ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมพลเมืองมีหน้าที่

ทำไมพลเมืองมีหน้าที่

2 เมษายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ปัจจุบันมีการพูดกันเรื่องภาษีอากรมาก ความจริงในเรื่องนี้ก็คือไม่มีด้านการเสียภาษีแต่เพียงอย่างเดียว หากมีการได้ประโยชน์จากภาษีอากรด้วย อุปมาได้กับเหรียญสองด้าน ถ้าไม่มีด้านหนึ่งก็ไม่มีอีกด้านหนึ่ง ถ้าต้องการประโยชน์จากภาครัฐก็ต้องมีภาษีอากรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ก็คือพลเมือง

การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งของพลเมืองทุกคน ถ้าทุกคนต้องการแต่จะได้โดยไม่ยอมเสียแล้ว สังคมก็อยู่ไม่ได้ มีหนังสือทรงคุณค่ายิ่งเล่มหนึ่งมีชื่อว่า “พลเมืองดีตอนต้น” สอนให้คนไทยเป็นพลเมืองดีตั้งแต่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ผู้แต่งคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล พ.ศ. 2414-2459) อดีตเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการผู้สร้างคุณูปการแก่บ้านเมือง

หนังสือเล่มนี้สอนเรื่องความเป็นพลเมืองดีผ่านเรื่องเล่าโดยมีตัวละครชื่อนายเมือง ซึ่งมีชื่อเดิมว่านายเถื่อน กำพร้าพ่อแม่มาจากต่างจังหวัดและได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูโดยลุงชื่อนายมั่น ผู้เป็นเศรษฐีใจดี นายเมืองได้รับการสอนเรื่อง “หนี้แผ่นดิน” ดังคำสอนต่อไปนี้

“…..คุณลุงขอรับ ได้ยินตาอิ่มแกว่าเมื่อกลางวันนี้ว่าแกจะไปเสียเงินค่าราชการ ผมถามแกว่าต้องไปเสียทำไม แกก็ว่าไม่รู้ ถึงปีใหม่ก็ต้องไปเสียทุกปี ผมจึงอยากทราบว่าเงินช่วยราชการนั้นคืออะไรน่ะขอรับ” นายมั่นจึงว่า “เงินช่วยราชการก็คือเงินเสียให้แผ่นดินน่ะซิ” นายเมืองถามว่า “ทำไมตาอิ่มแกเป็นหนี้อะไรอยู่หรือ จึงต้องเอาเงินไปเสียทุกปี”

“ตาอิ่มแกเป็นหนี้บ้านเมืองอยู่จริงดังเจ้าสงสัย แต่แกไม่ได้เป็นหนี้เพราะไปหยิบยืมเงินทองอะไรดอก แกเป็นหนี้เพราะแกเกิดมาในบ้านเมือง บ้านเมืองได้มีบุญคุณแก่แกเหมือนดังพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกก็นับว่าลูกเป็นหนี้พ่อแม่อยู่ ลูกมีหน้าที่จะต้องทดแทนคุณพ่อแม่อย่างไร คนเราที่เกิดมาในแผ่นดินทุกคน ไม่ใช่แต่ตาอิ่ม ถึงตัวของเจ้าและลุง ทั้งคนอื่น ก็นับว่าเป็นหนี้แก่แผ่นดินอยู่เหมือนกัน จึงจำต้องทดแทนคุณแก่แผ่นดินอย่างนั้น เงินที่ตาอิ่มแกไปเสียนั้นท่านเรียกว่าเงินรัชชูปการ”

ที่มาภาพ : http://www.krusouy.com/wp-content/uploads/2014/08/2.jpg
ที่มาภาพ : http://www.krusouy.com/wp-content/uploads/2014/08/2.jpg

ข้อที่ว่าแผ่นดินมีบุญคุณแก่เรานั้นคืออะไร แผ่นดินมีบุญคุณแก่เราเป็นข้อใหญ่อยู่ 4 ประการ คือ

(1) แผ่นดินเป็นผู้ป้องกันชีวิตเรา คือเราเกิดมาในแผ่นดินแล้วชีวิตของเรามีความชอบธรรมที่จะอยู่ไปในแผ่นดินจนถึงที่สุดอายุได้ เหตุฉะนั้น ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งจะมาทำเราให้ตาย แผ่นดินย่อมเป็นธุระเอาตัวผู้นั้นไปลงโทษให้ถึงตายเหมือนกัน แผ่นดินช่วยปกครองชีวิตของเราอย่างนี้นับว่าเป็นบุญคุณข้อหนึ่ง

(2) แผ่นดินเป็นผู้ให้ความสุขสำราญแก่เรา คือให้เรามีอำนาจที่จะทำอะไรได้ตามใจที่ไม่ทำให้เสียประโยชน์ผู้อื่น เป็นต้นว่าเรามีอำนาจที่จะเดินได้บนถนนหลวงตามสบาย ถ้าใครมาข่มเหงเรา ตำรวจพระนครบาลก็จับผู้นั้นไปส่งศาลลงโทษดังนี้ แผ่นดินช่วยปกครองให้เรามีอำนาจในความสุขสำราญแห่งตัวเราอย่างนี้ก็นับว่าเป็นบุญคุณข้อหนึ่ง

(3) แผ่นดินเป็นผู้ป้องกันทรัพย์สมบัติของเรา คือว่าคนทุกๆ คนเมื่อมีครอบครัวและบ้านเรือนทรัพย์สมบัติอยู่เท่าไร ผู้นั้นก็ย่อมมีกรรมสิทธิ์เหนือครอบครัวทรัพย์สมบัติของตนนั้นๆ ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของจะมาเบียดเบียนแย่งชิงไม่ได้ ถ้าผู้ใดข่มเหงแย่งชิงเบียดเบียนทรัพย์สมบัติของผู้อื่น มีลักขโมย เป็นต้น ผู้นั้นต้องได้รับโทษตามกฎหมาย นี่ก็เป็นบุญคุณอีกข้อหนึ่ง

(4) แผ่นดินเป็นผู้ทำให้คนทุกๆ คนได้รับความยุติธรรมเสมอกัน คือว่าบรรดาคนที่อาศัยแผ่นดินอยู่ บางคนก็จน บางคนก็มี บางคนก็มีกำลังร่างกายอ่อนแอ บางคนก็แข็งแรง บางคนก็มีบรรดาศักดิ์ต่ำ บางคนก็มีบรรดาศักดิ์สูง เป็นน้อยเป็นใหญ่กว่ากันด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ และอำนาจ คนทั้งปวงนี้ถ้าทำผิดต่อกันแล้ว หากจะแพ้ชนะกันด้วยความเป็นใหญ่และเป็นน้อย ฉะนั้นก็เชื่อว่าคนทุกคนไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอหน้า เพราะใครเป็นใหญ่ก็ย่อมจะชนะผู้น้อยอยู่เอง ผู้ใหญ่ก็จะข่มเหงผู้น้อยตามสบาย ผู้น้อยก็จะเดือดร้อนไปหมด เหตุฉะนั้นแผ่นดินจึงได้ตั้งหลักความยุติธรรมไว้ให้คนอาศัย ถ้าคนหลายฝ่ายเกิดโต้เถียงกัน หรือเบียดเบียนข่มเหงกันด้วยเหตุใดๆ ก็ดี ศาลย่อมพิจารณาให้ผู้ประพฤติถูกประพฤติชอบเป็นผู้ชนะ ไม่เลือกว่าผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ และให้ผู้แพ้คดีได้รับโทษหรือต้องปรับใหม่ให้แก่ผู้ชนะ ดังนี้เป็นบุญคุณอีกข้อหนึ่ง

“ด้วยเหตุที่ตัวเราซึ่งเป็นพลเมืองจะอยู่เป็นสุขอยู่ได้และมีอำนาจโดยชอบในตัวของเราเอง เพราะอำนาจแผ่นดินช่วยป้องกันฉะนี้ ฝ่ายเราทั้งหลายจึงนับว่าเป็นหนี้อยู่ และต้องมีหน้าที่ที่จะทดแทนบุญคุณแก่แผ่นดิน หน้าที่ของเราที่จะทดแทนบุญคุณแก่แผ่นดินนั้นก็มีข้อใหญ่อยู่ 4 ประการ คือ

(1) เรามีหน้าที่จะประพฤติความดีให้แก่บ้านเมือง นับตั้งแต่ต้องบำรุงเลี้ยงบุตรหญิงชายของตนเมื่อยังเป็นทารกเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ตลอดจนต้องให้การศึกษาเล่าเรียน และบำรุงเลี้ยงบิดามารดาของตนเมื่อชราหรือพิการที่จะเลี้ยงตนเองไม่ได้ ฝ่ายตัวเราก็ต้องประพฤติดี ทำมาหากินโดยชอบธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายต่อบ้านเมืองและผู้ปกครองบ้านเมือง

(2) เรามีหน้าที่จะต้องช่วยกำลังบ้านเมืองคือเสียภาษีอากร นับตั้งแต่เสียเงินรัชชูปการเป็นต้นไป เพื่อให้รัฐบาลได้มีกำลังบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน

(3) เรามีหน้าที่ที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้สงบราบคาบ คือรับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือสมัครอาสาเป็นตำรวจภูธร ตำรวจพระนครบาล ทำการรักษาท้องที่เพื่อตรวจตราจับกุม ผู้ประพฤติผิดกฎหมายและผู้ร้าย และต้องเข้าฝึกหัดการทหารไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึกศัตรูภายนอกที่จะมาทำอันตรายย่ำยีบ้านเมืองของเรา ถ้าท่านต้องการ และเราไม่ช่วย เรามีความผิด

(4) เรามีหน้าที่ที่จะช่วยรักษาความยุติธรรม และการปกครองบ้านเมือง นับตั้งแต่ต้องเป็นพยานในศาลให้การโดยตรงโดยจริง และนับถือเชื่อฟังผู้มีหน้าที่ทำการของรัฐบาล…..”

ผู้ใหญ่โบร่ำโบราณสอนให้เราเห็นเหตุและผลในการต้องมีหน้าที่ของพลเมืองดังนี้ คนไทยต้องทำหน้าที่เช่นนี้ของตนเพราะไม่อาจให้คนชาติอื่นมาทำแทนได้ เมื่อต้องการเห็นการปฏิรูปสังคมของเรา สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนการปฏิรูปทั้งหลายก็คือทำหน้าที่พลเมืองของเราให้ดีที่สุด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 27 มี.ค. 2558