ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วย Active Citizen

ว่าด้วย Active Citizen

26 สิงหาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มีหลายคำในสังคมเราที่ผ่านหูอยู่บ่อยๆ ที่สมควรได้รับการเจาะลึก Active Citizen เป็นหนึ่งในคำเหล่านั้น

citizen เป็นคำที่รู้จักกันมานานและมักแปลว่า “พลเมือง” ซึ่งหมายถึง “กำลังของเมือง” (พละ + เมือง) ผู้เขียนไม่อยากเข้าไปข้องแวะกับข้อถกเถียงเรื่องการใช้คำว่า “พลเมือง” หรือ “ประชาชน” หรือ “ราษฎร” ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพียงต้องการอธิบายคำว่า Active Citizen ซึ่งใช้กันมากในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน

คำว่า citizen เป็นแนวคิดของตะวันตกซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนคร (city-states) ของกรีกโบราณ ซึ่งมีเมืองหรือนครที่ปกครองในหลายรูปแบบอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์ หรือระบบการเลือกบุคคล หรือคณะบุคคลขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง ฯลฯ คนที่เป็น citizen จะเป็น “สมาชิก” ของนคร และมีสิทธิต่างๆ ตามที่นครให้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนครกับบุคคลหนึ่ง

citizen ใช้กันเรื่อยมา (ในยุคโรมันก็เรียกว่า citizens of Rome เป็นต้น) ในประวัติศาสตร์ จนเมื่อประมาณกว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้ก็เกิดคำว่า Global Citizen ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นสมาชิกของโลก หรือคำว่า Netizen ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นส่วนหนึ่งของ internet

ล่าสุดที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ Active Citizen คำนี้เกี่ยวพันกับ citizen ที่ active หรืออย่างไร citizen ประเภท passive หรือแม้แต่ lazy citizen รวมอยู่ด้วยหรือไม่

Active Citizenship หรือสถานะของการเป็น Active Citizen โยงใยกับปรัชญาซึ่งนำเสนอว่าสมาชิกขององค์กร (ไม่ว่าธุรกิจหรือรัฐ) หรือของประเทศ ล้วนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบาทในด้านการปกครองเลยก็ตามที

พูดง่ายๆ ก็คือบุคคลทั้งหลายต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม

เหตุผลของการกล่าวอ้างเช่นนี้ก็คือ ทุกคนเมื่อเกิดมาได้รับสิทธิจากรัฐและในฐานะมนุษย์ ก็ได้รับประโยชน์โดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้รับ

ในฐานะสมาชิกของรัฐ เมื่อเกิดมาก็มีสัญชาติ และมีสิทธิได้รับประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐ เช่น ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย สิทธิตามกฎหมายต่างๆ ในฐานะพลเมือง ฯลฯ ดังนั้นในฐานะพลเมืองจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในการตอบแทนให้แก่รัฐ

เมื่อเกิดมาในโลกก็เป็นสมาชิกของมนุษยชาติ หรือเผ่าพันธุ์ Homo Sapien ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากทุกประเทศ ใครจะฆ่าฟันไม่ได้ (ในขณะที่หากเกิดมาเป็นสัตว์ก็ไม่ได้การคุ้มครองเช่นนี้) ดังนั้น เมื่อมนุษย์เขาอยู่กันมาโดยมีหน้าตาแบบมนุษย์ปัจจุบันประมาณ 150,000 ปี (ประมาณ 7,500 ชั่วคน) และได้ทำให้เกิดความอยู่รอดสืบทอดกันมาแถมช่วยกันพัฒนาโลกเราจนมีความสุขสบายเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งปวง มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกสิ่งแวดล้อม

ประเด็นของ Active Citizenship คือเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ ความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้เป็นสิ่งพึงปรารถนาเพราะช่วยให้เกิดความยั่งยืน

ถ้าชาวโลกทุกคนเป็น Active Citizen อย่างเข้มแข็ง ปัญหาเรื่องโลกร้อนจะได้รับการแก้ไขอย่างง่ายดายเพราะทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเอง แต่ละคนจะกระทำสิ่งต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เช่น ไม่เผาไหม้ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินควร ใช้พลังงานต่างๆ เท่าที่จำเป็น อาสาสมัครร่วมรณรงค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีจิตสาธารณะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฯลฯ

คนที่เรียกว่าเป็น Active Citizen ก็คือคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีบทบาทในชุมชนมีจิตอาสา (กระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแก่ตนเอง) และจิตสาธารณะ (มีจิตที่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก) ศรัทธาในการรีไซเคิลทรัพยากรเพื่อถนอมสิ่งแวดล้อม รักสันติภาพ ร่วมบริจาคทรัพยากรเพราะตระหนักดีว่าเป็นความรับผิดชอบของตน

อังกฤษเป็นประเทศผู้นำในเรื่องแนวคิด Active Citizen โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลใจในเรื่องการให้ความสนใจแก่การเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ของอังกฤษในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษบังคับให้การศึกษาเรื่อง citizenship แก่เด็กทุกคนจนถึงอายุ 14 ปี

ในปัจจุบันแนวคิด Active Citizen ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ว่าในอังกฤษ สกอตแลนด์ เดนมาร์ก แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

Active Citizenship เป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งอาจตรงกับวิชา “หน้าที่พลเมือง” ของไทยในสมัยก่อน ปัจจุบันคำว่า “ความเป็นพลเมือง” ดูจะมาแทนที่ “หน้าที่พลเมือง” ความเป็นพลเมืองนั้นถือว่าต้องทำให้เกิดมิใช่เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลเพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคม (“กำลังของเมือง”) ก็คือ (ก) การเคารพความแตกต่างของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าตา ความเชื่อ เชื้อชาติ (ข) เคารพสิทธิและความเสมอภาค (ค) มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง (ง) เคารพกฎหมายและกฎกติกาของสังคม (จ)ใฝ่สันติภาพ

Active Citizen มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะได้เรียนวิชานี้หรือท่องคำจำกัดความได้ หากเกิดจากการบ่มเพาะโดยพ่อแม่ ครู และสังคม ข้ามระยะเวลาให้ความรับผิดชอบเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในตัวทุกคน

ทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยล้วนมีฐานะเป็นพลเมืองไทย (Thai Citizen) แต่ถ้าจะเป็น Active Citizen แล้วจะต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบ

หมายเหตุ: หมายเหตุตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 25 ส.ค. 2558