ThaiPublica > คนในข่าว > “Islam Karimov ” แห่งอุซเบกิสถาน: Strongman กับระยะเวลาครองอำนาจ กรณีศึกษาจากเอเชียกลาง

“Islam Karimov ” แห่งอุซเบกิสถาน: Strongman กับระยะเวลาครองอำนาจ กรณีศึกษาจากเอเชียกลาง

4 กันยายน 2016


รายงานโดย Hesse004

ประธานาธิบดี Islam Karimov แห่งอุซเบกิสถาน ที่มาภาพ : http://cdn.thedailybeast.com/content/dailybeast/cheats/2016/09/02/uzbek-president-karimov-has-died/jcr:content/image.img.707.jpg/49094692.cached.jpg
ประธานาธิบดี Islam Karimov แห่งอุซเบกิสถาน ที่มาภาพ: http://cdn.thedailybeast.com/content/dailybeast/cheats/2016/09/02/uzbek-president-karimov-has-died/jcr:content/image.img.707.jpg/49094692.cached.jpg

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนักรายงานข่าวการถึงอสัญกรรมของประธานาธิบดี Islam Karimov แห่งอุซเบกิสถาน ซึ่งครองอำนาจมายาวนานถึง 25 ปี

นาย Karimov นับเป็นผู้นำคนสำคัญแห่งเอเชียกลาง (Central Asia) ที่ขึ้นครองอำนาจมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และอุซเบกิสถานได้สถาปนาเป็นสาธารณรัฐที่ปกครองโดยใช้ระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและผู้นำบริหารประเทศ

ถอยหลังกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน พลันที่สหภาพโซเวียตแตก ดินแดนต่างๆ ของโซเวียตเดิมได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นรัฐอิสระ 15 ประเทศ โดย 5 ประเทศนั้นอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง

ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) ของเอเชียกลาง นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมทวีปเอเชียกับฝั่งยุโรปตะวันออก พื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชาติพันธุ์สำคัญ ได้แก่ พวกคาซัค อุซเบก คีร์กีซ ทาจิก และเติร์ก โดยทั้งหมดมีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกัน และส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

ปัจจุบันเอเชียกลางมีทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถานโดยมีศูนย์กลางของภูมิภาคอยู่ที่คาซัคสถาน มีเมืองสำคัญหลายเมือง เช่น อัลมาตี้ (Almaty) และอัสตานา (Astana) ในคาซัคสถาน บิชเคก (Bishkek) ในคีร์กีซสถาน ทาชเคนต์ (Tashkent) เมืองหลวงอุซเบกิสถาน

ทั้ง 5 ประเทศในเอเชียกลางถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มประเทศเปลี่ยนผ่าน (Transitional countries) กล่าวคือ เปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองเดิมจากสังคมนิยมเป็นประชาธิปไตย และใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้วยความเป็นรัฐเกิดใหม่ ทำให้ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศเหล่านี้มักมีผู้นำประเภทหรือผู้นำที่เข้มแข็ง หรือ Strongman ขึ้นมา

Strongman เป็นผู้นำที่สามารถควบคุม ปกครองประเทศได้สงบราบคาบ ปราศจากการต่อต้านจนดูเหมือนว่าประเทศเหล่านี้มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงยิ่ง

หากเอ่ยคำว่า Strongman ในเอเชียกลาง ทุกประเทศล้วนมีผู้นำที่เติบโตในช่วงที่สหภาพโซเวียตยังเรืองอำนาจ พวกเขาเกิดทันพอจะเห็นยุคสตาลิน (Stalin era) เติบโตในยุคของครุชชอฟ (Khrushchev era) เริ่มเข้าทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ยุคเบรจเนฟ (Brezhnev era) และเห็นความถดถอย เปลี่ยนแปลงและล่มสลายในยุคกอร์บาชอฟ (Gorbachev era)

ผู้นำที่ว่านี้ ไล่ตั้งแต่นาย Nursultan Nazarbayev แห่งคาซัคสถาน นาย Emomali Rahmon แห่งทาจิกิสถาน และนาย Islam Karimov แห่งอุซเบกิสถาน ทั้งหมดเป็นผู้นำที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1991 จนถึงปัจจุบัน พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีบารมีในภูมิภาค โดยเฉพาะนาย Nazarbayev และ นาย Karimov ที่จัดเป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงเสียงจริงในเอเชียกลาง

ทั้งสองได้รับการนับถือจากผู้นำมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย รวมทั้งจีน เนื่องจากเอเชียกลางเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของการเมืองโลกด้วย

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้สนใจศึกษาปัญหาคอร์รัปชันนั้น พบว่า การครองอำนาจของเหล่าอีลิทในเอเชียกลางนั้นดูสัมพันธ์กับสถานการณ์ความโปร่งใสภายในประเทศ เพราะเมื่อย้อนดูตัวเลขดัชนี Corruption Perception Index เฉพาะในภูมิภาคนี้ ปรากฏว่า ทุกประเทศมีสถานการณ์คอร์รัปชันที่รุนแรงมากจนน่าตกใจ (ดูตารางประกอบ)

Corruption Perception Index and Leaders in Central Asia ที่มา : รวบรวมโดยผู้เขียน
Corruption Perception Index and Leaders in Central Asia ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

จากตารางจะเห็นได้ว่า คาซัคสถานและคีร์กีซสถานเป็นประเทศที่ได้ค่าคะแนน CPI สูงสุดในเอเชียกลาง กล่าวคือ ได้คะแนนเพียง 28 จากคะแนนเต็ม 100 อยู่อันดับที่ 123 จากทั้งหมด 168 ประเทศ น่าสนใจว่าอันดับดังกล่าวสะท้อนภาพการบริหารประเทศของนาย Nazarbayev ว่ามีธรรมาภิบาลในการปกครองประเทศมากน้อยแค่ไหน ตัวเลขข้างต้นคงบอกอะไรบางอย่างได้ดี

ขณะที่คีร์กีซสถาน เมื่อปี 2005 ประชาชนชาวคีร์กีซ ได้ออกมาโค่นล้มรัฐบาลนาย Askar Akayev ที่ครองอำนาจยาวถึง 15 ปี (1990-2005) เหตุผลที่นาย Akayev ถูกไล่ลงนั้น เพราะเขาโกงเลือกตั้งและมีแนวโน้มที่จะให้บุตรชายของเขาสืบทอดตำแหน่งต่อ (Hereditary Dictatorship) ด้วยเหตุนี้ ชาวคีร์กีซจึงลุกขึ้นประท้วงจนกลายเป็นการจลาจลไปทั่วกรุงบิชเคก (Bishkek) และท้ายที่สุดเขาถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่ง การปฏิวัติครั้งนั้นเรียกว่า Tulip Revolution

ส่วนอุซเบกิสถานซึ่งได้คะแนนรั้งท้ายในกลุ่มเอเชียกลาง ได้คะแนน CPI เพียง 19 คะแนน อยู่อันดับ 153 ผลงานของนาย Islam Karimov ผู้เพิ่งจากไปชี้ให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์คอร์รัปชันในอุซเบกิสถานนั้นเข้าขั้นว่าฝังรากและวิกฤติแล้ว

ความรุนแรงของสถานการณ์คอร์รัปชันผนวกกับการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างและออกมาต่อต้านรัฐบาลอยู่เนืองๆ ทำให้นาย Karimov ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ (Dictator) ที่ไม่เคยสนใจเรื่องการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เขาเองได้ลงโทษบุตรสาวของเขา Gulnara Karimova ด้วยการกักบริเวณ ทั้งนี้ Gulnara เคยถูกวางให้เป็นทายาททางการเมืองต่อจาก Karimov แต่เธอถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนพัวพันกับเรื่องรับสินบนจากบริษัทเทเลคอมในสแกนดิเนเวียและรัสเซียที่จะเข้ามาเปิดตลาดในอุซเบกิสถาน

แน่นอนว่า การกล้าลงโทษลูกสาวตัวเองย่อมเรียกเรตติ้ง คะแนนนิยมในตัวของเขาได้ไม่น้อย แต่อย่าลืมว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมิใช่เพียงแค่อาศัยการ “สร้างภาพ” ว่าจริงจังกับการลงมือแก้ปัญหา หากแต่เป็นการวางโครงสร้างทั้งระบบให้เอื้อต่อการลดโอกาสและแรงจูงใจในการคอร์รัปชัน

Islam Karimov อีกหนึ่งผู้นำสาย Strongman แห่งอุซเบกิสถาน ที่มาภาพ : http://news.uzreport.uz/foto/2013/09/tmb1/13781085271.jpg
Islam Karimov อีกหนึ่งผู้นำสาย Strongman แห่งอุซเบกิสถาน
ที่มาภาพ: http://news.uzreport.uz/foto/2013/09/tmb1/13781085271.jpg

ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ออกมารองรับว่าการครองอำนาจที่ยาวนานนั้นมีผลต่อการคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ แต่ละประเทศอาจมีบริบทที่แตกต่างกัน กรณีของเอเชียกลางนี้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับความสำเร็จของนายลี กวนยู แห่งสิงคโปร์ได้เลย เพราะลีดำรงตำแหน่งในสิงคโปร์ยาวนานกว่า 20 ปี แต่เขาทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่โปร่งใสประเทศหนึ่งในโลก

อย่างไรก็ดี กรณีบริบทของเอเชียกลางนั้น ผู้นำแต่ละคนล้วนแสดงความเป็น Strongman ออกมาควบคุมประเทศให้สงบเรียบร้อยได้ แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์คอร์รัปชัน (ที่อธิบายโดย CPI) อยู่ในระดับที่เลวร้ายด้วยกันทั้งสิ้น

ล่าสุด มีงานวิจัยเรื่อง Central Asia’s Crisis of Governance ของ Philip Shishkin จาก Asia Society ได้วิเคราะห์ถึงความล้มเหลวด้านธรรมาภิบาลของรัฐบาลในประเทศเอเชียกลางไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันในภูมิภาคนี้อยู่ในระดับรุนแรงจนน่าเป็นห่วงนั้น ปัจจัยแรกมาจากการผูกขาดครองอำนาจที่ยาวนานเกินไปของเหล่า Strongman จนสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งในเชิงเครือญาติ (Nepotism) และพวกพ้อง (Cronyism) ที่เข้มแข็ง หรืออธิบายให้ง่ายกว่านี้หน่อย คือ ระบบอุปถัมภ์ที่มาจากอำนาจผูกขาดของ Strongman ได้ทำให้คอร์รัปชันนั้นดำรงอยู่และฝังรากจนยากจะเยียวยา

ปัจจัยประการที่สองมาจากความอ่อนแอของกลไกการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งหน่วยงานรัฐที่ไม่มีอำนาจคัดง้างเพียงพอกับอำนาจของ Strongman และพวก ส่วนกลไกการเมืองฝ่ายค้านยิ่งแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะฝ่ายค้านเป็นเพียงไม้ประดับในสภาเท่านั้น ขณะที่บทบาทของสื่อมวลชนก็โดนแทรกแซงให้ปิดปากเงียบ ส่วนกลุ่ม NGO ก็ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เรื่อยๆ จนอ่อนแอ

งานของ Shishkin จึงสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลา 20 กว่าปีที่ประเทศแถบเอเชียกลางเปลี่ยนผ่านจากโลกคอมมิวนิสต์มาสู่ประชาธิปไตยนั้น พวกเขายังคงต้องเผชิญกับโจทย์ยากและท้าทาย โดยเฉพาะการครองอำนาจที่ยาวนานจนเกินไปและไม่เปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล หนำซ้ำ Strongman เหล่านี้ได้เตรียมผู้นำคนใหม่ไว้สืบทอดอำนาจต่อจากตัวเองเรียบร้อยแล้ว