนั้น จากที่เคยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อเร็วๆ นี้ก็เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ลงท้ายก็คือรามาธิบดี หรือย้อนไปดูรัชกาลที่ 7 ท่านจะชื่ออะไรมาก่อนก็ช่าง เมื่อท่านบรมราชาภิเษกท่านก็ต้องกลายเป็น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี ก็เป็นรามาธิบดีกันทุกพระองค์ เป็นประเพณี

พระมหากษัตริย์จึงมีประเภทของการเป็นแบบพ่อขุน แบบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่สมบูรณาญาสิทธิราชก็ยังเป็น ข้อ ก. แบบสมมติเทพ ข้อ ข. แบบธรรมาราชา แล้วต่อมาก็เป็นแบบปัจจุบันคือพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ลักษณะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่น่าสนใจ ประการที่หนึ่ง การเข้าสู่ตำแหน่งนั้นอาศัยการสืบราชสมบัติ ไม่ใช่เลือกตั้งกันขึ้นมา นั่นก็คือเมื่อพ่อตายลูกเป็น หรือเมื่อพี่ตายน้องเป็น คือการตกทอด เราเรียกการตกทอดนี้ว่าการสืบราชสันตติวงศ์ หรือ succession นี่เป็นลักษณะของกษัตริย์ทั้งหลาย

ไม่ใช่ว่า 4 ปีเลือกที 5 ปีเลือกที แล้วก็ไม่มีการพ้นวาระ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมีลักษณะการสืบราชสมบัติที่แปลก แม้เราจะตั้งหลักว่าพ่อตายลูกเป็น ลูกตายหลานเป็น หรือพี่ตายน้องเป็น จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนท้ายๆ เราถึงขนาดตั้งตำแหน่งที่เรียกว่า พระมหาอุปราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล บางครั้งก็เรียกว่าวังหน้า ในขณะที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นวังหลวง อุปราชหรือวังหน้าว่าไปแล้วคือคนที่เตรียมจะเป็นกษัตริย์ต่อไปนั่นเอง คือเป็นรัชทายาท อุป แปลว่า ใกล้ อุบาสก ก็มาจากคำว่า อุป นั่นแหละ อุบาสกแปลว่าผู้นั่งใกล้พระ ผู้นั่งใกล้ศาสนา อุปราช แปลว่า ผู้นั่งใกล้พระราชา คือเตรียมจะเป็น ภาษาฝรั่งบอกว่า อุปราชคือคนที่ prepare to be the king

แต่เอาเข้าจริงอุปราชไม่ค่อยจะได้เป็นกษัตริย์ หนึ่ง ตายก่อนพระเจ้าแผ่นดินบ้าง ส่วนใหญ่ตายก่อน เพราะโดยมากเวลาจะตั้งอุปราช พระเจ้าแผ่นดินมักตั้งน้อง ไม่ใคร่จะตั้งลูก เพราะเมื่อเวลาขึ้นเป็นกษัตริย์ ลูกมักจะเล็ก แต่น้องรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาอายุใกล้เคียง คนนับถือมากกว่า ก็ต้องตั้งน้องเป็นอุปราช ทีนี้ ความที่น้องอายุใกล้เคียงกับกษัตริย์ก็วัดดวงกัน ส่วนใหญ่ดวงก็จะแพ้กษัตริย์ น้องตายก่อน หรือมิฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินเปลี่ยนใจ ที่เปลี่ยนใจเพราะว่าตั้งอุปราชเสร็จอยู่มาลูกก็โตขึ้นเป็นหนุ่มทำราชการ พระเจ้าแผ่นดินก็เสียดาย ไม่น่าตั้งน้องเป็นอุปราชเลย

บัดนี้ลูกก็เติบโตมีความรู้หน่วยก้านดี ทำอย่างไรให้ตั้งลูกได้ จะไปปลดอุปราชแล้วตั้งลูกป็นอุปราชแทนมันก็ผิดใจกันไป เพราะฉะนั้น พระมหากษัรติย์บางพระองค์สมัยอยุธยาท่านก็ตัดสินใจดื้อๆ ของท่าน เมื่อถึงเวลาจะสวรรคตก็ตัดเรียกพระราชโอรสมา และทำพิธีประหนึ่งมอบราชสมบัติให้ นึกว่าโดยคำสั่งนั้นจะทำให้คนเชื่อถือ และเมื่อสวรรคตไป อุปราชท่านไม่เชื่อเพราะถือว่ามีสิทธิ์มาแต่เดิม ขณะที่พระโอรสก็ถือว่าพ่อมอบให้แล้ว น้องก็ถือว่ามีสิทธิ์ก็ถือว่าพี่มอบให้มาเป็นอุปราช สุดท้ายอากับหลานก็ทะเลาะกันเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น น้องตายบ้าง หลานตายบ้าง ลูกตายบ้าง จนบางทีมันยุ่งกันมากๆ จนใครจะเป็นก็เป็นแล้วก็มีการถอดใจไปบวชบ้างก็มี เรื่องอย่างนี้จึงทำให้การสืบราชสมบัติไม่เป็นหลักเป็นฐาน ไม่เป็นเกณฑ์

อย่างในสมัยอยุธยา ถ้าว่าโดยกฎเกณฑ์แล้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะสวรรคต ท่านก็ควรจะตั้งรัชทายาทคือสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน แต่แทนที่ท่านจะมอบราชสมบัติแก่สมเด็จพระโอรสคือสมเด็จพระนารายณ์ ท่านกลับไปเรียกลูกอีกคนหนึ่งเข้ามาคือเจ้าฟ้าชัย แล้วตรัสมอบราชสมบัติ แล้วเจ้าฟ้าชัยก็ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นี่เป็นตัวย่างที่มีมาแล้ว หรือเมื่อคราวสมเด็จพระเพทราชาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านอุตส่าห์ตั้งรัชทายาทคือกรมพระราชวังบวรวังหน้าแล้ว แต่พอถึงเวลาจะสวรรคตท่านก็เปลี่ยนใจคิดจะยกราชสมบัติให้คนอื่น ก็เกิดเรื่องระหว่างคนอื่นกับกรมพระราชวังบวร แล้วในที่สุดกรมพระราชวังบวรก็ชนะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เราเรียกว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)

นั่นคือลักษณะประการที่หนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คือมีการสืบราชสมบัติแต่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ เพราะมีเหตุเปลี่ยนแปลงบ่อย

ลักษณะประการที่สอง คือพระมหากษัตริย์นั้นมีทั้งพระเดชและพระคุณ คือมีทั้งอำนาจและหน้าที่ อำนาจนั้นผมเรียกว่าพระเดช ในที่นี้คือการที่เราเรียกพระองค์ท่านว่าทรงเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงเป็นเจ้าชีวิต ทรงเป็นเจ้าเหนือหัว นั่นแสดงถึงอำนาจ

แต่ขณะเดียวกัน ลักษณะประการที่สามของพระเจ้าแผ่นดินก็คือ การที่ทรงมีหน้าที่ คือมีพระคุณด้วย ไม่ได้มีแต่อำนาจ และอำนาจที่เรานึกว่าเป็นอำนาจนั้นเกือบจะไม่เป็นอำนาจ เพราะถูกทอนไปเป็นหน้าที่หรือว่าพระคุณหมด ที่เราเรียกอำนาจว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน ดูเหมือนจะจริง เพราะกฎหมายยังเขียนในสมัยอยุธยาว่าที่ดินในแว่นแคว้นของนครศรีอยุธยาเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน จะพระราชทานผู้อื่นหามิได้ ฟังแล้วเหมือนกับเป็นเจ้าของแผ่นดินทุกตารางนิ้ว แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เคยได้ทรงใช้สิทธิ์ในฐานะเจ้าของแผ่นดินทุกตารางนิ้วเลย เพราะว่ามีหน้าที่มีพระคุณที่จะต้องใช้แผ่นดินนั้นเพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อตัวเอง

ดังนั้น พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงเทพฯ จะยกเว้นก็แต่รัชกาลที่ 9 นี่แหละ ที่เมื่อเวลาบรมราชาภิเษก คือสวมมงกุฎ ท่านจะต้องพูดเหมือนๆ กันหมด ซึ่งรัชกาลปัจจุบันจะไม่ได้พูดอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะเป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว แต่ถ้าไปดูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-7 เรื่อยไปจนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง วันที่ท่านสวมมงกุฎท่านจะต้องพูดประโยคแรกที่เราเรียกกันว่า ปฐมบรมราชโองการ กษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตจะต้องมีปฐมบรมราชโองการว่า “ดูกร พราหมณ์ทั้งหลาย บรรดาพรรณพฤกษ์ชลธี ฤๅสิ่งของใดในพระราชอาณาเขตนี้ ซึ่งมิได้มีผู้ใดหวงกัน เราให้สมณะชีพราหมาณาจารย์ อาณาประชาราษฎร ใช้สอยตามปรารถนาเถิด” ก็ไหนว่าทรงเป็นเจ้าแผ่นดิน ก็ใช่ แต่ทรงอนุญาตตั้งแต่ในวันที่สวมมงกุฎให้

ดูกร คือตรัสกับพราหมณ์ พรรณพฤกษ์คือต้นไม้ ชลธี คือแม่น้ำ หรือสิ่งของในพระราชอาณาเขตนี้ที่ยังไม่มีผู้ใดหวงกันคือยังไม่มีเจ้าของครอบครอง เราให้บรรดาชีพราหมณ์ สมณพราหมณาจารย์ บรรดาราษฎรทั้งปวง ใช้สอยตามปรารถนาเถิด ไปใช้เถิด ไปจับจองเถิด ไม่มีหรอก คำว่าป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ไม่ต้องไปดูกันแล้ว ไปจับไปจอง เว้นแต่หลวงเขาหวงกันไว้ก่อน ถ้าไม่ได้หวงก็ไปเถอะ

แล้วไหนว่าแผ่นดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดินห้ามคนอื่นไปยุ่งไง เพราะงั้นเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นพระเดชและพระคุณ คือ ให้คนไปใช้แผ่นดินนั้น เป็นเจ้าเหนือหัวนั้นเป็นเจ้าเหนือหัวนั้นเป็นอำนาจ คือตัดหัวใครก็ได้ เราเคยได้ยินพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนตัดหัวตามชอบใจบ้าง ยกมาสักองค์สิที่ตัดหัวตามชอบใจ ไม่มี มีแต่ไต่สวน มีแต่ว่าถ้าไม่ผิดจริงท่านไม่กล้าลงโทษ แล้วทำไมถึงต้องลงโทษ เพราะมันเป็นกฎหมาย แล้วทำไมไม่ยกเว้นกฎหมาย เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่กล้ายกเว้นกฎหมาย ทำไมพระเจ้าเสือถึงต้องประหารพันท้ายนรสิงห์ ก็เพราะกฎหมาย กฎมณเฑียรบอกไว้ว่า ใครพายเรือพระที่นั่งหัวเรือไปชนตลิ่งหักถือว่าประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน ต้องประหารชีวิต พระเจ้าเสือบอกไม่ต้องประหารหรอก เอ็งไม่ได้แกล้ง ก็มีการตอบว่าไม่ได้ ต้องรักษากฎหมาย พระเจ้าเสือสั่งต่อ งั้นเอาดินไปปั้นเป็นตัวเองแล้วตัดหัวรูปปั้นแทน ตอบต่อ ไม่ได้ รู้ไปถึงไหน อายไปถึงนั่น สุดท้ายพระเจ้าเสือบอก งั้นเอ็งตายก็แล้วกันอย่าพูดมาก เพราะต้องรักษากฎหมาย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านมีขุนนางที่ยิ่งใหญ่ ท่านรักมาก และเกรงใจด้วย และเป็นพระบรมญาติอันยิ่งใหญ่อยู่สองคน คนหนึ่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง อีกคนหนึ่งเป็นน้องชายของเจ้าพระยาพระคลัง ชื่อพระยาศรีพิพัฒน์ ทั้งสองคนนี้คือสกุลบุนนาค ยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าได้อาศัยบารมีของสองคนนี้ร่วมอีกหลายคน รัชกาลที่ 3 ท่านถึงได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นท่านเกรงใจ อยู่มาวันหนึ่งลูกพระยาศรีพิพัฒน์ คือพระยาผู้น้อง ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญ เป็นพระสุริยภักดี เป็นตำรวจใหญ่ เกิดไปติดพันสาวสันกำนันนางในนางสนมซึ่งตามกฎหมายถือว่ามีโทษอุฉกรรจ์มหันตโทษ เมื่อจับได้ ได้ความเป็นสัตย์ว่าจริง รัชกาลที่ 3 ท่านก็เรียกพระยาศรีพิพัฒน์เข้ามา บอกว่าศาลพิจารณาตัดสินมาแล้วว่าผิด เอ็งจะว่าอย่างไร ถ้าเอ็งขอโทษ ในฐานะที่มีคุณงามความดี ไถ่โทษลูก ข้าก็จะยกโทษให้ แต่ให้ข้ายกโทษเองคงลำบาก ถ้าเอ็งขอ จะได้ให้พระมหากรุณาธิคุณ พระยาศรีพิพัฒน์บอกว่าได้ความเป็นสัตย์ว่าผิดจริง ขอไม่ได้ ในที่สุดจึงต้องเอาพระสุริยภักดีไปประหารชีวิต

เจ้าพระยาพระคลังคนที่เป็นพี่ของพระยาศรีพิพัฒน์ ต่อไปได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ คนสร้างวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร พระยาศรีพิพัฒน์พ่อของลูกคนที่ถูกประหาร ต่อไปได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ คนสร้างวัดพิชยญาติการามวรวิหาร

นี่ไง การเป็นเจ้าเหนือหัวมีข้อจำกัด คือต้องใช้กฎหมายเป็นตัวจับ เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่นึกจะตัดก็ตัดคอตามใจชอบ หรือนึกจะยกเว้นก็ยกเว้นตามใจชอบ ไม่กล้า แม้แต่ความเป็นเจ้าแผ่นดินที่ผมพูด เมื่อรัชกาลที่ 5 ท่านประชวร หมอฝรั่งแนะนำให้ไปหาที่ไกลๆ พระนคร สร้างวังตากอากาศ อยู่ในวังอุดอู้อากาศไม่ดี เพราะฉะนั้นไกลหน่อยแล้วอากาศดี ก็คือมาแถวลานพระรูปทรงม้านี่แหละ ไกลแล้ว นั่งรถม้าออกจากสนามหลวงมา ไกลนะครับ

ตรงนั้นมันเป็นที่ดิน ก็ถ้าบอกว่าที่ดินทั้งปวงเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ยึดเอามาแล้วก็สร้างวัง ปรากฏว่าเป็นที่ที่มีราษฎรยึดครองอยู่ด้วย ทรงใช้พระราชทรัพย์ซื้อมาเป็นอันมาก ขีดเส้นใต้คำว่าซื้อ คือจ่ายเงินไป แล้วเอามาสร้างเป็นพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นวังปารุสก์ เป็นสวนมิสกวัน ทุกวันนี้ มาโดยพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง

ทั้งหมดเหล่านี้ เวลาฝรั่งบอกว่าประเทศไทยมีช่วงหนึ่งที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช บางทีต้องถามว่าสมบูรณาญาสิทธิราชประเทศยู มีไหมที่พระเจ้าแผ่นดินต้องซื้อที่ดิน สมบูรณาญาสิทธิราชของยูมีไหมที่พระเจ้าแผ่นดินเกณฑ์คนมาสร้างอะไรใหญ่โตมโหฬาร สร้างพีระมิด สร้างกำแพงเมืองจีน ของไทยเราไม่เคยสร้างอะไรใหญ่โตมโหฬาร เพราะมันต้องเกณฑ์คน แล้วพระเจ้าแผ่นดินไทยเกรงใจที่จะเกณฑ์คนมาสร้าง ถ้าสมบูรณาญาสิทธิราชจริง ไม่ต้องเกรงหรอก

แล้วสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นแปลว่าอยู่เหนือกฎหมาย เหนือทุกอย่าง เหนือฟ้า และไม่มีฟ้ามาอยู่เหนืออีก แต่สมบูรณาญาสิทธิราชไทยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมีเรื่องต้องกลัวเยอะเลย แค่จะเอาใครเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระเจ้าแผ่นดินไทยก็เลือกไม่ได้ตามใจชอบนะ ก็ไหนว่าใหญ่ไง

รัชกาลที่ 1 ท่านตั้งน้องของท่านเป็นพระมหาอุปราช คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อยู่มากรมพระราชวังอุปราชท่านสวรรคต ความจริงท่านก็ควรจะตั้งลูกท่านเป็นพระมหาอุปราช ท่านไม่กล้าตั้ง ตอนนั้นไม่กล้าตั้ง บัดนี้น้องตาย ก็ตั้งลูกขึ้นเป็นต่อ ท่านยังไม่กล้า ท่านว่างเว้นอยู่ตั้งหลายปี จนประวัติศาสตร์บอกว่า คนนั้นก็ทูลคนนี้ก็ทูลว่าตั้งสักทีเถอะ ลูกขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ไม่งั้นเดี๋ยวสวรรคตไปเดี๋ยวจะยุ่งนะ

จนแม้แต่เวียดนามที่มาพึ่งพระบารมี คือองค์เชียงสือ ยังกราบบังคมทูลเลยว่าควรจะตั้งลูกของท่านเป็นอุปราชเสีย ในที่สุดหลายปีต่อมาจึงทรงตัดสินพระทัย ตั้งลูกของท่าน คือเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรอุปราช และพอท่านสวรรคต องค์นี้ก็ได้ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 2

รัชกาลที่ 2 ก็ตั้งน้องท่านเป็นมหาอุปราช แล้วพออยู่มาเมื่อน้องท่านตายก่อน ท่านก็ไม่กล้าตั้งใครเป็นอุปราช ลูกท่านก็มีตั้งเยอะตั้งแยะ ท่านก็ไม่กล้าตั้งเป็นอุปราช ลงท้ายท่านสวรรคตโดยไม่มีการรู้ว่าใครเป็นรัชกาลที่ 3 ก็เป็นเรื่องของขุนนาง เสนาบดี อำมาตย์ เจ้านาย อัญเชิญลูกรัชกาลที่ 2 องค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 3 ท่านก็ขึ้นมาเป็นด้วยความเจียมพระองค์ว่าโดยลำดับ โดยสิทธิ์หลายอย่าง ท่านอาจจะไม่ควรไม่เหมาะที่จะเป็น เพราะเริ่มต้นท่านไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า แม่ท่านไม่ได้เป็นพระมเหสี แต่เมื่อความจำเป็นของบ้านเมือง ขุนนางอัญเชิญ เหตุการณ์บีบบังคับ ขณะนั้นคนที่มีสิทธิ์คือเจ้าฟ้ามงกุฎ อายุ 20 ปี ส่วนท่านอายุ 37 ปี ผ่านราชการ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก สงครามก็ยกมาประชิดติดเวียงชัย ถ้าท่านไม่รับเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เห็นจะลำบาก ท่านก็รับเป็น แล้วถ้าท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินแบบเต็มยศของพระเจ้าแผ่นดิน พูดภาษาชาวบ้านเลย “เจ้ายศเจ้าอย่าง” ข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สำแดงแผลงฤทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนกับสมบูรณาญาสิทธิราชในนานาประเทศ ประวัติศาสตร์ไทยเปลี่ยนหมดเลย

ปรากฏว่าท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่รักน้องแม้จะคนละแม่ รักญาติ รักพี่ป้าน้าอา รักแผ่นดิน รักประชาชน ลูกท่านมีตั้ง 50 กว่าพระองค์ทำไมท่านจะไม่รัก เมื่อถึงเวลาประชวรจะสวรรคต ถ้าท่านเอ่ยปากคำเดียวว่าท่านขอตั้งลูกท่านคนนี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อ ใครจะกล้าทัดทาน แล้วที่สำคัญคือท่านเป็นพระเจ้าดินอยู่ตั้ง 27 ปี ระหว่างนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎบวชอยู่ 27 ปีนะ เป็นพระอยู่ รัชกาลที่ 3 เป็นกษัตริย์อยู่ 27 ปี เมียท่านก็เยอะ ลูกท่านก็มาก ท่านไม่ได้ตั้งเมียท่านสักคนเป็นเจ้าเลย เพื่อลูกท่านจะได้ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าฟ้า และให้มันมายุ่งกับราชสมบัติทีหลังอีก ลูกท่านทั้งหมดเป็นพระองค์เจ้าเท่ากันหมด เพราะฉะนั้น เมื่อสวรรคต พลิกตำรา รัชกาลที่ 3 ไม่มีลูกเป็นเจ้าฟ้าที่จะมีสิทธิ์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วรัชกาลที่ 3 ก็ไม่เคยออกพระองค์โปรดตรัสว่าไปเอาใครมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน กลับตรัสว่าสุดแท้แต่ขุนนางจะเห็นพ้องต้องกันว่าใครเหมาะใครดี

แล้วขุนนางนั่นแหละที่ลงมติไปเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎให้สึกจากพระ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ มาเป็นรัชกาลที่ 4 แล้วท่านก็เป็นกษัตริย์อยู่หลายปี ระหว่างที่เป็นกษัตริย์ ท่านก็มีเมีย ท่านก็มีลูก ลูกที่เป็นเจ้าฟ้าก็เยอะ เมื่อถึงเวลาประชวรจะสวรรคตในปี 2411 ถ้าท่าน จะพูดสักคำว่า ท่านจะเอาลูกคนไหนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีหรือที่คนจะทัดทาน ไม่มีทาง แต่ท่านรู้ว่าท่านทำไม่ได้ โดยโบราณประเพณี โดยขนบธรรมเนียม ถ้าอาศัยการแต่งตั้งทายาทระบุชื่อ ท่านอาจจะไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น รัชกาลที่ 4 ก็ไม่กล้าตรัสมอบราชสมบัติใคร ได้แต่สั่งว่าจะเอาน้องท่าน เอาอาท่าน ลูกท่าน หลายท่าน ใครก็ตามที่เห็นว่าดีเหมาะ ก็ไปเชิญกันเองเถอะ

ประโยคต่อไปนี้สิสำคัญ ที่จริงท่านก็ตั้งใจแสดงเป็นนัยๆ ให้ขุนนางรู้นะว่าลูกท่านเยอะ แต่ท่านมีลูกรักอยู่คนหนึ่ง คือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ที่ต่อไปเป็นรัชกาลที่ 5 ท่านไม่ได้ตรัสว่าเอ็งจงตั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านไม่ได้พูดอย่างนั้น เพราะท่านไม่กล้าพูด สมบูรณาญาสิทธิราชแบบไหนที่กษัตริย์ไม่กล้าพูด ในโลกนี้ไม่มีนอกจากไทยแลนด์ แล้วมิหนำซ้ำท่านกลับพูดสิ่งที่ไม่มีวันที่สมบูรณาญาสิทธิราชอื่นในโลกจะพูดเป็นอันขาด เพราะรัชกาลที่ 4 ท่านตรัสว่า “พวกเจ้าทั้งหลาย ลูกที่ข้ารักมากคือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ที่พูดไม่ได้ว่าสั่งจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เกรงแต่ว่าเมื่อได้คิด ตั้งคนอื่นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปแล้ว อยู่ไปภายหน้าเกิดลูกของข้าคนนี้คิดคดทรยศ คิดร้ายต่อแผ่นดิน ท่านไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ใครมายุมาแหย่เข้า คนอื่นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วลูกท่านเกิดไปคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน แย่งชิงราชสมบัติ ถ้าหากว่ารักข้าจริง ข้าก็ขอให้แต่เพียงเนรเทศเถิด อย่าถึงขั้นประหารกันเลย”

สมบูรณาญาสิทธิราชประเทศไหนที่พระเจ้าแผ่นดินขอชีวิตลูก ทั้งๆ ที่ควรจะตั้งลูกเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อ ท่านไม่ตั้งจะตั้งใครก็ตั้งกันเอง แต่เมื่อตั้งคนอื่นไป เมื่อลูกท่านเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไปคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน ก็ขอให้ลงโทษแค่เนรเทศเถิด ยกเว้นแต่จะเป็นตั้วเฮีย ท่านใช้คำนี้ คือเป็นโต้โผคิดการณ์เอง กำเริบเสิบสาน อย่างนั้นก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดถูกเขายุเขาแหย่ ก็เนรเทศไปที่ไหนไกลๆ ให้พ้นๆ อย่าเอากลับมาเลย

นี่คือน้ำใจสมบูรณาญาสิทธิราชของไทย นี่คือลักษณะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีทั้งพระเดชและพระคุณ และเวลาที่บอกว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ไม่ได้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชตามความหมายของฝรั่ง แต่เป็นความหมายแบบไทยๆ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะลักษณะสุดท้ายของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งหาไม่ได้ในกษัตริย์ประเทศอื่นใดในโลก คือการที่ทรงมีทศพิธราชธรรม เวลาเอ่ยทศพิธราชธรรม คนมักจะบอก โธ่เอ๊ย รู้กันอยู่แล้ว ก็พูดกันไปอย่างนั้น เหมือนที่คนไทยทุกวันนี้ถือศีล ความจริงก็ไม่ได้ถือตาม ศีลน่ะเรื่องหนึ่งนะ ผมเห็นกับตา ศีลจบเรียบร้อยระหว่างที่ถือศีลกันไป ปาณาติปาตา ระหว่างนั้นก็ตบยุง ไอ้อย่างนั้นถือตามประเพณี

แต่ทศพิธราชธรรมนั้น กษัตริย์ไม่ได้ถือหรือทรงไว้ตามประเพณีนะ คือไม่ได้สักแต่ว่าเขาบอกให้ถือก็ถือนะ ไม่ใช่ เพราะว่ามีโทษสำหรับกษัตริย์ที่ฝ่าฝืนทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม คือ ธรรมะ 10 ประการของผู้เป็นพระราชา หรือผู้ปกครอง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินขึ้นครองราชสมบัติตั้งแต่สมัยโบราณกาล จนถึงรัชกาลปัจจุบัน และเชื่อเถอะ จนถึงรัชกาลต่อๆ ไป พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงสมาทานทศพิธราชธรรมในวันสวมมงกุฎ

รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 1 พระเจ้าตากสิน พระเจ้าเอกทัศน์ พระนารายณ์ พระนเรศวร ล้วนแต่ได้ลั่นสัจวาจาว่าจะรักษาทศพิธราชธรรมทั้งสิ้น แล้วไง ก็แล้วไงตรงนี้ว่าเมื่อพูดให้คนรู้ ประกาศกึกก้องว่าจะถือทศพิธราชธรรม แล้วลองอยู่ๆ ไปไม่ถือสิ เกิดอะไรขึ้น

หนึ่ง เกิดผลร้ายคือคนเขาจะถอดโทษเอา ถ้ามีเหตุขึ้นในแผ่นดิน ซึ่งบางทีเหตุนั้นไม่ได้เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินเลย เช่น ฝนฟ้าไม่ตกต้องฤดูกาล แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด คนสมัยก่อนไม่รู้จะโทษใคร โยนโครมไปที่พระเจ้าแผ่นดิน เพราะพระองค์ไม่ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม แค่นี้พระเจ้าแผ่นดินอยู่ไม่ได้แล้วนะ ต้องทำอะไรสักอย่างให้คนเห็นว่าได้ทรงปัดเป่าช่วยเหลือ พิสูจน์ให้เห็นว่าพระบารมีฟื้นคืนกลับมาได้ ไม่งั้นอยู่ไปไม่ได้ แล้วถ้าอยู่ไปจนกระทั่งไม่ได้เกี่ยวกับธรรมชาติ ทรงแสดงพระองค์ว่าไม่ได้มีทศพิธราชธรรมจริง เช่น กลั่นแกล้งเขา ฆ่าเขา ฉุดเมียใครเข้ามาข่มเหง ซึ่งทั้งหมดผิดทศพิธราชธรรมทั้งนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วเกิดเสมอมา คือการแย่งชิงราชสมบัติ มันจะมีคนยึดอำนาจ ไม่พี่ก็น้องยึด ข้าราชการยึด ขุนนางยึด จนกระทั่งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งตนเป็นใหญ่ยึด

แล้วเวลายึดอำนาจได้สำเร็จ มันจะต้องมีคำพูดที่บอกให้ประชาชนรู้ว่า เหตุใดจึงยึดอำนาจ อย่างสมัยหลังๆ เวลาจะยึดอำนาจ ท่านเกิดทันนะ เวลาจะยึดอำนาจหลังๆ มีสูตรสำเร็จเลยว่า เขาจะต้องบอกว่า ด้วยปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า และต่อไป ท่านเติมคำในช่องว่างเอง เพราะยึดกี่ทีๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลก่อนนี้มีการประพฤติทุจริต ไม่เคารพยำเกรงองค์กรอิสระ ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ผมท่องจำแม่น นั่นเป็นเหตุผลสมัยนี้ จะเป็น คสช. จะเป็น รสช. จะเป็น คมช. ก็ต้องอ้างเหตุผลอย่างนี้ ไม่งั้นจะอธิบายเหตุผลอย่างไรทำไมถึงไปยึดอำนาจมา แต่สมัยก่อน เมื่อเวลาไปยึดอำนาจพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องอ้างอะไรสักอย่างให้คนเข้าใจทำไมถึงยึด และต้องอ้างที่ฟังแล้วกินใจ โดนใจ ชนิดพอฟังปั๊บ ชาวบ้านพนมมือ สาธุ ควรจะทำเสียนานแล้ว

สมัยก่อนไม่มีหรอก ที่เอาพวงมาลัยไปคล้องปากกระบอกปืน แต่พอได้ยินว่ายึดอำนาจเสร็จ โดยอ้างเหตุผลที่กินใจ ชาวบ้านยกมือท่วมหัวว่าว่าสาธุ กรรมมันตามทันแล้ว เหตุผลที่ใช้ยกกันในอดีตทุกสมัยมาก็คือด้วยปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อนไม่ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมจรรยา สัมมาปฏิบัติ แค่นั้น ไม่ต้องพูดอย่างอื่นอีกเลย คนเขายกมือ สาธุ

ถ้าประเภทหยาบคายหน่อยบอกสมน้ำหน้า ถ้าประเภทที่ปลงตกก็บอกว่า กรรมตามทัน ซึ่งเอาเข้าจริงจะเป็นว่ากษัตริย์พระองค์ก่อนละเมิดทศพิธราชธรรมหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เหตุผลที่ต้องใช้คือเหตุนี้ไปเที่ยวยกเหตุอื่นไม่ได้ สมัยก่อน แม้แต่ยกเหตุผลว่ากษัตริย์พระองค์ก่อนทรงทุจริตก็ยกไม่ได้ ยกไม่ได้เพราะบางท่านก็ไม่ได้ทุจริต หรือบางทีก็มองไม่เห็น แต่อ้างทศพิธราชธรรมมีตั้ง 10 ข้อ คงละเมิดเข้าสักข้อแหละน่า

เพราะฉะนั้น เมื่อตอนที่แย่งชิงราชสมบัติครั้งแรก สมัยอยุธยา ขุนหลวงพระงั่วท่านยกทัพมา จะมายึดสมบัติกษัตริย์อยุธยา คือสมเด็จพระราเมศวร เผอิญท่านราเมศวรเป็นวงศาคณาญาติกับขุนหลวงพระงั่ว นัยยะว่าท่านก็ยอมแพ้ ท่านบอกเอาเถิด อยากเป็นก็เป็นเถิด ว่าแล้วท่านก็ออกไปอยู่ที่อื่น ขุนหลวงพระงั่วก็ตั้งตนขึ้นมาเป็นกษัตริย์ ตรงนั้นไม่ต้องอ้างว่าด้วยปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัด เพราะยังไม่ทันจะชัดเลย เขายอมแพ้แล้ว

พระราเมศวรก็ถอยไปเป็นเจ้าเมืองอื่น ก็รอว่าเมื่อไหร่ขุนหลวงพระงั่วตายตัวค่อยกลับมาก็ได้ พอขุนหลวงพระงั่วตาย ขุนหลวงพระงั่วดันตั้งลูกตัวเองเป็นกษัตริย์คือพระเจ้าทองลัน หรือพระเจ้าทองจันทร์ ทีนี้สมเด็จพระราเมศวรรอไม่ได้ ท่านบอกสมบัติของท่านนี่หว่า ท่านก็เลยยกทัพเข้ามาจับพระเจ้าทองจันทร์หรือพระเจ้าทองลัน ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ 7 วัน ประหารชีวิต แล้ววิธีจะประหารก็ต้องอ้างเหตุผล แล้ววิธีอ้างเหตุผลจะไปอ้างได้อย่างไรว่าด้วยปรากฏหลักฐานว่าเป็นกษัตริย์อยู่ 7 วัน มันไม่ได้ มันก็ต้องบอกว่าทศพิธราชธรรมมันหายไปแล้ว แล้วก็ประหาร

แล้วสูตรสำเร็จสมัยก่อน เอาไปประหารที่วัดโคกพระยา เดี๋ยวนี้ยังมีซากเหลืออยู่ในอยุธยา ถ้าครูรู้จักทัศนศึกษา พาเด็กไปวัดโคกพระยาก็คงจะดี เล่าให้ถูกแล้วกันว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น แล้วหลังจากนั้นยึดอำนาจพระเจ้าแผ่นดินกี่หนๆ ก็จะทำสูตรสำเร็จสองอย่างคือ หนึ่งอ้างว่าพระองค์ก่อนไม่มีทศพิธราชธรรม และสอง คือเอาไปประหารที่วัดโคกพระยา

เมื่อตอนที่สมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์เป็นกษัตริย์ เห็นชัดว่าไม่อยู่ในทศพิธราชธรรมจริงๆ จนเดือดร้อนพระสงฆ์องค์เจ้า พระพิมลธรรม ท่านเป็นพระอยู่ที่วัดระฆัง ท่านก็สึกออกมา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังเถียงอยู่ว่าสึกก่อนหรือว่ายึดอำนาจก่อน ท่านก็สึกจากพระมาแล้วก็เข้ายึดอำนาจจับสมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ฆ่าที่วัดโคกพระยา แล้วตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ เหตุผลตอนยึดอำนาจก็คืออ้างว่า ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนไม่ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมจรรยา สัมมาปฏิบัติ มันเป็นข้อนี้มาตลอด เพราะฉะนั้น ทศพิธราชธรรมนั้นเป็นธรรมที่กำกับพระเจ้าแผ่นดิน

วันนี้รัฐบาลมีสิ่งที่กำกับอำนาจไม่ให้เหิมเกริม คือรัฐธรรมนูญ สมัยก่อนมันไม่มีรัฐธรรมนูญมากำกับ แต่มันมีทศพิธราชธรรมกำกับ ซึ่งต้องปฏิญาณ ต้องรักษา และถ้าไม่รักษาจะมีคนจัดการ ถ้าไม่ฟ้าดินจัดการ คนก็ลุกฮือขึ้นจัดการเอง พระเจ้าแผ่นดินจึงอยู่ด้วยความกลัวทศพิธราชธรรม และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ รัชกาลที่ 5 ถึงขนาดตรัสว่าพระบรมเดชานุภาพพระเจ้าแผ่นดินสยามนั้นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีขอบเขตอะไรมาจำกัด มี น่าอ่านมากไปอ่านเถอะ พระราชหัตถเลขานี้ แล้วอ่านไปก็จะรู้ว่าสิ่งที่กำกับอำนาจพระเจ้าแผ่นดินไม่ให้เหิมเกริม ไม่ให้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชจนเกินไป คือทศพิธราชธรรม

เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลต้องปฏิญาณในวันสวมมงกุฎ เรามักจะจำกันแม่นว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในวันที่บรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ คือเมื่อท่านสวมมงกุฎ รับเบญจราชกกุธภัณฑ์ พราหมณ์ก็บอกว่าขอเดชะ บัดนี้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สิ่งที่พระองค์จะรับสั่ง จะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่พระราชดำรัสแล้ว แต่เป็นพระบรมราชโองการ ขอมีพระปฐมบรมราชโองการเถอด พระพุทธเจ้าข้า คือพูดอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นประโยคแรก เป็นพระบรมราชโองการแรกเถิด รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

ทุกคนรู้ทุกคนจำได้ แล้วตรัสอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้ตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ พรรณพฤกษ์ชลธีสิ่งของทั้งหลายในพระราชอาณาเขต ไม่มีผู้ใดหวงกัน เราอนุญาตให้สมณะพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรใช้สอยตามปรารถนาเถิด รัชกาลที่ 9 ไม่ได้ตรัสอย่างนั้น เพราะในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าของพรรณพฤกษ์ชลธีสิ่งของเหล่านั้นอีกแล้ว ก็ต้องตรัสอย่างอื่น และอย่างอื่นก็คือเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม แล้วโดยมากจำแค่นี้ รู้แค่นี้ จบแค่นี้ ความจริงพิธีบรมราชาภิเษกยังเดินต่อไม่เสร็จ ถ้าท่านไปหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็จะพบว่าหลังจากได้ตรัสเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงหลั่งทักษิโณทก นึกภาพพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ เอาคนโทรินน้ำลงมา

รัชกาลที่ 9 ก็ทรงทำอย่างนั้น แล้วก็ทรงตรัสสัตยาวาจา สัตยาธิษฐาน “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” นั่นคือพระปฐมบรมราชโองการ นั่นคือคำสั่ง แต่ประโยคที่ตรัสต่อจากนั้นไปไม่ใช่คำสั่งแต่เป็นความปรารถนา หรือเป็นการปฏิญาณ หรือเป็นการสมัครใจ ผูกพันตนเอง ซึ่งคำพูดต่อจากนั้น ต่อจากเราจะครองแผ่นดินโดยธรรมนั้นคือคำพูดที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง นั่นคือตั้งสัตยาธิษฐาน หลั่งทักษิโนทก ว่า จะขอยึดและทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมจรรยา ซึ่งเป็นประโยคที่ต้องตรัส เพื่อความสบายใจของอาณาประชาราษฎร แล้วเป็นคำสัญญาที่ผูกมัดระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง นั่นคือความสำคัญของทศพิธราชธรรม

ท่านผู้มีเกียรติครับ ทศพิธราชธรรมนั้นซึมอยู่ในสถาบันประวัติศาสตร์ และอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย เป็นธรรมะที่ผู้ปกครอง รัฐบาล ข้าราชการเองก็ควรจะยึดถือ ผมไม่มีเวลาจะแจกแจงว่า 10 ข้อนั้นมีอะไร ตั้งแต่ทาน ศีล บริจาค เรื่อยไปจนกระทั่งข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก อวิโรธนะ การไม่เบี่ยงเบนไปจากกฎกติกา จรรยามารยาท ที่เคยปฏิบัติ เป็นธรรมะที่สำคัญ เราทั้งหลายรู้จักวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เราทั้งหลายรู้จักพระรามและทศกัณฑ์ เรารู้ว่าพระรามเป็นพระเอก ทศกัณฑ์เป็นผู้ร้าย หรือมีใครรู้สึกว่าทศกัณฑ์เป็นพระเอก พระรามเป็นผู้ร้ายบ้าง เขาอุตส่าห์เล่นโขนตั้งไม่รู้กี่ทีๆ ถ้ายังไม่รู้อีก ไม่รู้ว่าอย่างไร นี่พูดถึงเยาวชนรุ่นใหม่นะ

ทศกัณฑ์เป็นผู้ร้าย ลักนางสีดา นางสีดาเป็นเมียพระราม พระรามมาตามนางสีดา ทศกัณฑ์เองก็เกณฑ์ลูกเกณฑ์น้องเกณฑ์หลาน วงศาคนาญาติพรรคพวก เพื่องฝูงยักษ์ทั้งนั้นไปสู้ตายหมด ลงท้ายทศกัณฑ์ทนไม่ไหว เขาตายกันหมดแล้ว ต้องออกรบเอง ทศกัณฑ์นั้นใครฆ่าก็ไม่ตาย เพราะแกถอดหัวใจไปฝากไว้ที่ฤาษีโคบุตร ตอนหลังพิเภกรู้เข้าก็ไปเอาหัวใจทศกัณฑ์จากฤาษีโคบุตรมา ทศกัณฑ์ไม่รู้ว่าหนุมานไปได้หัวใจตัวเองมาแล้ว ทศกัณฑ์ออกรบ ถูกพระรามแผลงศรพรหมมาศล้มลง ก็ยังไม่ตาย หนุมานก็เลยเหาะขึ้นมาแล้วชูกล่องดวงใจ แล้วก็บีบ ทีนี้ตาย

ก่อนตายทศกัณฑ์ซึ่งร้ายมาตลอดชีวิต ตัวเองเป็นกษัตริย์เจ้ากรุงลงกา มีน้องคนหนึ่งคือพิเภก พิเภกพยายามห้ามพี่ คืนนางสีดาเขาไปเถอะ อย่าไปรบเลย ทศกัณฑ์ก็ไม่เชื่อ จนไล่พิเภกออกไป จนพิเภกต้องอยู่กับพระราม แล้วคอยสอนพระรามว่าวิธีจัดการกับทศกัณฑ์ ให้จัดการอย่างไร สุดท้ายเมื่อทศกัณฑ์จะขาดใจตาย ทศกัณฑ์ล้มลงยังอุตส่าห์มีแก่ใจร้องสั่งพิเภกผู้เป็นน้องชาย 10 ข้อ ในพระราชนิพนธ์รามเกียรต์ที่รัชกาลที่ 1 แต่ง ท่านอธิบายไว้ดีมากว่า ขนาดทศกัณฑ์ที่ร้ายแสนร้ายกำลังจะขาดใจตายในอีก 2 นาที ยังอุตส่าห์สั่งพิเภกน้องชาย 10 ประโยค แต่ละประโยคเขาเรียกว่าปากหนึ่ง ปากสอง ปากสาม

พอถึงประโยคที่ 5 คือ ปากห้า ทศกัณฑ์สั่งว่าอย่างไร รู้ไหมครับ ทศกัณฑ์สั่งพิเภกว่า ปากห้าจงดำรงทศพิธ อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่ ทศกัณฑ์พูดอย่างนี้ และคือการพูดในรามเกียรติ์ ผมรู้นะว่าท่านคิดถึงใคร “ปากห้าจงดำรงทศพิธ อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่ ตัดโลภโอบอ้อมอารี แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร”

มีคนมาแปลให้เพราะมากว่าประโยคที่ห้า ทศกัณฑ์ร้องไห้แล้วสั่งว่า น้องเอ๊ย ต่อไปเจ้าคงจะได้เป็นกษัตริย์แทนพี่ เจ้าจำไว้ว่าต้องมีทศพิธราชธรรมนะ ขนาดจะตายยังอุตส่าห์สั่งเสียด้วยทศพิธราชธรรม แล้วก็เจ้าจงอย่าทำทุจริตให้เหมือนกับที่พี่เคยทำ ตอนนั้นพี่ทำมาหลายเรื่อง แล้วก็ตัดโลภ คืออย่าโลภ ทำอะไร อย่ากินรวบ เอาคนเดียว มีอะไรก็ส่วนแบ่งกับส่วนร่วม ตัดโลภโอบอ้อมอารี คือต้องมีใจโอบอ้อมแก่โยธี ไพร่ฟ้า ประชากร จนกระทั่งถึงประโยคที่สิบ หนุมานก็บีบหัวใจทศกัณฑ์สิ้นใจตายในบัดนั้น

“เรื่องนี้สอนให้รู้ทีเดียวเลยว่าทศพิธราชธรรมนั้นเป็นหัวใจของประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นหัวใจของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์ และเป็นเรื่องที่เราจะปล่อยให้สูญหายไปในคุณธรรมโบราณไม่ได้ เพราะยังทันสมัยอยู่จนปัจจุบันนี้ ผมขอยุติการบรรยายแต่เพียงเท่านี้ และด้วยเหตุที่ได้ออกตัวแล้วว่าไม่ใช่ทั้งผู้รู้และนักประวัติศศาสตร์ จึงขอให้ท่านผู้รู้และนักประวัติศาสตร์ โปรดอภัยให้ผมผู้มีสติปัญญาอันน้อย ขอบพระคุณครับ”