ThaiPublica > คอลัมน์ > เปิดโปรไฟล์หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก (ตอนที่ 3): ACRC เกาหลีใต้

เปิดโปรไฟล์หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก (ตอนที่ 3): ACRC เกาหลีใต้

20 มิถุนายน 2017


Hesse004

หากจะว่าไปแล้วประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันแบบ “สู้ยิบตา” เห็นจะต้องยกให้ “เกาหลีใต้” ที่สู้กับปัญหาคอร์รัปชันแบบกัดไม่ปล่อย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้นำเกาหลีใต้หลายคนพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระก็ด้วยถูกกล่าวหาว่า “คอร์รัปชัน” จนเป็นประเด็นที่ถูกไล่ลงจากตำแหน่ง…ตัวอย่างล่าสุด คือ กรณีนางสาวปาร์ค กึนเฮ ที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยข้อหาปล่อยให้เพื่อนคนสนิทเข้ามาก้าวก่าย แทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน

นักวิชาการด้านคอร์รัปชันศึกษา เคยเปรียบเปรยสังคมเกาหลีใต้ว่าเป็นสาธารณรัฐของวัฒนธรรมว่าด้วยการคอร์รัปชัน (Republic of total culture of corruption)1 …เหตุที่เปรียบเทียบแรงๆ เช่นนี้ เพราะวัฒนธรรมการคอร์รัปชันในเกาหลีใต้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศหลังจากสงครามเกาหลีสงบลง

“วัฒนธรรมการคอร์รัปชัน” เกิดจากความสัมพันธ์ในการใช้อำนาจระหว่างพ่อค้า นักธุรกิจ และนักการเมือง รวมถึงรัฐบาลทหารในยุคเผด็จการ ปาร์ค จุงฮี ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในลักษณะการให้สินน้ำใจที่หากมองในอีกมุมหนึ่งก็คือ “สินบน” ดีๆ นั่นเอง

สินน้ำใจ หรือที่ภาษาเกาหลีเรียกว่า Chonji กลายเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง Chaebol ผูกเกลียวสัมพันธ์กับคนในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร

สายสัมพันธ์ที่สร้างจาก “สินน้ำใจ” นี้เอง ทำให้กลุ่มทุนธุรกิจได้ประโยชน์จากการตัดสินใจของนักการเมือง กองทัพ รวมถึงข้าราชการประจำ ที่ต่างตอบแทนกัน และอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมา

ย้อนกลับมาดูตัวชี้วัดสถานการณ์คอร์รัปชันของเกาหลีใต้ผ่าน Corruption Perceptions Index (CPI) กันบ้าง (โปรดดูตารางประกอบ)

จากตารางจะเห็นได้ว่า เกาหลีใต้ถูกจัดอันดับความโปร่งใสมาตั้งแต่ปี 1995 โดยปีดังกล่าวได้คะแนน 4.29 จากคะแนนเต็ม 10 (ไทยเราได้ 2.79 คะแนน)

ค่าคะแนนความโปร่งใสของเกาหลีใต้ “ต่ำสุด” ในปี 1999 โดยปีนั้นได้คะแนนเพียง 3.80 ร่วงจากปีก่อนๆ …เหตุผลที่ทำให้คะแนนต่ำลงก็เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคเอเชียที่เกาหลีใต้โดนหางเลขเข้าไปด้วย

วิกฤติครั้งนั้นสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันที่หมักหมมกันมานาน อีกทั้งยังมีธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี วิกฤติดังกล่าวกลายเป็นโอกาสให้เกาหลีใต้ “ปฏิรูป” การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

การปฏิรูปกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตในเกาหลีใต้เริ่มจากการตรากฎหมายต่อต้านทุจริตเมื่อปี 2001 หรือ Anti-Corruption Act โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การออกแบบเครื่องมือและสถาบันที่จะมาจัดการปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังเร่งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้เจ้าหน้าที่รัฐ

…ที่สำคัญ คือ การตั้งองค์กรรัฐขึ้นมาทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเรียกหน่วยงานใหม่นี้ว่า Korean Independent Commission Against Corruption (KICAC)

หากพิจารณาความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจากค่า CPI ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เราจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ค่าความโปร่งใสของเกาหลีใต้ดีขึ้นเรื่อยๆ จาก 4 คะแนน (ปี 2000) ขยับมาเป็น 5 คะแนน ในปี 2005 และปี 2007 เกาหลีใต้ได้ค่า CPI สูงสุดที่ 5.7 …หลังจากนั้นปี 2012 เมื่อปรับระบบการคิดคะแนนใหม่เป็นเต็ม 100 ค่า CPI ของเกาหลีใต้ก็ยังเกาะอยู่ที่ระดับเกิน 50 มาโดยตลอด

โดยปีล่าสุด 2016 คะแนนหล่นมาอยู่ที่ 53 น้อยที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าความโปร่งใสของเกาหลีใต้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วภายในไม่กีปีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ “ร่วมมือกันทำงาน” มากกว่าที่จะแย่งซีนหรือขโมยซีนกัน

ปี 2008 รัฐบาลเกาหลีใต้รวมหน่วยงานจำพวก Watchdog เข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Anti-Corruption and Civil Right Commission หรือ ACRC

ที่มาภาพ : http://www.iaca.int/images/logos_new/ACRC_Logo.jpg

ACRC เกิดจากการรวมตัวกันของ KICAC ผู้ตรวจการแผ่นดิน (Ombudsman) รวมทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิพลเมือง
หน้าที่สำคัญของ ACRC คล้ายกับหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศอื่นๆ โดยเน้นงานทางด้านปราบปรามเป็นหลัก เป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบสืบสวนชี้มูลความผิด ก่อนส่งเรื่องไปให้อัยการดำเนินคดีต่อไป

ขณะที่งานด้านการป้องกันเน้นสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ปลูกฝังจิตสำนึก รวมถึงกำกับดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ (Code of Conduct)

ACRC ยังพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการคอร์รัปชันที่เรียกว่า Corruption Impact Assessment หรือ CIA อีกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ACRC ยังผลักดันให้ทำการปรับปรุงกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันฉบับใหม่ ซึ่งว่ากันว่าเป็นกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเลยก็ว่าได้

อันที่จริง กฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว แต่ยังมีข้อถกเถียงกันมากมายโดยเฉพาะหลายฝ่ายกังวลถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

ผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ คือ นางคิม ยองรัน (Kim Young Ran) อดีตประธาน ACRC ที่ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการให้และรับของขวัญที่แสดงสินน้ำใจจนอาจเลยเถิดกลายเป็นสินบนไป

ด้วยเหตุนี้เอง กฎหมายดังกล่าวจึงเรียกติดปากกันว่า กฎหมายคิม ยอง รัน (Kim Young Ran Act) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ เข้มงวดกับการรับของขวัญโดยกำหนดเงื่อนไขการรับของขวัญไว้หลายเรื่อง จนกลายเป็นว่ากฎหมายฉบับนี้ดูจะจุกจิกจนทำให้ทั้งคนให้และคนรับ “กระดิกกระเดี้ยว” ไม่ได้เลย

นางคิม ยองรัน อดีตประธาน ACRC ที่มาภาพ : http://www.korea-press-production.com/wp-content/uploads/2016/09/20157051142534831820.jpg

ข้อกำหนดในการรับของขวัญ ยังรวมถึงการรับเลี้ยงเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เช่น กรณีข้าราชการได้รับเชิญไปงานเลี้ยง ค่าใช้จ่ายต่อหัวต้องไม่เกิน 30,000 วอน หรือ ประมาณ 27 ดอลลาร์ ตกราว ๆ หัวละ 1,000 บาท หรือหากจะรับของขวัญ ก็สามารถทำได้ แต่มูลค่าของขวัญต้องไม่เกิน 46 ดอลลาร์ หรือ ราว ๆ 1,500 บาท (บ้านเราอยู่ที่ 3,000 บาท)

เช่นเดียวกัน หากรับเงินช่วยงานแต่งงาน งานศพ ได้ครั้งละไม่เกิน 92 ดอลลาร์ ตกราว ๆ 3,000 บาท นอกจากนี้ถ้ารับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 920 ดอลลาร์ในคราวเดียว หรือรับแบบแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ 3 ครั้ง และมูลค่าทรัพย์สินนั้นเกิน 2,760 ดอลลาร์ จะต้องถูกตัดสินลงโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 27,600 ดอลลาร์

กฎหมาย คิม ยอง รัน กลายเป็นกฎหมายที่เข้มงวดมากที่สุดในประวัติศาสตร์การปราบปรามคอร์รัปชันของเกาหลีใต้

การออกกฎหมาย “ดัก” การให้และรับของขวัญหรือสินน้ำใจที่อาจแปลงร่างเป็น “สินบน” ในอนาคตนั้น นับเป็นความพยายามที่จะแก้ข้อครหาที่ว่า เกาหลีใต้เป็น Republic of total culture of corruption

ส่วนผลของการบังคับใช้กฎหมาย คิม ยอง รัน จะเป็นเช่นไรนั้น ค่าคะแนน CPI ของเกาหลีใต้ในปีหน้าคงจะเป็นคำตอบได้ดี2

หมายเหตุ: 1.ผู้สนใจโปรดดูงานของ Hyung -A Kim (2003) เรื่อง Political corruption in South Korea
2. ผู้สนใจวิวาทะเกี่ยวกับกฎหมาย คิม ยอง รัน โปรดดูบทวิจารณ์ เรื่อง Kim Young Ran : A Bitter Pill for a sick society