ThaiPublica > คอลัมน์ > จักรยานต้องเป็น “ของจริง”

จักรยานต้องเป็น “ของจริง”

10 พฤษภาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

กระแสนิยมจักรยานกำลังมาแรงในโลก จะทำอย่างไรดีให้แฟชั่นนี้กลายเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน ออกกำลังกาย รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเป็นสัญลักษณ์ของสังคมน่าอยู่อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงเป็นเรื่องฮือฮาตามสมัยนิยม

ทุกคนรู้จักจักรยานตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสร้างความสนุก ตื่นเต้น เพลิดเพลิน และความทรงจำให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี เมื่อโตขึ้นก็ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง สมัยก่อนอาจเป็นโรงเรียน สถานที่ทำงาน แหล่งท่องเที่ยว ต่อมาก็อาจไว้ใช้ไปซื้อของปากซอย หรือออกกำลังกาย

จักรยานสองล้อมิได้มีหน้าตาดังเช่นปัจจุบันอยู่เป็นเวลานาน เมื่อปรากฏตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 1793 ในปารีส หน้าจักรยานเป็นหัวม้า มีสองล้อขนาดเท่ากัน เคลื่อนไหวโดยใช้เท้าสองข้างดันไปกับพื้นดิน

ต่อมาก็พัฒนาขึ้นโดยปรากฏตัวใน ค.ศ. 1839 ซึ่งมีข้อแตกต่างตรงที่สามารถใช้เท้าถีบให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่ขนาดล้อหน้าใหญ่กว่าล้อหลังมาก อย่างไรก็ดี ไม่กี่ปีหลังจากนั้นจักรยานก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมีขนาดล้อเท่ากัน ล้อมียางซึ่งมีไส้อยู่ข้างในเพื่อรับน้ำหนัก และช่วยการเคลื่อนไหวของตัวรถ จนมาถึงทศวรรษ 1890 ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของจักรยาน

จักรยานเริ่มต้นในยุโรปและแพร่กระจายไปอเมริกาเหนือ และทั่วโลก โดยกลายเป็นพาหนะสำคัญของการเดินทางของประชาชนทั่วไป ควบคู่ไปกับรถม้า และรถยนต์ซึ่งมีการพัฒนาอย่างสำคัญขึ้นใน ค.ศ. 1913 บริษัท Ford ผลิตรถรุ่น Mode T ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก

ตลอดเวลาที่ผ่านมาจักรยานมิได้หายไปไหน ยังคงอยู่คู่ชาวโลกเพียงแต่บางสังคมหันไปใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จนลืมเพื่อนคู่ยากที่เกิดมากว่า 120 ปีไป อย่างไรก็ดี หากมองย้อนในประวัติศาสตร์ของจักรยานก็จะพบว่ามีจักรยานรุ่นคลาสสิกหนึ่งในโลก ซึ่งมีจำนวนการผลิตสะสมถึงปี 2007 500 ล้านคัน ในจำนวนการผลิตสะสมในโลกประมาณ 1,000 ล้านคัน

จักรยานที่พูดถึงนี้ก็คือจักรยานของจีนยี่ห้อ “นกพิราบบิน” (Flying Pigeon) ประวัติของโรงงานผลิตก็คือในปี 1936 นักธุรกิจญี่ปุ่นในจีนสร้างโรงงานผลิตจักรยานขึ้นโดยใช้ยี่ห้อ “สมอ” ต่อมาเป็น “ชัยชนะ” และเปลี่ยนเป็น “Zhongzi”

ในปี 1949 หลังจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โรงงานนี้ก็กลายเป็นโรงงานผลิตจักรยานแห่งแรกของจีนยุคใหม่ โดยต้องการให้ผลิตจักรยานที่แข็งแรง เบา งดงามสำหรับคนจีนทั้งประเทศใช้ คันแรกผลิตออกมาในปี 1950 โดยเลียนแบบจักรยานอังกฤษยี่ห้อ Raleigh ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลประกาศให้เป็นพาหนะเดินทางและขนส่งของชาติ จนในที่สุดจีนในยุคนี้ก็กลายเป็น “อาณาจักรแห่งจักรยาน” มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีหน้าตาของครอบครัว เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” ควบคู่ไปกับอีกสองสิ่งคือนาฬิกาข้อมือ และจักรเย็บผ้า

ที่มาภาพ : http://www.citymetric.com/sites/default/files/images/GettyImages_175047833.jpg
ที่มาภาพ : http://www.citymetric.com/sites/default/files/images/GettyImages_175047833.jpg

ปัจจุบันก็ยังมีการผลิตจักรยาน “นกพิราบบิน” อยู่ ถึงแม้คนจีนส่วนหนึ่งจะหันไป ขับเฟอรารี่และพอร์ชแทนก็ตาม ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่าครั้งหนึ่งมันเป็นยี่ห้อของพาหนะที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกใบนี้ เติ้งเสี่ยวผิงในยุคต้นได้ให้คำจำกัดความของความมั่งคั่งของสังคมจีนว่า “มีนกพิราบบินอยู่ในทุกครัวเรือน”

ในต้นทศวรรษ 1980 หลังเติ้งเสี่ยวผิงครองอำนาจ ‘นกพิราบบิน’ เป็นจักรยานที่ขายดีที่สุดในจีน ในปี 1986 ขายได้ 3 ล้านคัน บางช่วงคนซื้อต้องคอยเป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้มาครอง โดยต้องออกแรงใช้เส้นและจ่ายในราคาที่เท่ากับค่าแรงสี่เดือน

ที่กล่าวไปนี้คืออดีตอันรุ่งโรจน์ของจักรยาน ส่วนใหญ่ของโลกตะวันตกในปัจจุบัน จักรยานได้กลายร่างเป็นเครื่องมือของการออกกำลังกาย งานอดิเรก ความสนุกของเด็กวัยรุ่นมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แม้แต่กระแสนิยมจักรยานที่กำลังกลับมาในปัจจุบันก็ตาม ในสังคมส่วนใหญ่มันก็ยังเป็นเพียง ‘ของเล่น’ มิใช่ ‘ของจริง’ ที่จะช่วยโลก (การขี่จักรยานผลิตคาร์บอนไดออกไซด์โดยคนขี่เพียง 1 ใน 10 ของรถยนต์ที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด)

ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เพื่อนผู้นับถือกันของผู้เขียน ผู้ต่อสู้ให้จักรยานเป็นพาหนะที่สำคัญของคนไทยมายาวนานกว่า 30 ปี พูดถึงจักรยานในมิติที่ยิ่งกว่าประสิทธิภาพไว้อย่างน่าฟังว่า “…..จักรยานไม่ใช่เพียงพาหนะที่มีล้อสองล้อ มันเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องหมาย เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาประเทศ สำหรับผมจักรยานเป็นเรื่องของความพอเพียง ความโอบอ้อมอารีระหว่างกัน เรื่องของมิตรจิตมิตรใจ เรื่องของครอบครัว”

อาจารย์มีความเห็นว่า การสร้างเส้นทางให้คนขี่จักรยานนั้นเป็นสิ่งดีแต่ก็เป็นเพียง “กายภาพ” เท่านั้น สิ่งที่จำเป็นควบคู่ไปด้วยคือ “สังคม” กล่าวคือสังคมต้องมีความพร้อม สภาพแวดล้อมต้องสอดคล้องกัน ถ้ามีช่องให้จักรยานขี่ คนขี่มอเตอร์ไซค์ แม่ค้าหาบเร่ ร้านค้าริมทาง และประชาชนทั่วไปต้องยอมรับและเห็นพ้องในการใช้พื้นที่ร่วมกัน

การใช้จักรยานอย่างเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นต้องเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการยิงนกทีเดียวได้หลายตัว ทั้งออกกำลังกาย รักโลก ประหยัดทรัพยากร แสดงพลังของความพอเพียง ดังเช่นบางเมืองที่ประสบความสำเร็จ เช่น เมืองพอร์ตแลนด์ ในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา และโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบีย (อย่าฝังใจว่าดีแต่ค้าโคเคนและฆ่าพนักงานของรัฐกันเป็นเบือ นั่นเป็นอดีต) การหันมาขี่จักรยานกันเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าให้พอใจกันแค่เป็น ‘ของเล่น’ ของผู้ใหญ่ (เป็น ‘ของเล่น’ สำหรับเด็กนั้นเหมาะสมอย่างยิ่ง) เท่านั้น กำนันต้องช่วยกันวางแผนให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน (พลเมืองและราษฎรด้วย) ส่วนใหญ่อย่างจริงจัง โดยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มุ่งให้คนขี่จักรยานเพื่องานอดิเรกและออกกำลังกายเป็นคนขี่จักรยานส่วนน้อย

มนุษย์รู้จักใช้ล้อเป็นเครื่องทุนแรงมากว่า 5,000 ปี สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ทั่วโลกในอดีตล้วนเป็นผลพวงจากการใช้ล้อทั้งสิ้น เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ทำไมเราไม่พยายามใช้ล้อให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองและสังคมในปัจจุบันบ้างเล่า

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 5 พ.ค.2558