ThaiPublica > คอลัมน์ > เมียนมาเลือกตั้ง 2015

เมียนมาเลือกตั้ง 2015

5 พฤศจิกายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่มาภาพ : http://globalriskinsights.com/wp-content/uploads/2015/10/120402_myanmar_election-800x500_c.jpg
ที่มาภาพ : http://globalriskinsights.com/wp-content/uploads/2015/10/120402_myanmar_election-800x500_c.jpg

เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านสำคัญของเรา แต่ดูเหมือนสังคมไทยรู้เรื่องการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้กันไม่มากนัก

หากย้อนหลังประวัติศาสตร์ไปเมื่อปี 1962 พม่าซึ่งเป็นชื่อเดิมมีการปฏิวัติเพื่อเข้าสู่เส้นทางที่เรียกว่า Socialist Burmese Way และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึง 1990 ก็ไม่มีเลือกตั้ง รัฐบาลทหารครองอำนาจมาตลอด

ในปี 1990 มีการเลือกตั้ง นางออง ซาน ซูจี (ลูกสาวของผู้ก่อตั้งกองทัพบกพม่าและถือกันว่าเป็นบิดาของเมียนมาสมัยใหม่อันเป็นผลจากการเป็นผู้นำต่อสู้อังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมจนได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คะแนนรวมได้กว่า 60% และได้คะแนนจากที่นั่งในรัฐสภา 80% แต่ก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลทหารคุมขังไว้ในบ้านเป็นเวลา 15 ปี

พรรค NLD (National League for Democracy) ของเธอบอยคอตเลือกตั้งในปี 2010 ตามรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ดีในปี 2012 พรรค NLD ก็ส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมซึ่งมีจำนวน 45 ที่นั่ง ปรากฏว่าพรรค NLD ได้รับเลือกตั้งถึง 43 ที่นั่ง

รัฐบาลเมียนมาเปิดกว้างมากขึ้นทุกที ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ชักชวนออง ซาน ซูจี หรือชื่อที่คนเมียนมาเรียกอย่างรักใคร่ว่า The Lady ลงเล่นการเมืองซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เธอก็ร่วมมือลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถพังทลายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าผู้มีสามีหรือภรรยาหรือลูกเป็นคนสัญชาติอื่นไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป 2015 นี้มาถึง อย่างไรเสียเธอก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี (จะแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องมีเสียงเกิน 75% แต่ในสภามีตัวแทนทหารอยู่ 25% จึงหมายความว่าถ้าทหารไม่ยอมก็แก้ไขไม่ได้) ในจำนวนกว่า 90 พรรคที่ส่งคนลงเลือกตั้ง จริงๆ แล้วมีเพียง 2 พรรคใหญ่เท่านั้นที่ต่อสู้กัน คือ พรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นแขนขาของทหารที่ครองอำนาจกับพรรค NLD (National League For Democracy) ซึ่งเป็นพรรคของ The Lady

การเลือกประธานาธิบดีของเมียนมาก็ซับซ้อนพอควร คือเลือกกันเดือนพฤศจิกายน แต่จะได้ประธานาธิบดีต้องรอจนถึงเดือนมีนาคมตามรัฐธรรมนูญ สภาบนมีวุฒิสมาชิก 224 คน ในจำนวนนี้เป็นโควตาของทหาร (เรียกว่า Army Representative อยู่ 25%) เสีย 56 คน มีให้เลือกตั้ง 168 คน

สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรมี 440 คน เป็นของทหาร 25% คือ 110 คน และที่เหลือ 330 ให้เลือกตั้ง ดังนั้น จึงมีจำนวนทั้งสภาบนและสภาล่างรวม 664 คน เป็นโควต้าของทหารรวม 166 คน มีให้เลือกตั้ง 498 คน

หลังเลือกตั้งแล้ว 3 กลุ่ม คือ สภาบน สภาล่าง และทหาร จะส่งตัวแทนมาแข่งเป็นประธานาธิบดีกลุ่มละ 1 คน รวมเป็น 3 คน และมาลงคะแนนในที่ประชุมรวมทั้งหมด 664 คน คนที่ได้คะแนนสูงสุดได้เป็นประธานาธิบดี อีก 2 คน ที่เหลือเป็นรองประธานาธิบดี

เห็นได้ชัดว่ากลุ่มทหารได้เปรียบเพราะมีที่นั่งแน่นอนอยู่แล้วคือ 25% ของ 664 คือ 166 คน พรรค USDP จึงมีโอกาสชนะสูง แต่โลกนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอนถ้า The Lady ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นก็อาจชนะได้ คาดว่าเธอจะได้รับความนิยมจากกลุ่มบามันน์ (ชาติพันธุ์พม่าประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรพม่า 50 ล้านคน อีก 1 ใน 3 คือชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฯลฯ ซึ่งมีอยู่ 7 กลุ่มใหญ่) ซึ่งอยู่หนาแน่นทางใต้และตอนกลาง บริเวณนี้มีการเลือกตั้ง 291 คน ส่วนชนกลุ่มน้อยรวมกันมีการเลือกตั้ง 207 คน

คาดว่าชนกลุ่มน้อยจะเลือกพรรคของชาติพันธุ์ตนเอง ซึ่งถ้าหากรวมตัวกับ NLD แล้วก็น่าหวาดหวั่นสำหรับพรรค USDP พอควร แต่พรรค UNDP มีความชัดเจนว่าถ้าชนะแล้วประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จะได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนพรรค NLD ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจาก The Lady ไม่อาจเป็นได้จึงต้องมีตัวแทน ซึ่งส่วนใหญ่ที่สนิทกับ The Lady ก็สูงอายุแทบทั้งนั้น

เคยมีข่าวลือว่า นายพล ฉ่วย มาน ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานพรรค USDP อาจเป็นสะพานเชื่อมกับ The Lady ได้ดี เพราะนอกจากจะมีคนนิยมแล้วยังเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเสรีนิยมของ The Lady เมื่อร่วมมือกันแล้วก็อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นขวากหนามขวางทางเธอได้

อย่างไรก็ดีเมื่อไม่นานมานี้นายพล ฉ่วย มาน ก็ถูก “ปฏิวัติเงียบ” ถูกถอดออกจากทั้งสองตำแหน่งเพราะดูจะใกล้ชิดพรรค NLD และ The Lady เกินไป

เรื่องหนึ่งที่เป็นกระแสที่น่ากลัวก็คือการต่อต้านมุสลิมอันเป็นผลจากบทบาทของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นมุสลิมอยู่ทางตะวันตกของเมียนมาในรัฐอาระกันที่ติดกับบังกลาเทศ (เมียนมามีพรมแดนติดกับอินเดีย จีน บังคลาเทศ ลาว และไทย) โรฮิงญามีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคนในเมียนมา การฆ่าฟันกันระหว่างชาวพุทธและมุสลิมมีมาตลอดเวลา ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาสมาคมเพื่อคุ้มครองชาติพันธุ์และศาสนา (พุทธ) ซึ่งเรียกกันว่า Ma Ba Tha มีพระผู้ใหญ่หลายรูปเป็นผู้นำต่อต้านมุสลิม และได้รับความรู้สึกร่วมจากชาวเมียนมาจำนวนมาก (ในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีมุสลิมแม้แต่คนเดียว) กระแสความรู้สึกเช่นนี้เป็นสิ่งคุกคามสันติภาพและความสงบของประเทศได้ในช่วงเวลาต่อไป

ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปี คนส่วนใหญ่เชื่อว่าประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อาจไม่ต้องการอยู่ครบเทอมเนื่องจากปัญหาสุขภาพ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบันอีกคนคือนายพล Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารบก

บรรยากาศเลือกตั้งของเมียนมาคึกคักมากเนื่องจากประชาชนได้มีโอกาสเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ในเวลา 53 ปี (ถ้าไม่นับเลือกตั้งซ่อมในปี 2012) รถกระบะที่มีป้ายและรูปตลอดจนผู้สมัครยืนพูดบนรถวิ่งกันไปทั่วคล้ายบรรยากาศเลือกตั้งของไทยสมัยก่อนที่อาศัยสไตล์การหาเสียงแบบถึงตัวเช่นนี้

ในการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้อยู่ในต่างแดนเรียกได้ว่าเมียนมาล้ำหน้าไทยก็ได้เพราะเพียงไม่กี่การเลือกตั้งก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสำหรับคนเมียนมาในต่างแดนได้แล้ว เพียงแต่ไปใช้สิทธิกันน้อยมากเนื่องจากข่าวสารมีจำกัดและมีปัญหาเรื่องบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งอยู่มาก

ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งจากการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 30 ล้านคน การหันกลับไปปิดประเทศอย่างเดิมไม่มีทางเกิดขึ้นแล้ว เมียนมาเปิดกว้างมากขึ้นโดยเป็นประเทศสุดท้ายของ ASEAN ที่ยอมให้พลเมืองของประเทศสมาชิกเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (เดินทางด้วยเครื่องบินจะมีปัญหาน้อยสุด) อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในโลกตะวันตกเชื่อว่ายังมีโอกาสของการกลับไปสู่บรรยากาศของปี 1990 เมื่อพรรคของ The Lady ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสถานการณ์แบบปี 1990 จะกลับมาอีกถึงแม้ The Lady จะชนะแบบถล่มทลายก็ตาม ช่วงเวลาระหว่างพฤศจิกายนถึงมีนาคมก่อนที่รู้ว่าใครเป็นประธานาธิบดีจะเป็นเวลาของการต่อรองระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองเพื่อหาทางออกให้ประเทศและกลุ่มอำนาจของตน “อากาศ” ที่มีให้หายใจมากขนาดนี้จะทำให้มีโอกาสในการเกิดอาการผิดสำแดงต่ำถึงต่ำมาก

ดูๆ ไปแล้วการเมืองไทยกับเมียนมาไม่แตกต่างกันมากนักถึงแม้เราจะมี “ประชาธิปไตย” กันมาแล้วถึง 83 ปี ในขณะที่เมียนมาเพิ่งมี “ประชาธิปไตย” ยุคใหม่ไม่ถึง 5 ปี

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 3 พ.ย. 2558