ThaiPublica > เกาะกระแส > มหากาพย์ 10 ปี “ภารกิจซื้อรถเมล์ใหม่” – ลอตแรก 489 คัน ขสมก.มั่นใจลงนามกันยายนนี้

มหากาพย์ 10 ปี “ภารกิจซื้อรถเมล์ใหม่” – ลอตแรก 489 คัน ขสมก.มั่นใจลงนามกันยายนนี้

26 สิงหาคม 2015


นับเป็นมหากาพย์ที่กินเวลากว่า 10 ปี สำหรับ “ภารกิจจัดซื้อรถเมล์ใหม่” ของขสมก. มาทดแทนรถเมล์เก่าจำนวนกว่า 3,000 คัน ที่มีอายุการใช้งานสูงสุดเกือบ 30 ปี เสนอให้จัดซื้อตั้งแต่สมัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 2,000 คัน ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายสรุปที่ 3,183 คันในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่สามารถจัดซื้อได้จริง จึงต้องลุ้นกันต่อไปว่าในสมัยของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เข้ามารับไม้ต่อจะผลักดันได้สำเร็จหรือไม่

นางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารและรักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขสมก.
นางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารและรักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 นางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหาร และรักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ชุดแรกจำนวน 489 คัน จากจำนวนทั้งหมด 3,186 คันว่า จากที่ก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้อง กรณีที่บริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด ร้องเรียนเรื่องกระบวนการจัดซื้อไม่โปร่งใสกับศาลอาญาและศาลปกครองก่อนหน้านี้ ขณะนี้ทั้งศาลปกครองและศาลอาญาไม่รับฟ้อง โดยศาลตัดสินว่าผู้ฟ้องไม่ได้เกิดความเสียหาย แม้จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

ดังนั้นจะเหลือเพียงการพิจารณาจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ในวันที่26 สิงหาคม 2558 โดยถ้ากวพ.อ.มีมติว่าโครงการจัดซื้อโปร่งใส ขสมก.จะสามารถลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน ได้ในวันที่ 16 กันยายน 2558 และสามารถเริ่มรับรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ประมาณ 4-5 คัน ในปลายเดือนกันยายน 2558 และคาดว่าจะครบจำนวนทั้ง 489 คัน ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 โดยเลื่อนจากเดิมที่จะลงนามจัดซื้อได้ในเดือนพฤษภาคม 2558 และส่งมอบรถเดือนมิถุนายน 2558

นางปราณี กล่าวยืนยันอีกว่าโครงการจัดซื้อในครั้งนี้โปร่งใส เนื่องจากราคาที่ชนะประมูลของรถเมล์ที่จัดซื้อในครั้งนี้อยู่ที่ 3.5 ล้านบาทต่อคัน ต่ำกว่าราคากลางที่ประกาศไว้ที่ 3.65 ล้านบาทต่อคัน ทำให้ประหยัดไปได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อคัน ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับขสมก.

ส่วนข้อสรุปของรถเมล์ที่ต้องจัดซื้ออีก 2,694 คันว่าจะจัดซื้อเป็นรถเมล์เอ็นจีวีหรือรถเมล์ไฟฟ้ากำลังอยู่ในระหว่างศึกษา แต่ในเบื้องต้นอาจจะนำรถไฟฟ้ามาทดลองวิ่ง 500 คันก่อน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของคณะทำงานพบว่ารถเมล์ไฟฟ้ามีราคาที่แพงกว่ารถเมล์เอ็นจีวี ที่ราคากว่า 10 ล้านบาทต่อคันและมีจุดคุ้มทุนนานถึง 20 ปี จึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนักที่ขสมก.จะสามารถลงทุนจัดซื้อเองได้ แต่ถ้ามีแหล่งเงินจากที่อื่นหรือมีการผลิตภายในประเทศ ทำให้ราคาถูกลงอาจจะมีโอกาสมากขึ้นในอนาคต

“500 คัน เป็นแค่การศึกษาของคณะทำงานเท่านั้นเอง คือรถไฟฟ้าพลังงานมันประหยัดกว่า แต่ราคาตัวรถมันสูงไปถึงหลัก 10 ล้าน มันไม่คุ้มทุน ตรงนี้นโยบายของขสมก. คงจัดหาเอามาไม่ได้ เพราะรถเอ็นจีวีแค่ 3 ล้านกว่าบาทยังไม่ได้ซะที 10 กว่าล้านบาทจะได้ซักคันหนึ่งไหม โอกาสคงยาก ด้วยฐานะการเงินเอง ในฐานะผู้บริหารขสมก.ต้องบอกว่าคงไม่สามารถลงทุนเป็นรถไฟฟ้าเข้ามา เว้นแต่จะมีการลงทุนให้โดยไม่เรียกเงินคืน จะมีใครลงทุนให้ ตอนนี้ไม่มี แล้วถ้ารัฐลงทุนให้จะลงทุนมากไปหรือไม่ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายชัดเจนตรงนี้ แต่ตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคมเองให้ขสมก.นำเสนอว่ามีแนวทางอะไรบ้าง เรื่องจัดหารถเมล์ใหม่ ก็ต้องนำเสนอว่าเป็นแบบนี้ว่ารถไฟฟ้ายังไม่คุ้มกับการลงทุน” นางปราณี กล่าว

นางปราณี กล่าวต่อว่ากรณีที่ในอนาคตนำรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานจริงเบื้องต้นอาจจะมีปัญหาการบริหารจัดการ โดยเฉพาะปัญหาการชาร์ทแบตเตอรี่ที่ใช้เวลานานกว่ารถประเภทอื่นๆ ทำให้ต้องใช้สถานที่ชาร์ทไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งยังไม่เห็นแนวทางจัดการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ ส่วนการบริการประชาชนไม่คิดว่าจะมีปัญหา เพราะยังมีรถเมล์ที่ใช้น้ำมันกับรถเมล์เอ็นจีวีวิ่งอยู่ในระบบจำนวนมากอยู่ สามารถหมุนเวียนให้บริการได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ ในระหว่างรอทดสอบและกำหนดทิศทางการจัดซื้อรถใหม่ ทางขสมก.เสนอให้ซ่อมบำรุงรถเมล์ดีเซลเก่า มาช่วยเสริมการให้บริการก่อน จำนวน 600 คัน อายุ 14-24ปี ซึ่งแบ่งเป็นรถเมล์ธรรมดา 400 คัน และรถเมล์ปรับอากาศ 200 คัน โดยคาดว่าจะเริ่มซ่อมแซมได้หลังการรับรถเอ็นจีวีใหม่ชุดแรกแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการประชาชนมากนัก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สลจ.)ว่าจะต้องซ่อมอย่างไรและใช้งบประมาณเท่าใด แต่เบื้องต้นคิดว่าจะใช้งบจากเงินกู้ สำหรับรถธรรมดา 3 แสนบาทต่อคัน และรถปรับอากาศ 4 แสนบาทต่อคัน

ขณะที่ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด นางปราณีกล่าวว่าแผนงานที่ขสมก.ดำเนินการควบคู่ไปกับแผนการจัดหารถ จะมีเรื่องของการสร้างอู่รถเพิ่มเติมในเส้นทางที่มีปริมาณขนส่งหนาแน่น ช่วยลดภาระค่าเช่าอู่ในปัจจุบัน, มีการทำระบบ GPS โดยว่าจ้างสลจ.ทำการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2558 และเริ่มติดตั้งก่อนปีใหม่, มีการปรับปรุงเส้นทางจาก 200 กว่าเส้นทางเหลือเพียง 172 เส้นทาง แบ่งเป็นของขสมก.87 เส้นทาง ของรถเอกชนร่วมบริการ 85 เส้นทาง กำลังเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวง นอกจากนี้ หลังจากที่เอกชนร่วมบริการได้ย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับของกรมขนส่งทางบก(ขบ.) ทางขสมก.จะต้องปรับปรุงการให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้บริการประชาชนได้มากขึ้น

10 ปีจาก “ทักษิณ-ประยุทธ์” – ยังซื้อไม่ได้สักคัน

ทั้งนี้ เมื่อย้อนรอยมติคณะรัฐมนตรีพบว่าการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีได้เริ่มต้นในสมัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะรัฐนมตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ให้จัดหารถใหม่และนำรถเดิมบางส่วนมาซ่อมปรับเป็นรถปอ.และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ครม.ได้อนุมัติโครงการของขสมก.ให้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 2,000 คัน วงเงิน 23,500 ล้านบาท โดยจัดให้เป็นโครงการลงทุนพิเศษของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 กันนยายน 2549 โครงการได้ถูกพับไป

จนกระทั้งในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 อนุมัติให้เช่ารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 4,000 คัน ก่อนที่จะอนุมัติให้จัดซื้อเพิ่มอีก 1,757 คัน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ แต่ก่อนที่จะทำการเช่าและจัดซื้อ ได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยครม.ใหม่ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ให้กระทรวงคมนาคมกับขสมก.จัดทำแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการระบบขนส่งมวลชน ก่อนนำเสนอครม.เข้ามาใหม่ ต่อมาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 กระทรวงคมนาคมเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติให้ขสมก.ซื้อรถโดยสารสาธารณะใช้ก๊าซธรรมชาติ 3,183 คัน แต่อดีตรองนายก นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สั่งให้เสนอคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจพิจารณาก่อนนำให้ครม.พิจารณาต่อไป และในที่สุดหลังจากที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ มีมติเห็นชอบในหลักการแผนฟื้นูฯและการจัดหารถโดยสารเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ครม.ได้อนุมัติขสมก.กู้เงินในวงเงิน 13,162.2 ล้านบาทจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีและให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้พร้อมค้ำประกัน