ThaiPublica > เกาะกระแส > 7 ปัจจัย ภายนอก-ภายใน ทำเศรษฐกิจไทย “ไม่เหมือนเดิม” เอกชนเดินนำ เลิกหวังพึ่งรัฐ ดึง SMEs ร่วมเสริมพลัง

7 ปัจจัย ภายนอก-ภายใน ทำเศรษฐกิจไทย “ไม่เหมือนเดิม” เอกชนเดินนำ เลิกหวังพึ่งรัฐ ดึง SMEs ร่วมเสริมพลัง

29 ตุลาคม 2015


สัมมนาThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2 "ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป : โลกเปลี่ยน เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน?" วันที่ 28  ตุลาคม 2558
สัมมนาThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2 “ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป : โลกเปลี่ยน เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน?” วันที่ 28 ตุลาคม 2558

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้จัดงานเสวนาเนื่องโอกาสครบรอบ 5 ปีสำนักข่าว ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป: โลกเปลี่ยน…เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน?” โดยมีวิทยากร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)และ ประธานสมาคมธนาคารไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอ๊ดไวเซอร์ จำกัด นายปพนธ์ มังคละธนะกุล เจ้าของบริษัทล้มยักษ์ จำกัด และนายภิญโญ ไตรสุริยาธรรมา บรรณาธิการ สำนักพิมพ์openbooks ผู้ดำเนินรายการ

7 ปัจจัย ภายนอก-ภายใน ทำเมืองไทยไม่เหมือนเดิม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจากปัจจัยภายนอก 3 ข้อ คือ 1. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น 2. กติกาโลกที่เครื่องมือในการจำกัดการค้าไม่ได้มีแค่ภาษีเท่านั้น เช่น กรณีประมงหรือค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และจะมีมามากขึ้นเรื่อยๆ 3. การเมืองระหว่างประเทศ ที่เคยหวังว่าหลังสงครามเย็นทุกประเทศจะรวมเป็นหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับมีเรื่องก่อการร้ายและการขึ้นมาของขั้วอำนาจใหม่ และปัจจัยภายใน อีก 4 ข้อ คือ 1. โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แต่เรายังอยู่ในภาพจำเก่าๆ ทั้งพึ่งพาแรงงานราคาถูก และคิดว่าภาคเกษตรของเราใหญ่มาก ทั้งที่จริงๆ มีมูลค่าแค่ 10% ของ GDP ไม่รวมถึงธุรกิจสีเทา ที่เมื่อมีการกวาดล้างก็กระทบกับเงินที่ไหลเวียนในระบบจริงๆ 2. เรากำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุใน 15-20 ปีข้างหน้า 3. เราจะก้าวไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น และ 4. พฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ

“ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ทั้งภาคเอกชน เพื่อความอยู่รอดและการแข่งขัน และภาครัฐ เรื่องการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนของรัฐ รอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง หลายคนพูดว่าที่เศรษฐกิจยังวิ่งได้เพราะเอกชน แต่เรายังไปคาดหวังให้รัฐเป็นตัวนำ ซึ่งไม่ใช่แล้ว แน่นอนว่ารัฐยังมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ใช่ในแบบเดิม เช่น ด้านการเกษตร ที่รัฐควรจะเป็นตัวกระตุ้นให้เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต โดยไม่ต้องรอฟ้าฝนอีกต่อไป หรือด้านอุตสาหกรรมที่ต้องเพิ่มทักษะของแรงงานให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่หลายคนไม่ยอมรับ นั่งคือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมาก ลองคิดว่าวันไหนเขากลับประเทศหมดจะอยู่อย่างไร ที่สำคัญ เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานในองค์กรขนาดใหญ่แล้ว รวมถึงไม่อยากมีลูกแล้ว นี่คือโจทก์ ต้องมาพูดคุยกัน

กระตุ้นสังคมบี้การเมืองคุยเรื่องนโยบายมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับประเด็นข้างต้น ไม่มีเรื่องใดเลยที่ทำแล้วจบทันที ทุกอย่างต้องทำต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ตนตั้งคำถามคือเราได้อะไรจากการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผ่านมาบ้าง คำตอบคือน้อยมาก ตนจึงไม่หวังกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด แต่โครงสร้างในปัจจุบันไม่เอื้อให้เกิดเรื่องเช่นนั้น ซึ่งตนไม่โทษผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบัน แต่อยากสะท้อนว่าต่อให้เขียนกฎหมายให้รัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งให้ต้องสานต่อการปฏิรูปของรัฐบาลชุดนี้ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ หากไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากพอ

ทั้งนี้ หากสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ต่อให้มีปัญหาอะไรเข้ามา ตนจะไม่ห่วงเลย แต่ทุกวันนี้เหมือนกับหยุดเรียนรู้ คิดว่าที่รู้มาพอแล้ว ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมไปถึงเรื่องระบบการศึกษา ที่ควรจะเปลี่ยนวิธีสอนจากให้ความรู้ ไปสู่การให้วิธีการสังเคราะห์ข้อมูล เพราะยุคนี้บางทีเด็กรู้มากกว่าครู ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งข้อมูล แต่มีปัญหาเรื่องการหาข้อมูลมาแย้งกับสิ่งที่เชื่อ มีแต่หาข้อมูลมายืนยันสิ่งที่เชื่อ แล้วนำไปเป็นอาวุธตอบโต้กับฝ่ายตรงข้าม ทำให้ยากที่จะเกิดความปรองดอง

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงบทบาทของฝ่ายการเมืองว่า ยอมรับว่ามีคนที่เห็นปัญหาและอยากให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง แต่น่าจะเป็นกลุ่มน้อย เพราะยังมีคนที่ได้ประโยชน์จากการไม่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์การเมืองช่วงเวลาที่ผ่านมา พาประเทศไปห่างจากเรื่องนโยบายสาธารณะมากขึ้น ไปคิดแค่เรื่องการตลาด ทำอย่างไรให้ขายได้ จึงอยากให้สังคมช่วยกันหันมากดดันให้คุยเรื่องนโยบายสาธารณะอีกครั้ง

“นักการเมืองสถาปนาตัวเองไม่ได้ ประชาชนจะต้องเลือกเข้ามา สังคมจึงควรจะเป็นตัวกำหนดให้นักการเมืองกลับไปคุยเรื่องนโยบายสาธารณะกันอีกครั้ง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เอกชนต้องนำการเปลี่ยนแปลง – คืนกำไรสังคม

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในยุคปัจจุบันคือเรื่องพฤติกรรม ที่เปลี่ยนจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัล ยกตัวอย่าง ตนไม่ได้ดูข่าวจากโทรทัศน์อีกแล้ว ธนาคารเองก็ต้องเปลี่ยนไปทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตลูกค้าจะมีพลังเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่รัฐจะมีพลังในการกีดกันการค้า เห็นได้จากกรณีร้านแม็คโดนัลด์ในสหรัฐฯ ต้องประกาศว่าไม่ได้ซื้อปลาจากเรือประมงไทย เพราะกลัวถูกลูกค้าบอยคอต

สิ่งที่สมาคมธนาคารไทยจะต้องทำนับจากนี้ 1. เปลี่ยนวิธีการชำระเงินไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะระหว่างบริษัท-บริษัท, บริษัท-ลูกค้า ,ลูกค้า-ลูกค้า ถ้าเราลดการใช้เงินสดหรือเช็ค จะช่วยประหยัดได้ราว 100,000 ล้านบาท/ปี คิดเป็น 1% ของ GDP 2. ทำให้การเข้าถึงระบบธนาคารทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น จากที่ปัจจุบัน ถ้าเป็นเรื่องเงินฝากทำได้ 80% แต่ถ้าเรื่องเครดิตยังทำได้ 30% ทำให้ที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs หันไปหาแหล่งเงินทุนนอกระบบ 3. ลูกค้าจะมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาวิธีดูแลลูกค้าให้มากขึ้น 4. AEC ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นทั้งโอกาสทั้งความเสี่ยง ต้องหาวิธีการรับมือ และ 5. กฎหมายหลายฉบับปัจจุบันยังไม่รองรับการประกอบธุรกิจ เช่น กฎหมายหลักประกันธุรกิจที่จะทำให้ SMEs เข้าถึงบริการต่างๆ ของธนาคารมากขึ้นก็เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก สนช. โดยจะมีผลบังคับใช้กลางปี 2559

“เราต้องมุ่งไปสู่ดิจิทัล เพราะถ้ายังทำแบบแอนะล็อก ก็แข่งกับใครเขาไม่ได้ แล้วกว่าที่ประเทศไทยจะหลุดจากกับดักปานกลาง ซึ่งต้องทำให้ GDP เติบโตเฉลี่ยปีละ 7% อาจต้องรอไปชาติหน้า”

นายบุญทักษ์ยังกล่าวถึงบทบาทของรัฐในกิจการธนาคารว่า อยากให้รัฐเป็นแค่ regulator แค่คอยกำกับดูแล ส่วนธนาคารเป็น operator เพราะเอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ปัญหาของเอกชนคือยังมีแนวคิดเรื่องการทำเพื่อชุมชนไม่เพียงพอ ธนาคารจะเน้นแค่ทำกำไรไม่ได้ ต้องคำนึงถึงส่วนอื่นด้วย โดยสมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พยายามหาวิธีคืนกำไรให้สังคม สิ่งเหล่านี้จะแตกต่างจากก่อนปี 2540 ที่คิดแต่การทำกำไรเท่านั้น ลูกค้าที่ดีเราต้องไปหา คนที่มาธนาคารแล้วยกมือไหว้จะถูกมองเป็นลูกค้าที่ไม่ดี

อีกปัญหาใหญ่ของธนาคารไทยปัจจุบัน อยู่ที่ยังทำงานเป็นแอนะล็อกไม่ใช่ดิจิทัล เวลามีปัญหาก็ต้องเรียกทุกฝ่ายมาประชุม คุยกัน 2-3 รอบก็ยังไม่รู้เรื่อง พอจะรู้เรื่องก็เปลี่ยนผู้รับผิดชอบอีก แต่พอเป็นดิจิทัล ที่เคยต้องใช้เวลาแก้ไข 1 ปี ก็ลดลงเหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเราเป็นคนนำการเปลี่ยนแปลงเสียเอง ก็จะสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้คนอื่นนำการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายเราจะถูกลากให้เปลี่ยนตามในสิ่งที่เราอาจไม่ต้องการ” นายบุญทักษ์กล่าว

เลิกหวังพึ่งรัฐ – เปลี่ยนบทบาท “เศรษฐศาสตร์บริกร”

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด กล่าวว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับคนไข้ดื้อยา ซึ่งเท่าที่ตนเคยไปพูดหลายเวที ประเด็นก็มักจะซ้ำๆ คือให้เปลี่ยนจากแข่งขันด้านปริมาณไปเป็นด้านคุณภาพแทน แต่คำถามก็คือแล้วทำไมสิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเรามัวแต่ไปรอให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากเป็นเมื่อ 30-40 ปีก่อนที่คนเก่งๆ อยู่กับรัฐก็อาจจะทำได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว รัฐมีศักยภาพจำกัด ดังนั้น เอกชนต้องหันมาพึ่งตัวเอง อะไรที่เอกชนทำได้ก็ทำไปเลย

“โลกเปลี่ยน หวังพึ่งรัฐไม่ได้แล้ว ต้องเปิดรับต่างชาติเข้ามา ต้องเปลี่ยนวิธีการผลิต จากการเป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ มีคนเสนอว่า เมื่อเปิด AEC ไทยควรจะทำเป็นเหมือนญี่ปุ่นของ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) คืออะไรที่ต้นทุนต่ำก็ให้ไปลงทุนในเพื่อนบ้านแทน เหมือนที่ญี่ปุ่นมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนในบ้านเรา”

นายเศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงบทบาทนักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีบทบาทมากในการกำหนดนโยบาย เพราะมักเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจคิดมาอยู่ก่อน แล้วให้นักเศรษฐศาสตร์หาข้อมูลมาสนับสนุน think tank ของไทยยังไม่เหมือนในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่เก่งเรื่องการคาดการณ์ แต่บางคนเวลาเจอไมโครโฟนมาถามว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตเท่าไรก็ตอบไป ทั้งที่บทบาทจริงๆ ควรจะมาศึกษาหาข้อมูลน่าจะดีกว่า ที่สำคัญนักเศรษฐศาสตร์ของไทยไม่ค่อยถูกตรวจสอบมาก เวลาไปขึ้นเวทีแล้วพูดอะไรไม่เข้าท่าก็มักไม่ถูกซักหรือถูกโต้แย้ง แต่มักปล่อยให้พูดไป ดังนั้น การควบคุมคุณภาพ (Quality Control: QC) จึงไม่เกิดขึ้น

“เวลามีปัญหาเศรษฐกิจ มักมีความเชื่อกันว่าให้นักเศรษฐศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ไข ลักษณะเหมือน top down ซึ่งอันที่จริงไม่มีใครจะรู้หมด และปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีแต่มิติเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ยังมีมติอื่นๆ ด้วย นักเศรษฐศาสตร์จึงถูกล้างสมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญไปด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่จริง” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

SMEs ต้องร่วมทำงานเสริมความเข้มแข็งกันและกัน

นายปพนธ์ มังคละธนะกุล เจ้าของบริษัท ล้มยักษ์ จำกัด กล่าวว่า ในอดีตเคยมีคนพูดว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเสือ แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว เราไม่ได้ปรับตัวให้เท่าทันเพื่อนบ้าน เราหยุดพัฒนาเชิงโครงสร้างมากว่า 10 ปีแล้ว เปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เราสู้เขาไม่ได้ทั้งเครื่องมือและตัวผู้เล่น ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนใน 2 ส่วน

1. เครื่องมือ ปัจจุบัน SMEs ราว 2.5 ล้านรายในประเทศ เข้าถึงแหล่งทุนเพียง 5 แสนรายเท่านั้น ที่เหลือต้องไปพึ่งแหล่งทุนนอกระบบ จึงต้องหาวิธีให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น เรื่อง venture capital ก็พูดกันมา 20-30 ปีแล้ว สิ่งที่ ครม. เพิ่งอนุมัติไปถือว่ามาถูกทางแต่ต้องเร่งให้เกิดขึ้น ถ้ามีเครื่องมือให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น จะทำให้คนมาลงทุนฝ่ายขึ้น

2. เมื่อมีเครื่องมือแล้ว ตัวผู้เล่นก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติจากที่เน้นปริมาณอย่างเดียว ต้องไปเน้นเรื่องคุณภาพด้วย

นายปพนธ์ยังกล่าวว่า สำหรับเรื่องนวัตกรรม จริงๆ เมืองไทยไม่ได้มีงานวิจัยน้อย แต่ที่ทำมาไม่ได้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ เหมือนโครงการจากหิ้งสู่ห้างของ สวทช. ทำวิจัยแล้วรอให้มีคนไปหยิบมาขาย มันไม่ใช่ ความจริงเอกชนกับนักวิจัยต้องทำงานร่วมกัน ดูว่าความต้องการคืออะไร แล้วรัฐก็ไปทำให้สิ่งแวดล้อมเอื้อที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อไปดูโครงสร้างการทำงาน SMEs จริงๆ ก็คือการย่อส่วนจากองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งที่ SMEs ส่วนใหญ่เก่งเพียงแค่ 1-2 อย่างเท่านั้น จึงควรจะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ทำเฉพาะที่ถนัด เรื่องอื่นไปจ้างคนอื่นทำ เหมือนในประเทศไต้หวัน ที่สมัยหนึ่งเป็นผู้ส่งออกจักรยานหมายเลข 1 ของโลกในเชิงปริมาณ แต่เมื่อจีนขึ้นมาก็เสียส่วนแบ่งการตลาดไป สุดท้ายบริษัทผู้ผลิตจักรยาน 2-3 เจ้าใหญ่ในประเทศต้องมาจับมือร่วมงานกัน ให้กระบวนการผลิตต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนถูก สร้างองค์ความรู้ตลอด supply chain ใหม่หมด แล้วก็ไปสร้างนวัตกรรมเน้นตลาดจักรยานระดับพรีเมียม จนปัจจุบัน ประเทศไต้หวันกลายมาเป็นผู้ส่งออกจักรยานหมายเลข 1 ของโลกในเชิงมูลค่า คือปริมาณไม่มากแล้ว แต่มูลค่ามากขึ้น

“นี่คือวิวัฒนาการที่เราควรเดินตาม เอกชนเดินนำ ส่วนรัฐแค่สนับสนุน” นายปพนธ์กล่าว

(ฉบับเต็มกำลังดำเนินการ)