ThaiPublica > เกาะกระแส > เฟสสองทีมเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เดินหน้า 4 ภารกิจหลัก ชะลอกระตุ้น – ลงมือปฏิรูป “ห้ามท้อ ห้ามฝ่อ ทำต่อเนื่อง”

เฟสสองทีมเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เดินหน้า 4 ภารกิจหลัก ชะลอกระตุ้น – ลงมือปฏิรูป “ห้ามท้อ ห้ามฝ่อ ทำต่อเนื่อง”

15 ตุลาคม 2015


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงาน “Post Forum 2015 ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย พูดคุยกับทีมเศรษฐกิจใหม่” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและทิศทางของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายสมคิดกล่าวว่า วันแรกที่ตนเข้ามาทำงาน จำได้ไปให้ข่าวว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เพียงแต่เผชิญความท้าทาย 2 ประการที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ 1. ความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และ 2. ภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องที่สองมีความสำคัญกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับ “ความสามารถเชิงแข่งขัน” ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่ค่อยๆ เสื่อมถอยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น สิ่งที่เราเคยคิดว่าได้เปรียบ ก็สูญเสียความได้เปรียบไป หลายอย่างเริ่มไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกภายนอก ถ้าเราไม่เร่งแก้ไขในวันนี้ วันข้างหน้าจะยิ่งถดถอยกว่านี้ และต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นคืน

ถ้าท่านสังเกตให้ดี ในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา สิ่งที่ผมเข้าไปทำคือเข้าไปชะลอการทรุดตัวลงของภาวะเศรษฐกิจ เห็นได้จากมาตรการหลายๆ ชุดที่ออกมาเพื่อเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ โดยพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อย ไปสู่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก มีการเข้าไปกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ออกมาตรการมาอีกชุดว่าด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะเราถือว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถ้าซบเซาขึ้นมาก็จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ เราจึงต้องประคับประคองให้มันอยู่ได้ เป็นตัวค้ำจุนอีกหลายธุรกิจที่จะตามมา นั่นคือสิ่งที่เราทำในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่เราก็ทำไปพร้อมกับวางพื้นฐานปูทางไว้สำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะสิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความต้องการอย่างสูง ก็คือจะใช้เวลาของรัฐบาลอีก 1 ปีเศษที่มี มุ่งไปที่การแก้ปัญหาฐานรากของประเทศจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ

“ผมจึงอยากเรียนว่า จากนี้ไป ท่านจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่ออกมาในขณะนี้น่าจะเพียงพอต่อการทำให้เศรษฐกิจของเราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจจะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น และสิ่งที่ทำในช่วงเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา ไม่มีเจตนาในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) โตสวนกระแสโลก เราเพียงแค่ต้องการยับยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจ เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็ควรรอดูประเมินผลก่อนว่า จะใช้มาตรการอะไรต่อไปและแค่ไหน”

นายสมคิดกล่าวว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป เราจะให้น้ำหนักกับ “งานปฏิรูป” เป็นสำคัญ งานปฏิรูปที่ผมพูดมาหลายปีแล้วว่า ถ้าไม่ทำ อนาคตของเราก็จะลำบาก ถามว่ามีภารกิจอะไรบ้าง ผมอยากจะสรุปง่ายๆ ว่ามี 4 กลุ่มงานใหญ่ ที่อยากจะเห็น อยากจะทำ

1. ต่อจากวันนี้ ต้องพัฒนาอย่างสมดุล หันมองชนบท

ต้องปรับโครงสร้างการเติบโตของเมืองไทยให้มีความสมดุลมากขึ้นกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราเติบโตจากการส่งออกเป็นพื้นฐาน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา แล้วก็ enjoy กับส่วนต่างเพียงเล็กน้อย โดยละเลยที่จะเข้าไปดูแลภาคอื่นๆ ที่เป็นรากฐานของประเทศ

ผมเคยเปรียบเทียบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกับคนที่เป็นโปลิโอ ขาข้างหนึ่งแข็งแรง คือการส่งออก ส่วนใหญ่คือนักลงทุน แต่ขาอีกข้างเต็มไปด้วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกร กลับอ่อนแอ ยากจน ไม่ได้รับการพัฒนา ประเทศไทยพอก้าวออกไปจาก กทม. ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นประเทศที่ยากจนอย่างยิ่ง แล้วเราก็ไปหลงคารมต่างชาติว่าเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง มันปานกลางตรงไหน ลองไปดูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมันปานกลางอย่างไร แต่ถ้าคิดเป็นค่าเฉลี่ยออกมา เราปานกลางแน่นอน

สิ่งที่ตั้งใจก็คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการเติบโตจากภายใน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลิกส่งเสริมการส่งออก อันนั้นต้องทำแน่นอน แต่น้ำหนักของนโยบายต้องหันมาทางนี้ให้มากขึ้น ตัวตั้งจะไม่ได้อยู่ที่งานของแต่ละกระทรวง แต่อยู่ที่พื้นที่ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ฉะนั้น นโยบายทุกนโยบายที่รัฐบาลจะออกมาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะต้องมองไปที่ภาคเหล่านี้

เพราะเรามีเกษตรกรและครอบครัวมากกว่า 30 ล้านคน แต่คนกลุ่มนี้กลับได้ส่วนแบ่งแค่ 10% ของ GDP หรือน้อยกว่า แล้วประเทศจะพัฒนาได้อย่างไรถ้าตรงนี้ไม่ถูกยกระดับขึ้นมา อำนาจซื้อในประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่ในสภาพที่ยากจนข้นแค้น

เส้นทางของนโยบายจะเริ่มมองไปที่พื้นที่ ทั้งเรื่องการผลิต แปรรูป ท่องเที่ยว สาธารณสุข การศึกษา รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเดิมจะไล่จากส่วนกลางลงไป แต่ต่อจากนี้นะต้องหันไปที่พื้นที่เป็นหลัก เส้นทางของการหันไปทางนั้นทำได้ 2 แบบ คือ แบบปกติ traditional คือกระทรวงลงไปที่จังหวัด แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมกับภาคเอกชน-ประชาชน เรียกง่ายๆ คือใช้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกจังหวัดจะมีโครงการพัฒนาของตัวเอง นี่คือเส้นทางที่เคยมีมาแต่เดิม และถูกใช้ประโยชน์ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และ 2. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเป็นแนวดิ่งเพียงอย่างเดียว ต้องมีการขับเคลื่อนในแนวราบด้วย โดยใช้ภาคประชาชนและเครือข่าย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้รวมกลุ่มกันช่วยทำให้เกิดการผลิต แปรรูป สร้างมูลค่าในสินค้าที่ผลิตให้ได้ ทำอย่างไรจะสร้างการท่องเที่ยวท้องถิ่นขึ้นมา ไม่ใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็เที่ยวแต่ กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย

ด้วยนโยบายที่ทิ้งน้ำหนักให้กับท้องถิ่นมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ก็คือสิ่งที่นายกฯ เรียกว่า “ประชารัฐ” ท่านจะเห็นภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนที่มีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากเราทำกันอย่างจริงจัง มีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ ผมเชื่อว่าเม็ดเงินและความพยายามเหล่านี้จะสามารถสร้างความเจริญในชนบทได้

2. ต่อจากวันนี้ เลิกขายของถูก สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า

แปรสภาพจากที่เน้นความถูก ต้นทุนต่ำ เน้นปริมาณ ไปสู่สิ่งที่เรียกว่าผลิตภาพการผลิต สู่นวัตกรรม สู่การเพิ่มคุณค่าของสินค้า ผู้ผลิตไทยยอมรับว่า enjoy กับการผลิตสินค้าง่ายๆ รับจ้างทำของ แต่ไม่เน้นการเพิ่มค่าตัวเอง เมื่อเป็นแบบนี้นานวันเข้าก็แข่งไม่ได้ สินค้าเราคุณภาพสูงไม่พอที่จะแข่งกับชาวโลก ฉะนั้น ต่อจากนี้ไปจะต้องเน้นตรงนี้

ผลิตภาพเป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องใหญ่ ในอนาคตเราจะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศลงทุนในสิ่งที่เพิ่มความสามารถในการผลิต ในเชิงนวัตกรรม ไม่ใช่ลงทุนเพียงเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต มันแปลกแต่จริง ที่ผ่านมาเรามีสิ่งจูงใจให้นักลงทุนเพิ่มนวัตกรรม เพิ่มเทคโนโลยี เพื่อให้แข่งขันกับโลกภายนอกได้ แต่ในความจริงมีน้อยรายมากที่สนใจเรื่องนี้ มองว่าผลิตภาพ การวิจัย เป็นสิ่งไม่จำเป็น รอให้ค่าเงินอ่อนจะได้แข่งขันส่งออกได้ แต่ค่าเงินวันนี้ก็ลงไปถึง 36-37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สินค้าไทยยังมองไม่ออกเลยว่าจะไปส่งออกให้ดีวันดีคืนได้อย่างไร

ในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) จะเริ่มเน้นในสิ่งเหล่านี้ กิจกรรมที่เป็นขาลง sunset industry เราจะเลิกให้การสนับสนุน พูดง่ายๆ คือเป็นการดันให้ภาคเอกชนไทยหันมาเอาจริงเอาจังกับการลงทุนเพื่อยกระดับตัวเอง

เรื่องนวัตกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ (1) มีแนวคิด-มีไอเดีย (2) นำไอเดียนั้นไปใช้ให้มีผลเชิงการผลิต เอามาขายได้ และ (3) ประยุกต์นวัตกรรมนั้นสู่ภาคอื่นๆ ทั้งเกษตร สังคม การศึกษา ฯลฯ เรามีองคาพยพพร้อมมูล เรามีองค์กรต่างๆ พร้อมมูล แต่ที่ผ่านมามันไม่เดินเลย ทั้งที่มีคณะกรรมการเต็มไปหมด หลังจากนี้จะได้เห็นการรวมกลุ่มโดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแม่งาน กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ สถาบันการษึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสิ่งใหม่ๆ จะร่วมกับขับเคลื่อนตั้งแต่ไอเดียออกมาจนขายได้ สร้างบริษัทใหม่ สร้าง startup และช่วยให้เขาค้าขายได้

“ทุกอย่างอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว 10 ปีที่ผ่านมา ผมว่างเว้นจากการเมือง ก็ได้เห็นและเข้าใจ ก็มีโอกาสนี้เท่านั้นที่จะทำได้ เราต้องการให้สิ่งเหล่านี้ออกมา ให้นวัตกรรมเป็นตัวนำการแข่งขัน นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อผลประโยชน์เชิงการค้า ให้เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ผลิตจากเมืองไทย”

และไม่เพียงเปลี่ยนการเน้นปริมาณไปสู่การเน้นเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตไทย จากที่เคยขับเคลื่อนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ มาเป็นขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการจำนวนมาก สร้าง SME สร้าง startup ปลูกเป็นป่าขึ้นมา ให้ต้นไม้เหล่านี้เป็นแหล่งสร้างงานในอนาคต ไม่ใช่ว่ากระจุกตัวอยู่กับบริษัทใหญ่ไม่เกิน 50 บริษัท เรามีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่านสูงมาก ทำอย่างไรให้ startup เกิดขึ้นมาให้มากมาย

ขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภาคอุตสาหกรรม และอีกหลายธนาคาร กำลังเน้นที่ตัวนี้ เราจะพยายามรวบรวมพลังตั้งแต่เรื่องเงินทุน เรื่องการร่วมทุน venture capital ทำให้เขาเป็นบริษัท หาตลาดค้าขายให้เขา นี่คือสิ่งที่จะสร้างฐานการจ้ายงาน SME 1 แห่ง มีการจ้างงานอย่างน้อย 5 คน ถ้าปลูกป่า SME ป่า startup ได้ อนาคตเราจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากมาย

3. ต่อจากวันนี้ สร้าง cluster ชูท่องเที่ยว เชื่อมโยงอาเซียน

เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ คือ เรื่องการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) อุตสาหกรรมของเรานั้น ถ้าหากจะให้มีนวัตกรรมแข่งขันกับโลกข้างนอกได้ ถ้าหากเราต้องการ s-curve ตัวใหม่ขึ้นมาแทนที่ตัวเก่าที่ผ่านมา ระบบ cluster เป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุน ถ้าท่านติดตามข่าวที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติไปแล้วว่าเราจะมี cluster ที่มีสินค้าที่เน้นมูลค่าสูง มีนวัตกรรมสูง จัดเป็นระบบ super cluster ขึ้นมา มีสิ่งจูงใจต่างประเทศ ซึ่งไม่แพ้สิงคโปร์แน่นอน เราจะมี cluster สำหรับเกษตรแปรรูปและอื่นๆ

สิ่งที่ให้ BOI ทำอยู่ขณะนี้ ผมต้องการเห็นนโยบายจูงใจให้เกิดการลงทุนเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวท้องถิ่น ไม่ใช่วันๆ เราไปเชิญชวนเขาเข้ามา แต่ไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน จึงต้องมีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่นที่ไม่ใช่แค่การสร้างโรงแรม แต่หมายถึงการมีแหล่งท่องเที่ยวจริงๆ ที่ผุดขึ้นมา เพราะถ้าเมื่อไรที่ท่องเที่ยวโต จะเป็นตัวทำให้หลายๆ อย่างตามมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ แล้วเป็นแม่ของอุตสาหกรรมอื่นด้วยซ้ำไป เราจึงต้องเริ่มทำสิ่งนี้ตั้งแต่วันนี้

อีกเรื่องคือการย้ายการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมาเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งภาคบริการ จริงๆ แล้ว GDP ภาคบริการของไทยนั้นใหญ่มากกว่าภาคการผลิตเสียอีก แต่จุดเข้มแข้งของภาคบริการก็คือการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้ท่านจะได้เห็นว่า เราจะเร่งผลักดันการท่องเที่ยว การค้าปลีก การเงิน ฯลฯ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมเที่ยวมากกว่าทำงาน การไปเที่ยวเป็นการไปเจอวัฒนธรรมใหม่ๆ ถ้าจะให้ท่องเที่ยวเบ่งบาน มันไม่ใช่แค่ sea sand sun ทุกจังหวัดมีพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่ คนในท้องถิ่นรู้ว่ามีที่ไหน เราต้องพัฒนาให้มีเสน่ห์ขึ้นมา ผมนั่งรถยนต์จาก กทม. ไปเขาค้อ ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ไม่มีอะไรบอกเลยว่ามีที่เที่ยวอยู่ตรงไหนบ้าง แต่พอไปประเทศญี่ปุ่น ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ มีแหล่งท่องเที่ยวหมด นี่คือการพัฒนาท่องเทีย่วที่แท้จริง

อีกประการ นอกจากเรื่อง cluster แล้ว ยังมีเรื่องการเชื่อมโยง ประเทศไทยถึงจะแข่งขันกับชาวโลกได้ ซึ่งปลายปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) จะเกิด ซึ่ง AEC นั้นมีที่ตั้งของเมืองไทยเป็นศูนย์กลาง เป็น hub แต่เราจะเป็น hub ไม่ได้เลยถ้าไม่มีเรื่องการเชื่อมโยง สินค้าจากจีนลงไปสิงคโปร์ไม่ได้เมืองไทยก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องเข้าไปดูแล ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นจุดตัดเหนือ-ใต้ ออก-ตก ให้มีเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง cluster และการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการลงทุนครั้งใหญ่ ใน 4-5 ปีข้างหน้า

เรื่องของ IT ก็ใหญ่มาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดูแลอยู่ ที่ผ่านมาเจอระเบิดลูกใหญ่อย่างแนวคิดเรื่อง Single Gateway ก็พอกันที ไม่ควรคุยกันต่อไปแล้ว ไม่มีก็คือไม่มี แต่สิ่งที่เขาจะทำก็คือทำอย่างไรเป็น Digital Thailand ไม่ใช่มัวแต่พูด แต่ไม่ทำสักที

4. ต่อจากวันนี้ ดึงเอกชนร่วมลงทุน ลดภาระรัฐ พัฒนาตลาดการเงิน

สุดท้าย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เงินทั้งนั้น ฉะนั้น อีกกลุ่มงานที่สำคัญคือเรื่องเงินทุน ทำอย่างไรถึงจะลดภาระทางการเงินของเราได้ ดังนั้น จากนี้ไปเราจะใช้การร่วมทุนกับเอกชน (Public–Private Partnership: PPP) เรื่องนี้เกิดขึ้นแน่นอน ให้เอกชนเข้ามาร่วมกับเรา จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเจรจา กระทรวงการคลังและคณะทำงานกำลังดูวิธีลัดขั้นตอนเพื่อให้การพิจารณาเร็วขึ้น ไม่ใช่จะลงทุนอย่างหนึ่งต้องรอเป็นปี

เรื่อง PPP จะตามประกบกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงการคลังมีแนวคิดเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ออกมาสอดรับกับการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ให้เมื่อไรที่จะลงทุน จะต้องมีกองทุนเกิดขึ้นทันที

อีกสิ่งที่สำคัญคือระบบงบประมาณ ที่มีความซ้ำซ้อนเต็มไปหมด ผมได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณว่านับแต่นี้ไป การจัดทำงบประมาณจะมี 2 สิ่งใหญ่ คือ (1) งบประจำที่จำเป็น (2) งบที่ใช้ในเรื่องสำคัญ เช่น การพัฒนาท้องถิ่นหรือนโยบายใหญ่ๆ จะต้องมีการสร้างระบบงบประมาณแบบบูรณาการ ดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันว่างานนั้นเป็นของกระทรวงไหน แล้วแจกจ่ายงบประมาณไปตามงาน แม้อาจใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะลงตัว แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็จะประหยัดได้อย่างมหาศาล ไม่เช่นนั้นงบประมาณเราจะบิดเบี้ยวอยู่ตลอด งบการศึกษาได้อยู่ที่ปีละ 7-8 แสนล้านบาท แต่สอบ O-Net ตก แล้วงบวิทยาศาสตร์ที่เป็นงบแห่งอนาคตกลับมีแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท แล้วเราจะอยู่อย่างไรในอนาคต อันนั้นจึงต้องปฏิรูปแน่นอน บอร์ดของงบประมาณจะต้องมีคนนอกเข้าไปนั่งด้วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีคำแนะนำใหม่ๆ คิดนอกกรอบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระบบการเงิน-การคลังไทย ทั้งเรื่องภาษี ตลาดเงิน และตลาดทุน จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการระดมทุนและจัดสรรทรัพยากร ผมได้เรียนกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เดี๋ยวจะขอไปเยี่ยมท่าน จะพยายามให้ท่านรื้อกฎเกณฑ์ในตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับสากล และสะท้อนความเป็นจริงแห่งอนาคต

ส่วนเรื่องรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำลังดูแลอยู่ เพราะทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจมีขนาดเทียบเท่ากับ GDP มีรายจ่ายเพื่อการลงทุนมากกว่าไม่รู้กี่เท่าเมื่อเทียบกับรายจ่ายของรัฐบาล แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมายังไม่ดีพอ ถ้าเราสามารถทำให้รัฐวิสาหกิจเข้มแข็งได้ ก็จะหมายถึงรายได้และเงินเป็นกอบเป็นกำ

5. ต่อจากวันนี้ ต้องช่วยกัน-ห้ามท้อ

สิ่งต่างๆ ข้างต้น ผมฝันมานานแล้ว ที่มาร่วมรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่รู้ว่ามีเวลาทำแค่ไหน แต่อย่างน้อยๆ ทีมผมเข้ามาแล้ว ผมก็จะไล่จี้ทุกวัน แต่การปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่พวกผมอย่างเดียว เพราะพวกผมไม่ใช่เทวดา จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกคุณด้วย

ผมไม่อยากให้เราตื่นเต้นกับการที่บอกว่า วันนี้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น พรุ่งนี้ความมั่นใจลดลง แต่อยากให้มั่นใจในตัวเราเองว่าจะทำในสิ่งที่ควรจะทำ ถ้ามีเวลาเพียงพอ เมืองไทยจะดีขึ้นแน่นอน ที่บอกว่าเมืองไทยเป็น u-shape ผมบอกว่าถ้าทำเต็มที่ วันนี้เราจะเป็นเครื่องหมายของ Nike มันอยู่ที่เรา

ถามว่าเป็นห่วงเศรษฐกิจไหม ผมอยากพากลับไปตอนปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นหนักมากนะครับ เครียดมาก ผมจำได้ว่าเราย่ำแย่ ไม่ว่าไปที่ไหนธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ทำนายไม่มีดีสักราย บางรายบอกติดลบแน่ หนี้มันบานมากเป็นล้านล้านบาท ไม่เคยเห็นมาก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเจ๊ง คือแลดูไม่มีอะไรดีเลย แต่ผมจะเรียนให้ทราบว่า เวลาเขาทำนาย เขาดูจากตัวแปรที่มีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะไขลานตรงไหน จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ผมรู้ว่าข้างนอกกังวลมาก แต่เราก็ต้องพยายามประคับประคองจนกระทั่งมันค่อยๆ ดีขึ้น แล้วความมั่นใจก็จะเกิด

เศรษฐกิจอยู่ที่คน คนเราถ้าไม่ฝ่อ ทำธุรกิจต่อเนื่องไป แม้จะชะลอบ้าง มันก็ค่อยๆ สูงขึ้น

“วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เราก็ผ่านมาทุกคน เพราะอะไร เพราะเราไม่ท้อ ท้อไม่ได้ ต้องให้เห็นแสงสว่างแล้วเข้ามาช่วยกัน ห่วงก็ต้องห่วงอยู่แล้ว แต่เวลานี้มันยังเทียบกับปี 2540 ไม่ได้ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของเรายังแข็งแกร่ง ไม่ว่าหยิบตัวไหนก็แข็งทั้งนั้น เรามัวแต่กังวล ไม่ทำอะไรเลย ผมไปคุยกับประธานโตโยต้า เขาบอกว่าเรื่องแค่นี้สำหรับพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยถือว่าไม่มีอะไรเลย เดี๋ยวก็ดีขึ้น เราต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่มาดูตัวเองทุกวัน” นายสมคิดกล่าว