ThaiPublica > คอลัมน์ > ก้าวหน้าเพื่อมนุษยชาติ

ก้าวหน้าเพื่อมนุษยชาติ

30 ตุลาคม 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

“ค้นพบยาทำให้หนุ่ม-สาวขึ้น” “สามารถตรวจมะเร็ง 13 ชนิดได้อย่างง่ายดาย” และ “ผลิตน้ำดื่มจากอากาศ” สามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถือได้ว่าเป็นข่าวดีมากสำหรับมนุษยชาติ วันนี้ขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

สารที่เรียกว่า NAD (Nicotinamide adenine dinucleotide) ซึ่งทำให้เซลล์ของสัตว์เสื่อมช้าลงหรือแม้แต่ทำให้มันหนุ่มขึ้นดังเป็นที่รู้จักกันดีในโลกตะวันตกนั้นพัฒนามายาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1906 ถึง ค.ศ. 2016 จนก้าวหน้าเป็นสารหรือยาที่คนมีเงินในสหรัฐอเมริกาบริโภคกัน ที่เป็นข่าวขึ้นมาก็เพราะว่าในประเทศไทยมีการต่อยอดยาย้อนวัยซึ่งเข้าใจว่าเกี่ยวพันกับสารตระกูลนี้โดยสามารถทำให้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สารหรือยาย้อนวัยของไทยมีชื่อเรียกง่าย ๆ ว่า “มณีแดง” ย่อมาจาก REjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules (RED-GEMs หรือมณีแดง) หัวหน้าคณะนักวิจัยคือ ศ. นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และทีมงานเป็นผู้พบโมเลกุล “มณีแดง”

ทีมวิจัยนี้พบว่าเมื่อฉีด “มณีแดง” เข้าไปในหนู (หนูจริงๆ ไม่ใช่หนูปากแดง) ที่ชราก็พบว่าทำให้กลับเป็นหนุ่มสาวขึ้น โดยไปช่วยให้เซลล์มีการเสื่อมช้าลงหรือแม้แต่ทำให้มีสภาพที่แข็งแรงขึ้น ในเวลาอีก 5 ปี คาดว่าจะทดลองในสัตว์ใหญ่ขึ้น เช่น สุนัข ลิง และต่อไปคือคน

ทีมวิจัยมองไปไกลกว่าเรื่องทำให้หนุ่ม-สาวขึ้น กล่าวคือพิจารณาศักยภาพของ “มณีแดง” ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง อัลไซเมอร์ เส้นเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง ความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนรักษาแผล ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ “มณีแดง” อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของโลกก็เป็นได้

งานวิจัยชิ้นที่สอง ผู้เขียนติดตามมาหลายปีหลังจาก Toshiba ออกข่าวมาว่าได้ค้นพบเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถตรวจคัดกรองว่าเป็นมะเร็งได้ถึง 13 ชนิด แม่นยำ 99% ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ล่าสุดพบว่าโครงการนี้เดินหน้าต่อไปถึงขั้นการตรวจสอบขั้นสุดท้ายว่ามีความแม่นยำจริง และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสมคำอ้าง

มนุษย์มี micro RNA อยู่ประมาณ 2,500 ชนิด ในเลือด การตรวจมะเร็งกระทำโดยตรวจความเข้มข้นของชนิดต่าง ๆ ของ micro RNA การปรากฏตัวของเซลล์มะเร็งชนิดหนึ่งก็จะเพิ่มระดับของ micro RNA ชุดหนึ่ง ดังนั้นจึงสามารถตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดใดหรือไม่เป็นได้จากการเจาะเลือดเพียงหยดเดียวเพื่อดูระดับของ microRNA และเอาไปเปรียบเทียบแบบแผนของการเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งและความเข้มข้นของ micro RNA ชุดนั้น ๆ โดยชิปของ Toshiba จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้

มะเร็ง 13 ชนิดครอบคลุมมะเร็งที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งสมอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งมดลูก ฯลฯ การตรวจพบมะเร็งในขั้นต้นนั้นทำให้สามารถรอดชีวิตในอัตราที่สูงมากในปัจจุบัน การค้นพบนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งยิ่ง ตัวอย่างเช่นมะเร็งปอด หากพบขั้นสองมีโอกาสอยู่รอด 5 ปีสูงถึง 60% และสำหรับขั้น 0 คือแรกสุดนั้นโอกาสคือ 97%

ข้อมูลของ WHO (อเมริกาอนามัยโลก) ระบุว่ามะเร็งเป็นสาเหตุสำคัญของการตายในระดับโลก อันดับหนึ่งคือโรคหัวใจ สองคือสโตรกหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน สามคือโรคเรื้อรังทางเดินหายใจมีอุปสรรค สี่คือโรคทางเดินหายใจช่วงล่าง ห้าโรคพิการแต่กำเนิด หกมะเร็งปอด เจ็ดอัลไซเมอร์ แปดโรคท้องร่วง เก้าโรคเบาหวาน และสิบโรคไต

สำหรับญี่ปุ่นนั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1981 มีคนเป็นโรคมะเร็งขึ้นมาก ในปัจจุบัน ความเป็นไปได้ของการเป็นมะเร็งในจุดหนึ่งของชีวิตคือ 62% สำหรับชาย และ 47% สำหรับหญิง

ชิ้นที่สามเป็นเรื่องของการเปลี่ยนความชื้นในอากาศให้เป็นน้ำดื่ม ไม่ว่าจะอยู่ในที่แห้งแล้งใดก็ตามตราบที่มีความชื้นเกินกว่า 20% ทีมนักวิจัยของ MIT ได้ศึกษาเรื่องนี้มายาวนาน และบัดนี้สามารถผลิตน้ำดื่มได้จากที่แห้งแล้งโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์

การมีหยดน้ำอยู่นอกแก้วน้ำเย็นคือการยืนยันของการเปลี่ยนความชื้นหรือละอองน้ำเล็ก ๆ ในอากาศที่มองไม่เห็นให้เป็นน้ำด้วยอุณหภูมิที่แตกต่างกัน วิธีการก็คือหาวัสดุที่ดูดซับความชื้นในอากาศได้อย่างดีมากในเวลากลางคืน และแปรเปลี่ยนมาเป็นน้ำในเวลากลางวัน

ทีมวิจัย MIT ใช้วัสดุดูดความชื้นที่มีชื่อว่า Zeolite (ทำจากแร่ธาตุผสมโลหะและอลูมิเนียมฟอสเฟต) ดูดความชื้นตอนกลางคืนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า เมื่อถึงเวลากลางวันละอองไอน้ำก็จะถูกปล่อยออกมาและทำให้เป็นหยดน้ำด้วยความเย็น พลังงานที่ใช้ก็มาจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด ขณะนี้สามารถผลิตน้ำสะอาดได้ 0.8 ลิตรต่อ 1 ตารางเมตรของพื้นที่ผิวโซลาเซลล์ต่อวัน เชื่อว่าต่อไปจะสามารถผลิตได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า

ทั้งสามความก้าวหน้าจะเป็นผลดีอย่างมากต่อมนุษยชาติ ที่ชัดเจนที่สุดคือการลดความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ความไม่แน่นอนของชีวิต และการความขาดแคลนน้ำสะอาด มนุษย์ในปัจจุบันเป็นคนที่โชคดีเป็นที่สุดในจำนวนประมาณ 7,500 ชั่วคนนับตั้งแต่เรามีลักษณะหน้าตาเหมือนมนุษย์ปัจจุบันเมื่อ 150,000 ปีก่อน เราควรใคร่ครวญตระหนักในความโชคดีและรับผิดชอบโลกใบนี้กันยิ่งขึ้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 ต.ค. 2564