ThaiPublica > คอลัมน์ > ข่าวเจาะ : บทบาทสื่อกับการรายงานข่าวต่อต้านทุจริตในรอบปี 2558

ข่าวเจาะ : บทบาทสื่อกับการรายงานข่าวต่อต้านทุจริตในรอบปี 2558

27 ธันวาคม 2015


Hesse004

ในรอบปี 2558 ดูเหมือนสถานการณ์การทุจริตยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก ทั้งนี้สะท้อนได้จากข่าวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ข่าว หรือแม้แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์

ที่ผ่านมา การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบการทุจริตโดยตรง เช่น ป.ป.ช. สตง. หรือ ป.ป.ท. ขณะที่ภาคเอกชนก็พยายามขับเคลื่อนกลไกการต่อต้านทุจริตไปพร้อมๆ กับภาคประชาสังคม (Civil Society Organization) อาทิ การทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันระหว่างสมาคมผู้ประกอบการต่างๆ หอการค้า และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (ACT)

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นคนสำคัญในสนามต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน คือ สื่อมวลชน

…เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อนับเป็นกลไกที่มีบทบาทในการต่อต้านทุจริตมากที่สุด เนื่องจากสื่อมีความสามารถในการขุดคุ้ยข้อมูล เจาะข้อเท็จจริงและเชื่อมโยงความผิดปกติต่างๆ ให้สาธารณะได้รับทราบ

ทุกวันนี้ มีสื่อประเภทที่เป็น Investigate Journalism หรือ Data Journalism เพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของวิชาชีพสื่อสารมวลชน

สื่อประเภท Investigate Journalism หรือ ที่บ้านเราเรียกว่า “ข่าวเจาะ” นั้น เริ่มแสดงบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 โดยสื่อลักษณะนี้มีอุดมการณ์รายงานข่าวที่ไม่มีใครกล้ารายงาน หรือไม่มีใครอยากรายงาน เพราะหวาดกลัวอิทธิพลของผู้มีอำนาจที่ไม่สามารถทนรับความจริงที่ถูกเปิดเผยได้

การ “แฉข้อมูล” หรือข้อเท็จจริง นับเป็นจุดเด่นของการทำงานข่าวในลักษณะ “เจาะลึก” ซึ่งโมเดลของคนทำสื่อ Investigative Journalism นั้น ได้รับอิทธิพลจาก Philippines Center Investigative Journalism หรือ PCIJ สำนักข่าวอิสระของฟิลิปปินส์ที่กลายเป็น “ต้นแบบ” การทำข่าวเจาะของสื่อหลายประเทศ

สำหรับประเทศไทย สำนักข่าวหรือผู้ผลิตข่าวในลักษณะนี้มีอยู่ไม่มากนัก เช่น ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ Thai Civil Rights and Investigative Journalism (TCIJ) สำนักข่าวไทยพลับลิก้า (Thaipublica) และ สำนักข่าวอิศรา (Isranews)

ทั้งนี้ ปี 2558 ที่กำลังจะผ่านไป หากเราย้อนมองส่องดูเนื้อข่าวตามเว็บไซต์ที่ผู้ผลิตข่าวเจาะรวมทั้งผู้ผลิตข่าวที่นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ (Data Journalism) เราพบว่า มีข่าวจำพวกเรื่องอื้อฉาว (Scandal) ถูกรายงานนำเสนอต่อสาธารณะเป็นจำนวนมาก (ดูตารางที่1)

ข่าวเจาะ-1

จากตารางที่ 1 ผู้เขียนได้รวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวต่อต้านทุจริตโดยสำนักข่าวอิศรา ซึ่งในเว็บไซต์ของสำนักข่าวได้แบ่งประเภทเนื้อหาในหมวดข่าวเชิงสืบสวนไว้หลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ร่ำรวยผิดปกติ (2) จัดซื้อจัดจ้าง และ (3) ตรวจสอบท้องถิ่น

กรณีข่าวร่ำรวยผิดปกติ พบว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวไปทั้งหมด 12 ชิ้น โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของนักการเมืองและข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ เช่น กรณีที่ ป.ป.ช. สอบสวนข้าราชการกรมหนึ่งที่ร่ำรวยผิดปกติจากการนำเงินภาษีที่ขอคืนเข้าบัญชีตนเอง

ขณะที่จำนวนข่าวที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมีมากถึง 409 ชิ้น (เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 26 ธันวาคม 2558) จากทั้งหมด 1,002 ชิ้น หรือคิดเป็น 40.81 % ของจำนวนเนื้อข่าวทั้งหมดที่สำนักข่าวอิศราเคยรายงานมา (สำนักข่าวอิศราเริ่มรายงานข่าวในหมวดการจัดซื้อจัดจ้างครั้งแรกเมื่อปี 2554 โดยปี 2558 นับเป็นปีที่มีเนื้อข่าวเรื่องจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด)
เนื้อหาข่าวทั้ง 409 ชิ้นนี้ ประกอบด้วย การรายงานข้อมูล นำเสนอบทสัมภาษณ์ เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติ หรือข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ถูกตั้งคำถามขึ้นเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจง

ตัวอย่างน่าสนใจซึ่งสำนักข่าวอิศรา “เจาะข่าว” มาอย่างต่อเนื่อง คือ กรณีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งมีทั้งหมด 21 บทความ และมีข่าวที่เกี่ยวข้องอีก 100 ชิ้น โดยข่าวเริ่มปรากฏตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 จนกระทั่งบทความชิ้นล่าสุดถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558

นอกจากนี้ เนื้อข่าวที่เกี่ยวกับการตรวจสอบท้องถิ่น ที่สำนักข่าวอิศราทำหน้าที่รายงาน พบว่า นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 20 พ.ย. 2558 มีข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบท้องถิ่นทั้งหมด 93 ชิ้น

ประเด็นที่ถูกรายงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภายในท้องถิ่น การมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับผู้รับเหมา การฮั้วประมูล รวมถึงการนำผลการตรวจสอบเบื้องต้นของ สตง. และ ป.ป.ช. ออกมาเผยแพร่

…ข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้นคงแสดงให้เห็นภาพสถานการณ์ความโปร่งใสของประเทศเราในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ทำหน้าที่วางนโยบาย ยุทธศาสตร์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน คงมีการบ้านให้ต้องทำอีกหลายข้อในปีต่อไป