ThaiPublica > คอลัมน์ > “อวนลาก (Trawling)” เครื่องมือทำลายล้างทรัพยากร จริงหรือ ?

“อวนลาก (Trawling)” เครื่องมือทำลายล้างทรัพยากร จริงหรือ ?

21 ตุลาคม 2021


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ภาพแสดงวิธีการจับปลาด้วยเครื่องมือ “อวนลากแผ่นตะเข้ (Otter Board Trawling)”
ที่มา : https://www.afma.gov.au/fisheries-management/species/bugs

ผมเข้าใจว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ เครื่องมือประมงประเภท “อวนลาก (Trawling)” ที่รัฐบาล สื่อ NGOs และกลุ่มประมงพื้นบ้านบางคน บางกลุ่ม พยายามออกมาโจมตีว่า เป็นเครื่องมือประมงที่ “ทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่ต้องกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทย” กันมาบ้าง

ข้อเท็จจริงเป็นยังไงกันแน่ วันนี้ ผมอยากนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งของ “อวนลาก (Trawling)” มาให้เพื่อน ๆ ลองพิจารณากันครับ

“อวนลาก (Trawling)” เป็นเครื่องมือประมงที่มีพัฒนาการ (ในทวีปยุโรป) มาอย่างยาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 นับถึงวันนี้ก็ราว ๆ 500 ปีมาแล้ว (ถ้านึกไม่ออกว่านานแค่ไหน ก็ประมาณปลายยุคกรุงสุโขทัยต่อต้นกรุงศรีอยุธยานั่นแหละครับ) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจับปลาหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณหน้าดิน (Demersal species) หรือพื้นทะเล รวมทั้งที่อาศัยอยู่ในบริเวณกลางน้ำ (Mid-water species) สามารถใช้ได้ทั้งในบริเวณใกล้ชายฝั่ง (น้ำตื้น) และไกลฝั่งที่มีน้ำลึกนับพันเมตร

วิธีการใช้งานเครื่องมือประมงชนิดนี้ คือการใช้เรือลากถุงอวนที่มีลักษณะคล้ายถุงกาแฟ (Cone shape net) ที่ติดตั้งอยู่ตอนท้ายของเรือแล่นไปในทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อจับปลาหรือสัตว์น้ำที่อยู่ในเส้นทางที่อวนลากไปให้เข้าไปอยู่ที่ก้นถุง

“อวนลาก” จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ทั้งตามวิธีการใช้ เช่น ถ้าใช้เรือลำเดียวในการลาก ก็เรียก “อวนลากเดี่ยว” ถ้าใช้เรือประมง 2 ลำช่วยกันทำหน้าที่เปิดปากอวนขณะจับปลา ก็เรียก “อวนลากคู่ (Pair Trawling)” เรียกตามชนิดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่างปากอวนให้เปิดกว้างออกเพื่อดักจับปลา เช่น อวนลากแผ่นตะเฆ่ (Otter Board Trawling) อวนลากแขก/อวนลากคานถ่าง (Beam Trawling) เรียกตามชนิดของสัตว์น้ำเป้าหมายที่ต้องการจับ เช่น อวนลากกุ้ง (Shrimp/Prawn Trawling) อวนลากปลา (Fish Trawling) เป็นต้น

ภาพแสดงวิธีการจับปลาด้วยเครื่องมือ
“อวนลากแขก/ลากคานถ่าง (Beam Trawling)”
ที่มา : Google site
ภาพแสดงวิธีการจับปลาด้วยเครื่องมือ “อวนลากคู่ (Pair Trawling)
ที่มา : https://www.researchgate.net/figure/The-bottom-pair-trawl-Seafishorg_fig และ https://www.flickr.com/photos/75103060@N00/43756366532
ภาพแสดงวิธีการจับกุ้งด้วย “อวนลากกุ้ง (Shrimp/Prawn Trawling)” ในประเทศออสเตรเลีย
ที่มา : https://www.afma.gov.au/fisheries-management/species/bugs

ผมเคยเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับ “อวนลาก” ที่เผยแพร่อยู่ใน Website ของ NGOs ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติแห่งหนึ่ง เขาเขียนเหตุผลที่อวนลากเป็นเครื่องมือทำลายล้าง ไว้ว่า

“The problem with bottom trawling as a fishing method is that it’s indiscriminate in what it catches. When dragging the large, weighted nets across the seafloor, everything that happens to be in the way gets swept up in the net too. For this reason bottom trawling has a large bycatch impact, with many non-target species being fished in the process.

This has an impact on the biodiversity of the ocean, and also means many species are being fished to the brink simply as a consequence of commercial activities, not as the target of them.
In addition to the turtles, juvenile fish and invertebrates that get swept up in trawling nets, deep sea corals are hidden victims of trawling. …”

เมื่อแปลเป็นไทยแล้วสรุปใจความได้ว่า ปัญหาของทำการประมงด้วยเครื่องมือ “อวนลาก” เพื่อจับปลาหน้าดิน (bottom trawling) เป็นวิธีการทำประมงที่ไม่เลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะชนิด (indiscriminate in what it catches) เมื่อลากอวนขนาดใหญ่ที่มีการถ่วงน้ำหนักไว้ไปบนพื้นทะเล ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทางก็จะถูกกวาดเข้าไปในอวนด้วย และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ จึงทำให้มีสัตว์น้ำที่มิใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย (ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ/การค้า) ติดเข้ามาอยู่ในถุงอวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทร รวมถึงสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์กำลังถูกจับจนถึงจุดเสี่ยง (เกิดขึ้นทดแทนไม่ทัน/ใกล้สูญพันธุ์) เพียงเพื่อตอบสนองกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำที่ติดอวนลากมานั้นไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย (not as the target of them) ที่ต้องการจับ ซึ่งนอกจาก เต่าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (กุ้ง หมึก หอย ปู ฯลฯ) ที่ถูกลาก “ติดอวน” เข้าไปในเครื่องมือ “อวนลาก แล้ว “ปะการังน้ำลึก” ก็ถูกทำลายไปด้วย”

อ่านแล้วก็ดูมีเหตุผลดีนะครับ

เมื่อข้อความข้างบนนี้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก โดย NGOs ที่มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือด้านการอนุรักษ์ในระดับนานาชาติ ชุดความคิดที่ว่า “อวนลาก” คือ เครื่องมือประมงที่ “ทำลายล้าง” จึงถูกปลูกฝังลงในสมองของเจ้าหน้าที่รัฐบาลคน บางหน่วยงาน และชาวประมงพื้นบ้านของไทยบางกลุ่ม มีการออกมาโจมตี ต่อต้าน ตอกย้ำ

สุดท้ายส่งต่อไปยังสื่อต่าง ๆ เพื่อการโฆษณาชวนให้เชื่อครับ คนที่ไม่มีความรู้เรื่องประมง ฟังแล้วไม่ทันคิด หรือคิดไม่ทัน ก็ตกเป็นเหยื่อของ NGOs ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ นั้น

เห็นได้จากประเด็นที่รัฐบาล NGOs และกลุ่มประมงพื้นบ้านบางคน บางกลุ่ม ออกมาโจมตีการใช้เครื่องมือ “อวนลาก (Trawling)” ของเรือประมงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งก็เพราะ “เชื่อ” ในชุดข้อมูลดังกล่าว “อย่างสิ้นสงสัย” ว่า “อวนลาก (Trawling)” เป็นเครื่องมือประมงที่ (1) ทำลายพื้นทะเลและแหล่งปะการัง(ระบบนิเวศวิทยาทางทะเล) และ (2) จับปลาตัวเล็ก/ลูกปลาวัยอ่อนปลา

เพื่อให้เห็นประเด็นชัดเจนขึ้น เรามาลองมาสรุปประเด็นจากข้อความดังกล่าวกันดูว่า เหตุผลที่ “อวนลาก” ตกเป็น “จำเลย” ในข้อกล่าวหา “ทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ” นั้นมีอะไรบ้าง

1.การใช้เครื่องมือ “อวนลาก” เพื่อจับปลาหน้าดิน (bottom trawling) เป็นวิธีการทำประมงที่ไม่เลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะชนิด (indiscriminate in what it catches)

2.การลากอวนขนาดใหญ่ที่มีการถ่วงน้ำหนักไว้ไปบนพื้นทะเล ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทางอวนจะถูกกวาดเข้าไปในถุงอวนด้วย

3.การใช้อวนลาก ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทร เนื่องจาก

    -ทำให้มีสัตว์น้ำที่มิใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย (ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ/การค้า) ติดเข้ามาอยู่ในถุงอวนเป็นจำนวนมาก
    -ส่งผลให้สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์กำลังถูกจับจนถึงจุดเสี่ยง (เกิดขึ้นทดแทนไม่ทัน/ใกล้สูญพันธุ์)
    -ทำให้ เต่าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปะการังน้ำลึก (ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ) ถูกลากเข้าไปในเครื่องมือ “อวนลาก” ด้วย

ฟังแล้ว “อวนลาก” เป็นเครื่องมือประมงที่ “เลวร้ายมาก” เลยใช่ไหมครับ

อย่าครับ อย่าเพิ่งตัดสิน

ลองมาดูคำถามของผมกันบ้างนะครับ ว่า “ถ้าเครื่องมืออวนลาก เลวร้ายจริงอย่างที่ถูกกล่าวหา” แล้ว

1.ทำไมทุกวันนี้ FAO (Food and Agriculture Organization) จึงยังยอมรับว่า “อวนลาก” เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้จับสัตว์น้ำได้

2.ทำไมรัฐชายฝั่งต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย จึงยังอนุญาตให้ใช้ “อวนลาก” จับสัตว์น้ำในน่านน้ำของตน

3.ทำไมเครื่องมือ “อวนลาก” ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปี จนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีการยกเลิก และ

4.ทำไมองค์กรเอกชน (ระดับนานาชาติ) ที่ทำหน้าที่ประเมินความยั่งยืนของการจับสัตว์น้ำเช่น Marine Stewardship Council (MSC) และอีกหลายองค์กร จึงยังยอมรับสัตว์น้ำบางชนิด/บางแหล่ง ที่จับได้ด้วยเครื่องมืออวนลากนี้ ว่าเป็น “การทำประมงอย่างยั่งยืน” ได้

ในความเห็นของผม การทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ดี ความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ดี ขึ้นอยู่กับ “ปัจจัย” หลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่ “เครื่องมือ” อย่างเดียวที่จะตัดสินได้ครับ

ผมพยายามใช้หลัก “ตรรกศาสตร์ (Logic)” วิเคราะห์ประเด็นข้อกล่าวหา “อวนลาก” ของ NGOs ว่าจริงเท็จประการใดครับ

1.ข้อกล่าวหาที่ว่า “เครื่องมือ “อวนลาก” เพื่อจับปลาหน้าดิน (bottom trawling) เป็นวิธีการทำประมงที่ไม่เลือกสัตว์น้ำเฉพาะชนิด (indiscriminate in what it catches)” นั้น ในความเห็นของผม “ไม่มี” เครื่องมือประมงใด ที่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดได้ทั้งหมดครับ เพียงแต่มีเครื่องมือหลายชนิด ที่สามารถจับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดเป็นส่วนใหญ่ได้ เช่น เครื่องมืออวนลากกุ้ง จะจับกุ้งได้ในปริมาณมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังจับสัตว์น้ำชนิดอื่นได้เช่นเดียวกัน เครื่องมืออวนล้อมปลาทู จะจับปลาทูได้เป็นหลัก แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่มีปลาชนิดอื่นติดอวนขึ้นมาด้วย เครื่องมืออวนลอยปลาอินทรี จะจับปลาอินทรีได้เป็นหลัก แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่มีปลาชนิดอื่นติดอวนขึ้นมาด้วยเช่นกัน ฯลฯ

แม้แต่เครื่องมือที่ชาวประมงพื้นบ้าน (ที่ออกมากล่าวหาชาวประมงพาณิชย์ที่ใช้อวนลากว่าทำลายล้างทรัพยากร)ใช้ ก็จับได้ปลาชนิดอื่นติดเบ็ด ติดลอบ และติดอวนขึ้นมาเช่นเดียวกันครับ

ดังนั้น ที่อ้างกันว่า เครื่องมือประมงของตนเป็น “เครื่องมือที่จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิด (Selected target species)” นั้น ผมเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงไปครับ

และถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็คงอ้างได้เหมือนกันครับว่า เครื่องมือ “อวนลาก” ก็เป็นเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดได้เช่นเดียวกัน คือ จับ “สัตว์น้ำเฉพาะชนิดที่อยู่หน้าดิน (Selected target Demersal species)” ไงครับ (555)

2.ข้อกล่าวหาที่ว่า “เมื่อลากอวนขนาดใหญ่ที่มีการถ่วงน้ำหนักไว้ไปบนพื้นทะเล ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทางก็จะถูกกวาดเข้าไปในตาข่ายด้วย” นั้น ในความเห็นของผม คงต้องยอมรับความจริงว่า ในประเภทของเครื่องมืออวนลากนั้น มีอวนลากบางชนิดที่มีการถ่วงน้ำหนัก (ด้วยโซ่) ในบริเวณด้านล่างของปากอวน แต่ก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากมายถึงขนาดที่จะกวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าให้เข้าไปในอวนได้อย่างที่ถูกกล่าวหา ลองหลับตาแล้วนึกถึงอวนที่ถักจากด้ายที่ทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไนล่อน) แม้จะมีความเหนียว และก็ไม่ได้หมายความว่าจะขาดหรือชำรุดไม่ได้ ดังนั้น หากมีสิ่งใดที่มีความแข็งแรง มีขนาดใหญ่ หรือมีคความแหลมคม (เช่น ปะการัง) ขวางทางอวนอยู่ แทนที่สิ่งนั้นจะถูกกวาดเข้าอวน ผมเชื่อว่า เส้นด้ายของอวนจะถูกกระชากให้ขาดมากกว่า และสิ่งที่ยืนยันในความเห็นนี้ได้คือ การที่เราเห็นลูกเรือ “ซ่อมแซมอวนจับปลา” กันอยู่บ่อย ๆ ในบริเวณท่าเรือประมง นั่นเอง

3.ข้อกล่าวหาที่ว่า “การใช้อวนลาก ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทร เนื่องจาก ทำให้มีสัตว์น้ำที่มิใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย ติดเข้ามาอยู่ในถุงอวนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์กำลังถูกจับจนถึงจุดเสี่ยง” ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่า สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ที่ถูกจับจนถึงจุดเสี่ยงนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และเครื่องมือประมงหลายชนิด ครับ

รวมทั้งมิได้มีหลักฐานหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ใด ๆ บ่งชี้ว่า การที่ “สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ที่ถูกจับจนถึงจุดเสี่ยง” นั้น เกิดจากเครื่องมือ “อวนลาก” แต่เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลนั้น จากการที่ผมลองค้นข้อมูลดู ผมพบว่ามีเรือประมงที่ใช้เครื่องมือ “อวนลาก” ไม่มากนัก เพราะ “มหาสมุทร” เป็นเขตน้ำลึก จึงเป็นข้อจำกัดที่บ่งชี้ถึงจำนวนเรือที่มีศักยภาพในการจับปลาในเขตน้ำลึกได้ ในจำนวนที่จำกัดด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่า เรือประมงที่ใช้เครื่องมือ “อวนลาก” จำนวนไม่มาก จะทำให้ความหลายหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรถึงจุดเสี่ยงตามที่กล่าวหาได้

4.ข้อกล่าวหาที่ว่า “อวนลากทำให้ เต่าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปะการังน้ำลึก ถูกลากเข้าไปในอวนด้วย” นั้น ผมยอมรับครับว่า ในอดีตเครื่องมือ “อวนลาก เป็นเรื่องมือที่เคยสร้างปัญหาให้กับ “เต่า” และ “สัตว์น้ำวัยอ่อน” เพราะในอดีตนั้น ชาวประมงยังขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาของเครื่องมือ “อวนลาก” ที่มีผลกระทบต่อ “เต่าทะเล” และ “สัตว์น้ำวัยอ่อน” แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนครับว่า ทั้ง “เต่าทะเล” และ “สัตว์น้ำวัยอ่อน” นั้น อยู่ในเขตพื้นที่เฉพาะครับ

“เต่าทะเล” นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทราย/ดินปนทราย และอยู่ในเขตใกล้ชายฝั่ง ซึ่งในบริเวณนี้ จะมีการทำประมงจับกุ้ง (เนื่องจากกุ้งและเต่าทะเล จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทราย/ดินปนทราย) โดยใช้เครื่องมืออวนลาก ประเภท “อวนลากกุ้ง” อยู่

อย่างไรก็ตามเมื่อพบปัญหาจากการใช้อวนจับกุ้ง จึงมีการศึกษาวิจัยว่า “ทำอย่างไรจึงจะ “ลด หรือป้องกัน” ไม่ให้ “เต่าทะเล” เข้ามาติดในอวนจับกุ้งได้ และนั่นคือที่มาของอุปกรณ์ที่เรียกว่า “TED (Turtle Excluded Device)” ถ้าหลายคนจำได้ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เราเคยมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา ที่นำเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลมาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศไทย มาแล้ว

ภาพแสดงอุปกรณ์ “TED (Turtle Excluded Device)”
สำหรับใช้ป้องกันเต่าทะเลเข้ามาติดในอวนลากกุ้ง แบบหนึ่ง
ที่มา : http://collierseagrant.blogspot.ca/2011/10/gear-profile-turtle-excluder-devices.html
ภาพแสดงอุปกรณ์ “TED (Turtle Excluded Device)”
สำหรับใช้ป้องกันเต่าทะเลเข้ามาติดในอวนลากกุ้ง อีกแบบหนึ่ง
ที่มา : https://www.worldwildlife.org/magazine/issues/summer-2016/articles/how-a-simple-technology-is-saving-turtles

ส่วนในประเด็นเรื่อง “สัตว์น้ำวัยอ่อน” นั้น ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ชายฝั่ง ซึ่งเป็นเขตวางไข่ และเจริญวัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนที่จะออกสู่ทะเลไกลฝั่งหรือทะเลลึก ซึ่งในเขตดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้มีการใช้เครื่องมือประมงประเภท “อวนลาก” เข้าไปทำการประมงได้เลย โดยการใช้เครื่องมืออวนลากในน่านน้ำไทยนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายบัญญัติการห้ามไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย

    (1) การห้ามใช้อวนก้นถุงที่มีขนาดต่ำกว่า 4 เซนติเมตร
    (2) การห้ามเข้าพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง (3 ไมล์ทะเล หรือ 5.56 กิโลเมตร)
    (3) การห้ามทำประมงเฉพาะพื้นที่ในฤดูปิดอ่าว (ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน) เพื่อการอนุรักษ์ปลาทู เป็นต้น

ดังนั้น โอกาสที่ “สัตว์น้ำวัยอ่อน” จะติดเข้ามาในอวนลากจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก (ที่มีคนบางกลุ่ม นำรูปภาพของเรือประมง “อวนลาก” ที่มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนติดอยู่ในอวน มาเผยแพร่ในสื่อ หรือ Facebook นั้น เป็นภาพเก่าในสมัยที่กฎหมายยังอนุญาตให้ใช้ตาอวนขนาด 2.50 เซนติเมตร และจับสัตว์น้ำได้ใกล้ชายฝั่งมากกว่าปัจจุบัน (3 กิโลเมตร) ครับ

จากการศึกษาส่วนตัว ผมเห็นว่า เครื่องมือประมงประเภท อวนลาก (Trawling)” นั้น เป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการจับ “สัตว์น้ำหน้าดิน (Demersal species) มากกว่าเครื่องมือชนิดอื่น และยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในแหล่งประมงทั่วโลก แต่เมื่อการใช้เครื่องมือชนิดนี้ “สร้างปัญหา หรือมีผลกระทบ” หลายประการต่อทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา วิจัยในประเด็นปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการศึกษา/วิจัย ชนิดพันธุ์ และวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ตั้งแต่การวางไข่ การเจริญเติบโต การเจริญพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย เส้นทางการอพยพย้ายถิ่น ฯลฯ และการศึกษา/วิจัย ในประเด็น “สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ในเรื่องของน้ำทะเล/การไหลเวียน/การขึ้นลงของน้ำ สภาพพื้นทะเล แหล่งปะการัง หญ้าทะเล กองหิน ฯลฯ

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะทำให้เราสามารถนำไปออกแบบพัฒนา ปรับปรุงอุปกรณ์อวนลากสำหรับใช้ในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการอนุญาต ควบคุม หรือจำกัดการใช้เครืองมืออวนลากเพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเลลงได้อีกด้วย เช่น การไม่อนุญาตให้ใช้อวนลากใน

    (1) พื้นที่ที่มีปะการัง/หญ้าทะเล/กองหิน
    (2) ในพื้นที่และฤดูกาลปิดอ่าว
    (3) การห้ามจับ/ครอบครองสัตว์น้ำวัยอ่อนบางชนิด รวมทั้งการ “จำกัด” จำนวนของเรือประมงที่พึงอนุญาตให้ใช้เครื่องมืออวนลากนี้ด้วย ฯลฯ

ปัจจุบัน หลายประเทศมีการศึกษา วิจัย ออกแบบและพัฒนา เครื่องมือ/อุปกรณ์ประกอบสำหรับอวนลาก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือประมงประเภท “อวนลาก” ต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลลง เช่น การใช้ลูกโป่งเหล็ก/แก้ว/พลาสติก ติดไว้บริเวณ “ขาอวน” เพื่อช่วยในการยกอวนทั้งผืนให้ลอยขึ้นจากพื้นทะเล เมื่อลูกโป่งไปกระทบกับปะการัง หรือกองหิน การใช้ “ว่าวลอย (Kite Float)” ติดอยู่รอบ ๆ บริเวณ “ด้านบนของอวน” เพื่อยกอวนให้ลอยขึ้นจากพื้นทะเลตลอดเวลาที่ลากอวนไป การออกแบบ “แผ่นตะเข้ (Otter Board)” ให้ยกอวนให้ลอยและไม่ตักดิน เป็นต้น

รวมทั้งยังมีประเด็นของเทคนิคในการ “ลากอวน” ของ “ไต้ก๋ง” เรือ โดยการใช้ความเร็วเรือที่สูงขึ้น เพื่อยกอวนให้ลอยขึ้นจากพื้นทะเล หรือการดูแผนที่เพื่อหลบเลี่ยงพื้นที่ที่มีปะการังหรือกองหิน จะได้ไม่กวาดพื้นทะเลหรือสร้างความเสียหายที่ไม่พึงประสงค์ด้วย เป็นต้น

ภาพแสดง “ว่าวลอย (Kite Float)” อุปกรณ์ยกอวนให้ลอยขึ้นจากพื้นทะเล
ภาพแสดง “ลูกโป่ง” อุปกรณ์ยกอวนให้ลอยขึ้นจากพื้นทะเล
ที่มา : https://www.julius-marine.com/en/products/marine-buoys/trawl-float-sk200-and-sk280/
ภาพแสดง “แผ่นตะเข้” เหล็ก ที่บริษัทศิริชัยการประมงมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับใช้กับเรือประมงไทย

อย่าลืมนะครับว่า ระหว่าง “อวน” ที่ทำจากเส้นใยไนล่อน กับ “ปะการังหรือกองหิน” ที่หนัก และคม นั้น มีโอกาสที่จะเสียหายไม่ต่างกัน และชาวประมงล้วนไม่ต้องการให้มีการเสียหายทั้งสองอย่างครับ

“ปะการัง” เสียหาย ย่อมหมายถึง ทรัพยากร/สิ่งแวดล้อมทางทะเลเสียหายที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู/ยากแก่การฟื้นฟู

“กองหินใต้ทะเล” เสียหาย อาจมีผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย/หลบภัยของสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำที่จะเกิดขึ้นใหม่ทดแทน เพื่อให้ชาวประมงจับได้ในอนาคต

ในขณะที่ “อวน” เสียหาย ย่อมหมายถึง การสูญเสียสัตว์น้ำที่อยู่ข้างใน และต้องเสียเวลา/ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมด้วย

ประเด็นสำคัญ คือ ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีข้อมูลเหล่านี้เพียงพอที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการในการควบคุมดังกล่าวเพียงพอหรือยัง ซึ่งในความเห็นของผม “ประเทศไทยแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรเลย” นอกจากนี้ งานวิจัยที่มีอยู่ ยังเป็น “งานเก่า” และ เกิดจากการทำงานที่ “ไม่โปร่งใส” ทำให้ขาดการยอมรับหรือเชื่อถือได้อีกด้วย

ผมเห็นด้วยครับ กับการ “กำหนด” มาตรการต่างๆ เพื่อ “ควบคุม” หรือ “จำกัด” การใช้เครื่องมืออวนลาก เมื่อมีข้อมูลทางวิชาการที่พร้อมสนับสนุน ไม่ใช่การใช้ข้อมูลที่ “เลื่อนลอย” “ไร้ตรรก” และ “ล้าสมัย” แล้วบอกว่า ต้อง “ยกเลิก” หรือ “กำจัด” เครื่องมือประมงประเภท “ลากอวน” นี้ไปเลยครับ

สิ่งต่าง ๆ ล้วนมีทั้งคุณประโยชน์และโทษคู่กันเสมอ ขึ้นอยู่กับที่ “คน” ที่นำใช้ และ “ปัญญา” ในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และพัฒนาสิ่งนั้นให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุล “อวนลาก” ก็เช่นกัน ครับ