ThaiPublica > คอลัมน์ > ฮิตเลอร์ติดยาพลิกประวัติศาสตร์

ฮิตเลอร์ติดยาพลิกประวัติศาสตร์

5 มิถุนายน 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (กลาง) ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/thumb/d/db/Adolf_Hitler_in_Paris_1940

ข่าวลือเรื่องฮิตเลอร์ผู้นำนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองใช้ยาเสพติดมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมีผู้ขุดข้อมูลอย่างลึกเมื่อไม่นานมานี้และพบว่าติดงอมแงม นักประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองไม่เคยมองปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่เมื่อพบข้อมูลเช่นนี้ก็ชวนให้ต้องทบทวนความเข้าใจและการตีความประวัติศาสตร์กันใหม่

ในหนังสื่อชื่อ “Blitzed” ซึ่งเขียนเป็นภาษาเยอรมันโดย Norman Ohler ตีพิมพ์ใน ค.ศ.2015 และแปลเป็น 25 ภาษาในเวลาต่อมาสร้างความสนใจให้ชาวโลกเป็นอันมาก เพิ่งรู้ว่าในปี 1940 ที่นาซีบุกยึดเบลเยี่ยมและฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็วโดยลุยผ่านภูเขาทึบ The Ardennes ในเวลา 3 วัน 3 คืน ไม่หลับไม่นอนอย่างผิดคาดของฝ่ายป้องกันก็เพราะผลพวงของการจ่ายแจกยา methamphetamine (ปัจจุบันมีเวอร์ชั่นที่รู้จักกันในนามของยาไอซ์ หรือ crystal meth) จำนวน 35 ล้านเม็ด ให้แก่ทหารราบและทหารประจำรถถัง

เยอรมันเป็นมหาอำนาจของการผลิตยาและสารเคมีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในปี 1805 นักเคมีเยอรมันแยก morphine จากฝิ่นได้สำเร็จ ปี 1897 แยกสาร aspirin จากเปลือกต้นหลิว (willow) และอีก 11 วันต่อมา Felix Hoffmann นักวิจัยคนเดียวกันนี้ก็ผลิตสาร diacetyl morphine ได้สำเร็จและออกขายในชื่อการค้าว่า Heroin เพื่อแก้ปวดหัว บรรเทาอาการไอ และช่วยให้ทารกหลับ (โชคดีที่เราเกิดไม่ทัน)

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่กลางทศวรรษ 1930 มีการผลิตยาชื่อ Pervitin (methamphetamine) ขายในตลาดให้ผู้คนได้ใช้กันทั่วหน้า อีกทั้งมียาชื่อ Eukodal (oxycodone อยู่ในตระกูลฝิ่นซึ่งลดความเจ็บปวดและเสพติดได้ง่าย) อีกด้วย

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Blitzed-Drugs-Germany-Norman-Ohler

amphetamine (ยาบ้า) สกัดได้ในปี 1887 ในเยอรมันและนักเคมีอเมริกันนำมาปรับปรุงใน ค.ศ. 1927 ในสงครามโลกครั้งที่สองมีการใช้ยานี้ร่วมกับ methamphetamine ทั้งในผ่ายนาซีเยอรมันและแม้แต่ฝ่ายพันธมิตร

ในศตวรรษ 1930 คนเยอรมันใช้ “ยาเสพติด” เหล่านี้ซึ่งถูกกฎหมายกันกว้างขวางโดยเฉพาะ Pervitin เป็นที่นิยมมากเพราะช่วยสร้างความเชื่อมัน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานไม่ว่าแม่บ้าน เลขานุการ จนถึงคนขับรถบรรทุกกินกันเป็นปกติ มีแม้กระทั่งใส่ในขนม เช่น ช็อกโกแลต

เมื่อฮิตเลอร์ซึ่งเป็นผู้สนใจเรื่องอาหารสุขภาพต้องการยาบำรุงกำลังจึงใช้บริการของหมอชื่อ Theodore Morell ผู้มีชื่อเสียงในการฉีดวิตามินเข้าเส้นในยุคปลายทศวรรษ 1930 ซึ่งฮิตเลอร์ผู้อ้างว่าเป็นมังสวิรัติ ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้าหรือแม้แต่ดื่มกาแฟติดใจ จนรับมาเป็นแพทย์ประจำตัวจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในเดือนเมษายน 1945

ฮิตเลอร์เริ่มติดยาในปี 1941 เมื่อการสู้รบเริ่มมีปัญหาเพราะเปิดศึกกับทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา บันทึกของหมอประจำตัวซึ่งผู้เขียนไปค้นมาได้ ให้ข้อมูลว่าฮิตเลอร์มีปัญหานอนไม่หลับ มีไข้สูง ปวดท้องเป็นประจำ ขาดเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นพูดปลุกใจ หรือร่วมประชุมกับเหล่านายทหารเพื่อตัดสินใจเรื่องการรบ ฯลฯ หมอ Morell ให้ยาตระกูลฝิ่นพร้อมกับฉีดฮอร์โมนบางชนิดให้ ซึ่งฮิตเลอร์พอใจมากเพราะเหมือนกับชุบชีวิต เขารับยาเหล่านี้ในปริมาณที่มากขึ้นทุกที จนติดยาอย่างหนัก ฮิตเลอร์ชอบยา Eukodal เป็นพิเศษโดยควบกับยา Pervitin และคอกเทลที่มี cocaine ผสมอยู่ด้วย

เมื่อพันธมิตรยกพลขึ้นบกทวีปยุโรปได้ในเดือนมิถุนายน 1944 ก็บุกยึดประเทศที่เยอรมันยึดครองอยู่กลับมาได้ และมุ่งเข้าสู่เบอร์ลินที่ฮิตเลอร์พำนักอยู่ ในขณะเดียวกันทางเหนือกองทัพสหภาพโซเวียตก็ตีขนาบมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน แข่งกันว่าใครจะถึงเบอร์ลินก่อน

ในสภาพกำลังแพ้และจนตรอกขึ้นทุกขณะ ฮิตเลอร์ก็ติดยาเหล่านี้หนักขึ้น แต่ทว่าในต้นปี 1945 ยาเหล่านี้ก็ขาดแคลนเพราะโรงงานถูกทำลายไปมากโดยฝ่ายพันธมิตร ฮิตเลอร์จึงมีอาการของคนขาดยา มือไม้สั่นอย่างเห็นได้ชัดจากภาพข่าวของฝ่ายนาซีเอง จนเชื่อกันว่าเป็น Parkinson’s Disease แต่ลึก ๆ แล้วคนรอบข้างรู้ดีว่าเป็นผลจากยาเสพติดและสุขภาพที่เลวร้ายลงเป็นลำดับในวัยเพียง 56 ปี

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Adolf_Hitler#/media/File:Bundesarchiv_Bild_183-S55480,_Polen,_Parade_vor_Adolf_Hitler.jpg

ก่อนข้อมูลเรื่องการติดยาปรากฏชัด นักประวัติศาสตร์เข้าใจว่าฮิตเลอร์มีเสน่ห์และพลังล้ำลึก พูดได้เป็นชั่วโมงอย่างแข็งขัน มีไฟปลุกใจคนฟัง และทำให้นาซีเป็น “ยา” ที่ปลุกคนเยอรมันขึ้นมาสู้เพื่อความยิ่งใหญ่ บัดนี้เข้าใจแล้วว่าพลังมาจากยาประเภท “upper” (ทำให้รู้สึกคึกคัก มีชีวิตชีวา) และการตัดสินใจหลายเรื่องที่ผิดพลาดทางกลยุทธ์ เช่น เปิดศึกสองด้าน อาจเป็นผลจากยาเสพติดก็เป็นได้

ในปี 1938 มีการติดยา Pervatin ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในคนเยอรมันเพราะช่วยลดความกลัว ถ้าให้ปริมาณมากก็จะลดความต้องการที่จะหลับ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ฯลฯ ดังนั้นจึงมีการเสนอให้เป็นยาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับทหารในกองทัพนาซี ความจริงเช่นนี้ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของการสู้รบที่ผ่านมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ให้สอดรับเป็นเรื่องราวที่มีความหมายซึ่งยากอยู่แล้วอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงและระมัดระวังมากขึ้นในอนาคต โดยไม่มองข้ามข้อมูลสำคัญ เช่น การติดยาเสพติดของผู้นำ ทหาร และประชาชน

การวิเคราะห์ชัยชนะของทีมฟุตบอลที่ใช้ยาเสพติดตั้งแต่ผู้จัดการถึงผู้เล่น กับการไม่ใช้ยาเลยของทีมแตกต่างกันฉันใด การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่สองก็ควรเป็นเช่นนั้น

การตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นบทเรียนและอุทาหรณ์ที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงได้จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูล ประเด็นและปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านที่สุด

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 6 เม.ย. 2564