
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพร้อมคู่ความในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 กล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อฟังคำสั่งว่าจะไต่สวนพยานเมื่อใด
ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณา ศาลฎีกาฯ แจ้งให้คู่ความทราบว่า นายศิริชัย วัฒนโยธิน ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานศาลอุทธรณ์ และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ เจ้าของสำนวนเดิมที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานศาลฎีกา ได้ขอถอนตัวจากองค์คณะผู้พิพากษา ทำให้ทั้ง 2 คนพ้นจากหน้าที่ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงเลือกนายโสภณ โรจน์อนนท์ และนายพิศล พิรุณ เป็นองค์คณะผู้พิพากษาแทน คู่ความไม่ติดใจคัดค้าน องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเลือกนายชีพ จุลมนต์ เป็นเจ้าของสำนวนแทน
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้ว อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก จากที่ยื่นขอทั้งหมด 17 ปาก กำหนดไต่สวน 5 นัด ประกอบด้วย
- วันที่ 15 มกราคม 2559
- วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559
- วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
- วันที่ 4 มีนาคม 2559
- วันที่ 23 มีนาคม 2559
และอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 42 ปาก จากที่ยื่นขอทั้งหมด 43 ปาก กำหนดไต่สวน 16 นัด ประกอบด้วย
- วันที่ 1 เมษายน 2559
- วันที่ 22 เมษายน 2559
- วันที่ 13 พฤษภาคม 2559
- วันที่ 18 พฤษภาคม 2559
- วันที่ 17 มิถุนายน 2559
- วันที่ 24 มิถุนายน 2559
- วันที่ 8 กรกฎาคม 2559
- วันที่ 22 กรกฎาคม 2559
- วันที่ 5 สิงหาคม 2559
- วันที่ 19 สิงหาคม 2559
- วันที่ 9 กันยายน 2559
- วันที่ 23 กันยายน 2559
- วันที่ 7 ตุลาคม 2559
- วันที่ 21 ตุลาคม 2559
- วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559
- วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559
โดยพยานโจทก์ที่เหลือ 3 ปาก ได้แก่ นายบรรยง อินทนา, นางสวีณา พลพืชน์ และน.ส.ศิรษา กันต์พิทยา และพยานจำเลยอีก 1 ปาก ได้แก่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ให้รอพิจารณาสั่งว่าจะไต่สวนหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานทั้งโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้น
ท้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้กำชับให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ส่งคำเบิกความพยานให้ศาลก่อนวันนัด 14 วัน และส่งประเด็นคำถามเสนอศาลก่อน 7 วัน พร้อมกำชับให้นำพยานที่จะเข้าไต่สวนมาตามนัด โดยคดีนี้ จำเลยต้องมาที่ศาลทุกนัดเพราะไม่อนุญาตให้ไต่สวนพยานลับหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากกำหนดนัดไต่สวนพยานดังกล่าว ทำให้คาดหมายได้ว่าคดีนี้ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาออกมาราวเดือนธันวาคม 2559 เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 32 กำหนดว่า หลังไต่สวนพยานเสร็จสิ้น คู่ความมีสิทธิแถลงปิดคดีในเวลาที่ศาลกำหนด จากนั้นศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาภายใน 7 วัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นสามารถเลื่อนได้แต่ต้องไม่เกิน 14 วัน
แต่ในกรณีที่จำเลยหลบหนี ศาลจะออกหมายจับและเลื่อนการอ่านพิพากษาไม่เกิน 30 วัน หากยังไม่ได้ตัวจำเลยให้อ่านคำพิพากษาลับหลัง โดยถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว
เส้นทางคดี “ยิ่งลักษณ์” ในศาลฎีกา
คดีจำนำข้าว กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เริ่มขึ้นเมื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาไต่สวน ราวปลายปี 2555 จากนั้น ป.ป.ช. ก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนมีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 และกรณีให้ดำเนินคดีอาญา ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 โดยในส่วนของคดีอาญา ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้ อสส. พิจารณา แต่ต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับ อสส. เพื่อแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์ ก่อนที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. จะมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ เมื่อต้นปี 2558
- 23 มกราคม 2558 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาฯ วันเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190:18 เสียง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
- 19 กุมภาพันธ์ 2558 คณะทำงานของ อสส. นำสำนวนคดีจำนำข้าว ที่กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
- 19 มีนาคม 2558 (วันนัดอ่านคำสั่ง) ศาลฎีกาฯ มีมติรับฟ้องคดีจำนำข้าว พร้อมตั้ง “นายวีระพล ตั้งสุวรรณ” รองประธานศาลฎีกาขณะนั้น เป็นเจ้าของสำนวน
- 19 พฤษภาคม 2558 (วันพิจารณาคดีครั้งแรก) น.ส.ยิ่งลักษณ์มาร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาฯ เป็นครั้งแรก กล่าวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝาก มูลค่า 30 ล้านบาท
- 31 สิงหาคม 2558 (วันตรวจบัญชีพยาน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง 1. ขอให้รอพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อน เพราะอยู่ในอำนาจศาลปกครองไม่ใช่ศาลฎีกาฯ และ 2. คัดค้านการเพิ่มเติมพยานบุคคลและเอกสารของ อสส. แต่ศาลฎีกาฯ มีมติยกคำร้องทั้ง 2 คำร้อง
- 29 กันยายน 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง อสส. กับพวก ต่อศาลอาญาชั้นต้น ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ ก่อน สนช. ลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง และเพิ่มเติมข้อกล่าวหารวมถึงพยานหลักฐานกว่า 60,000 แผ่น ลงไปในสำนวน
- 6 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า อสส. จงใจกลั่นแกล้งอย่างไร และการเพิ่มเติมพยานหลักฐานก็เป็นไปตามกฎหมาย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธินำพยานหลักฐานมาหักล้างได้ในการขั้นตอนไต่สวนของศาลฎีกาฯ
- 29 ตุลาคม 2558 (วันนัดฟังคำสั่งกำหนดการไต่สวนพยาน)
- 15 มกราคม 2559 (วันเริ่มต้นการไต่สวนพยานหลักฐาน) ศาลฎีกาฯ เริ่มไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ 5 นัด รวม 14 ปาก และพยานฝ่ายจำเลยอีก 16 นัด รวม 42 ปาก