ThaiPublica > เกาะกระแส > ปิดคดีทุจริตข้าวจีทูจี ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก“บุญทรง-ภูมิ-เสี่ยเปี๋ยง”-ให้ “สยามอินดิก้า”จ่ายค่าเสียหาย 1.7 หมื่นล้าน

ปิดคดีทุจริตข้าวจีทูจี ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก“บุญทรง-ภูมิ-เสี่ยเปี๋ยง”-ให้ “สยามอินดิก้า”จ่ายค่าเสียหาย 1.7 หมื่นล้าน

25 สิงหาคม 2017


นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีดำเลขที่ อม.22/2558 ระหว่างอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ถึงเวลานัดหมายปรากฏว่า ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องว่า ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าป่วยด้วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มีอาการวิงเวียนศรีษะอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาในวันนี้ โจทก์แถลงคัดค้าน ไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจริง เนื่องจากไม่มีใบรับรองแพทย์ และอาการป่วยที่อ้างไม่ถึงขนาดที่จะมาศาลไม่ได้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยเจ็บป่วยจนถึงขนาดมาศาลไม่ได้ พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกันเต็มตามสัญญา และให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษา วันที่ 27 กันยายน 2560 เวลา 9.00 น.

จากนั้นในเวลา 9.50 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม. 25/2558 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้อง นายภูมิ สาระผล ที่ 1 กับพวกรวม 21 คน จำเลย และคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2559 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวี ยโสธร ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน จำเลย ใช้เวลาอ่านประมาณ 5 ชั่วโมง ศาลฏีกาฯ พิพากษาให้จำคุก นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 36 ปี โดยไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 2 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำคุก 42 ปี โดยไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 3 พ.ต. นพ. ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (หมอโด่ง) และจำเลยที่ 16 นายสุธี เชื่อมไธสง หลบหนีคดี ศาลจึงออกหมายจับ, จำเลยที่ 4 นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ศาลฎีกา ตัดสินจำคุก 40 ปี, จำเลยที่ 5 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำคุก 32 ปี, จำเลยที่ 6 นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ จำคุก 24 ปี จำเลยที่ 14 นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง เจ้าของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด) จำคุก 48 ปี ส่วนจำเลยอื่น ศาลลงโทษจำคุกลดหลั่นตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด

นอกจากนี้ ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 และ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14 และนายนิมล รักดี พนักงานของบริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 15 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับกระทรวงการคลังเป็นจำนวนเงิน 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ ส่วนจำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน

สำหรับจำเลยที่ศาลฎีกา พิพากษาให้ยกคำฟ้อง ได้แก่ นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 จำเลยที่ 22 ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร, จำเลยที่ 23 นายทวี อาจสมรรถ, จำเลยที่ 24 บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด, จำเลยที่ 25 บริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด, จำเลยที่ 26 กรรมการบริษัท ชัยมงคลรุ่งเรืองการเกษตร จำกัด, จำเลยที่ 27 บริษัท เจียเม้ง จำกัด และจำเลยที่ 28 กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด

โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 25/2558 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึง 21 ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ และพ่อค้าข้าว ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำสัญญาขายข้าวให้แก่บริษัทกวางตุ้ง และบริษัทห่ายหนาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศเป็นการเสนอราคาซื้อขายโดยไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติ และประชาชน

โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 151, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา 2 สัญญา จำนวน 23, 598, 134, 119 บาท และปรับจำเลยที่ 2-21 ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญาทั้ง 4 สัญญา จำนวน 35,274,611,007 บาท

ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2559 โจทก์ยื่นฟ้องคดีที่ 2 (คดี อม. 1/2559) กล่าวหาว่าจำเลยที่ 22-28 ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าข้าวอีก 7 ราย สนับสนุนการกระทำความผิดในคดีแรก ศาลจึงสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี

โจทก์ได้อ้างพยานบุคคล 239 ปาก เอกสาร 383 แฟ้ม (หมาย จ.1 – จ.1041) ส่วนจำเลยทั้ง 28 อ้างพยานบุคคล 1,166 ปาก เอกสาร 105 แฟ้ม (หมาย ล.1 – ล.780)

การตรวจพยานหลักฐาน ศาลอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 27 ปาก จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 103 ปาก รวมพยานบุคคลทั้งหมด 130 ปาก กำหนดนัดไต่สวนรวม 20 นัด

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2559 มีผู้ร้องทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7-28 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,366.7 ล้านบาท และผู้ร้องทั้ง 5 คน ขอนำพยานเข้าไต่สวนอีกจำนวนหนึ่ง ศาลอนุญาตให้ไต่สวนพยานบุคคล 7 ปาก เอกสาร 1 แฟ้ม หมาย ร.1 รูปคดีจึงกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีส่วนแพ่งตามกฎหมาย คดีจึงเริ่มไต่สวนนัดแรกได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ไต่สวนพยานแล้วเสร็จนัดสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญา ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา จึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ ทั้งนี้ อาจเป็นการมอบหมายให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์สำคัญของการทำสัญญา คือต้องการระบายสินค้าออกนอกประเทศ เพื่อให้สินค้าไปตกอยู่แก่รัฐผู้ซื้อ และต้องการเงินตราต่างประเทศ โดยแนวปฏิบัติในการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐเริ่มต้นด้วยการทาบทาม การพูดคุยระดับรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ หรือการประสานงานทางการทูต หรือเป็นตัวแทนของรัฐที่เคยเป็นคู่ค้ากันมาก่อน ส่วนวิธีการซื้อขายด้วยการเจรจาระหว่างผู้แทนของแต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันราคากัน บางครั้งอาจตกลงซื้อขายในราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับการซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นจะดำเนินการโดย China National Cereals Oil and Foodstuff Import Export Corporation หรือ “COFCO” รัฐวิสาหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมถึงข้าว และแนวปฏิบัติที่ผ่านมา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเจรจาผ่าน COFCO เท่านั้น โดยประเทศไทยไม่เคยขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ภายหลังเริ่มต้นโครงการรับจำนำนข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าว กรณีขายแบบรัฐต่อรัฐให้รวมถึงการขายให้แก่รัฐวิสาหกิจด้วย และให้ใช้เกณฑ์ราคาขายแบบหน้าคลังสินค้า ซึ่งผิดไปจากแนวทางปฏิบัติในกรณีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ส่อไปในทำนองที่ว่าจัดทำยุทธศาสตร์การระบายข้าว เพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจมาทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของผู้ซื้อ

หลังจากนั้น นายภูมิได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับให้ขายข้าวแก่บริษัท กว่างตง จำกัด รัฐวิสาหกิจมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 สัญญา สัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิดในสต็อกของรัฐบาลไทย ปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด ทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นเงิน 9,717 ล้านบาท สัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5% ข้าวเหนียว 100% ข้าวหอมมะลิหัก ปีการผลิต 2554/55 ปริมาณ 2,000,000 ตัน ทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหาย 1,294 ล้านบาท

ต่อมานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแทนนายภูมิ และได้ให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ตกลงขายข้าว 5% และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ปริมาณ 1,000,000 ตัน และมีการขอแก้ไขสัญญาปรับเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5% อีก 1,300,000 ตัน รวมเป็น 2,300,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย 5,694 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบให้ทำสัญญากับ บริษัท ห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตกลงซื้อขายข้าวเหนียวเอวัน ปริมาณ 65,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 162 ล้านบาท โดยข้อตกลงตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ คือ วิธีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็ค รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อสามารถนำข้าวไปขายต่อประเทศที่ 3 เพื่อการพาณิชย์ได้ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มชนิดและปริมาณข้าวเรื่อยๆ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ภายหลังการซื้อขายทั้ง 4 ฉบับ ปรากฏว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศหลายร้อยฉบับ และรับมอบข้าวไปโดยผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนไทย จากนั้นนำมาขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือส่งออกไปประเทศอื่นกระบวนการดังกล่าวกระทำโดยนายภูมิ นายบุญทรง นายอภิชาติ (เสี่ยเปี๋ยง) และพวก ร่วมกันนำบริษัท กว่างตง จำกัด และบริษัท ห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑล มาขอซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการเอาเปรียบแก่กรมการค้าต่างประเทศ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลง รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อข้าวก็จะไม่ยอมมารับข้าวตามสัญญา แต่มาขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในราคาต่ำลงกว่าสัญญาเดิม

คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวถุงของบริษัทบริษัทเจียเม้ง

โดยเฉพาะนโยบายการระบายข้าวที่ดำเนินการโดยนายบุญทรงไม่เปิดประมูลขายข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวในท้องตลาดขาดแคลน ผู้ประกอบการค้าข้าวไม่สามารถหาซื้อข้าวในท้องตลาดได้ จำต้องไปหาซื้อข้าวจากกลุ่มบริษัทและพนักงานของนายอภิชาติ ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศที่ซื้อข้าวต่อจากนายอภิชาติกับพวกนั้น ศาลเห็นว่าเป็นการซื้อโดยไม่ทราบว่าเป็นข้าวที่มาจากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง

ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าให้จำคุกจำเลยที่ 1-21 โดยไม่รอลงอาญา ยกเว้นจำเลยที่ 3 และ 16 ซึ่งหลบหนี มีความผิดตามฟ้อง โดยให้จำคุกนายภูมิ 36 ปี, นายบุญทรง 42 ปี, นายมนัส 40 ปี, นายทิฆัมพร 32 ปี, นายอัครพงศ์ 24 ปี, นายอภิชาติ 48 ปี ส่วนจำเลยอื่น ศาลลงโทษจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำผิด และพิพากษาให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 นายอภิชาติ จำเลยที่ 14 และนายนิมล หรือโจ จำเลยที่ 15 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22-28

อ่านเพิ่มเติมซีรี่ย์ 1 ทศวรรษขายข้าวจีทูจี

อ่านแถลงข่าวศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่นี่

ป้ายคำ :