เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 คณะทำงานอัยการสูงสุด นำโดย นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานสอบสวน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13
และข้อหา เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 มาตรา 4, มาตรา 123/1 พ.ร.บ.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 มาตรา 65
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดฟังคำสั่ง 19 มี.ค. 58 – แจงขั้นตอนทำงาน
ภายหลังคณะทำงานจาก อสส. ทำการยื่นฟ้องเสร็จสิ้น นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา แถลงต่อสื่อว่า ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกากับองค์คณะอีก 3 ท่าน ได้พิจารณาคำฟ้องในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และมีนัดฟังคำสั่งเรื่องนี้ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2558
นอกจากนี้ นายธีรทัย ได้แถลงขั้นตอนการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ต่อสื่อ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และข้อกําหนดเกี่ยวกับการดําเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543
ภายในระยะเวลา 14 วัน ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ เพื่อทำการเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา จำนวน 9 ท่าน จากผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาจำนวน 170 ท่าน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยวิธีลงคะแนนลับ
หลังจากนั้น ประธานศาลฎีกาจะทำการประกาศรายชื่อขององค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันประชุมใหญ่ ซึ่งในส่วนนี้ได้เปิดช่องให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายสามารถยื่นคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกได้ ก่อนการเริ่มไต่สวนพยานหลักฐาน
ต่อจากนั้น ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาจาก 1 ใน 9 เป็น “ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน” โดยวิธีลงคะแนนลับเช่นกัน จากนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจะร่วมกันพิจารณาคำฟ้องว่าชอบด้วยกฎหมายและครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ก่อน “ประทับฟ้อง” ไว้พิจารณา โดยจะต้องทำการพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อน หรืออย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 19 มีนาคม 2558
ทั้งนี้ นายธีรทัยได้กล่าวย้ำถึงการนำตัวจำเลยมาศาลในวันยื่นฟ้อง ว่าตามข้อกฎหมายไม่ได้บังคับว่าในวันยื่นฟ้องคดีโจทย์จะต้องนำตัวจำเลยมาศาล ดังนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์จะมาศาลหรือไม่ก็ได้
“ถ้าจำเลยมาศาลในวันยื่นฟ้องก็จะเสนอให้ผู้พิพากษาในแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาพิจารณาการขังหรือปล่อยชั่วคราวต่อไป (ประกันตัว) ถ้าไม่มาศาลดังเช่นกรณีวันนี้ ขั้นตอนต่อไปจะต้องรอจนกว่าจะมีการตั้งองค์คณะผู้พิพากษา และพิจารณาประทับรับฟ้อง ซึ่งจะมีการออกสำเนาคำฟ้อง และส่งหมายเรียกให้แก่จำเลย เพื่อให้มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรกต่อไป พอถึงวันนัดต้องดูอีกครั้งว่าจำเลยจำมาศาลหรือไม่ โดยองค์คณะผู้พิพากษาจะใช้ดุลพินิจว่าจะสามารถให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่” นายธีรชัยกล่าว
หากองค์คณะมีมติประทับฟ้องไว้พิจารณา ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาครั้งแรกและส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยให้มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก เพื่อให้การ “ต่อสู้คดี” ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ เนื่องจาก หากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่มาตามนัด ศาลมีอำนาจในการออกหมายจับและสั่ง “จำหน่ายคดี” ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาล
ดั้งนั้น แม้สถานะปัจจุบันของนางสาวยิ่งลักษณ์จะถูกระบุว่าเป็น “จำเลย” ในคดีจำนำข้าว แต่หากยังไม่มาแสดงตัวต่อศาล เท่ากับว่าตัวจำเลยยัง “ไม่อยู่ในอำนาจศาล” ซึ่งหากนางสาวยิ่งลักษณ์มาแสดงตัวต่อศาลในวันพิจารณาคดีนัดแรก แล้วไม่มาให้การในชั้นศาลในครั้งต่อไป คดีจะยังคงดำเนินต่อไป และศาลสามารถทำการ “พิจารณาคดีลับหลัง” ซึ่งกรณีดังกล่าวนางสาวยิ่งลักษณ์จะเสียสิทธิในการต่อสู้คดี ส่งผลต่อการแพ้-ชนะคดีในท้ายที่สุด
ทั้งนี้นางสาวยิ่งลักษณ์มีสิทธิขอตรวจและขอคัดสําเนาเอกสารในสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ เพื่อใช้ยันกับ ป.ป.ช. ในชั้นไต่สวนพยานหลักฐาน แล้วกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานต่อไป
ในชั้นไต่สวน โจทก์และจําเลยจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ก่อนวันพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งในวันตรวจพยานหลักฐาน โจทก์และจำเลยต้องส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาล เพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ
ทั้งนี้ ศาลจะต้องดําเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปทุกวันทําการจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา โดยการทำคำสั่งที่เป็น “การวินิจฉัยชี้ขาด” หรือ “การพิพากษาคดี” ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก โดยองค์คณะอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้ และให้ทำการเปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด
อสส.ระบุตัวเลขค่าเสียหายไม่เกี่ยว “อาญา”
ภายหลังจากการแถลงของเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ด้านอัยการสูงสุด (อสส.) นำโดย นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า แม้จำเลยจะไม่ได้มาศาลในวันยื่นฟ้อง อสส. ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตามข้อกําหนดเกี่ยวกับการดําเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 ในข้อ 8 วรรค 2
นายสุรศักดิ์เปิดเผยว่า ขณะนี้ อสส. ได้ตั้งคณะทำงานทั้งหมด 6 คน ที่รับผิดชอบในการดำเนินดี “จำนำข้าว” ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยมีนายนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนตนเป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน และทีมงานอีก 4 คน สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ไปคงจะต้องรอฟังว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร ในวันที่ 19 มีนาคม 2558
ทั้งนี้ นายชุติชัยระบุว่า ตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องที่ อสส. ยื่นต่อศาลฎีกาฯ ไม่มีข้อคัดค้านการประกันตัวหรือการเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด ซึ่งระหว่างนี้หากมีการขอเดินทางออกนอกประเทศ อำนาจการพิจารณาอนุมัติหรือไม่นั้นอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากนางสาวยิ่งลักษณ์ได้มาแสดงตัวต่อศาลแล้วอำนาจการพิจารณาดังกล่าวจะเปลี่ยนมือจาก คสช. มาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
“ในส่วนของอัยการสูงสุด ตอนนี้ที่มีการเรียบเรียงคำฟ้องแล้วก็ถือว่าสมบูรณ์ครบถ้วนหมดแล้ว ร่วมกับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ส่งมาที่สำนักงาน อสส. ก่อนหน้านี้จำนวน 20 ลัง ไปเสนอที่ศาลด้วย ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับองค์คณะของศาลที่จะตรวจพิจารณา” นายชุติชัยกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนเงินความเสียหายในกรณีโครงการรับจำนำข้าวว่า ป.ป.ช. ได้รวมตัวเลขในส่วนนี้ให้ อสส. หรือไม่ นายชุติชัยกล่าวว่า ในส่วนคดีอาญา การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดผลเสียหาย อันเป็นเจตนาพิเศษที่ก่อให้เกิดผลเสียหาย ก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ข้อมูลมูลค่าความเสียหายที่ระบุไปในสำนวนฟ้องนั้นยังไม่ใช่ตัวเลขล่าสุด ซึ่งในส่วนมูลค่าความเสียหายเป็นเพียงองค์ประกอบเสริม ไม่มีผลต่อรูปคดีแต่อย่างใด
ส่วนการพิจารณานัดแรกนั้น นายสุรศักดิ์ระบุว่า หลังจากคำสั่งศาลในวันที่ 19 มีนาคม 2558 ในส่วนนี้ศาลจะเป็นผู้กำหนดวันพิจารณานัดแรก ด้าน อสส. จะต้องรอฟังคำสั่งของศาลว่าจะมีการกำหนดวันเมื่อไร แต่ตามการคาดการณ์ของตน หากวันที่ 19 มีนาคม 2558 มีการประทับฟ้องเรียบร้อยแล้ว โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนที่ศาลจะระบุวันพิจารณานัดแรกออกมา
นายสุรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ในการคัดค้านการประกันตัวของทาง อสส. เมื่อศาลเปิดช่องให้นางสาวยิ่งลักษณ์สามารถประกันตัวได้นั้น อสส. จะสามารถคัดค้านการประกันตัวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะถาม อสส. มาหรือไม่
สำหรับพยานบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนไว้มีมากกว่า 13 ราย ซึ่งศาลจะยึดสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ศาลสามารถไต่สวนพยานเพิ่มเติมนอกจากสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวิธีการพิจารณาคดีในระบบ “ไต่สวน”
ด้านนายชุติชัยกล่าวต่อไปว่า คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นดคีที่เกี่ยวโยงกับคดี “ทุจริตระบายข้าวจีทูจี” ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก ที่ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนมาให้ อสส. ดำเนินการพิจารณาส่งฟ้องแล้วในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งหากจะส่งฟ้องจะต้องทำการส่งฟ้องภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หากยังไม่สมบูรณ์ อสส. จะทำการตั้งข้อไม่สมบูรณ์เพื่อให้ ป.ป.ช. กลับไปรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ระบุว่า ในส่วนของการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น เป็นการดำเนินคดีทางละเมิด ดำเนินคดีในศาลปกครอง โดยคดีละเมิดจะมีอายุความ 1 ปี นับแต่เกิดการทำละเมิด เป็นคนละส่วนกับกรณีปฎิบัติหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นคดีอาญา การดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ และจะส่งเรืองมาให้แก่ อสส. เพื่อทำสำนวนฟ้องอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการนับอายุความในกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงไม่เกิน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 มีอายุความในการฟ้องไม่เกิน 15 ปี ซึ่ง อสส. ได้ดำเนินการฟ้องอยู่ในอายุความอยู่แล้ว (ตามสำนวนฟ้องระบุการเริ่มนับอายุความในปีเดือนสิงหาคม 2554 อันเป็นปีที่เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าว)
“ประเด็นอาจจะถามต่อไปว่า หากจำเลยหลบหนีจะทำอย่างไร ตอนนี้กฎหมาย ป.ป.ช. มีการแก้ไขให้ระหว่างการดำเนินคดี หากมีการหลบหนีเกิดขึ้น อายุความจะสะดุดหยุดลง เป็นไปตามมาตรา 74/1 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542” นายสุรศักดิ์กล่าว
ทนายยิ่งลักษณ์เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านกระทรวงการคลัง ย้ำไม่หนี
นอกจากนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายเอนก คำชุ่ม ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ถึงสาเหตุที่ไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ
โดยทีมทนายให้เหตุผลว่า วันนี้เป็นเรื่องของอัยการสูงสุดทำหน้าที่ส่งฟ้อง ยังไม่ใช่ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา แต่หากศาลฎีการับคำฟ้องและส่งสำนวนแล้ว ยืนยันว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาต่อสู้คดีด้วยตนเอง ไม่มีการหลบหนี ส่วนแนวทางการต่อสู้คดีจะมีทุกประเด็น ทั้งข้อกฎหมาย ชี้ว่ากระบวนการสอบสวนไม่เป็นธรรม
ทีมทนายยังระบุอีกว่า กรณีที่ ป.ป.ช. ขอให้กระทรวงการคลังฟ้องร้องนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายจำนำข้าวแล้วขาดทุนกว่า 600,000 ล้านบาท ทางทีมทนายเตรียมจะยื่นหนังสือคัดค้านต่อกระทรวงการคลังในสัปดาห์หน้า(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
จากวันชี้มูล สู่การยื่นฟ้องศาลฎีกาฯ
อนึ่ง หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำการ “ชี้มูลความผิดอาญา” นางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 จากกรณีที่ละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และได้ทำสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมควรสั่งฟ้องให้ อสส. เพื่อทำสำนวนคดีส่งฟ้องต่อศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ก่อนหน้านี้ อสส. ได้ตีกลับสำนวนการไต่สวน พร้อมให้แก้ไขประเด็นที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแก้ไขถึง 4 ครั้ง โดยเหตุความล่าช้าอาจมีส่วนเกี่ยวโยงถึงความสัมพันธ์ในเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 12
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติ “ถอดถอน” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยคะแนน 190-18
ทั้งนี้ นอกจากการดำเนิน “คดีอาญา” แล้ว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ป.ป.ช. ทําหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้เสียหายร่วม เพื่อให้เรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวใน “คดีความรับผิดทางละเมิด”
ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ป.ป.ช. ได้ส่งสรุปสำนวนไต่สวน จำนวน 60 ลัง กรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก ให้ อสส. เพื่อส่งฟ้องคดี โดยก่อนหน้านี้มีหลายความเห็นได้ออกมาแสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดีและทางหนีทีไล่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อ อสส. ยื่นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บ้างวิเคราะห์ว่า อดีตนายกหญิงอาจจะทำการขอ “ลี้ภัยทางการเมือง” ตามช่องทางของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 เช่นเดียวกับพี่ชายที่เคยใช้ช่องทางนี้เมื่อครั้งถูกยื่นฟ้องในปี 2550 ในคดีที่ดินรัชดา
จนทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการคุมเข้ม ไม่อนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 นางสาวยิ่งลักษณ์จึงเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษร่วมกับญาติๆ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซี่ง คสช. ส่ง “ทัพภาค 3” ตามประกบตรวจค้นขบวนรถอดีตนายกฯ หญิงก่อนออกไปทำบุญในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558
ในวันเดียวกัน ป.ป.ช. ส่งหนังสือเรียกตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ให้มารายงานตัวต่อ อสส. เพื่อส่งคดีฟ้องศาล ด้านทีมทนายของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ให้ทบทวนการสั่งฟ้อง และกรณีการสอบสวนเพิ่มเติมข้อไม่สมบูรณ์ของคดีใน 3 ประเด็น