ThaiPublica > คอลัมน์ > ความคล้ายกันของปัญหาสิ่งแวดล้อมกับคอร์รัปชัน

ความคล้ายกันของปัญหาสิ่งแวดล้อมกับคอร์รัปชัน

17 พฤษภาคม 2014


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้วต้องรวมเอาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ น้ำ ดิน อากาศ ป่าไม้ และสัตว์ป่า เข้ามาอยู่ด้วย ได้รับการกล่าวถึงมานานแล้วกว่า 30 ปี โดยกลุ่มที่ออกมารณรงค์หรือเรียกร้องให้ภาครัฐและรัฐบาลแก้ไขเป็น กลุ่มนอกภาครัฐหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เอ็นจีโอ”

แต่ปัญหาคอร์รัปชันซึ่งสำคัญต่อประเทศไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้นเพิ่งได้มาสู่ความสนใจของคนไทยในระยะเวลาเพียง 4-5 ปีเศษที่ผ่านมา และปัญหาคอร์รัปชันนี้ได้ทวีความรุนแรงไปถึงระดับ 30% เป็นปกติ และ 40-50% ในบางกรณี ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว จนกระทั่งเกิดเอ็นจีโอรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่มาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคองค์กรพัฒนาเอกชน แต่มาจากภาคธุรกิจที่เริ่มทำธุรกิจกันไม่ได้หากไม่รู้ช่องทางคอร์รัปชัน องค์กรนี้ชื่อว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “เอ็นจีโอภาคธุรกิจ” ก็คงไม่ผิดนัก

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคอร์รัปชันซึ่งจัดการและแก้ไขได้ยากทั้งคู่นี้ แปลกมากที่มีส่วนคล้ายกันอยู่ในหลายประเด็น

ประการที่หนึ่ง นักธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มเล็กมากไปจนถึงเอสเอ็มอีมักกล่าวอ้างว่า ถ้าเขาไม่จ่ายใต้โต๊ะ เขาก็ไปไม่รอดในเชิงธุรกิจ นักอุตสาหกรรมบางคนบอกว่าไม่สามารถเปิดเครื่องเดินระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อดูแลปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมให้ได้ดีตามมาตรฐานตลอดเวลาได้ เพราะนั่นคือค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงเสียในขณะที่โรงงานอื่นไม่ยอมเสีย ปรากฏการณ์ “คุณทำก่อนสิ แล้วผมจะทำตาม” เหมือนกันทั้งในด้านมลพิษและคอร์รัปชัน

ประเด็นที่สอง คือ ทั้งสองปัญหานี้ต้องใช้เวลาบ่มเพาะตัวเองจนเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นสุกงอม และจนประชาชนทนไม่ได้ ต้องออกมาเรียกร้อง รณรงค์ ต่อต้าน ตลอดจนหามาตรการแก้ไข ลด และป้องกัน ซึ่งเริ่มที่จะเห็นเป็นเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ปกติในบ้านเราไปแล้ว

ประเด็นที่สาม ในบั้นปลายของปัญหา พอถึงจุดสุดท้ายแล้ว จะไม่มีใครได้ประโยชน์จากการที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงหรือคอร์รัปชันได้เลวร้ายลงจนประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้ ประเทศใดก็ตามที่ไม่มีความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลในการทำงาน ประเทศนั้นจะหานักลงทุนดีๆ โดยเฉพาะจากต่างประเทศมาลงทุนได้ยาก เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ถ้าน้ำในคลองเน่าต้นทุนการจัดหาน้ำสะอาดต้องสูงขึ้น ถ้าอากาศเป็นพิษประชาชนไม่ยอมรับการพัฒนาเพิ่มขึ้นในชุมชน การลงทุนทำกิจการใดๆ ในพื้นที่ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ประเด็นที่สี่ คือ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและคอร์รัปชันได้ฝังตัวสอดเข้าไปอยู่ในระบบของสังคมไทยแล้ว เวลานี้เป็นที่รับรู้กันว่าหากทำงานกับโครงการรัฐภาคธุรกิจต้องเตรียมการไว้สำหรับสิ่งนี้อาจถึง 30% ในขณะที่การออก น.ส.3 หรือโฉนดปลอมเพื่อยึดเอาทรัพยากรที่ดินของรัฐเป็นของตนก็ทำกันแบบจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และบางทีก็ถูกกฎหมายเสียด้วย เพราะทำกันจนสอดเข้าไปอยู่ในระบบ (systemic) หรือกระบวนการการทำงานไปแล้ว

ประการที่ห้า เป็นประเด็นเกี่ยวกับจำนวนและขนาด คือธุรกิจขนาดใหญ่แม้มีจำนวนไม่มากแต่การคอร์รัปชันนั้นหากมีก็จะเป็นคำโต ทว่าในภาวการณ์ปัจจุบันบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ มักถูกเฝ้ามองและถูกบีบบังคับโดยปริยายให้ต้องมีการทำงานแบบโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ปัญหาจากธุรกิจขนาดใหญ่จึงเบาบางลงกว่าเดิมมากในปัจจุบัน แต่คอร์รัปชันในธุรกิจขนาดเล็กหรือแม้กระทั่งกับประชาชนคนธรรมดา เช่น จ่ายสินบนให้ตำรวจจราจรแทนการได้ใบสั่ง การทุจริตในการสอบบรรจุเป็นพนักงานราชการ การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในการออกบัตรประชาชน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จะจัดการและแก้ไขได้ยากกว่าการแก้ที่ธุรกิจระดับที่ใหญ่กว่า

เรื่องนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น หอพักขนาดเล็กที่มีอยู่จำนวนมากและกระจายไปทั่วทุกเมืองใหญ่ หอพักพวกนี้จำเป็นต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียตามกฎหมาย แต่มักไม่มีกำลังพอที่จะดูแลระบบน้ำเสียของตนได้ดีพอ ความสกปรกรวมของน้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากหอพักขนาดเล็กของทุกแห่งพวกนี้รวมกันก็อาจสูงกว่าตัวเลขรวมจากระบบบำบัดน้ำเสียของศูนย์การค้าหรือโรงแรมขนาดใหญ่ นี่ยังมิต้องไปพูดถึงร้านค้าหรือร้านอาหารขนาดเล็กตามห้องแถวซึ่งบางแห่งไม่มีแม้กระทั่งบ่อดักไขมัน ฯลฯ

ปริมาณความสกปรกของมลพิษที่ต้องพิจารณาจากทั้ง (1) ความเข้มข้นของความสกปรกของน้ำทิ้ง (ซึ่งเกิดจากระบบทำงานได้ไม่ดี) และ (2) ปริมาณหรือจำนวนสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงสูงกว่ามลพิษจากธุรกิจขนาดใหญ่อย่างมาก

การที่จะจัดการหรือดูแลสองปัญหานี้ที่กระจายตัวกันอยู่ ทั้งในเรื่องของคอร์รัปชันและมลพิษให้ได้ผล จึงเป็นปัญหาที่ยังจัดการไม่ได้ในเร็ววัน

ประเด็นที่หก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะมีผลคูณ (multiplying effect) ทางสังคมตามมามากมาย คือ ผลพวงจากสองปัญหานี้ในขั้นสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบต่อคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่กลุ่มคนรวยจะได้รับผลกระทบในระดับที่เปรียบเทียบกันแล้วน้อยกว่ามาก และอาจเป็นเพราะเหตุผลนี้ก็ได้ ที่ทำให้สองปัญหานี้ไม่ได้รับความสนใจนักในอดีตจากผู้มีโอกาส อำนาจ บทบาท และหน้าที่ในการบริหารประเทศ

ประการที่เจ็ด ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาในหกข้อข้างต้น จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจเอกชน ภาคเอ็นจีโอ ภาคประชาชน และภาครัฐ ต่างต้องเห็นปัญหานี้ร่วมกัน และช่วยกันระดมความคิด แรงกาย แรงใจ และแรงเงิน กันอย่างจริงจัง โดยทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ ความไว้วางใจในกันและกัน ซึ่งพูดฟังง่ายดี แต่ทำได้ยากที่สุดเลยครับ

แต่ก็ต้อง “สู้โว้ย”