ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนจากกระดาษชำระ

บทเรียนจากกระดาษชำระ

12 พฤศจิกายน 2015


ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เวลาเราพูดถึงกระดาษส้วม หรือที่เรียกกันให้ไพเราะว่ากระดาษชำระ เรามักมีมโนภาพไปถึงสิ่งที่สกปรก ไม่น่าดู ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องถ้าไม่จำเป็น แต่ก็แปลกที่คนไทยกลับเอากระดาษส้วมที่ควรใช้เช็ดตูด(ขอโทษ! หากใช้คำว่าเช็ดก้นมันไม่ค่อยได้อารมณ์น่ะครับ)มาขึ้นโต๊ะอาหารเป็นกระดาษเช็ดปากไปได้หน้าตาเฉย เวลาฝรั่งนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยและไปกินอาหารริมถนนแล้วเห็นกระดาษนี้บนโต๊ะ ก็คงต้องทำหน้าแปลกใจปนผะอืดผะอม แล้วเอาไปเป็นเรื่องเม้าธ์อัพเฟซกันเป็นที่ครื้นเครงของคนเล่าและคนอ่าน

แต่จากภาพลักษณ์ที่ไม่โสภานักนั้น กระดาษชำระนี้ก็สามารถสร้างบทเรียนให้กับเรา โดยเฉพาะพวกนักเทคนิคได้อย่างที่คาดไม่ถึงทีเดียว โดยลำดับความคิดเป็นแบบนี้ครับ

ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว อาคารสาธารณะอย่างโรงแรมจะจัดหากระดาษชำระไว้ให้ 1 ม้วนในแต่ละห้องพัก ทีนี้เวลาคนมาพักคืนหรือสองคืนก็จะใช้กระดาษไม่หมด วิธีที่ทำกันอยู่มี 2 วิธี คือเอากระดาษม้วนนั้นติดตัวกลับบ้านไป หรือไม่ก็ทิ้งไว้ในห้องให้คนอื่นใช้ต่อ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็เป็นการใช้ทรัพยากรไม่เหมาะสมและเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของโรงแรม เพราะกระดาษชำระม้วนที่คนเก่าทิ้งไว้ คนใหม่มักไม่อยากเอามาใช้ ชะรอยจะคิดว่ามันสกปรกและเป็นของใช้แล้ว ดังนั้นโรงแรมจึงต้องเอากระดาษม้วนใหม่มาให้แขกคนใหม่ทุกครั้ง

ต่อมาโรงแรมเลยทำกระดาษชำระม้วนเล็กๆออกมาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากร แต่จริงๆแล้วเพื่อลดค่าใช้จ่ายเสียละมากกว่า แต่กระดาษม้วนเล็กนี้จะเล็กมากก็ไม่ได้ เดี๋ยวแขกใช้ไม่พอก็จะถูกต่อว่าและเสียชื่อ จึงต้องไม่เล็กเกินไป ทีนี้พอไม่เล็กนักก็มีปัญหาเดิมอีก คือยังมีกระดาษเหลือแม้จะไม่มากเท่าเดิมก็ตาม เขาก็เลยแก้โดยทำเล็กลง แต่ไม่เล็กมาก แล้วใช้กระดาษม้วนเก่าที่ยังไม่หมด แต่คราวนี้สร้างภาพใหม่ว่ากระดาษม้วนเก่าใช้ใหม่นี่ไม่สกปรกหรอกนะ โดยพับปลายกระดาษให้มีมุมแหลมๆ (ดูรูป) ซึ่งก็ได้ผลเพราะพอใช้ไปๆคนก็ยอมรับที่จะใช้กระดาษม้วนเก่าในโรงแรมอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ซึ่งพวกเราทุกคนก็คงเคยใช้กันมาแล้ว

แต่มนุษย์ทำธุรกิจไม่หยุดเพียงแค่นั้น เขาพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายลงไปอีก โดยทำกระดาษม้วนเล็กลงไปอีก แต่คราวนี้เผื่อกระดาษไม่พอใช้โดยเตรียมไว้ให้ 2 ม้วนต่อห้อง เมื่อหมดม้วนหนึ่งก็ใช้อีกม้วนหนึ่งได้ ซึ่งก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้ แล้วก็ทำที่แขวนกระดาษชำระแบบแขวนได้ 2 ม้วน มาใช้ในห้องน้ำ(ดูรูป) กะให้แขกใช้ม้วนหนึ่งจนหมดแล้วค่อยไปใช้อีกม้วน

กระดาษชำระมีไว้ 2 ม้วน เผื่อม้วนเดียวไม่พอ และหวังว่าคนจะใช้ทีละม้วน ซึ่งมาพบภายหลังว่าไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะมนุษย์ไม่ได้คิดอะไรเป็นสมการเดี่ยวๆโดดๆง่ายๆ  มนุษย์มักมีอะไรที่ซับซ้อนจากเรื่องง่ายๆได้เสมอ
กระดาษชำระมีไว้ 2 ม้วน เผื่อม้วนเดียวไม่พอ และหวังว่าคนจะใช้ทีละม้วน
ซึ่งมาพบภายหลังว่าไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะมนุษย์ไม่ได้คิดอะไรเป็นสมการเดี่ยวๆโดดๆง่ายๆ มนุษย์มักมีอะไรที่ซับซ้อนจากเรื่องง่ายๆได้เสมอ

แต่นั่นมันเป็นวิธีคิดของนักเทคนิคคนออกแบบ ไม่ใช่ของคนใช้กระดาษ แขกโรงแรมจึงใช้ทั้งสองม้วนอย่างละนิดละหน่อย สิ่งที่คิดและทำมาจึงยังไม่เวิร์ค

มนุษย์เรามันบางทีก็บ้าๆบอๆและไร้เหตุผลแบบนี้ละครับ

สุดท้ายต้องใช้วิธีทางสังคม คือต้องมาขอร้องให้คนใช้กระดาษทีละม้วน โดยทำแผ่นกระดาษเล็กๆประกาศเชิญชวนขอร้อง มาเสียบไว้ที่กล่องกระดาษชำระ บอกว่า“ช่วยใช้กระดาษให้หมดม้วนหนึ่งก่อน ค่อยไปใช้อีกม้วน” (ดูอีกรูป) โดยทำเนียนอ้างว่าเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

บทเรียนจากกระดาษชำระครั้งนี้ คือ นี่เป็นสิ่งที่นักเทคนิคต้องเรียนรู้ว่า สิ่งที่ตัวเองคิดไว้ในมิติทางเทคนิคว่าดีแล้วนั้น มันอาจไม่เวิร์คเลยในทางสังคม และเรื่องทางสังคมนี่แหละเป็นเรื่องที่ยากที่สุด และเห็นไหมครับว่าหากเราใช้ปัญญากันจริงๆ เราก็สามารถจะเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรได้แม้กระทั่งจากวิวัฒนาการของกระดาษส้วมในห้องน้ำสาธารณะที่ว่านี้ก็เรียนรู้ได้

ป้ายขอร้องเชิญชวนให้ใช้กระดาษชำระทีละม้วน
ป้ายขอร้องเชิญชวนให้ใช้กระดาษชำระทีละม้วน

หมายเหตุ: รูปนี้ถ่ายที่ห้องน้ำในญี่ปุ่น ซึ่งผมตัองยอมรับว่าญี่ปุ่นมีจุดเด่นตรงนี้ คือคิดละเอียดยิบคิดไปจนถึงจุดที่หลายๆประเทศไม่คิดกัน และผมเชื่อว่านี่แหละที่ทำให้ญี่ปุ่นไปไกลกว่าหลายๆประเทศทั้งที่มีทรัพยากรจำกัด