ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระร้อน “ครม.นายพล” ชง พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ยกเลิก” หรือ “อนุมัติ” ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่าป่ามรดกโลก ผ่านครม. 11 ชุด ในรอบ 19 ปี – ทำอีไอเอ. 7 ปี – ผ่านกรรมการมรดกโลก 8 ครั้ง

วาระร้อน “ครม.นายพล” ชง พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ยกเลิก” หรือ “อนุมัติ” ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่าป่ามรดกโลก ผ่านครม. 11 ชุด ในรอบ 19 ปี – ทำอีไอเอ. 7 ปี – ผ่านกรรมการมรดกโลก 8 ครั้ง

12 สิงหาคม 2014


1 ใน 13 คณะกรรมการระดับชาติ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน คือการประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 1 ใน หลายผลงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางธรรมชาติ ที่ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การมีมติ อนุมัติให้ดำเนินโครงการรก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 304 ตอน อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ภายใต้การประชุม ที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับมอบหมาย

โดยนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงมติการประชุม ว่า ได้มีการเห็นชอบโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ช่วงกิโลเมตรที่ 42-47 ซึ่งตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมทางหลวงเตรียมขยายเส้นทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร แต่ติดปัญหาต้องทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะอยู่ในเขตผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านการอนุมัติตั้งแต่สมัย รัฐบาลชวน หลีกภัย (มติคณะรัฐมนตรี 10 มกราคม พ.ศ. 2538) ผ่านการดำเนินการ ขออนุมัติงบประมาณ การวิเคราะห์โครงการ ในคณะรัฐมนตรีมาแล้ว 11 คณะ (รวมคณะรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหาร 19 กันยาย 2549) แต่มีการอนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมน ในคณะผู้บริหาร ที่มาจากการยึดอำนาจ (รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) รวมเวลาที่ยืดยื้อของโครงการนี้ ถึง 19 ปี

แผนที่ทางหลวง304

โดยมติที่ประชุม คสช. เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บริหารประเทศ วันที่ 29 กรกฏาคม 2557 (หลังมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผ่านไป 6 วัน) ได้อนุมัติแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนด้านพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 1 ในนั้นมีโครงการก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 304 รวมอยู่ด้วย

โดยรายละเอียดแผนงาน โครงการ จะถูกนำเสนอให้บรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่เตรียมพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรายการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 วงเงิน 2,997 ล้านบาท เป็นการอนุมัติทั้ง แผนงาน งบประมาณ และเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment : EIA ในรัฐบาลเดียวกัน

แม้การอนุมัติโครงการนี้ จะอ้างถึงการผ่านการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ถึง 8 ครั้ง ก่อนที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จะเห็นชอบรับทราบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีแถลงการณ์ จากกลุ่ม Greenpeace Southeast Asia (Thailand) ให้คณะรัฐมนตรี ที่กำลังจะมีการจัดตั้งขึ้นโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในปลายเดือนสิงหาคม 2557 ออกมติ “ยกเลิก” โครงการทางหลวง หมายเลย 304 ทันที และรัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อ กอบกู้สถานการณ์ด้านอนุรักษ์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้พ้นจาก “บัญชีรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย” (List of World Heritage in Danger) และให้รัฐบาลโดยกรมทางหลวงปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องยุติการเปิดเส้นทางอีกครั้งหรือการขยายถนนใดๆ ที่ตัดข้ามผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

กลุ่ม Greenpeace ยังเรียกร้องด้วยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องรับประกันการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่นและประชาชน ในการอนุรักษ์ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในฐานะเป็นแหล่งสงวนความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ระบบสนับสนุนค้ำจุนชีวิต แหล่งวิจัยและการศึกษาธรรมชาติ แหล่งสันทนาการและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ขณะที่นายชัชชาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง อธิบายความสำคัญของถนนสายนี้ว่า เป็นถนนที่มีอุบัติเหตุบ่อยและบางจุดเป็นคอขวด 2 จุด คือช่วง กิโลเมตรที่ 42-57 และกิโลเมตรที่ 26-29 ที่ตัดผ่านป่ามรดกโลก จึงต้องออกแบบอุโมงค์ให้รถลอดใต้อุโมงค์ และให้สัตว์ป่าข้ามไป-มา ระหว่างป่าได้ โดยกรมทางหลวงเตรียมขออนุมัติงบประมาณปี 2558 วงเงิน 2,997 ล้านบาท เพื่อเตรียมก่อสร้าง

ทั้งนี้ ข้อเสนอถึงความจำเป็นในโครงการนี้ เพื่อเป็นถนนที่เชื่อมเมืองที่เป็นหัวใจเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม จากภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังชายแดนกัมพูชา ที่จ.มุกดาหาร เป็นโครงข่ายขนส่งสินค้า ที่สำคัญ ในการท่องเที่ยว การรค้า และการลงทุน ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ไปยังตลาดอินโดจีนและตลาดโลก และเป็นการแก้ปัญหาจราจรแออัด ในช่วงเทศกาลและวันหยุดต่อเนื่อง ช่วงวันนักขัตฤกษ์

รายละเอียดของโครงการ ทางหลวงหมายเลข 304 ตอน อ.กบินทร์บุรี – อ.ปักธงชัย มีระยะทางตลอดเส้นทางประมาณ 110 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเป็นทางลำลองเมื่อปี พ.ศ.2498 ต่อมาในปี พ.ศ.2508 กองบัญชาการทหารสูงสุดร่วมกับหน่วยช่วยเหลือทางทหารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นทางลาดยาง

ต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2538 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เห็นชอบในหลักการที่จะก่อสร้างทางหลวงสายหลักทั่วประเทศให้เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมโยงภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเริ่มต้นจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีผ่าน อ.กบินทร์บุรีจ.ปราจีนบุรี ไปยัง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และจาก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ผ่านจ.อุบลราชธานี และไปสิ้นสุดที่ จ.มุกดาหาร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 860 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และยังมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ สู่ตลาดอินโดจีนและตลาดโลกด้วย

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 ในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช กรมทางหลวงได้ว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา อันประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท วิศวกรรมธรณีและฐานราก จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ศึกษาและสำรวจออกแบบ ทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 (ช่วงกม.26+000 – กม.29+000) และว่าจ้างบริษัท สยามเยนเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท พี.วี.เอส.-95 คอนซัลแต้นซ์ จำกัด บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท วิศวกรรมธรณีและฐานราก จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ช่วง กม.42+000 – กม.57+000)

ทางหลวง304

เอกสารรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “… โดยที่แนวเส้นทางช่วงดังกล่าวมีพื้นที่อนุรักษ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอยู่ทั้งสองฝั่งของถนน ได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่ทางฝั่งซ้าย และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอยู่ทางฝั่งขวา อุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งนี้อยู่ในเขตผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ นอกจากนี้แนวเส้นทางโครงการยังผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 1B ลุ่มน้ำชั้น 1 และ ชั้น 2 ซึ่งมีความอ่อนไหว ในการพัฒนาโครงการ จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วจึงนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบการอนุมัติ…”

“แนวเขตทางของโครงการในปัจจุบันและแนวเส้นทางส่วนขยายมิได้อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งแต่อย่างใด ยกเว้นในบริเวณส่วนต่อขยายจุดหยุดรถฉุกเฉินเพื่อให้การหยุดรถมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นช่วงกิโลเมตรที่ 44+800 จากเดิมที่มีความยาว 100 เมตร เป็น 200 เมตร ทำให้มีการล้ำเข้าไปในขอบเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน”

“ในการปรับปรุงจุดหยุดรถฉุกเฉิน สามารถใช้วิธีการทางด้านวิศวกรรมในการปรับปรุงให้จุดหยุดรถฉุกเฉินมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องทำการก่อสร้างล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดจะกำหนดให้การขยายหรือการปรับปรุงจุดหยุดรถฉุกเฉินดำเนินการอยู่ในเขตทางเท่านั้นโดยไม่ล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานแต่อย่างใด ดังนั้นการดำเนินการโครงการจึงไม่ขัดกับแนวทางการพิจารณาการก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า…”

ในช่วงรอยต่อจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องกับการยึดอำนาจของคณะคสช. มีการดำเนินงานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2555 ได้เชิญศูนย์มรดกโลก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มาติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 35

จากนั้นในระหว่างวันที่ 14 – 20 มกราคม 2557 ได้เชิญองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มาติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 โดยมีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงและให้ข้อมูล

โดยรัฐบาลไทยได้รายงานความคืบหน้าของโครงการขยายเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ในรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ ตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลกมาโดยลำดับ และในช่วงเดือนมีนาคม 2557 ได้รายงานต่อศูนย์มรดกโลกว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พร้อมจัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงหลักกิโลเมตรที่ 26-29

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กรมทางหลวงได้จัดทำแนวเชื่อมต่อผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการขยายถนนสาย 304 และนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ คณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะตามลำดับ ในที่สุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในยุค คสช. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ กรมทางหลวงจะเดินหน้าประกวดราคา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการประมาณภายในพฤศจิกายน 2557 ลงนามว่าจ้างผู้รับเหมาในเดือนธันวาคม 2557 และเริ่มเดินหน้าก่อสร้างต้นปี 2558 โดยโครงการนี้ได้ของบประมาณปี 2558 เป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี 3 ปี (2558-2560) วงเงินรวม 2,997 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน แล้วเสร็จในปี 2560

และเพื่อแก้ปัญหา เรื่องการเดินของสัตว์ป่า ในเขตอุทธยานแห่งชาติ โครงการนี้จึงออกแบบอุโมงค์ “แบบทางสัตว์ผ่าน” จะมีการก่อสร้างถนนเป็นทางยกระดับให้รถยนต์วิ่งด้านบนและสัตว์ป่าเดินลอดด้านใต้ ในบริเวณช่วง กิโลเมตรที่ 42+600 ถึง กิโลเมตรที่ 42+930 โดยออกแบบเป็นทางยกระดับ 2 สะพานคู่กัน สะพานแต่ละฝั่งมีช่องทางรถยนต์ 2 ช่องจราจร จักรยานยนต์ 1 ช่องทางและทางเท้า ติดตั้งแผงป้องกันเสียงดังรบกวนจากยานพาหนะต่อสัตว์ป่าตั้งแต่ กม. 42-43+080 รวมทั้งให้มีทางข้ามสำหรับสัตว์ที่อาศัยเรือนยอดต้นไม้ หรือ “สะพานลิง” (Monkey bridge) ด้านใต้ทางยกระดับของโครงการบริเวณ กม. 42+750 และ กม. 42+8004

วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ยุค “ครม.นายพล” จึงเต็มไปด้วยวาระร้อน ที่รอคอยการสะสาง และ 1 ในเมนูจานร้อน ของคณะรัฐบาลที่เบ็ดเสร็จ คือการ “ยกเลิก” หรือ “เดินหน้า” โครงการทางหลวงหมายเลข 304 ที่เดินทางผ่านครม.มาแล้ว 11 สมัย ในรอบ 19 ปี
อ่าน EIA ฉบับเต็ม

วาระทางหลวงหมายเลข 304 ถูกบรรจุเข้าพิจารณาในกรรมการมรดกโลก 8 ครั้ง

1.ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 10-17 มิถุนายน 2548 ณ เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยได้มีมติที่เกี่ยวกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ที่ผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน เห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลก ตามที่ราชอาณาจักรไทยนำเสนอ โดยที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกร้องขอให้ราชอาณาจักรไทยดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางเชื่อมต่อผืนป่าเพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของพื้นที่กลุ่มป่าฯ และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 31

2. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 31 ที่ประชุมมีข้อห่วงใยว่าการขยายถนน ทางหลวงหมายเลข 304 จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อบูรณภาพของระบบนิเวศ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ของแหล่งมรดกโลก รวมทั้งได้เรียกร้องให้ประเทศไทยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และความก้าวหน้าในการจัดทำแนวเชื่อมต่อผืนป่า เพื่อให้แน่ใจว่าการขยายถนนจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อแหล่ง และจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้ศูนย์มรดกโลก

3.การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 32 ที่ประชุมร้องขอให้ราชอาณาจักรไทยดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 พร้อมทั้งรูปแบบของทางเชื่อมผืนป่าและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ด้วย

4. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ที่ประชุมมีความกังวลในเรื่องการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและชนิดพันธุ์ในพื้นที่กลุ่มป่า รวมทั้งการเพิ่มอัตราการตายของสัตว์ป่าจากการข้ามถนน และเสนอแนะให้ไทยดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาทางเลือกในการออกแบบแนวเชื่อมต่อผืนป่าที่มีประสิทธิภาพต่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า เพื่อให้ครอบคลุมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาการขยายทางหลวงหมายเลข 304 เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการจัดทำแนวเชื่อมต่อผืนป่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของพื้นที่ในระยะยาว นอกจากการขยายถนนแล้วรัฐภาคีควรกำหนดและดำเนินการตามข้อเสนอการจัดทำทางเชื่อมต่อผืนป่าที่ดีที่สุดบนพื้นฐานของแนวคิดเชิงระบบนิเวศที่สำคัญ โดยการลดการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ให้น้อยลง และขอให้ราชอาณาจักรไทยจัดส่งสำเนา การรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 ให้ศูนย์มรดกโลก รวมทั้งทางเลือกแต่ละทางประกอบด้วยเหตุผลในการเลือกรูปแบบการขยายทางหลวงที่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของแหล่งมรดกโลก

5. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 35 ที่ประชุมรับทราบ การดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 และมีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการขยายเส้นทางดังกล่าว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงร้องขอให้ไทยเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์มรดกโลก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่เพื่อประเมินศักยภาพการขยายทางหลวงหมายเลข 304 ที่จะมีผลต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดกโลก

6. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 ที่ประชุมรับทราบว่า การดำเนินการการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 และร้องขอให้ไทย เร่งดำเนินการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับสมบูรณ์ และรายละเอียดแผนการเชื่อมต่อผืนป่า และการลดผลกระทบที่จะดำเนินการระหว่างการก่อสร้างและในระยะยาวเพื่อป้องกันการบุกรุก พร้อมทั้งให้ปฏิบัติการลดผลกระทบในส่วนของทางหลวงหมายเลข 304 รวมถึงถนนเส้นต่างๆ ที่ตัดผ่านแหล่งมรดกโลก

7. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่ประชุมรับทราบว่า การดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมจากการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 และเร่งให้ราชอาณาจักรไทยเร่งการก่อสร้างทางเชื่อมต่อผืนป่าที่มีประสิทธิภาพ ตามรายละเอียดของแผนงานและรายงานการวิเคราห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงการประเมินรายละเอียดทางเลือกอื่นๆ ที่แตกต่างและมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้เพื่อบรรเทาผลกระทบในระยะยาว พร้อมทั้งให้เชิญองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN) ติดตามตรวจสอบแหล่งก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 38 (พ.ศ. 2557) เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินการตามคำแนะนำข้างต้น

8. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 38 ที่ประชุมขอให้ราชอาณาจักรไทยดำเนินการและบังคับการจำกัดความเร็วและปฏิบัติการบรรเทาผลกระทบตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 รวมถึงให้จัดส่งรายละเอียดแผนปฏิบัติการที่จะบังคับใช้ในระยะยาวเพื่อป้องกันการบุกรุก ภายหลังที่ได้มีการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 ให้ศูนย์มรดกโลก ต่อไป