เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “Thailand 2016 อนาคตเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน” โดยมีการเชิญบุคคลสำคัญทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ มาให้ความเห็นต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยในปี 2559
“สมคิด” ย้ำ ไม่กระตุ้น GDP โต 5-6% เน้นฐานราก ปฏิรูปโครงสร้างในปีครึ่ง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้ไม่เหมือนรอบแรก เพราะถึงจะหนักแต่เห็นโจทย์ชัดว่าต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่สื่อวิจารณ์ตนรับรู้หมด สิ่งใดเป็นประโยชน์ก็จะนำไปใช้ ใครที่ติชมหนักๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร ขณะนี้ถือเป็น moment of truth ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรก็จะส่งผลกระทบในวันหน้า แต่ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นโอกาสทอง โดยนับแต่เข้ารับตำแหน่ง ตนก็ดำเนินการไปแล้ว 2 เรื่อง คือ
1. หยุดยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ยังเดินต่อไปได้ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และไม่เคยคิดจะทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP) โตสวนกระแสความเป็นจริง จะฝันให้รัฐอัดฉีดให้ GDP โต 5-6% ไม่มีทางเป็นไปได้ ตนจะให้โตอย่างสมเหตุสมผล โดยมีการออกมาตรการมาเป็นชุดๆ 1) ทำให้เงินลงถึงรากหญ้าผ่านทางกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้เงินสนับสนุนตำบลละ 5 ล้านบาท รวมถึงเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท 2)ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enteprises – SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงลดภาษี 3)กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะส่งผลไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย และทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างตัว และ4) ช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งต่อไปต้องเปลี่ยนวิธีการเกษตร ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นแค่โรงรับจำนำ ทั้งข้าวและยาง
“หลายคนเป็นห่วงว่า มาตรการเหล่านี้การคลังจะไหวไหม หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) จะเพิ่มขึ้นสูงหรือไม่ ขอยืนยันว่าผมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะทำอะไรด้วยความรอบคอบ จะไม่ทำให้การคลังได้รับผลกระทบ โดยมาตรการเหล่านี้คาดว่าจะเริ่มส่งผลปลายไตรมาสที่สี่ของปี 2558 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2559 คาดว่าจะลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกได้มาก”
2. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเปราะบางมาก 1) ทำให้มีการเจริญเติบโตที่สมดุลระหว่างภายในกับภายนอก เราต้องทำรากฐานให้เข้มแข็ง ทั้งแนวดิ่งจากกระทรวงมหาดไทยลงไปสู่ตำบลต่างๆ ให้มีแผนพัฒนาระดับพื้นที่ และแนวราบ คือให้ภาคประชาสังคมเข้าไปขับเคลื่อนระดับชุมชน 2) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาขนาดใหญ่ ให้มีนักเรียนอาชีวะที่เป็น technical มากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่ช่าง ส่วนมหาวิทยาลัยก็ให้ผลิตคนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น วิศวะ แพทย์ ฯลฯ อย่าเน้นแต่ด้านสังคมศาสตร์ 3) สร้างกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) เพื่อสร้าง innovation หรือนวัตกรรม ตนได้เอกสารของอดีตประธานบริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้ ที่บอกว่าเหตุที่เกาหลีใต้พัฒนาแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 50 ปี เนื่องจากมี innovation ของตัวเอง ที่ไม่ใช่แค่ innovation ธรรมดา แต่ต้องเป็น innovation กลายพันธุ์ สมัยก่อนเกาหลีใต้ก็เหมือนเรา ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระทั่งปรับเปลี่ยนมาเน้นด้านเทคโนโลยีจึงพัฒนาแบบทุกวันนี้ และสี่ ปรับปรุงระบบงบประมาณ เน้นที่ยุทธศาสตร์ลดความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน
“ในเอกสารของอดีตประธานบริษัทซัมซุงเขียนไว้เลยว่า เหตุที่เกาหลีใต้เติบโตได้เพราะได้รัฐบาลที่ไม่ได้บ้าประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าให้ได้ ทำให้เขาเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 50 ปีเท่านั้น เขายังบอกด้วยว่า วิกฤติคือจุดที่จะทำให้คุณได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง แต่จุดที่สบายจะทำให้คุณกลับไปสู่วิกฤติ เพราะคุณก็อยู่กับแบบสบายๆ ไม่ได้พัฒนา”
นอกจากนี้ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเป็นประธานการประชุมการสร้างเสริมความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (easing doing business) เพราะเวลานี้เมื่อต่างชาติจะมาลงทุนในไทยก็เจอปัญหากับกฎระเบียบมากมายซึ่งใช้เวลานาน
“นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไขให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่เหลืออยู่ โดยไม่ต้องรอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่งข้อเสนอมา เพราะถ้าเราไม่ทำเวลานี้ ในอนาคตอาจไม่มีโอกาสได้ทำอีกเลย จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยแข็งแรงมาก ถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ 1. การส่งออกจะตกลงไปเรื่อยๆ 2. ทรัพยากรคนของเราจะสู้ใครเขาไม่ได้ และ 3. สอบตกตัวชี้วัดสถาบันต่างๆ ทุกปี ฉะนั้นต้องตื่นได้แล้ว สื่อมวลชนควรจะรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ หรืออย่างน้อยๆ ก็รู้ว่าทีมงานนายสมคิดกำลังทำอะไร” นายสมคิดกล่าว
“จีน-สหรัฐฯ” ตัวแปรสำคัญเศรษฐกิจไทย ปีหน้า – นักลงทุนจับตา รธน.
จากนั้นเป็นช่วงของการเสวนาในหัวข้อ “Thailand 2016 อนาคตเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน” โดยวิทยากร ประกอบด้วย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา และนายสันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ธนาคารเครดิตสวิส โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับสิ่งที่นายสมคิดกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยแผ่วลงไปมาก ต้องหาอะไรมายัน และต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทั้งระบบ แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบกับใคร เพราะเวลามีปัญหาคือมีกำลังผลิตส่วนเกินแต่ไม่มีคนซื้อ สมมติไทยจะลงทุนเพิ่มกำลังผลิต คำถามคือจะไปขายใคร สำหรับตัวเลข GDP ในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะโต 2.5% และปีหน้าโต 3.5% เพราะเศรษฐกิจภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกยกเว้นลาตินอเมริกาจะเริ่มดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงและอยู่ในแถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทุกฉบับคือเศรษฐกิจของจีน
ทั้งนี้ แม้ไทยจะมีภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจสูงมาก ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาก เงินเฟ้อต่ำ และหนี้สินของประเทศมีน้อย จะปล่อยให้เดินต่อไปเรื่อยๆ ก็คงทำได้ แต่เหมือนกับถีบจักรยานช้าๆ คือถีบไปได้ แต่ล้มง่าย ถ้าเศรษฐกิจจีนเกิดมีปัญหาขึ้นมาก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยเราก็หวังว่าจีนจะไม่ hard landing
สำหรับปัจจัยทางการเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่ โดยเฉพาะเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างอำนาจ นักลงทุนต้องการอะไรที่คาดการณ์ได้ หลายคนจึงบอกว่าเวลานี้ขอ “รอดีกว่า” ให้รัฐธรรมนูญมีความชัดเจนมากขึ้น
“สำหรับประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแน่ เพราะเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ ผู้บริหารประเทศจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” นายศุภวุฒิกล่าว
นายสันติธาร เสถียรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบ ข้อเสียเปรียบ คือ เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพราะไทยเหมือนอยู่ตรงกลาง จะสู้กับฟิลิปปินส์เรื่องแรงานก็ไม่ได้ จะสู้กับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้เรื่องเทคโนโลยีก็ไม่ได้ ดังนั้น ตัวเลข GDP ที่เตยโตปีละ 4-5% จากนี้ไปจะไม่ได้เห็นแล้ว เป็น new normal
ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2559 คาดเดายาก และเวลาจะดูว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือไม่ แต่ละภาคจะไปไม่พร้อมกันหมด เพราะได้ยาไม่เท่ากัน บางอันได้ยามากหน่อย บางอันได้ยาน้อยหน่อย แต่ภาคที่น่าจะไปได้ดีคือ infrastructure เพราะอยู่ใกล้ยา อีกภาคคือ tourist ที่ได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทด้วย แต่ก็มีหลายภาคที่น่าจะซบเซา
“ผมคิดว่าปีหน้าน่าจะเป็น d-day ได้เหมือนกัน เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องมีความชัดเจนเรื่องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังจากเลื่อนมา 24 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะมีความชัดเจนว่าชะลอตัวจริงหรือไม่”
ส่วนข้อได้เปรียบ ไทยส่งออกไปจีนไม่เยอะเท่าประเทศอื่นๆ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ตนจึงไม่คิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดวิกฤติ อาจจะ “โตช้าลงแต่ปลอดภัย” ประเทศที่น่าจะเจอวิกฤติจริงๆ คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่น่าจะเติบโตสดใสคือ ฟิลิปปินส์ ที่ไม่ใช่คนป่วยแห่งเอเชียอีกแล้ว หลังประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ทำให้คนที่ไม่เคยกล้าไปลงทุนก็กลับเข้าไปลงทุน
สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองนั้น จริงๆ นักลงทุนเวลาดีลกับปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนไม่ได้มีแต่ไทยประเทศเดียว ประเทศอื่นๆ ก็มีเหมือนกับเรา สิ่งที่เขาดูคือความไม่มั่นคงทางการเมืองเชื่อมโยงกับความไม่มั่นคงทางนโยบายแห่งชาติ เหมือนในปี 2557 ที่นโยบายไม่ต่อเนื่องจึงกระทบต่อเศรษฐกิจ ทุกคนจึง “รอดู” พร้อมๆ กับเศรษฐกิจจึงซบเซา
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่บ้านเราเจอเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลกี่ครั้งก็ยังจะเจอปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้น ไม่ว่าแต่ละรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรก็จะไม่ได้ผล เหมือนคนสุขภาพไม่ดีจะให้ยากระตุ้นเฉยๆ คงไม่ได้แล้ว ต้องไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
นักวิเคราะห์มักจะบอกว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ ที่บอกว่าตัวเลข GDP ดีขึ้น ลองไปถามคนทั่วไปดูว่ารู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ เพราะรายได้ครัวเรือนไม่ได้โตขึ้นมากนัก ทุกคนเลยรู้สึกว่ามันยังฝืด เพราะสภาพคล่องและการค้าขายยังไม่ได้ดีขนาดนั้น และที่มองกันว่าการส่งออกไทยจะฟื้น ผมเห็นต่างว่าการค้าโลกคงยังไม่ฟื้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงใหญ่ที่สุดเวลานี้คือเศรษฐกิจจีน ที่หากทรุดลงไปจะกระทบกับ commodity ทั่วโลก
หากถามตนว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ก็คงต้องย้อนกลับไปคุยเรื่องการปรับตัว แม้จะเป็นข้อเสนอที่ไม่ใหม่ แต่เป็นข้อเท็จจริง สิ่งที่ตนห่วงก็คือเศรษฐกิจไทยจะ “โตแบบแผ่วๆ” คือตัวเลข GDP โต 2-3% ไปนานๆ เหมือนฟิลิปปินส์ในอดีต แล้วพอไม่วิกฤติจริงๆ เราก็เลยไม่ยอมลงมือแก้ไขปัญหาเสียที
ทั้งนี้ เมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เริ่มต้นปลายปีนี้ ตนอยากเสนอให้ไทยทำตัวเป็นญี่ปุ่นสำหรับกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพราะปัญหาไทยเวลานี้เหมือนกับญี่ปุ่นสมัยก่อน คือประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งญี่ปุ่นก็แก้ปัญหาด้วยการกระจายการลงทุนไปในภูมิภาค
“ส่วนเรื่องการเมือง เมื่อไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่มี scenario ชัดเจน ดังนั้น ความแน่นอนเดียวจึงเป็นความไม่แน่นอน ซึ่งย่อมกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนแน่” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายปรเมธี วิมลศิริ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ ขอใช้สามคำคือ “ฟื้น ต่อ เนื่อง” จากตัวเลข GDP ของปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 0.9% มาปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 3.0% และคาดว่าปี 2559 น่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมาสนับสนุน ทั้งการท่องเที่ยวที่ปีนี้มีถึง 30 ล้านคน และปีหน้าตั้งเป้าไว้ 32.5 ล้านคน การลงทุนภาครัฐที่ส่วนใหญ่จะเริ่มออกในปีหน้า รวมถึงการส่งออกที่เริ่มติดลบลดลง นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตแบบซึมๆ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ปรากฏว่าเขาแย่กว่าเรา นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่หลายคนมองข้าม คือการที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 30%
ส่วนที่บอกว่านักลงทุนรอดู ความจริงก็มีทั้งรอและไม่รอ เห็นได้จากตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้ลงทุนจริงไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท ขณะนี้รัฐบาลก็พยายามสร้างโอกาสลงทุนได้มากขึ้น ทั้งในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษและ cluster ต่างๆ ซึ่งการลงทุนในขณะนี้ถือเป็นโอกาสเพราะลงทุนในช่วงที่ของยังไม่แพง
“ในปีหน้างานของ สศช. คงจะหนักมากยิ่งขึ้น เพราะหน้าที่หลักคือทำอย่างไรให้ไทยยังน่าสนใจที่จะมาลงทุน เรามี story อยู่แล้ว ทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นได้จริง”