ThaiPublica > คอลัมน์ > ลวดหนามเปลี่ยนโลก

ลวดหนามเปลี่ยนโลก

14 มกราคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อปีใหม่มาเยือน สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างถ่องแท้ และคาดเดาอนาคตได้อย่างใกล้เคียงก็คือการมองย้อนไปดูอดีต

ไม่น่าเชื่อว่านวัตกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีตสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ร้าวลึกได้ สิ่งที่ดูแสนธรรมดาและไร้เดียงสานี้ในความเป็นจริงแล้วร้ายกาจอย่างยิ่ง ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงลวดหนามที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน

ถึงแม้เราจะอยู่ในโลกอย่างมีหน้าตาเป็นมนุษย์ทุกวันนี้ประมาณ 150,000-200,000 ปี แต่ก็เพิ่งมีลวดหนามใช้กันเมื่อกว่า 100 ปีมานี้เอง เรื่องราวที่บันทึกกันไว้ก็คือ หนุ่มน้อยชื่อ John Warne Gates เป็นผู้ประดิษฐ์ลวดหนามที่ใช้งานได้ผลใน ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) โดยเอาลวดมาพันกันเป็นเกลียวและทุกๆ ความยาวหนึ่งจะขมวดขึ้นมาเป็นปมหนามแหลม ปรากฏว่าขายดิบขายดีเป็นอันมาก

Gates โฆษณาลวดหนามของเขาว่า “เบากว่าอากาศ แรงกว่าวิสกี้ ถูกกว่าฝุ่น” โดยเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า barbed wire เขามิใช่คนแรกที่คิดค้น หากมีหลายคนที่ประดิษฐ์ก่อนหน้า แต่ลวดหนามของเขาใช้งานได้ดีที่สุดจนตกทอดมาถึงทุกวันนี้

ในเวลาใกล้กันประดิษฐกรรมอีกชิ้นที่ยิ่งใหญ่ก็กำลังเกิดขึ้นโดยคนอเมริกันมิได้ตระหนักเพราะมัวเห็นประโยชน์ของลวดหนามซึ่งคิดกันว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยมีมา สิ่งนั้นก็คือการคิดค้นประดิษฐ์โทรศัพท์ โดย Alexander Graham Bell

เหตุใดการคิดค้นพบลวดหนามจึงมีความสำคัญ? ทวีปอเมริกาที่บุกเบิกโดย Christopher Columbus ใน ค.ศ. 1492 ได้กลายเป็นดินแดนใหม่ที่แย่งชิงกันระหว่างผู้ตั้งรกราก ชาวอังกฤษในฝั่งตะวันออกตั้งแต่ทศวรรษที่ 16 กับสเปน ในปี 1789 สเปนครองดินแดนตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือทั้งหมด แต่ด้วยอำนาจทางทหาร การทูต การเจรจาต่อรอง การซื้อที่ดิน ฯลฯ ประเทศอเมริกาก็เริ่มก่อตัวเป็นรัฐตั้งแต่ ค.ศ. 1845 จนลงตัวใน ค.ศ. 1912 โดยได้ดินแดนมาเกือบทั้งหมด

เมื่อคนอังกฤษตั้งรกรากในฝั่งตะวันออกแล้ว ก็เห็นศักยภาพของดินแดนในฝั่งตะวันตกที่มีอีกมากมายเสมือนไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ถึงแม้จะเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ป่า และจากคนพื้นเมืองดั้งเดิม (เราเรียกในภาษาไทยว่าอินเดียนแดง) ก็ตาม การรุกไปทางดินแดนตะวันตกครั้งใหญ่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ประมาณปี 1783 เป็นต้นมา

ในปี 1862 ประธานาธิบดี Abraham Lincoln ลงนามกฎหมายที่มีชื่อว่า Homestead Act ซึ่งระบุว่าพลเมืองสหรัฐฯ สามารถเป็นเจ้าของดินแดนในตะวันตกได้ถึง 160 เอเคอร์ (404.80 ไร่) หากสร้างบ้านตั้งรกรากและพัฒนาที่ดินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี วัตถุประสงค์ก็คือต้องการพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นทุ่งหญ้า ป่าเขา และพัฒนาคนอเมริกันให้เป็นกำลังของชาติในวันข้างหน้าด้วยการเป็นคนทำงานหนัก เป็นเจ้าของที่ดินเองอย่างเสรี คนยุโรปก็หลั่งไหลเข้ามากันมากมายเพื่อแสวงหาโอกาสในดินแดนใหม่นี้

อย่างไรก็ดี ดินแดนตะวันตกนี้เต็มไปด้วยหญ้า เป็นทุ่งหญ้าที่เหมาะสำหรับมนุษย์ที่จะเดินทางผ่านไม่ใช่เพื่อตั้งรกราก แต่เมื่อต้องการสร้างบ้านและเป็นเจ้าของที่ดินก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงจำต้องหักร้างถางพง แย่งชิงที่ดินซึ่งอินเดียนแดงครอบครองอยู่ก่อนและนำมาเลี้ยงวัวเป็นงานหลัก

คาวบอยเป็นมืออาชีพต้อนวัวเพื่อควบคุมมิให้สูญหายไปจากการถูกขโมย ถูกทำร้าย ย้ายถิ่น หรือปนเปกับฝูงอื่น ถึงแม้จะพยายามปลูกพืชหนามและกั้นเส้นลวดเป็นรั้วกันวัวออกไป แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะวัวดันทะลุได้หมด ในปี 1870 มีการศึกษาโดยกระทรวงเกษตรและสรุปว่าถ้าไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมวัวให้อยู่ในพื้นที่ได้แล้ว การรุกเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนตะวันตกไม่มีทางสำเร็จแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่เกิดตามมาคือการแข่งขันสร้างประดิษฐกรรม และในที่สุด Gates ก็สร้างรั้วลวดหนามในลักษณะที่ใช้ได้ผลขึ้น

ลวดหนามทำสิ่งที่ Homestead Act ไม่สามารถทำได้ นั่นก็คือทำให้เกิดความเป็นเจ้าของส่วนตัวของที่ดิน (ทุ่งหญ้า) ขึ้น ก่อนหน้านั้นความเวิ้งว้างปราศจากขอบเขตที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นของใครทำให้ที่ดินซึ่งเป็นของทุกคนร่วมกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ไม่อาจกลายเป็นของคนใดคนหนึ่งได้เด็ดขาด เมื่อเกิดลวดหนามแหลมคมที่สามารถบาดทุกส่วนของสิ่งมีชีวิตที่ลุกล้ำเข้าไปได้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามานาน นั่นก็คือการบังคับสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดิน

อย่างไรก็ดี มันสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้พยายามเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะบัดนี้เห็นกันชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ใกล้ลำน้ำ ที่ลุ่ม หรือที่ดอน พูดอีกอย่างก็คือลวดหนามทำให้เกิดการปลดปล่อยที่ดินซึ่งเป็นทุ่งหญ้าป่าเขาแต่เดิมโดยเป็นที่ดินที่อินเดียนแดงหลายเผ่าพันธุ์อยู่อาศัยมานับหมื่นปี (อินเดียนแดงก็คือคนเชื้อสายเอเชียที่เดินทางข้ามขั้วโลกเข้าไปอยู่ในทวีปอเมริกามาไม่ต่ำกว่า 20,000 ปี) ให้กลายเป็นที่ดินของผู้บุกเบิกผิวขาวไปได้อย่างสะดวก

มีนักวิชาการที่ศึกษาชีวิตของอินเดียนแดงกล่าวว่า ลวดหนามโดยแท้จริงแล้วช่วยทำลายรากฐานของสังคมอินเดียนแดงเพราะทำให้ทุ่งหญ้าซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมกันของสังคมหายไป เกิดเป็นที่ดินซึ่งมีเจ้าของเป็นส่วนๆ (อินเดียนแดงก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่การมีจำนวนน้อยกว่าและการดำรงชีวิตในสังคมที่ต่างออกไปทำให้เจ้าของดินแดนดั้งเดิมสูญสิ้นที่ดินไปแทบทั้งหมด) อินเดียนแดงมองเห็นอิทธิฤทธิ์ของลวดหนามดีจึงเรียกมันว่า “เชือกของปีศาจ” (The Devil’s Rope)

สำหรับคนผิวขาวเอง ลวดหนามทำให้ความจำเป็นในการจ้างมืออาชีพเพื่อควบคุมฝูงวัวลดน้อยลง ดังนั้น ในที่สุดคาวบอยก็สูญพันธุ์ไปในประมาณต้นศตวรรษที่ 20

เมื่อสามารถสนองตอบความต้องการใช้ลวดหนามของผู้บุกเบิกได้ดี Gates กับนักประดิษฐ์ลวดหนามคนอื่นๆ ก็กลายเป็นเศรษฐีข้ามคืน ในปีแรกๆ มีการผลิตลวดหนามปีละ 32 ไมล์ (51.499 กิโลเมตร) ในปี 1880 โรงงานผลิตลวดหนามทั้งหมดผลิตออกมารวมกันยาวประมาณ 263,000 ไมล์ (พันรอบลูกโลกได้ 10 รอบ)

ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1914-1918) ลวดหนามถูกใช้เป็นอุปกรณ์สงครามอย่างเหี้ยมโหด การปะทะกันส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน ดังนั้นจึงมีการพรางทางเดินให้หลุดเข้าไปในบริเวณที่ขึงลวดหนามไว้ เมื่อเข้าไปติดกับดักลวดหนามก็จะถูกระดมยิงอย่างเหี้ยมโหด ไม่อาจขยับหนีได้

ลวดหนามเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นทุนนิยมยิ่งขึ้นเพราะช่วยทำให้สามารถบังคับสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้เด่นชัดขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีลวดหนามอีกชนิดหนึ่งเป็นนามธรรมอยู่ในใจมนุษย์ ถ้าใครไม่สามารถลอดลวดหนามนี้ที่กีดกั้นความกล้าใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ก็จะติดอยู่อีกด้านหนึ่งที่แห้งแล้งลงทุกขณะ การข้ามหรือทำลายลวดหนามใจนี้เกิดขึ้นได้ด้วยบุคคลเดียวเท่านั้น นั่นก็คือตัวเรา

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ม.ค. 2561