ThaiPublica > คอลัมน์ > รูปแบบสื่อคือคำตอบ

รูปแบบสื่อคือคำตอบ

17 สิงหาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนอย่างเกินกว่าที่จะบรรยาย ในขั้นพื้นฐานมันทำให้ผู้คนสามารถสื่อสารถึงกันได้หลากหลายวิธี แต่ไม่ใช่หนึ่งต่อหนึ่งดังเก่าก่อนเช่นส่งจดหมายถึงกัน หรือโทรศัพท์ถึงกัน หากสื่อสารจากคนหนึ่งถึงหลายคนได้ เช่น การโพสต์ลง Facebook / Instagram / Line Group ฯลฯ โลกที่เปลี่ยนแปลงใหม่เช่นนี้มีบางแง่มุมให้ขบคิด

ใน ค.ศ. 1967 นักวิชาการด้านสื่อสารชาวคานาดาชื่อ Marshall McLuhan ได้กล่าวไว้สั้น ๆ เมื่อตอนเกิดการปฏิวัติสื่อครั้งสำคัญของยุคนั้นคือเปลี่ยนจากจากสิ่งพิมพ์สู่โทรทัศน์ว่า “(รูปแบบ) สื่อนั่นแหละคือข้อความ (สิ่งสำคัญ)” (The medium is the message.) ที่น่าแปลกใจก็คือข้อความดังกล่าวก็ยังคงเป็นจริงอยู่ในวันนี้

ข้อความนี้มิได้หมายความว่าสื่อ (บอร์ดติดข่าวแบบจีนสมัยก่อน การแจกใบปลิว วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ) มีความสำคัญมากกว่าข้อความ หากหมายความว่าข้อความมิได้มีความสำคัญเพราะสื่อสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา ตลอดจนวิธีคิดและการดำเนินชีวิตด้วย

พูดอีกอย่างก็คือสื่อมีความสำคัญไม่ใช่เพราะเนื้อหาแต่เพราะมันเปลี่ยนวิถีชีวิตขอผู้คน ตัวอย่างเช่นโทรทัศน์มีเนื้อหาเข้มข้น รายงานสดอย่างรวดเร็ว แต่โทรทัศน์มิได้มีความสำคัญเพราะคุณภาพหรือปริมาณของเนื้อหา หากแต่ว่าเพราะโทรทัศน์เปลี่ยนวิถีชีวิตให้แตกต่างไปจากการเคยนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ เมื่อมีโทรทัศน์ก็เสพข่าวสารโดยเป็นนักวิ่งจากเก้าอี้ถึงตู้เย็นระหว่างโฆษณา ซึ่งต่างไปจากการอ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งมิได้ทำให้เป็นนักกีฬาวิ่งแข่งเวลา

McLuhan ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก เมื่อข้อความเปลี่ยนเราอาจเปลี่ยนใจได้ แต่ถ้าสื่อเปลี่ยนรูปแบบมันเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปเลย การโฆษณาหรือข่าวอาจทำให้เราเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อบางสิ่ง แต่ถ้าสื่อเปลี่ยนรูปแบบแล้วมันเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมดเลยทีเดียว ดังเช่นตัวอย่างหนังสือพิมพ์สู่โทรทัศน์

เมื่อหันมามองปัจจุบัน คำกล่าวของ McLuhan ก็ก้องหู การใช้สมาร์ทโฟนผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทำให้เราไม่นั่งดูโทรทัศน์ร่วมกันเป็นครอบครัวดังที่เคยเป็นมาอย่างน้อยก็หนึ่งถึงสองชั่วคน แต่กลายเป็นต่างคนต่างดูจอสมาร์ทโฟนของแต่ละคน ดูรายการและรับข่าวสารตามรสนิยมของตน

เมื่อครอบครัวหรือคู่หนุ่มสาวไปรับประทานอาหารกันนอกบ้าน ต่างคนก็ต่างมีคนละจอ ต่างคนต่างดู ต่างคนต่างกดส่งข้อความถึงคนอื่นที่อยู่ไกลออกไป โดยพูดจากับคนนั่งโต๊ะเดียวกันน้อยลงจนเหมือนคนแปลกหน้ามานั่งร่วมโต๊ะกัน นี่แหละ“(รูปแบบ) สื่อคือคำตอบ”

ในโลกปัจจุบันเราพูดได้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่เราอ่านในสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนพฤติกรรมของเรา หากการอ่านสมาร์ทโฟน (ทุก ๆ 15 นาที) ต่างหากคือตัวการของการเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ตัวอย่างเช่นการอ่านพบว่าการบริโภคใบมะกรูดมีผลดีต่อสุขภาพ อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของเราบ้าง แต่นิสัยการอ่านสมาร์ทโฟนคือตัวเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง

ขอกลับมาเรื่องการสื่อสารออนไลน์สมัยใหม่ที่เป็น “หนึ่งไปถึงหลายคน” ลักษณะหนึ่งที่สำคัญก็คือเป็น “การนำเสนอตนเอง” (self-presentation) กล่าวคือต้องการให้คนอื่นเห็นด้านดีของเรา คนจำนวนมากโพสต์รูปตัวเองที่งดงาม (มักแตกต่างจากความจริงไปมากในเกือบทุกกรณี) อาหารที่เห็นแล้วน้ำลายไหลการท่องเที่ยวในต่างประเทศที่สมบูรณ์แบบ งานเลี้ยงเลิศหรู รถยนต์ราคาแพง ฯลฯ

สิ่งที่เขาเหล่านี้ต้องการก็คือการให้คนอื่นเห็นเขา (หลักฐานก็คือ “like” “share”) แต่ในขณะเดียวกันตัวเองก็เห็นชีวิตที่แสนสมบูรณ์แบบของเพื่อน ๆ อีกเช่นกัน (มีคนกด“like” และ “share” มากมาย) โดยเราไม่ได้ “ไปถึง” อย่างเขา จึงมักเกิดปรากฏการณ์ดังที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Fear of Mission Out (FoMo) ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่สบายใจที่คนอื่น ๆ มีมากกว่าหรือทำอย่างอื่นมากกว่าโดยที่ตนเอง “หลุดโอกาส”

ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ทำให้เกิดความสุข จะเรียกว่าริษยาก็ไม่เชิง มันเป็นความรู้สึกกลัวเกรงลึก ๆ ว่าตนเองจะ “หลุดโอกาส” ไม่ได้มีหรือเป็นเช่นเขาอื่น ๆ (มันไม่ใช่การ “หลุดไป” จริง ๆ หากเป็นความรู้สึกของความกลัว “การหลุด”) ดังนั้น สมาร์ทโฟนจึงไม่ใช่เพื่อนที่ดีที่สุด เพราะมันเป็นตัวเร่ง FoMo และทำให้ทุกข์ใจในบางครั้งเมื่อเช็คสมาร์ทโฟนแล้วคนอื่นไม่เห็นตนเองมากดังที่ต้องการ แถมยังรู้สึกว่าตนเอง “หลุดโอกาส” ไปอีกด้วย

จากการสำรวจพบว่าคนอายุต่ำกว่า 35 ปี รู้สึกทนทุกข์กับ FoMo มากว่าคนวัยอื่น และผู้ชายทนทุกข์มากกว่าผู้หญิง วัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ คนมีความทุกข์มากกว่าคนที่มีความสุข

เวลาผ่านไป 50 ปี ข้อสังเกตของ McLuhan ก็ยังเป็นจริง “(รูปแบบ) สื่อนั่นแหละคือข้อความ (สิ่งสำคัญ)” ใครที่มีพฤติกรรมหลงใหลสมาร์ทโฟนชนิดที่เช็คทุก 15 นาที โดยแท้จริงแล้วกำลังวุ่นวายกับการนำเสนอตัวเองว่าจะมีใครเห็นมากน้อยเพียงใดและมีความกังวลในเรื่อง “การหลุด”

Rene Descartes (ค.ศ. 1596-1650) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสโด่งดังด้วยประโยคภาษาละตินที่ว่า Cogito ergo sum (I think, therefore I am) แต่ว่าในปัจจุบันได้กลายเป็น Others are thinking of me, therefore I am. (อ้างคำพูดของ Peter Sloterdijk นักปรัชญาชาวเยอรมัน (ค.ศ.1947-)

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 ส.ค. 2561