วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
ผมพยายามดูภาพยนตร์สั้นแนวดราม่า เรื่อง “ปริศนา” ซึ่งเป็นหนังสั้นที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM X สร้างขึ้นด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย โดยอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย และรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหยุดยั้งการเอารัดเอาเปรียบและค้ามนุษย์ ตลอดจนเพื่อตีแผ่การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ใช้ดาราดังของไทย คือ มาริโอ เมาเร่อ และ ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ เป็นผู้แสดงนำ
ผมพยายามทำใจว่า นี่คือ “หนัง” นี่คือ “การแสดงเพื่อความบันเทิง” แต่พอดูไปแล้ว ความรู้สึกมันบอกครับว่า “ไม่ใช่” “นี่ไม่ใช่หนัง” “ไม่ใช่ละคร” แต่นี่คือ “การกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง” ที่องค์กร NGO ระหว่างประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการ “ให้ร้ายประเทศไทย” “ให้ร้ายคนไทย” และ “ให้ร้ายชาวประมงไทย” เพื่อตอกย้ำการกีดกันทางการค้าที่ประเทศฝรั่งและ NGO ต่างยกประเด็นขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศไทย เพราะเราผลิตได้โดยมีต้นทุนที่ถูกกว่าและดีกว่า
ผมเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ในเว็บไซต์ขององค์กร IOM X พบว่า ทาร่า เดอร์มอร์ท หัวหน้าโครงการ IOM X อ้างว่า “หนังเรื่อง ‘ปริศนา’ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวการหาผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมประมงในย่านเอเชียแปซิฟิก ผ่านเรื่องราวความรักของตัวละคร ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจวัยรุ่นหนุ่มสาวได้ เพราะเป็นการนำเสนอเรื่องราวความรักผ่านตัวละครที่มีชื่อเสียงและเพลงประกอบภาพยนตร์ที่สุดแสนประทับใจ เราหวังว่าเรื่องราวที่เรานำเสนอนี้จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้มากขึ้น และแสดงให้ถึงผลกระทบตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับภูมิภาค ถึงที่สุดแล้ว เราอยากให้เรื่องราวนี้เป็นแรงบันดาลใจแก่วัยรุ่นที่จะแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้นี้แก่บุคคลอื่นถึงหนทางการป้องกันการแสวงหาประโยชน์และค้ามนุษย์ในชุมชนที่พวกเขาเหล่านั้นอาศัยอยู่”
ใน Websiteของ IOM X ยังอ้างว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ “ผลิตขึ้นด้วยความสนับสนุนจากรัฐบาลไทย” และมีความเห็นของ สุวรีย์ ใจหาญ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า “บทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือ การขับเคลื่อนงานรณรงค์เพื่อยุติปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกระดับ หวังว่า ‘ปริศนา’ จะเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายและอยากเชิญชวนทุกท่าน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ มารวมพลังร่วมกันขับเคลื่อนการยุติปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกัน”
IOM X ยังอ้างอีกว่า “การประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและสภาพการทำงานบนเรือประมงมักจะยากลำบากมาก ผลสำรวจล่าสุดจาก IOM และ London School of Hygiene and Tropical Medicine พบว่าชาวประมงที่ตกอยู่ในสภาพเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกกักขังเป็นเวลาเฉลี่ย 1.5 ปี มากกว่าผู้ที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดพบว่าชาวประมงต้องเผชิญกับงานหนักเป็นเวลา 18-20 ชั่วโมงต่อวัน อาศัยอยู่ในห้องที่คับแคบ และต้องเผชิญกับปัญหาน้ำดื่ม และอาหารที่ขาดแคลน และจะต้องทำงานแม้ในขณะที่เหนื่อยหรือเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม เจ้าของเรือประมงบางครั้งจะป้องกันไม่ให้เหยื่อเหล่านี้หนีโดยการทำร้ายร่างกาย การลงโทษและการข่มขู่เรื่องเงิน ชาวประมงหลายคนไม่เคยได้รับค่าตอบแทนเลย ปริศนา เป็นการจำลองเหตุการณ์ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในอุตสาหกรรมการประมง”
นอกจากนี้ ยังอ้างว่า ขั้นตอนการจัดหาเหยื่อที่จะถูกค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมง จะกระทำโดย “นายหน้าจะติดต่อคนหนุ่มในหมู่บ้านเพื่อเสนองานให้ทํา เช่น งานก่อสร้าง งานโรงงาน หรืองานภาคเกษตร โดยอ้างว่าจะได้ค่าจ้างประมาณ 3,500–8,750 บาทต่อเดือน หากแรงงานตกลงใจแต่มีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเดินทางในการไปทํางานก็จะทําสัญญากับนายหน้า ว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานด้วยเงินค่าจ้างงวดแรกเมื่อเริ่มทํางาน นายหน้าจะเป็นธุระเรื่องการเดินทาง ถ้าหากว่าต้องมีการข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ นายหน้าจะเป็นคนนําแรงงานข้ามฝั่งไปเอง หรืออาจส่งต่อแรงงานให้นายหน้ารายใหม่ที่จุดข้ามแดน เมื่อแรงงานมาถึงสถานที่นัดพบ ซึ่งก็คือท่าเรือ นายหน้าเจ้าใหม่จะเป็นผู้รับแรงงานทั้งหมดไปขายให้กับเจ้าของเรือประมงหรือไต้ก๋งเรือ โดยทั่วไปแล้วแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อจะไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นหรือไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนจนกว่าจะถูกขายไป โดยผู้ที่รับซื้อจะให้แรงงานทั้งหมดขึ้นเรือเพื่อทํางานทันที แรงงานหลายคนอาจต้องเปลี่ยนไปทํางานบนเรือลําอื่นหรือถูกขายต่อไปยังเรืออีกลําหนึ่งในระหว่างที่เรือออกทะเล”
อ่านแล้ว เหตุผลที่ผมรับไม่ได้ก็คือ …
1. การกล่าวอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ “เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวการหาผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมประมงในย่านเอเชียแปซิฟิก” คำถามคือ ทำไมต้องทำในประเทศไทย ใช้ดาราไทย และใช้พล็อตเรื่องมาจากข่าวสารเกี่ยวกับชาวประมงไทยที่ปรากฏในสื่อต่างๆ และใช้ช่องทางการเผยแพร่ส่วนใหญ่ผ่านสื่อในประเทศไทย (มีการเผยแพร่ผ่านสื่อในกัมพูชา พม่า และฟิลิปปินส์ แต่มีช่องทางน้อยกว่าในประเทศไทย) ทั้งๆ ที่ใน “เอเชียแปซิฟิก” ประกอบด้วยประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบประเทศ
2. การกล่าวอ้างว่าภาพยนตร์เรื่อง “ปริศนา เป็นการจำลองเหตุการณ์ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในอุตสาหกรรมการประมง” นั้น “ข้อเท็จจริง” คือ “ปริศนา เป็นการจินตนาการเหตุการณ์ตามคำบอกเล่าที่ปราศจากการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ”
3. การกล่าวอ้างว่า “การประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและสภาพการทำงานบนเรือประมงมักจะยากลำบากมาก” นั้น สภาพ “ความยากลำบากมาก” ที่กล่าวอ้างดังกล่าว แตกต่างจากสภาพการทำงานของกิจการประมงที่เป็นอยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลก รวมทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จริงหรือ คำตอบก็คือ “ไม่แตกต่างกันเลย” และหากเคยได้ดูภาพยนต์และสารคดีเรื่อง The Deadliest Catch จะพบความจริงที่ว่า สภาพการทำงานของกิจการประมงในสหรัฐอเมริกาในการจับ “ปูอลาสกา” ในเขตทะเลแบริ่งนั้นโหดร้ายทารุณกว่าสภาพการทำงานของกิจการประมงที่เป็นอยู่ในภูมิภาคอาเซียนและย่านเอเชียแปซิฟิกมากมายหลายเท่านัก
4. การกล่าวอ้างว่า “ผลสำรวจล่าสุดจาก IOM และ London School of Hygiene and Tropical Medicine พบว่าชาวประมงที่ตกอยู่ในสภาพเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกกักขังเป็นเวลาเฉลี่ย 1.5 ปี มากกว่าผู้ที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด พบว่าชาวประมงต้องเผชิญกับงานหนักเป็นเวลา 18-20 ชั่วโมงต่อวัน อาศัยอยู่ในห้องที่คับแคบ และต้องเผชิญกับปัญหาน้ำดื่ม และอาหารที่ขาดแคลน และจะต้องทำงานแม้ในขณะที่เหนื่อยหรือเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม เจ้าของเรือประมงบางครั้งจะป้องกันไม่ให้เหยื่อเหล่านี้หนีโดยการทำร้ายร่างกาย การลงโทษและการข่มขู่เรื่องเงิน ชาวประมงหลายคนไม่เคยได้รับค่าตอบแทนเลย ปริศนา เป็นการจำลองเหตุการณ์ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในอุตสาหกรรมการประมง” คำถาม คือ
(1) การสำรวจดังกล่าวของ IOM และ London School of Hygiene and Tropical Medicine “มีขึ้นจริงหรือไม่” “สำรวจจากใคร” และ “สำรวจอย่างไร”
(2) ผลสำรวจล่าสุดอ้างว่า “พบว่าชาวประมงที่ตกอยู่ในสภาพเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกกักขังเป็นเวลาเฉลี่ย 1.5 ปี มากกว่าผู้ที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ” “เปรียบเทียบกับเหยื่อค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ” หมายถึง “รูปแบบอะไร ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบ”
(3) ข้ออ้างที่ว่า “ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดพบว่า ชาวประมงต้องเผชิญกับงานหนักเป็นเวลา 18-20 ชั่วโมงต่อวัน” นั้น ข้อสงสัยคือ “เป็นการประมงที่ทำด้วยเครื่องมืออะไร ที่ประเทศไหน” เพราะเท่าที่ผมซึ่งอยู่ในวงการประมงทั้งในประเทศและต่างประเทศมาทั้งชีวิต มีข้อมูลอยู่นั้น “ไม่พบว่ามีเครื่องมือประมงใดในประเทศไทยที่มีการทำงานหนักแบบ “18-20 ชั่วโมงต่อวัน” เลย
(4) ข้ออ้างที่ว่า “ชาวประมงต้องอาศัยอยู่ในห้องที่คับแคบ และต้องเผชิญกับปัญหาน้ำดื่ม และอาหารที่ขาดแคลน และจะต้องทำงานแม้ในขณะที่เหนื่อยหรือเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม เจ้าของเรือประมงบางครั้งจะป้องกันไม่ให้เหยื่อเหล่านี้หนีโดยการทำร้ายร่างกาย การลงโทษและการข่มขู่เรื่องเงิน ชาวประมงหลายคนไม่เคยได้รับค่าตอบแทนเลย” นั้น มีข้อความที่เป็นจริงเพียงประการเดียว คือ ที่อยู่อาศัยบนเรือบางลำอาจจะคับแคบ เนื่องจากขนาดของเรือและอายุของเรือ ที่เป็นรุ่นเก่า ประกอบกับการที่มีลูกเรือจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถดัดแปลงพื้นที่ให้รองรับกับจำนวนลูกเรือที่มีอยู่ได้
แต่สำหรับเรือรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรือที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทย จะมีพื้นที่ที่สะดวกสบายให้กับลูกเรือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเรือประมงต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จะพบว่าเรือประมงไทยมีสภาพไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้เลย นอกจากประเด็นนี้แล้ว ข้อมูลอื่นๆ ที่กล่าวอ้างข้างต้น ล้วนเป็นข้อมูลที่เกิดจากการบอกเล่า การกล่าวอ้างโดยขาดพยานหลักฐานที่เป็นจริงและไร้การพิสูจน์ทั้งสิ้น แม้บางกรณีอาจมีความเป็นไปได้บ้าง แต่มิได้หมายความว่าทั้งอุตสาหกรรมหรือส่วนใหญ่จะเป็นเช่นดังที่กล่าวอ้างทั้งหมด คำถามคือ “ทำไมจึงต้องกล่าวให้ร้ายการประมงไทย” โดย “ไม่มีการตรวจสอบหรือพิสูจน์ให้ชัดแจ้ง ก่อนการนำเสนอ”
5. ผมไม่เชื่อว่า ภาพยนต์เรื่องนี้ “ผลิตขึ้นด้วยความสนับสนุนจากรัฐบาลไทย” ตามที่กล่าวอ้าง เพราะจากการที่เคยทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มานาน ผมเชื่อว่ากระทรวงฯ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานและการค้ามนุษย์บนเรือประมงเป็นอย่างดี รวมทั้งทราบว่า “ชาวประมงไทยไม่มีการค้ามนุษย์ และโอกาสในการค้ามนุษย์บนเรือประมงนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก” และ “เรายังทำงานร่วมกันต่อไปในการต่อต้านและขจัดโอกาสในการค้ามนุษย์บนเรือประมงให้หมดสิ้นไป”
ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงต่อต้านการนำเสนอภาพยนต์สั้นเรื่อง “ปริศนา” ของ IOM X ที่ได้จัดสร้างขึ้นและเผยแพร่ในเวลานี้ และขอเรียกร้องให้
… IOM X ได้พิจารณาแก้ไขเนื้อหาในส่วนที่นำเสนอข้อความอันเป็นเท็จ ข้อความที่ไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง และข้อมูลที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการประมงทะเล โดยตัดออกทั้งหมดโดยเร็ว
… ขอให้บุคคลทั่วไปที่ได้ชม “ปริศนา” แล้ว อย่าตกเป็นเครืองมือในการทำร้ายประเทศไทย โดยอย่าได้เผยแพร่ ส่งต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ และหยุดการใช้แฮชแท็ก ที่ IOM X แนะนำในโพสต์ต่างๆ ตามสื่อสังคมออนไลน์