ThaiPublica > คนในข่าว > IUCN ไทย เปิดวิถี “คนอยู่กับป่า” จาก “ป่าชุมชน” สร้าง “ป่าครอบครัว” สู่ better forest better life ป่าดีคนมีความสุข

IUCN ไทย เปิดวิถี “คนอยู่กับป่า” จาก “ป่าชุมชน” สร้าง “ป่าครอบครัว” สู่ better forest better life ป่าดีคนมีความสุข

30 สิงหาคม 2015


IUCN (International Union for Conservation of Nature) หรือในชื่อภาษาไทย คือ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมอื่นๆ และชาวบ้านในเขตอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย มาหลายสิบปีแล้ว มีเครือข่ายร่วมกับรัฐบาลในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบัน กระแสของการอนุรักษ์ “อย่างยั่งยืน” เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกออกมาพูดถึงมากมาย การพูดคุยกับตัวแทน IUCN ประจำประเทศไทย อย่าง ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ และนายธวัชชัย รัตนซ้อน เจ้าหน้าที่อาวุโสของ IUCN ทำให้เห็นอีกหนึ่งแนวคิดของการอนุรักษ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืน ที่ถูกแปรออกมาเป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่างๆ ที่เน้นการเข้าถึงและเข้าใจชุมชนเป็นสำคัญ

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทน IUCN ประจำประเทศไทย และนายธวัชชัย รัตนซ้อน เจ้าหน้าที่อาวุโสของ IUCN
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทน IUCN ประจำประเทศไทย(ซ้าย) และนายธวัชชัย รัตนซ้อน เจ้าหน้าที่อาวุโสของ IUCN(ขวา)

ไทยพับลิก้า: จริงๆ แล้วคนสามารถอยู่กับป่าได้หรือเปล่า แล้วจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

ดร.จำเนียร : กระแสอนุรักษ์แบบสุดๆ บอกว่าไม่ได้ หมายความว่าให้แยกออกมาโดยสิ้นเชิง ส่วนที่สุดๆ อีกอันหนึ่ง เขาก็บอกว่าทำอะไรก็ได้กับพื้นที่อนุรักษ์ หมายความว่ามนุษย์จะทำอะไรก็ได้ แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว แต่ถ้าหากว่าดีแล้วต้องเป็นทางสายกลางโดยที่มี integration ถือว่าการบูรณาการ ปรับความสมดุล ซึ่งผมคิดว่าตัวนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

ทีนี้ จะบูรณาการเข้ามาอย่างไร นั่นหมายความว่า เวลามีป่าก็ต้องมีคน มีคนก็ต้องมีป่า แต่จะไม่ให้ไปอยู่ในลักษณะของสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความสมดุล และเพื่อที่จะสร้างการบูรณาการนี้ คนส่วนใหญ่มองแค่กระพี้ มองแค่เปลือกที่อยู่ข้างนอก โดยที่เขาไม่เข้าใจส่วนลึกของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และต้องมองลึกๆ ว่า “อยู่ได้” นี่คืออยู่ได้อย่างไร เพื่อที่จะไม่มีผลกระทบที่เกิดขึ้น อยู่ได้โดยที่ต้องพึ่งพากัน ต้องเกื้อหนุนกัน ผมคิดว่านี่เป็นเทรนด์ของทั่วโลกที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่แยกออกมาโดยสิ้นเชิง

แต่การจัดการของหน่วยงานของรัฐยังเป็นในลักษณะของการที่เป็นการจัดการแบบแยกกันอยู่ระหว่างป่ากับคน ไม่ว่าป่าบกหรือว่าป่าเลน ลักษณะนี้แหละที่เป็นแบบ extreme เดินแบบสุดโต่ง เพราะฉะนั้น ถ้าหากพวกเราเข้าใจคอนเวปต์ทั้งหมดแล้ว พวกเราจะเข้าใจว่ามันยังมีความขัดแย้งกันอยู่

ไทยพับลิก้า: แล้วรัฐควรทำอย่างไร

ดร.จำเนียร :ประเด็นที่เห็นว่ามันมีปัญหาทุกวันนี้ก็คือกลไกเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารโดยหน่วยงานของรัฐยังไม่เปิดโอกาสหรือว่ายังไม่เข้าใจคำว่า partnership ซึ่งก็คือการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารด้วยกัน เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยาน เวลาที่เขารับผิดชอบเขาจะรับผิดชอบในลักษณะที่เป็นงานของรัฐ เป็นภารกิจของรัฐที่จะต้องดูแลป่า ดูแลอุทยาน โดยที่ไม่ได้ให้ชุมชน ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังแบบเป็นภาคี แบบนั้นก็เป็นปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน

หากตั้งพื้นฐานว่า คนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการที่จะบริหารจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะป่า จะน้ำ จะดิน หรืออากาศ สิ่งเหล่านี้จะปล่อยให้เป็นภารกิจเพียงของหน่วยงานของรัฐนั้นไม่ได้ เพราะว่าแนวโน้มในปัจจุบัน เพื่อการบริหารจัดการที่ยั่งยืนแล้วต้องอาศัยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าเรื่องทรัพยากรหรือเรื่องทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเรื่องทางสังคม อันนี้เราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่อยู่ในบริบทอื่นด้วย

ทีนี้ บทบาทของหน่วยงานของรัฐต้องช่วยกำกับดูแลและก็เอื้ออำนวย อันนี้คือหน้าที่ของรัฐ คือต้องเอื้อให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมให้เขาเข้ามามีบทบาท ทั้งในกระบวนการด้านกฎหมายและเงินทุนที่จะดึงชาวบ้านเข้ามา ผมยังเห็นว่าพลังของชุมชนนั้นยังมีอยู่มาก community power เพียงแต่ให้โอกาสเขาหรือเปล่าถ้าหากให้โอกาส ยอมรับอยู่ในศักดิ์ศรีเขา นั่นแหละพวกเราต้องทำมากกว่านี้มากกว่าในปัจจุบัน

ไทยพับลิก้า: ในฐานะคนทำงาน อย่างคุณธวัชชัย หลักการทำงานของ IUCN ในการลงไปในแต่ละพื้นที่

ธวัชชัย : ในช่วงหลังๆ มานี้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการที่ชุมชนมีวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติ รักษาป่า ใช้ชีวิตพอเพียง สิ่งนี้ก็คือเทรนด์ของการพัฒนา ในปัจจุบันนี้ที่เราพูดกันว่า recurrence ก็ตรงกับที่ในหลวงพูดว่า การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คือไม่ได้พัฒนาแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มองในองค์รวมของความต้องการ ทั้งคนทางธรรมชาติทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้วก็ทำตามบริบทของพื้นที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วก็ตอบสนองต่อภายในวิถีชีวิต เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก รู้ว่าเศรษฐกิจตลาดต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่ก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง เราก็ใช้แนวคิดนี้ในการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ต้องมีขบวนการใช้พื้นที่อย่างชาญฉลาด

ไทยพับลิก้า: กระบวนการใช้พื้นที่อย่างชาญฉลาดอย่างที่พูดถึงนั้นมีวิธีการอย่างไร

ธวัชชัย : ก็อย่างเช่น ในปัจจุบันนี้ พื้นที่อนุรักษ์นั้นตามกฎหมายคนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์อะไรได้อยู่แล้ว แต่เราอาจจะทำพื้นที่โดยรอบในการเอามาให้มีค่าต่างๆ มาปลูกในพื้นที่ของตนเองซึ่งก็ทำให้สามารถที่จะใช้ไม้ได้ เมืองไทยเรามีไม้สัก มีไม้นานาชนิด ถ้าคิดว่าการอนุรักษ์คือการไม่ใช้มันเลย ถามว่ามันฉลาดหรือเปล่า แต่ว่าเมื่อเราจะใช้กลายเป็นว่าเราก็ให้สัมปทานไปกับบริษัทไปตัดไม้

คิดดูง่ายๆ “ไม้” เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถตัดอะไรมันได้เลย หากเราส่งเสริมให้คนใช้ไม้ ผมคิดว่าเรานั้นจะมีต้นไม้มากขึ้นเพราะต้องปลูกทดแทน แต่ว่าต้องใช้ยังไงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าตะบี้ตะบันตัดแล้วไปปลูกยาง หรือในพื้นที่ที่มีไม้สักขึ้นดี ก็ไม่ได้ให้ปลูกไม้สักแบบ plantation ถ้าเราปลูกไม้สักด้วยแนวคิดเรื่องป่าครอบครัวนั้นสามารถทำได้ มีพื้นที่ 20 ไร่ แทนที่จะปลูกทั้งหมด 20 ไร่คุณเหลือไว้สัก 5-10 ไร่ หรืออย่างน้อยเริ่มต้นเพียง 1 ไร่ ทำในการสร้างป่าและความมั่นคงมันจะกลับคืนมาเองในอีกระยะยาว เมื่อมีป่าทุกอย่างก็จะกลับมา รวมทั้งรายได้ด้วย นี่ก็เป็นแนวคิดที่พยายามจะผลักดันและพูดคุย ทำงานกัน ทดลองกัน ก็คือแนวคิดที่จะอยู่กับป่าและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างชาญฉลาด

ป่าสัก

ปราชญ์ชุมชนก็เป็นอีกขบวนการที่ชุมชนพยายามที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ เราก็ช่วยกันดูแลกำหนดกฎระเบียบการใช้อะไรต่างๆ มันก็ยังไปไม่ถึงเรื่องของการใช้ไม้อย่างที่ผมว่าหรอก แต่แนวคิดแบบผมพูดนั้น ผมเชื่อว่ามีคนเห็นแล้วก็พยายามทำ แต่ว่าบางทีจะไปสู้กับแนวคิดอนุรักษ์แบบเขียวจัด ก็จะยากหน่อย

ตรงนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแนวคิดการอนุรักษ์เสียใหม่ เพราะว่า แค่การใช้กฎหมายกฎระเบียบในการรักษาไว้อย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องคิดถึงว่านวัตกรรมในการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์อย่างชาญฉลาดนั้นต้องทำอะไรได้บ้าง เมื่อเข้าใจตรงนี้ก็จะสามารถไปแก้เงื่อนไขของกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น คนทำงานอนุรักษ์ก็ต้องมีความยืดหยุ่นเหมือนกันในแง่ของแนวปฏิบัติ

ไทยพับลิก้า: ทราบว่ามีโครงการที่ดอยแม่สลอง เริ่มมาได้อย่างไร

ธวัชชัย : ดอยแม่สลองเดิมเป็นพื้นที่ที่เขาเรียกว่าพื้นที่สงวนทางทหาร เป็นพื้นที่ที่ทหารเขาขอใช้ประโยชน์จากป่าไม้ แล้วเป็นพื้นที่ค่อนข้างจะเสื่อมโทรม ตอนหลังเขาก็ต้องการที่จะฟื้นฟูพื้นที่เพื่อส่งคืนให้กับกรมป่าไม้ จึงมาหารือกับ IUCN ว่า จะทำอย่างไรดีที่จะให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ซึ่งตรงกับงานที่ IUCN สนใจอยู่พอดี ก็เลยไปทำที่นั่น ตั้งแต่ปี 2551

ก็เป็นงานที่ใช้พื้นที่นี้ เป็นที่เราลงไปทำงานแล้วก็สร้างความร่วมมือกับหน่วยในพื้นที่ โดยทำงานร่วมกับโครงการหลวง ทำงานร่วมกับอำเภอตำบลและชุมชน จนเป็นพื้นที่ที่มีตัวอย่างกิจกรรมสามารถจับต้องได้ ไปดูได้ ศึกษาได้ ในการทำกิจกรรมรักษาป่าทำอาชีพเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

ภายใต้แนวคิดที่ว่า คนอยู่กับป่า พึ่งพากันอย่างมีความสุข คือว่า ป่าไม่ได้มองแค่ตัวต้นไม้ แต่มองว่าป่ามันคือระบบนิเวศที่มีทั้งป่า มีทั้งดิน มีทั้งน้ำ มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสิ่งมีชีวิตหลากหลาย แล้วก็เกี่ยวข้องกับคนที่อาศัยอยู่ ดังนั้น โปรแกรมที่เราเข้าไปทำก็คือเราพูดถึงเรื่องป่าดีดินดีน้ำดีคนมีความสุขซึ่งเป็นโปรเจกต์หนึ่งที่ IUCN เข้าไปทำภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า life reverence landscape ก็คือ ชีวิตคนที่สัมพันธ์กับภูมินิเวศ

โดยมองหาว่า เขายังพึ่งพาอะไรจากป่าอยู่บ้าง เขายังใช้ประโยชน์อะไรจากไปอยู่บ้าง แล้วก็พยายามที่จะสนับสนุนให้มีการรักษาพื้นที่ตรงนั้น จัดการใช้ประโยชน์มันอย่างยั่งยืน ซึ่งมันก็มีพื้นที่ที่เคยถูกบุกรุกบ้าง ถูกใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสมบ้าง ก็มีการหารือกันว่าจะทำยังไงที่จะฟื้นฟูให้มันกลับคืนมา ที่สามารถจะทำหน้าที่เป็นป่าได้เหมือนเดิม

ไทยพับลิก้า: ดำเนินการอย่างไรให้คนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

ธวัชชัย : ในพื้นที่นั้นเราทำงานเป็นเรื่องของป่าต้นน้ำ แรกเริ่มเดิมทีคือตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ทางหน่วยงานอยากจะเอาพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ฟื้นฟูป่า คือเอาพื้นที่คืนมาแล้วปลูกป่าคืนให้รัฐ แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ว่าถ้าเอาพื้นที่ไปแบบนี้ทั้งหมดก็จะทำให้ลำบาก จะปลูกป่าไปทำไม ถ้าคนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

ฉะนั้น กระบวนการทำงานก็จะต้องมีการปรึกษาหารือกันว่า เราคิดว่าถ้าเราจะฟื้นฟูป่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเรื่องระบบนิเวศและเกิดประโยชน์กับวิถีชีวิตนั้น เราจะทำอย่างไร เราก็เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อดูว่าพื้นที่ตรงไหนเสื่อมโทรม แล้วถ้าเราจะฟื้นฟูเราจะฟื้นฟูอย่างไรเราจะปลูกต้นอะไร กำหนดกติกาในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาร่วมกันอย่างไร

เมื่อมีการหารือก็สามารถทำงานต่อได้ ในขั้นตอนของการเลือกพื้นที่ การคิดว่าพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไร จะปลูกต้นอะไร ต้นอะไรที่เคยมีอยู่เดิมในพื้นถิ่น ไม้ที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม้ที่สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าการเป็นต้นไม้ เขาเรียกว่าใช้แนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอะไรต่างๆ เข้าไป แล้วก็ทำเริ่มตั้งแต่หาพันธุ์ไม้เพาะพันธุ์ไม้ หาพื้นที่ปลูกต้นไม้ดูแลรักษาแล้วก็ใช้มันอย่างยั่งยืน

เพราะฉะนั้น เวลาทำเรื่องป่า ก็ต้องมองถึงไม่ใช่เฉพาะเรื่องป่าอย่างเดียวแต่ต้องมองไปถึงวิถีชีวิต ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ตรงนั้น ดังนั้น เราต้องมองเรื่องการเกษตรเพราะว่าการเกษตรสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์พื้นที่ การเกษตรที่เหมาะสมก็ทำในเรื่องของวนเกษตร ใช้แนวคิดการเกษตรยั่งยืนก็คือ การปลูกพืชผสมผสานหลายชนิดที่มันเกื้อกูลกัน เก็บเกี่ยวได้หลายฤดูเก็บเกี่ยวได้หลากหลายผลผลิต แทนที่จะปลูกพืชชนิดเดียว

ดังนั้น ก็เลยมีเรื่องของการปลูกกาแฟเสริมเข้าไปในป่า มีการทำแนวการป้องกันการพังทลายของดิน มีเรื่องของการปลูกพืชเหลื่อมกันอะไรอย่างนั้นเข้าไป แล้วก็ลามเข้าไปถึงเรื่องของการทำพืชผักที่ปลอดสารพิษ การทำการเกษตรที่ลดการใช้สารเคมีกลายเป็นการพัฒนาที่มีการทำหลายเรื่อง นอกเหนือจากเรื่องป่า

การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่ป่าชุมชน กรณีดอยแม่สลอง
การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่ป่าชุมชน กรณีดอยแม่สลอง

ไทยพับลิก้า: มีการเก็บข้อมูลยังไง

ธวัชชัย : เราก็มีการลงไปคุยกับชุมชนเข้าใจว่าชุมชนมีอยู่กันมากน้อยแค่ไหนเป็นข้อมูลพื้นฐาน ต่อมาก็คือทำแผนที่เรื่องการใช้ที่ดินของแต่ละพื้นที่ ว่ามีพื้นที่ป่าอยู่เมืองไหนมีบ้านอยู่ตรงไหนมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ยังไง แหล่งน้ำอยู่ตรงไหน เราก็ใช้แผนที่ตรงนี้หาว่าเราจะจัดการดูแลพัฒนาพื้นที่ยังไงให้ประโยชน์ยังไง อนุรักษ์ยังไง นี่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง เราใช้ตรงนี้ในการหารือ

เมื่อได้กิจกรรมก็ลงไปทำ เช่น เมื่อเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมนะ แต่นี่พูดถึงตั้งแต่ว่า งานตั้งแต่แรกที่ดอยแม่สลอง คือเมื่อพบว่าพื้นที่ตรงนี้บางคนอาจจะเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่ แต่เราเห็นว่าพื้นที่นี้น่าจะต้องเก็บไว้ให้เป็นป่าต้นน้ำ ก็ทำงานแบบขอแลกทั้งพื้นที่เลย แทนที่คุณจะไปทำอยู่บนพื้นที่นี้ที่ไม่ควรทำ ขอให้ลงมาทำอยู่ข้างล่างได้ไหม ที่ที่สามารถจะมีน้ำมาใช้ได้ทำนาขั้นบันไดต่างๆ หรือขอแลกที่ระหว่างชาวบ้านที่มีพื้นที่หลายแปลง หรือขอหยุดแปลงนี้หน่อยแล้วก็มาทำเฉพาะตรงนี้ แล้วก็ปลูกต้นไม้กันดูแลกัน

ไทยพับลิก้า: การเจรจาแบบนี้ยากไหม

ธวัชชัย : ก็ยากเหมือนกันครับ บางที่ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าในพื้นที่แบบนี้มันยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่มีอะไร เป็นที่ที่คนสามารถเข้าไปจับจองถือครอง บางที่เขาก็ไม่ยอมก็ปล่อยไปเราก็พยายามแสวงหาตรงไหนที่ทำได้ก็ทำ ตรงไหนที่ยังทำไม่ได้ก็เอาไว้ก่อน

ไทยพับลิก้า: ณ วันนี้ ในแง่ของหน่วยงานราชการเข้าใจประเด็นเหล่านี้หรือไม่

ธวัชชัย : ผมว่าก็โอเคนะ โดยเฉพาะรอบเขตมรดกโลก ตอนนี้เริ่มเห็นว่าการทำงานร่วมกับชุมชนมีความสำคัญ เพราะแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์

หรือแนวคิดที่ว่าต้องให้โอกาสชาวบ้านในการที่จะรักษาผืนป่า เช่น ดึงเขาเข้ามาทำงานเป็นผู้พิทักษ์ เหมือนกับคนที่อยู่โดยรอบ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี แทนที่จะเป็นศัตรูกัน หมายถึงว่าในแง่ของอุทยานหรือว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แทนที่จะถือปืนพิทักษ์เขตอย่างเดียว ก็ควรจะต้องพูดถึงเรื่อง การทำงานร่วมกันในพื้นที่ที่เป็นแนวกันชน (buffer zone) จะจัดการยังไง ทั้งหมดก็เป็นกระบวนการที่ผมคิดว่ามันต้องใช้การรู้จักกัน การเข้าใจกัน การหารือกัน การตัดสินใจร่วมกัน

ที่ผ่านมารัฐมักใช้กฎหมายเป็นตัวตั้งในการจัดการปัญหา แต่ในแนวคิดของ IUCN กลับคิดว่าอยากสื่อสารในมุมนี้มาก คือให้คนมีส่วนร่วมในการรักษาพื้นที่ แต่รูปแบบหรือวิธีการปฏิบัติก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ตามแต่ละเงื่อนไข เพราะบางแห่งชุมชนก็ไม่ใช่ว่าจะดีไปทั้งหมด เนื่องจากคนมีหลายประเภท คนที่แฝงอยู่ในชุมชนก็มีเยอะ พวกที่ต้องการจะเข้าไปล่า สัตว์ ตัดไม้ พวกนี้ก็เป็นอีกพวกหนึ่งที่จะต้องจัดการ แต่โดยรวมก็คือว่าถ้าเข้าใจชุมชนแล้วก็เชื่อว่าจะสามารถจัดการได้

ไทยพับลิก้า: มีการเข้าไปทำงานแบบนี้ในพื้นที่อื่นอีกไหม

ธวัชชัย : มีในพื้นที่จังหวัดสกลนครก็จะสำรวจพื้นที่ช่วยกันรักษาเราก็ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน มีการปลูกต้นไม้เสริมอะไรต่างๆ ลงไปแทนที่จะบุกรุกปลูกยางพารา

นอกจากนั้น IUCN ก็ทำงานกับพื้นที่รอบๆ มรดกด้วยที่มีพื้นที่กว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร ก็จะมีชาวบ้านเข้ามาบุกรุกบ้าง เนื่องจากแนวเขตไม่ชัดเจน IUCN ก็พยายามที่จะทำงานกับชุมชนในการรักษาพื้นที่รอบๆ มรดกโลก โดยให้ลดการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากร เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงทั้งด้านราคาตลาด และผลผลิต แล้วหันมาทำกิจกรรมที่เรียกว่า “ป่าครอบครัว” คือ ปลูกพืชหลากหลายชนิด ที่กินได้ทั้งไม้ผลไม้ยืนต้น ไม้พะยูง ไม้มีค่าต่างๆ ไว้สำหรับอนาคต เป็นเรื่องของการทำวนเกษตร ซึ่งเราเรียกว่าป่าครอบครัว เพราะว่าอยากให้เริ่มจากครอบครัวของตนเองที่มีที่ แล้วหาพันธุ์ไม้ที่กินที่ใช้ที่ขายได้ แล้วก็รักษามัน ซึ่งสุดท้าย เมื่อต้นไม้เหล่านั้นโตขึ้นมา ฟื้นฟูขึ้นมา มันก็คือการสร้างความมั่นคง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน

และในปัจจุบัน เราก็ได้ยินคนพูดกันว่าสภาพอากาศเปลี่ยน climate change คนจำเป็นจะต้องปรับตัว IUCN พยายามที่จะเข้าใจสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษา ว่าถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น สภาพการตกของฝนเปลี่ยนไป พืชบางอย่างอาจจะไม่ได้ผลผลิต แล้วคนจะปรับตัวอย่างไร

รวมไปถึงเรื่องสุขภาพ ก็มีการหารือกับชาวบ้าน เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปแลกเปลี่ยนกับความรู้ในท้องถิ่น คำนึงถึงแผนการปรับตัวของชุมชน (adaptation plan) แล้วเราก็ทำงานทดลองเก็บข้อมูลติดตามและเรียนรู้

ยกตัวอย่างของกิจกรรม เช่น เรื่องของการต่อสู้กับภาวะฝนที่ตกหนักแล้วจะทำให้น้ำไม่สะอาดเพราะว่าจะมีการปนเปื้อนของดินตะกอนและก็คุยกันถึงเรื่องการรักษาป่าพื้นที่ต้นน้ำ ทำเรื่องของน้ำสะอาด หรือว่าการที่อุณหภูมิสูงขึ้นก็อาจทำให้สัตว์เกิดโรคระบาดได้ง่ายขึ้น ก็หาวิธีการที่จะปรับปรุงพันธุ์ทดลองพันธุ์ เช่น เอาพันธุ์หมูดำมาเลี้ยง โดยเลี้ยงแบบหมูหลุม เอาปุ๋ยมาใช้ประโยชน์ลดการเผาแล้วก็ได้ผลผลิตที่ดีซึ่งเราก็เริ่มทำเป็นโครงการที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องที่เรียกว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

ทั้งหมดนี้เราก็เชื่อว่า การที่รักษาระบบนิเวศซึ่งก็หมายถึงป่านั่นเอง ทั้งป่าทั้งดินทั้งน้ำทั้งความหลากหลายทางชีวภาพก็คือคำตอบ เพราะป่าก็เป็นเหมือนหลุมหลบภัย เป็นเสมือนพื้นที่มั่นสำหรับให้คนได้พึ่งพิง หากเกิดอะไรต่างๆ ขึ้นอย่างน้อยก็มีแหล่งอาหารมีแหล่งน้ำสะอาด เป็นที่มาของ better forest better life ป่าดีคนมีความสุข