ThaiPublica > คนในข่าว > “แอนดริว ไวแอ็ตต์”เล่าโมเดลรัฐบาลเวียดนาม “Green Contract-MFF” คนอยู่กับป่า -ป่าอยู่กับคน” เพื่อการอยู่อย่างยั่งยืน

“แอนดริว ไวแอ็ตต์”เล่าโมเดลรัฐบาลเวียดนาม “Green Contract-MFF” คนอยู่กับป่า -ป่าอยู่กับคน” เพื่อการอยู่อย่างยั่งยืน

13 กันยายน 2015


“รัฐบาลเวียดนาม รู้ว่าความสามารถของเขาในการที่จะดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนเพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ ต้องมีประชาชนเข้ามาช่วยเหลือในการดูแลจัดการ รัฐบาลจึงได้นำประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลบริหารจัดการ ป่าชายเลน”

จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอแนวคิดคนอยู่กับป่า โดยผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ประจำประเทศไทยไปแล้ว ถึงแนวคิดและการดำเนินงานให้คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างเห็นผล

ดร.แอนดริว ไวแอ็ตต์ ผู้จัดการโครงการแม่โขงเดลตา ผู้แทน IUCN ประจำประเทศเวียดนาม
ดร.แอนดริว ไวแอ็ตต์ ผู้จัดการโครงการแม่โขงเดลตา ผู้แทน IUCN ประจำประเทศเวียดนาม

ไม่เพียงแต่ “ป่าบก” โครงการที่ IUCN เข้าไปร่วมมือกับรัฐและคนในท้องที่ให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนนั้นยังรวมไปถึง “ป่าชายเลน” โดยตัวแทน IUCN จากเวียดนาม ดร.แอนดริว ไวแอ็ตต์ ผู้จัดการโครงการแม่โขงเดลตา เป็นผู้บอกเล่าถึงการบูรณาการการใช้พื้นที่ป่าชายเลนในเวียดนาม

ปัจจุบันป่าชายเลนที่มีพื้นที่ประมาณ 2 แสนเฮกตาร์ (1.25 ล้านไร่) จากที่เคยลดลงต่ำสุดในช่วงปี 2540 เหลือประมาณ 1.5 แสนเฮกตาร์ (9.4 แสนไร่) โดยโครงการของ IUCN เข้าไปดูแลใน 3 พื้นที่ทางเวียดนามใต้ ได้แก่ เมืองก่าเมา เมืองจ่าวิญ และเมืองเบ็นแจ

ไทยพับลิก้า: ในประเทศเวียดนามมีวิธีจัดการและดูแลป่าโกงกางอย่างไร ให้มีความสมบูรณ์ ขณะที่คนก็ยังเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มนโยบายในการที่จะให้อำนาจคนในการจัดการดูแลพื้นที่ป่า ก็คือจัดสรรพื้นที่ป่าให้กับคนดูแลและอยู่อาศัย แล้วก็ได้ใช้ประโยชน์ด้วยภายใต้สัญญาที่มีชื่อว่า Household Forest Protection Contract หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Green Contract

รัฐบาลมีสำนักงานในระดับท้องถิ่น เรียกว่า Forest Management Board (FMB) ที่จะทำหน้าที่ดูแล เป็นประหนึ่งคู่สัญญา ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ทำสัญญาตรงนี้ร่วมกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น แต่ละครอบครัวจะได้รับจัดสรรพื้นที่ประมาณ 2-5 เฮกตาร์ ซึ่งปริมาณพื้นที่ที่เฉลี่ยให้แต่ละครอบครัวนั้นจะไม่เท่ากัน บางบ้านอาจจะได้ถึง 20 เฮกตาร์ บางบ้านอาจจะได้เพียง 5 เฮกตาร์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละพื้นที่ และลักษณะของประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน รวมทั้งการใช้พื้นที่ของผู้คนในบริเวณนั้น

ส่วน IUCN เริ่มเข้ามาทำโครงการเกี่ยวกับป่าชายเลนเสริมกับโครงการของรัฐบาลในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2554 ในโครงการ Mangroves and Markets ที่เมืองก่าเมา เป็นโครงการระหว่างปี 2554–2558 และในเมืองเบ็นแจกับเมืองจ่าวิญจะเป็นอีกโครงการหนึ่ง ชื่อโครงการ Mangroves for the Future (MFF) เป็นโครงการขนาดเล็กระหว่างเดือน มกราคม 2556 – กรกฎาคม 2558

ป่าโกงกางที่ IUCN เข้าไปดูแล
ป่าโกงกางที่ IUCN เข้าไปดูแล
เมืองก่าเมา จ่าวิญ เบ็นแจ (800x364)
เมืองก่าเมา เมืองจ่าวิญ เมืองเบ็นแจ

แต่ไอเดียนี้รัฐบาลเป็นคนคิดขึ้นมาเองว่าให้ป่ากับคน คนสามารถใช้พื้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่เนื่องจากคนเหล่านั้นอาจเป็นคนที่มีการศึกษาน้อย ไม่มีความรู้เฉพาะทางเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเขาก็ทำตามมีตามเกิดของเขา เมื่อเขาเห็นว่าพื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยก็จะเกิดการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงไปเรื่อย ต้องใส่ลูกพันธุ์เยอะเพื่อกำไรสูงขึ้น กลายเป็นพื้นป่าลดลงไป และผลผลิตที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพ

IUCN ก็เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนตรงนี้ รัฐบาลอาจจะไม่มีเวลาเข้ามาสนับสนุนเรื่องทางด้านเทคนิควิชาการ โดยแนะนำให้ชาวบ้านรู้ว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่จำเป็นต้องเลี้ยงชนิดพันธุ์เดียว สามารถทำได้หลายชนิดพันธุ์ อาทิ เลี้ยงปูทะเล หอยแครง หอยนางรม หรือสัตว์น้ำชนิดอื่น ที่สามารถทำให้เขามีรายได้ได้ ในช่วงที่เขายังเก็บเกี่ยวผลผลิตของกุ้งไม่ได้ ก็เกิดการหมุนเวียนของรายได้เกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า: 2 โครงการนี้ต่างกันอย่างไร

สำหรับโครงการ Mangroves and Markets เป็นโครงการที่มุ่งเน้นในเรื่องของการรับรองสัตว์น้ำอินทรีย์ ซึ่งโครงการนี้ในเมืองก่าเมาเริ่มมา 5 ปีได้แล้ว คาดว่าจะมีโครงการเฟส 2 เกิดขึ้นในพื้นที่เดิม แต่จะขยายพื้นที่การทำงานออกไป และจะดำเนินการขยายโครงการไปถึงเมืองเบ็นแจและเมืองจ่าวิญ

ส่วนโครงการ Mangrove for the Future ดูแค่เรื่องเทคนิคเฉพาะทางในการเพาะเลี้ยงเฉยๆ ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นการเพาะเลี้ยงแบบผสมผสานในพื้นที่ป่าชายเลน จากเดิมที่เลี้ยงตามระบบธรรมชาติธรรมดา จะเข้าไปเสริมว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น มีชนิดพันธุ์สัตว์น้ำมากขึ้น ยังไม่ได้เจาะจงไปถึงการรับรองคุณภาพกุ้งอินทรีย์

ไทยพับลิก้า: แล้วการให้ชาวบ้านเลี้ยงกุ้งในป่าชายเลนนั้นดำเนินการยังไง

สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนสัญญาสำหรับให้ดูแลพื้นที่ ทีนี้การให้ดูแลเฉยๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้ก็จะไม่มีแรงจูงใจ ดังนั้นเลยใช้รายได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ตรงนั้นมาเป็นแรงจูงใจเป็นค่าตอบแทนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ได้ประโยชน์จากป่าโดยตรงด้วย เป็นการอนุรักษ์การดูแลอย่างยั่งยืน

และในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตได้ใช้ทั้งหมดคิดเป็น 100 ส่วน มี 30% ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ในตัว Green Contract ก็จะระบุไว้ชัดเจนว่าเขาใช้ทำอะไรได้บ้าง กี่เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกัน อีก 70% ที่เหลือก็ต้องดูแลรักษาให้ดีด้วย

คือสมมติว่ามีพื้นที่สี่เหลี่ยมทั้งหมดที่ได้รับส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านทำก็คือ ขุดลอกเหมือนเป็นคลองอยู่รอบๆเกาะ ป่าอยู่เป็นเกาะตรงกลาง ก็คือพื้นที่ 70% ที่ว่า ส่วนอีก 30% ก็คือคลองรอบๆที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือจะทำในรูปแบบยกร่องปลูกผัก เพียงแต่ทำเป็นร่องของต้นไม้แทน ซึ่งลักษณะของแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน บางพื้นที่สมมติว่าในตำบลที่ 1 พื้นที่ป่าโกงกางเดิมที่มีอยู่ อาจเป็นพื้นที่ที่ถูกตัดถางเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของชาวบ้านที่ได้รับพื้นที่ไป ก็จะต้องปลูกกลับมาให้ได้ 70% ในพื้นที่ที่ได้รับไป ส่วนอีก 30% ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกัน สมมติว่าอีกตำบล 1 มีพื้นที่รวม 100 เหมือนกันแต่พื้นที่ 100 ทั้งหมดของเขามีป่าเต็มทั้งหมด ในป่าทั้งหมดคุณเอาออกได้แค่ 30% ส่วนที่เหลือก็ต้องดูแลให้ดี

ดังนั้น สุขภาพของป่าชายเลนแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน ความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน แต่ว่าทุกคนจะต้องทำให้ถึงเป้าของตัวเองว่าจะต้องมีพื้นที่ป่า 70% แล้วก็ใช้ได้แค่ 30%

ไทยพับลิก้า: แล้วสัญญามีกำหนดเวลาไหม

มีครับ เมื่อก่อนนี้จะเป็นสัญญา 5-20 ปี คือชาวบ้านแต่ละคนจะได้ระยะเวลาไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังทำเรื่องที่จะเปลี่ยนให้ทุกคนได้ระยะเวลาในการอยู่ในพื้นที่ 20 ปีเท่ากันทั้งหมด เกษตรกรก็จะมั่นใจได้มากขึ้น ว่าการลงทุนไปในพื้นดินแห่งนี้จะสามารถอยู่กับเขาไปได้ 20 ปี เขาจะรู้สึกมั่นคงมากขึ้นกับการลงทุน ถ้าครอบครัวนั้นดูแลผืนป่าได้ดีตามกฎกติกาภายใต้สัญญา green contract ให้ดี รัฐบาลก็จะต่อสัญญาให้อีก 20 ปี หากดูแลป่าได้ตามจำนวนที่สัญญาว่าไว้ ก็จะได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ต่อได้

ไทยพับลิก้า: มีกรณีที่ชาวบ้านโดนยกเลิกสัญญาบ้างไหม

ส่วนหนึ่งของป่าโกงกางในเมืองก่าเมา
ส่วนหนึ่งของป่าโกงกางในเมืองก่าเมา

ก็มีบ้าง สำหรับครอบครัวที่ไม่ทำตามกฎกติกาหรือข้อสัญญาที่ได้ระบุไว้ ก็คือคุณจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการต่อสัญญาอีก แล้วเขาก็จะให้สิทธิ์ในพื้นที่นี้กับคนอื่น

นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ตรงที่ว่าสมมติว่าให้ครอบครัวที่หนึ่งนั้นอยู่ แล้วสมมุติ จบสัญญาครบ 20 ปีเขาก็ต้องย้ายออก ก็เป็นปัญหาเหมือนกันในการที่จะหาครอบครัวที่ 2 ไปอยู่ต่อ มันเกิดปัญหาภายในกันเองว่าจะทำยังไงให้ชาวบ้านครอบครัวที่ 2 มั่นใจได้ว่าเมื่อเขามาอยู่แล้วมันคุ้มจริงมันมั่นคงจริงในระยะยาว ความรู้สึกของความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในที่ดินแห่งนั้นมันยังไม่มี

ไทยพับลิก้า: แล้วคนที่ถูกย้ายออกไปต้องไปอยู่ที่ไหน

ก็คือมันยังไม่มีทางแก้ไขที่ดีที่สุด และก็ยังไม่กระจ่างนักตรงที่ว่าเราย้ายคนที่ 1 ออกไปแล้วจะทำอย่างไรต่อ คำว่าคนที่ได้รับการคัดเลือกให้มาอยู่ในพื้นที่แต่ละพื้นที่เป็นคนยากจน เป็นคนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม คนเหล่านี้จะถูกคัดเลือกให้มาอยู่ในที่ดินเรานั้น แต่ทีนี้ พอครบ 20 ปีแล้วย้ายเข้าออก ตรงที่ว่าเพราะเขาไม่สามารถทำตามกติกาที่วางไว้ได้ แล้วจะให้เขาไปอยู่ไหนต่อล่ะ ตรงนี้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนสำหรับปัญหานี้

ไทยพับลิก้า: แนวคิดตรงนี้ได้มาจากไหน

คือในอัตรา 70:30 ที่ว่าไม่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว แล้วแนวคิดเรื่องการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าได้ก็เป็นการพัฒนาควบคู่กันมากับสัญญา Household Forest Management Contract และการที่สัญญาไม่มีค่าตอบแทนมันไม่มีผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับโดยตรงจากการดูพื้นที่ป่า แนวคิดนี้ก็เลยเกิดและเจริญเติบโตขึ้นมา ส่วนสัดส่วนพื้นที่ 70:30 หรือ 50:50 หรือ 60:40 มันไม่มีคำตอบตายตัว แล้วแต่ว่าคุณจะเน้นพื้นที่ป่า หรือเน้นพื้นที่เพาะเลี้ยง

ยกตัวอย่าง บางพื้นที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเป็นที่ดินที่มีประโยชน์ เจ้าของพื้นที่สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ของตน ในพื้นที่ดินตรงนั้นก็จะกลายเป็นว่าหากเจ้าของต้องการจะมีพื้นที่ป่าเพียง 20% แล้วทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 80% ก็สามารถทำได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขณะเดียวกันคนที่อยู่ภายใต้ Green Contract ก็ต้องทำตาม สัดส่วนที่กำหนดไว้

แล้วการออกแบบก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วยว่าพื้นที่นั้นเหมาะที่จะมีต้นไม้เยอะหรือเหมาะจะเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงมากกว่า ดังนั้น ลักษณะของน้ำเข้าน้ำออก หรือลูกพันธุ์ตามธรรมชาติ ตัวแปรที่จะทำให้สัตว์น้ำในพื้นที่สูงขึ้นมาจากอะไรบ้าง บางทีพื้นที่ป่าเยอะไปสัตว์น้ำอาจจะอยู่ได้ไม่เยอะก็ได้ ขณะเดียวกัน บางพื้นที่มีต้นไม้เยอะลูกพันธุ์สัตว์น้ำอาจจะเยอะก็ได้ ดังนั้นมันไม่เหมือนกัน ไม่มีรูปแบบตายตัว

ไทยพับลิก้า: ในสัญญา Green Contract ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ อีกไหม

อีก 1 เงื่อนไขหนึ่งของ Green Contract ชาวบ้านสามารถใช้สอยพื้นที่ป่าจากการตัดไม้โกงกางหรือไม้ในป่าชายเลนเอาออกไปขายได้เมื่อต้นไม้มีอายุมากพอ เช่น อายุ 12 ถึง 15 ปี

เขาแบ่งที่ดินการทำประโยชน์จากป่าชายเลนเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ในกฎหมายของเวียดนามก็ได้กำหนดไว้ว่า ส่วนที่ติดทะเลจะเป็นส่วนของ greenbelt นับจากแนวตรงนี้เข้าไปในพื้นที่เป็นระยะ 300-500 เมตร กฎหมายได้ว่าไว้ห้ามมีการเพาะเลี้ยงเด็ดขาด ห้ามทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องแนวชายฝั่งกัดเซาะ เพราะไม่มีแนวป้องกันตามธรรมชาติ

ถัดมาเป็นส่วนตรงกลาง ตรงนั้นเรียกว่า protection zone ตัดบางส่วนได้ แล้วต้องปลูกคืน แต่ห้ามตัดทั้งหมด ถัดไปอีกเป็น production zone ส่วนนี้เจ้าของพื้นที่จะตัดทั้งหมดก็ได้ แต่จะต้องปลูกทดแทนกลับมา เป็นจัดการหมุนเวียนการใช้สอยต้นไม้ ถัดเข้ามาเป็น economic zone ที่เพาะเลี้ยงกุ้งเชิงพาณิชย์ เป็นที่ดินของเอกชน

การกัดเซาะชายฝั่งที่เบ็นแจ
การกัดเซาะชายฝั่งที่เบ็นแจ
การแบ่งพื้นที่ป่าชายเลนในก่าเมา
การแบ่งพื้นที่ป่าชายเลนในก่าเมา

นี่เป็นตัวอย่างของเมืองเบ็นแจ ที่มีการโซนนิ่งเช่นกันแต่เป็นกฎการโซนนิ่งที่ไม่เข้มงวดเท่าที่ก่าเมา จะเห็นได้ว่า การมีฟาร์มเลี้ยงกุ้งอยู่หลังแนวเขตชายฝั่งโดยตรงเลยนั้นจะเห็นผลกระทบ ก็คือว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2549–2558 แนวชายฝั่งถูกกัดเซาะลึกขึ้นเรื่อย จากภาพจะเห็นได้ว่าในปี 2015 การกัดเซาะจะกินเข้าไปถึงบริเวณบ่อเลี้ยงตรงนั้นเลย กลับกลายเป็นว่าพื้นที่เพาะเลี้ยงของเขาจะหายไปด้วย

นี่เป็นความผิดพลาดของการแบ่งเขตการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งที่ก่าเมาถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการจัดการชายฝั่ง มีการโซนนิ่งที่เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนที่เบ็นแจนั้นจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของการจัดการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้การเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในเบ็นแจอย่างไรบ้าง

โครงการในระยะที่ 2 ของโครงการ Mangroves to Markets จะเข้าไปร่วมศึกษาปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งกับตัวรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อไปศึกษาเรื่องปัญหาลักษณะของป่าชายเลนว่าเป็นอย่างไร แล้วก็จะนำมาหารือแนวทางแก้ไขต่อไป

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการจัดการโซนนิ่งใหม่ทั้งหมด ให้ผู้ที่อยู่ติดชายขอบทะเลย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกว่านี้ คือห่างจากชายฝั่งประมาณ 300 เมตร เป็นอย่างน้อย ไม่ให้ไปอยู่ติดชายฝั่งทะเลขนาดนั้น และจะทำการฟื้นฟูป่าชายเลนใหม่ด้วยการศึกษาชนิดพันธุ์ของต้นไม้ในป่าชายเลน แล้วช่วยให้ป่าพื้นฟูตามธรรมชาติ รวมถึงเข้าไปปลูกป่าเสริมอีกด้วย

แต่ปัญหาก็คือ เวลาที่คนเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ป่า เขามักจะปลูกพรรณไม้เพียงชนิดเดียว (Mono Species) เช่น ปลูกต้นโกงกางใบเล็ก ก็จะปลูกแต่โกงกางใบเล็ก เพียงชนิดเดียวในพื้นที่นั้น ซึ่งตามหลักความจริงแล้วนั้นมันไม่ใช่ มันมีความหลากหลายมากกว่านั้น เพราะความสามารถของโกงกางใบเล็กมันไม่สามารถต้านทานกับกระแสน้ำกระแสลมที่พัดเข้ามาสู่ชายฝั่งได้ ดังนั้น นี่คือชนิดพันธ์ุที่ไม่ควรจะมาอยู่บริเวณหน้าแนวชายฝั่งที่จะมีแรงปะทะจากลมจากคลื่น ต้นโกงกางจะไม่เหมาะ

ควรจะเป็นพวกตระกูลแสมที่จะมาอยู่ในบริเวณนั้นมากกว่า เพราะรากของมันจะ ชอนไชลึก ยึดเกาะหน้าดินได้ดีกว่า และเหมาะที่จะรับกระแสลมที่พัดเข้ามาบริเวณชายฝั่ง ส่วนโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ นั้นเหมาะที่จะอยู่ด้านในมากกว่า ป่าชายเลนก็จะมีโซนของมัน จะมีโซนที่อยู่ติดทะเลส่วนกลางและส่วนที่อยู่ข้างในลึกๆ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องศึกษาชนิดพันธุ์และลักษณะภูมิศาสตร์ของมันด้วยว่า มันเหมาะที่จะเจริญเติบโตอยู่ตรงไหน

ไทยพับลิก้า: การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งใช่ไหม

ก็จะมีตัวนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้ออกกฎหมายว่าคำว่าการดูแลอนุรักษ์พื้นที่ทางชายฝั่งต้องเป็นพื้นที่ใด ขนาดเท่าใด ก็จะมีนโยบายมาจากเบื้องบน ซึ่งได้มีการกำหนดไว้แล้วว่าแนวชายฝั่งหมายถึงการที่มีพื้นที่นับตั้งแต่แนวน้ำขึ้นมาประมาณ 500 เมตร

ไทยพับลิก้า: แล้วปัญหาเรื่องการกัดเซาะของชายฝั่งมาจากไหน

ส่วนใหญ่แล้วปัญหามาจากผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นพื้นที่ 300-500 เมตร ที่รัฐจำกัดให้เป็นแนวชายฝั่ง คนเหล่านั้นอยู่มาก่อนนานแล้ว อยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายใดๆ ดังนั้น เมื่อเขามีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเขาก็จะสามารถทำอะไรก็ได้บนที่ดินของเขา พอมีกฎหมายประกาศออกมาว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับการปกป้องดูแล รัฐบาลเองก็ไม่มีเงินมากพอที่จะไปชดเชยให้คนเหล่านั้นย้ายออกไปและหาที่อยู่ใหม่ให้พวกเขา เลยทำไม่ได้ เขาก็เลยยังอยู่ตรงนั้นต่อไป

ไทยพับลิก้า: แล้วการเลี้ยงกุ้งแบบอินทรีย์เริ่มได้ยังไง

อย่างที่บอกคือ IUCN เข้ามาเสริมชาวบ้านในเรื่องเทคนิคการเพาะเลี้ยง และการที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ชาวบ้านมีอยู่ ก็คือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์ หรือที่เรียกว่า Organic Aquaculture และอีกวิธีที่นำมาใช้กับเกษตรกรที่มีสัญญากับรัฐบาล ก็คือ Organic Certification ที่เป็นการรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำแบบอินทรีย์ จากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากสากล

หน่วยงานที่เวียดนามใช้ เป็นหน่วยงานที่มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อที่จะเป็นการรับประกันราคาและควบคุมการผลิตให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เกษตรกรทำนั้นเป็นมาตรฐานแบบอินทรีย์ แล้วภายใต้ลักษณะการผลิตแบบนี้จะได้ Premium Price ถือเป็นราคาพิเศษที่ไม่เหมือนกับในตลาดทั่วไป

และภายใต้เงื่อนไขของ Organic Certification เขียนไว้เลยว่าจะต้องมีพื้นที่ป่าอย่างน้อยที่สุดคือ 50% ถ้าชาวบ้านอยากมีมากกว่านั้นก็ได้ เมื่อนั้นถึงจะได้ Premium Price จากผลผลิต

ส่วนหนึ่งของการใช้พื้นที่ป่าโกงกางในเมืองก่าเมา
ส่วนหนึ่งของการใช้พื้นที่ป่าโกงกางในเมืองก่าเมา

นอกจากนี้ เกษตรกรต้องมีสมุดบันทึกประจําป่า แล้วก็ต้องผ่านการฝึกอบรมตามระเบียบวิธีการของการทำฟาร์มออร์แกนิกด้วย รวมทั้งลูกพันธุ์กุ้งที่ได้มาก็ต้องได้มาจากบ่อเพาะที่ได้รับมาตรฐานอินทรีย์

ไทยพับลิก้า: การทำฟาร์มแบบนี้ได้ผลเชิงเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ในเรื่องของผลตอบรับจากลูกค้า จากที่บริษัทมินฟูได้ทำการตลาดไปก็ได้รับการตอบรับที่ดี ลูกค้าชอบ แต่ปัญหาก็คือราคาที่เพิ่มจากกุ้งธรรมดาทั่วไป 10% เป็นข้อจำกัดตรงที่ว่าเมื่อราคาสูงขึ้นลูกค้าเดินขึ้นตามไม่ไหว

ส่วนของพื้นที่ที่จะทำการขยายออกไปในจำนวน 70,000 เฮกตาร์ ตรงนี้นั้น หนึ่งในการศึกษาผลก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการจะต้องดูเรื่องการตลาดด้วย ว่าจะนำกระบวนการใดๆ ทางการตลาดที่จะนำมาใส่แล้วเหมาะสมต่อการขยายการผลิตกุ้งอินทรีย์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าหากผลิตออกมาแล้วไม่มีตลาดรองรับหรือราคาสูงไปไม่มีใครซื้อแล้วจะขายใคร

ไทยพับลิก้า: แล้วผลเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการโครงการนี้

ก็คือว่า ผลทางเศรษฐกิจและสังคม ผมมองว่าจะมีแต่ผลทางบวกที่จะเพิ่มขึ้น เริ่มจากเรื่องของสังคมก่อน คือ ครัวเรือนที่จะเข้ามาในโครงการก็จะเป็นส่วนการันตีรายได้ของชาวบ้าน ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้น โครงการนี้จะช่วยให้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 40% จะเพิ่มเป็น 50% ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการที่ยั่งยืนมากขึ้น และเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ถูกจัดสรรให้กับคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย คนยากจน คนไม่มีที่ดินทำกิน ก็ถือว่าเป็นการทำให้คนเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ผลในเชิงลบนั้นจะเห็นเฉพาะช่วงเริ่มโครงการเท่านั้น จากที่ป่าชายเลนตรงนั้น คนตรงนั้นยังไม่ได้รับการบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็จะเกิดการเสื่อมโทรมของทรัพยากร แต่เมื่อโครงการนี้เข้าไปดำเนินการแล้ว ผลทางบวกที่จะได้อันดับแรกคือความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกร มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร

แต่ก็จะมีข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ กลายเป็นว่าคนใกล้ชิด เช่น เรารู้จักคนในหน่วยงานของกรมป่าไม้ หรือคนในรัฐบาลท้องถิ่น กลายเป็นว่าสิทธิเหล่านั้นถูกจัดสรรให้กับบุคคลใกล้ชิดกับบุคคลที่มีอำนาจจัดสรร ตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ ซึ่งต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิเหล่านี้ไปให้ถึงคนที่เขาต้องการพื้นที่จริงๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการอนุญาตให้ใช้สอยทรัพยากร นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไข และรับมือกับตรงนี้ให้ได้เพื่อทำให้ผลกระทบตรงนี้ลดลง