ThaiPublica > คอลัมน์ > จตุภาคีร่วมเสนอมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ที่ไม่ซ้ำใคร

จตุภาคีร่วมเสนอมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ที่ไม่ซ้ำใคร

16 ธันวาคม 2020


ธงชัย พรรณสวัสดิ์, ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 ได้มีกลุ่มคนและหน่วยราชการรวมทั้งนักธุรกิจ ที่เรียกตัวเองว่า ‘จตุภาคี’ อันประกอบด้วย หน่วยราชการ นักวิชาการ เอกชน และประชาชน พยายามที่จะระดมความคิดและหาข้อเสนอแนะในการลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เพื่อเสนอแก่รัฐบาล สำหรับนำไปใช้ปฏิบัติจริงต่อไป ในครั้งนั้นจตุภาคีนี้ได้ดำริที่จะสร้างกระแสสังคมไปพร้อมกัน โดยคาดหวังว่าจะทำให้สาธารณะสนับสนุนข้อเสนอเหล่านั้นผ่านกิจกรรม ‘วิ่งไล่ฝุ่น’ ทว่าอย่างที่ทุกคนทราบ ช่วงนั้นทั่วโลกประสบปัญหาโควิด-19 อย่างรุนแรง กิจกรรม ‘วิ่งไล่ฝุ่น’ นั้นจึงต้องล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นยังมีอยู่ และนอกจากจะแตกต่างไปจากข้อเสนอเดิมๆ เป็นส่วนใหญ่แล้วเราเชื่อว่าข้อเสนอนี้ยังใช้การได้ดีและเหมาะสมกับบริบทไทยปัจจุบัน เราในฐานะผู้ประสานงานของจตุภาคี (ที่มีรายชื่อดังในเอกสารแนบ) จึงต้องการที่จะขอนำเสนอข้อเสนอดังกล่าวต่อสาธารณชนเพื่อช่วยกันพิจารณาและผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

1. ระบบยานพาหนะไฟฟ้าทดแทนรถยนต์เก่าเพื่อลด PM2.5

1.1 จัดระบบและระเบียบที่ง่ายต่อการเปลี่ยนรถยนต์เก่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Car, EC)

เช่น 1) ลดค่าธรรมเนียมการตรวจสภาพรถไฟฟ้า (ที่ปัจจุบันต้องจ่ายค่าวิศวกรเครื่องกลและไฟฟ้า รวม 2 คน ลงนามรับรอง และค่าทดสอบอื่นๆ), 2) มีจุดบริการตรวจสอบสภาพของรถแปลงสภาพนี้น้อยมาก และไม่ทั่วประเทศ ทำให้การตรวจสอบทำได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงควรมีการอบรมช่างท้องถิ่นทั่วประเทศให้ตรวจสอบรวมทั้งขึ้นทะเบียนกับทางการได้, 3) ใช้ระบบการเงินการคลังสนับสนุนมาตรการนี้

เหตุผล:

  • รถยนต์เก่าทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุก รถโดยสาร รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เป็นต้นเหตุหลักอย่างหนึ่งของการก่อกำเนิด PM2.5 ในเขตเมือง
  • การเปลี่ยนสภาพจากรถที่ใช้เครื่องยนต์เก่าเป็นรถไฟฟ้า EC สามารถลดปัญหา PM2.5 ได้ง่ายและทันที (โดยช่างไทยมีเทคโนโลยีแล้ว)
  • รถเก่าที่เป็นรถบรรทุกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือสำหรับการประกอบอาชีพที่สำคัญ สำหรับกลุ่มคนรากหญ้า หากต้องทิ้งรถเก่า (หากต่อทะเบียนไม่ได้) และต้องซื้อรถใหม่ หลายคนจะไม่สามารถทำได้ด้วยราคาที่สูง ในขณะที่การแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้าสามารถทำได้ทันทีในราคาที่ถูกกว่า 3-4 เท่า
  • นอกจากนี้ รถไฟฟ้าแปลงสภาพนี้ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงใช้งานด้วย เช่น ลดค่าเชื้อเพลิงและบำรุงรักษาได้ประมาณ 3 เท่าของการใช้รถยนต์เก่า
  • จึงเป็นมาตรการลดความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมทางอ้อมที่ควรสนับสนุน
  • หากต้องทิ้งรถเก่าซากรถเก่าจะเป็นขยะที่มีสารพิษปะปนอยู่ เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่หากนำมาใช้ได้ต่อจะเป็นการนำทรัพยากรมาใช้ได้คุ้มค่าขึ้น นับเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy, C.E.) ที่เด่นชัด และทำได้ทันที

1.2 จัดระบบและระเบียบให้บริษัทประกันภัยรับประกันรถที่ใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานขับเคลื่อน ในราคาที่ยุติธรรม

เหตุผล: ณ ปัจจุบัน บริษัทประกันบางแห่งไม่รับประกัน ทำให้ผู้ซื้อรถพลังไฟฟ้าลังเลที่จะซื้อ

1.3 เปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถประจำทางไฟฟ้าโดยเร็วในเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยการสนับสนุนจากงบประมาณภาครัฐส่วนกลางโดยตรง

เหตุผล:

  • รถเก่าขนาดใหญ่ทั้งรถบรรทุกและรถประจำทางมีส่วนอย่างมากที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5
  • รถบรรทุกขนาดใหญ่ของเอกชน ซึ่งขนาดเทียบเท่ารถเมล์ของ ขสมก. ต่างต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี มิฉะนั้นจะไม่สามารถต่อทะเบียน หรือแม้กระทั่งนำมาใช้บนถนนได้
  • แต่ในเวลาเดียวกัน รถเก่าของ ขสมก. ยังสามารถใช้งานได้ทั้งที่รถของราชการควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาของสังคม
  • จึงควรเปลี่ยนรถของ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้าโดยเร็วภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อปีถัดไปจะมีปัญหา PM2.5 น้อยลง
  • รวมทั้งจะเป็นการส่งสัญญาณให้สังคมรับรู้ได้ว่าภาครัฐสนใจและใส่ใจในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมและโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ภาคธุรกิจและประชาชนให้ต้องทำตามโดยไม่มีข้ออ้างว่าภาครัฐยังไม่ได้ทำอะไรให้เห็นเป็นตัวอย่าง
  • งบประมาณที่ใช้ในการแปลงสภาพรถประจำทางเป็นรถไฟฟ้านั้นน้อยกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย

1.4 ส่งเสริมและสนับสนุนรวมถึงการจัดระบบ เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องและเอื้อต่อการมีและใช้รถไฟฟ้าแทนรถยนต์ (ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน)
เหตุผล:

  • รถไฟฟ้าไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5
  • รถยนต์ใหม่ก็ปล่อยฝุ่น PM2.5 แม้จะไม่มากเท่ารถยนต์เก่า
  • รถยนต์ใหม่จะเป็นรถยนต์เก่าในเวลาไม่นาน ซึ่งก็จะกลายเป็นต้นกำเนิดฝุ่น PM2.5 อีกอยู่ดี ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ
  • การที่จะใช้รถไฟฟ้าส่วนตัวเดินทางไกล เช่น ไปต่างจังหวัด จำต้องมีสถานีอัดประจุแบบอัดเร็ว (quick charging station) ซึ่งลงทุนสูงและสร้างผลกำไรต่ำ จึงหาผู้ลงทุนภาคเอกชนได้ไม่ง่าย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ที่จะซื้อรถไฟฟ้า จนเลือกที่จะซื้อรถยนต์ (เครื่องสันดาปภายใน) แทนรถไฟฟ้า การแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้วยการมีและใช้รถไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นได้ยาก
  • อย่างไรก็ตาม รถบ้านหรือรถไฟฟ้าบ้านไม่จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่และสามารถอัดประจุด้วยระบบปกติที่บ้านได้
  • นอกจากนี้ การใช้รถเพื่อเดินทางไกลเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้รถประจำวัน การมีรถไฟฟ้าที่วิ่งเป็นระยะทางไกลได้จึงไม่จำเป็น ทั้งนี้หากต้องการเดินทางไกลด้วยรถเป็นบางครั้งก็สามารถใช้ระบบแบ่งปัน (car sharing) โดยการเช่ารถได้
  • ปัญหาคือทัศนคติของประชาชนที่ยังเข้าใจประเด็นนี้ไม่ถูกต้อง
  • ระบบการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้
  • โดยเพิ่มแรงจูงใจด้วยระบบภาษีหรือโครงการสนับสนุนในรูปแบบอื่น ฯลฯ
  • เมื่อถึงจุดนั้นการลดฝุ่น PM2.5 ก็สามารถทำได้จริงในระยะเวลาไม่นาน

2. ระบบการก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อระบบจราจรเพื่อลดฝุ่น PM2.5

2.1 การควบคุมการใช้พื้นที่ก่อสร้างสาธารณูปโภคบนถนน ให้ใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น ผ่านการร่วมวางแผนโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

เหตุผล:

  • การก่อสร้างสาธารณูปโภคบนถนนมักจำเป็นอยู่เองที่มีผลกระทบต่อจราจร ทำให้จราจรไม่คล่องตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เสริมให้มีฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศมากขึ้นกว่าที่ควร
  • การก่อสร้างดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง ระบบพลังงาน ระบบสื่อสาร ระบบประปา หรือระบบระบายน้ำ ที่ผ่านมาจะถูกวางแผนโดยผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นปกติวิสัยที่ผู้รับเหมาจะจัดทำให้สะดวกแก่ตนเองเป็นที่สุด
  • การนี้จึงอาจจะทำให้มีการใช้พื้นที่ผิวจราจรเกินความจำเป็น
  • จึงควรมีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง เช่น จากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากจราจรติดขัดมาเป็นกรรมการร่วมด้วย
  • กรรมการในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในระบบขนส่งหรือจราจรพอสมควร เพื่อที่จะเข้าใจขีดจำกัดของการก่อสร้างไปด้วยพร้อมๆ กัน

2.2 การลดเวลาในการก่อสร้างบนถนนด้วยการออกแบบตั้งแต่ต้น โดยคิดค่าใช้จ่ายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการ เช่น การใช้เสาเข็มรองรับน้ำหนักส่วนทางลาดก่อนขึ้นสะพานแทนการปล่อยให้ดินทรุดและจมตัวจนได้ที่ อันใช้เวลานาน (อาจถึง 6 เดือน)

เหตุผล:

  • การก่อสร้างสาธารณูปโภคบนถนนหากยิ่งนานก็ยิ่งทำให้ปัญหาจราจรติดขัดเนิ่นนานออกไป
  • ปัญหาฝุ่นและมลพิษอากาศอื่นๆ จึงมากและยืนยาวเกินกว่าที่ควรจะเป็น
  • ปกติเดิมการคำนวณค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณของโครงการหนึ่งๆ ของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มักคิดเฉพาะในส่วนของโครงการ และจะพยายามทำให้ราคาของโครงการน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยไม่ได้เน้นประเด็นระยะเวลาโครงการฯ ที่สามารถทำให้สั้นลงได้
  • โดยไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษรวมทั้งสังคมที่ตามมา
  • ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของประชาชนในภายหลังสูงกว่าค่าใช้จ่ายตรงของโครงการฯ มาก
  • การคิดความคุ้มทุนของโครงการสาธารณูปโภคในลักษณะนี้จึงต้องมองในรูปแบบที่บูรณาการ แม้จะทำให้ราคาและงบประมาณโครงการฯ สูงกว่าที่เคยปฏิบัติกันมา
  • ซึ่งสำนักงบประมาณก็ควรเข้ามามีบทบาทที่ทำให้กระบวนการนี้มีผลสัมฤทธิ์ได้จริง

3. ระบบป้อนผู้โดยสาร ด้วย smart mobility

ระบบป้อนผู้โดยสาร (feeder system) ให้กับระบบขนส่งมวลชลสาธารณะ (รถ ราง เรือ) ด้วย smart mobility อันได้แก่ ระบบการเดินและระบบการจักรยาน เพื่อลด PM2.5 หมายถึงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย ความต่อเนื่อง ความสบาย ฯลฯ ของระบบการเดินและการจักรยานโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนยินดีที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้รถส่วนตัวมาเป็นการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ในทั้งระบบรถ ระบบราง และระบบเรือ

เหตุผล:

  • ระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้มาก
  • ระบบขนส่งมวลชนหมายรวมถึงระบบเรือเมล์ รถประจำทาง ฯลฯ ด้วย
  • ปัจจุบันแม้จะมีระบบขนส่งมวลชนมาบริการในละแวก ประชาชนกลุ่มหนึ่งก็ยังไม่ยินดีใช้ระบบฯ นี้ ทั้งจากที่พักอาศัยและ/หรือจากที่ทำงานมายังสถานีหรือป้ายรถเมล์ ด้วยเหตุผลที่ไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ไม่ร่มรื่น ไม่ชวนใช้ ฯลฯ
  • จึงควรที่จะทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายและปลอดภัยแก่ผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว
  • อย่างไรก็ตาม ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานขนส่งมวลชนมีขีดจำกัดเฉพาะตามเส้นทางที่ตนเองรับผิดชอบ พื้นที่นอกจากนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
  • รัฐบาลจึงควรกำหนดเป็นนโยบายและแผนพร้อมตัวชี้วัด ให้ อปท. ดำเนินการในส่วนนี้โดยเร็ว
  • ผลพลอยได้นอกจากการลดฝุ่น PM2.5 แล้ว คือ ยังสามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งนั้นหมายถึงทำให้โครงการขนส่งมวลชนมีความคุ้นทุนได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ไปจนถึงทำให้ลดค่าโดยสารลงได้ ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารขึ้นไปอีก อันเป็นวัฏจักรที่พึงประสงค์และควรส่งเสริม

4. วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือกลภาคเกษตร

การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือกลภาคเกษตร ที่สามารถผลิตได้เองในประเทศด้วยราคาที่ถูกลงและเหมาะสมกับบริบทไทย เพื่อลดการเผา เพื่อลด PM2.5 เครื่องมือและอุปกรณ์กลเหล่านี้มีตั้งแต่เครื่องตัดสางกิ่ง เครื่องตัดและเก็บผลิตผลการเกษตร เครื่องอัดมัดเป็นก้อน เครื่องไถพรวน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะลดการเผา ซึ่งทำให้ไม่มีฝุ่น PM2.5 ได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มความสมบูรณ์ของดินให้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมในฤดูต่อไปได้อีกด้วย

เหตุผล:

  • การเผาซากพืชจากการกสิกรรมทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในวงกว้างไกลได้มาก
  • แต่การเผาอาจจำเป็นสำหรับเกษตรกรบางกลุ่มในบางพื้นที่ด้วยขีดจำกัดและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
  • การบังคับใช้กฎหมายสั่งห้ามเผาแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้
  • การใช้อุปกรณ์เครื่องมือกลที่ผลิตได้ในประเทศและในราคาที่ถูกลงดังกล่าวข้างต้นจะสามารถเป็นคำตอบหนึ่งที่เหมาะสมกับบริบทไทยได้
  • ภาครัฐจึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้การวิจัยพัฒนาและผลิตฯ นี้เกิดขึ้นได้จริงในบริบทแบบไทย เช่น ขนาดความห่างของร่องแปลง ความลาดชันของพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจสังคมของชุมชนเกษตร ฯลฯ
  • ด้วยระบบการเงินและการคลัง
  • ด้วยระบบการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย
  • อุปกรณ์และเครื่องมือกลเหล่านี้ควรมีทั้งระดับแปลงขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเศรษฐกิจสังคมของชุมชนเกษตรไทย

5. ศึกษาหาสาเหตุหรือต้นกำเนิดของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในต่างพื้นที่แบบบรูณาการ

การศึกษาหาสาเหตุหรือต้นกำเนิดของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในต่างพื้นที่แบบบรูณาการ ที่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้อง เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนรวมทั้งแผนงานลดฝุ่น PM2.5 ได้ถูกต้องและคุ้มค่า

เหตุผล:

  • ปัจจุบันมีความแตกต่างของความรู้และข้อมูลรวมทั้งความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานราชการ เกี่ยวกับต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือเชียงใหม่
  • หากข้อมูลผิด การกำหนดนโยบายและแผนรวมทั้งแผนงานและโครงการย่อมผิดไปด้วย
  • ทำให้การปฏิบัติการ รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ไป ก็อาจไม่สมประสงค์หรือสำเร็จผล
  • การศึกษางานวิจัยแบบบูรณาการและข้ามศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะทำให้รู้ว่าสาเหตุมาจากไอเสียรถยนต์ การก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง การปิ้งย่างอาหาร การพัดพามาจากพื้นที่อื่น การเกิดปฏิกิริยาเคมีแสง ฯลฯ ในสัดส่วนเท่าใด เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์ได้จริงและคุ้มค่าต่อไป
  • การศึกษานี้ควรใช้บุคลากรทั้งจากภาคการศึกษา บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานราชการรวมทั้งประชาสังคม ร่วมกันทำงานเพื่อเป็นคำตอบที่เบ็ดเสร็จและสมบูรณ์
  • เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก นั่นหมายถึงหัวหน้าโครงการฯ ต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถ มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรวมทั้งด้านสังคมวิทยา ไม่อคติ มีความเป็นกลาง สามารถบริหารคนได้ และจัดการกับอุปสรรคปัญหาได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ

6. ระบบภาษี/ค่าธรรมเนียม/ค่าบริการ ให้โครงการลดฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว

ระบบภาษี หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ที่ทำให้โครงการลดฝุ่น PM2.5 ต่างๆ เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็ว เช่น ภาษีอากาศสะอาดที่ผู้ได้ประโยชน์พึงเป็นผู้จ่าย ภาษีน้ำมันที่ผู้ใช้ยานพาหนะในพื้นที่เมืองต้องเป็นผู้จ่าย ค่าธรรมเนียมที่ลดลงสำหรับผู้ที่แปลงสภาพรถยนต์เก่าเป็นรถไฟฟ้า

รายได้จากภาษีหรือค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเหล่านี้ควรนำไปใช้ในการต่างๆ เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการแปลงรถยนต์เก่าเป็นยานพาหนะไฟฟ้า การจ้างเครื่องจักรกลในการตัดสาง ตัดเก็บ ไถกลบ ฯลฯ เพื่อลดการเผา การขนส่งซากพืชการเกษตรไปยังโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง การลดค่าโดยสารขนส่งมวลชน การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ในเมือง การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถเปลี่ยนน้ำมันรถยนต์เป็นมาตรฐานพรีเมียม (ปริมาณกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm) ได้เร็วกว่าที่กำหนด ฯลฯ

7. การศึกษาผลกระทบในภาพรวมของมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ทุกมิติ

การศึกษาผลกระทบในภาพรวมของมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ดังกล่าวข้างต้น ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

เหตุผล:

  • มาตรการ 6 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นเน้นการมองปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
  • แต่มาตรการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและ/หรือสังคมตามมาได้ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่พึงให้เกิดขึ้น
  • เช่น โครงสร้างของระบบน้ำมันและพลังงานเปลี่ยนไป การจ้างงานเปลี่ยนไป เกิดการตกงานในกลุ่มคนบางกลุ่ม ธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจอะไหล่รถยนต์ อาจได้รับผลกระทบ ธุรกิจรถยนต์เองอาจเกิดการชะลอตัว ฯลฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจได้
  • จึงควรมีการศึกษาในรูปแบบบูรณาการทั้ง 3 ประเด็นในวงกว้างแบบมหภาคไปพร้อมๆ กัน

องค์ประกอบของจตุภาคี
1. วิชาการ

    – คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    – ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.)
    – ศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย (TAQM)
    – สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม (ERIC)

2. ราชการ

    – กระทรวงคมนาคม
    – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    – กระทรวงสาธารณสุข
    – กระทรวงอุตสาหกรรม
    – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

3. เอกชน

    – บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
    – บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
    – บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
    – บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)
    – บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด
    – บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน)

4. ประชาสังคม

    – สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    – มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
    – สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สสวท.)
    – มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย( ม.ส.ท.)
    – สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่ง เพื่อสุขภาพไทย
    – สมาคมนักผังเมืองไทย
    – สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม
    – สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
    – หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
    – สมาคมสร้างสรรค์ไทย
    – มูลนิธิปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา
    – ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
    – ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
    – ชมรมจักรยานวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    – ชมรมจักรยานพับได้ ประเทศไทย
    – Bike in the City ปั่นรักษ์พิทักษ์เมือง
    – The sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า
    – บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด