ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > พบงานวิจัยสถานศึกษาอินโดนีเซีย ระบุ “ได้ทุนจาก สสส.” NGO แจงแค่ใช้สถานที่ช่วยประสานงาน ปัดรับเงิน – เปิดรายชื่อโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุน

พบงานวิจัยสถานศึกษาอินโดนีเซีย ระบุ “ได้ทุนจาก สสส.” NGO แจงแค่ใช้สถานที่ช่วยประสานงาน ปัดรับเงิน – เปิดรายชื่อโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุน

22 ตุลาคม 2015


หน้าปกงานวิจัย ชื่อ “Indonesians’ Awareness on Smoking Health Warning and Its Impact” จัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่าได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และ สสส.
หน้าปกงานวิจัย ชื่อ “Indonesians’ Awareness on Smoking Health Warning and Its Impact” จัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่าได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และ สสส.

หลังจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถูกรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ (คตร.) ที่มี พล.อ. ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธาน รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง สสส. ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 หรือไม่ โดย คตร. ได้สรุปรายงานเสนอต่อ พล.อ. ประยุทธ์ไปบางส่วนแล้วว่า การให้ทุนสนับสนุนของ สสส. ในบางโครงการอาจผิดวัตถุประสงค์ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสุขภาพโดยตรง รวมทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทำรายงานการประเมิน สสส. รายงานนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

ล่าสุด สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ตรวจสอบงานวิจัยซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัยด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ที่ชื่อ “Indonesians’ Awareness on Smoking Health Warning and Its Impact” (ความตระหนักรู้ของชาวอินโดนีเซียต่อคำเตือนด้านสุขภาพและผลกระทบจากการสูบบุหรี่)

นางสาวบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการ SEATCA ที่มาภาพ: http://www.hfocus.org/
นางสาวบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการ SEATCA
ที่มาภาพ: http://www.hfocus.org/

โดยหน้าปกรองระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนการทำงานโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่มีชื่อว่า Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA) ยังได้รับสนับสนุนด้านการเงินจาก The Rockefeller Foundation (มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์) และ Thai Health Promotion Foundation (ThaiHealth) หรือ สสส. นำไปสู่การตั้งคำถามขึ้นว่า สสส. สามารถให้ทุนกับองค์กรต่างประเทศได้หรือไม่

นางสาวบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการ SEATCA กล่าวชี้แจงว่า งานวิจัยชิ้นนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้งบมาทำงานวิจัยเชิงวิชาการเรื่องผลกระทบการสูบบุหรี่ในอุษาคเนย์ทั้งหมด มีการจัดทำขึ้นในหลายประเทศโดยมี SEATCA เป็นผู้ประสานงานกลาง ยืนยันว่างบที่ใช้มาจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ 100% ไม่ได้มาจาก สสส. เลยแม้แต่บาทเดียว แต่สาเหตุที่ใส่ชื่อ สสส. ว่าเป็นผู้สนับสนุน เพราะขณะนั้นผู้ที่รับผิดชอบโครงการนี้ยังทำงานอยู่ใน สสส. จึงไปยืมใช้สถานที่ของ สสส. ในการประสานงาน

“ตาม mandate (ข้อบังคับ) ของ สสส. ให้ทุนกับองค์กรต่างชาติไม่ได้อยู่แล้ว เราเพียงไปยืมใช้สถานที่ในการประสานงานเท่านั้น”

สำหรับงบที่ใช้สนับสนุนทำโครงการลักษณะนี้ในอุษาคเนย์จะอยู่ที่ระหว่าง 5,000-10,000 เหรียญสหรัฐ โดยกรณีของอินโดนีเซีย เท่าที่จำได้คือได้รับทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ราว 10,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนที่บนหน้าปกงานวิจัยระบุว่า จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) น่าจะเป็นปีที่มีการเผยแพร่งานวิจัยมากกว่า เพราะงานวิจัยแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาในการจัดทำและตรวจทานนานหลายปี

นางสาวบังอรกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับคำเตือนเรื่องภัยของการสูบบุหรี่ไว้บนซอง โดยประกาศให้ใช้คำเตือนในลักษณะรูปภาพจากเดิมที่ใช้เป็นเพียงตัวอักษรเท่านั้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศในอุษาคเนย์มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือลาวและพม่า ที่ยังใช้คำเตือนแบบตัวอักษรอยู่ ที่เหลือใช้คำเตือนเป็นรูปภาพหมดแล้ว (ดูงานวิจัยฉบับเต็ม)

นอกจากนี้ จากการรวบรวมข้อมูลโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน สสส. ในช่วงที่ผ่านมามีดังนี้

ThaiHealth-1