ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์หั่นเป้าจีดีพีลงอีกเหลือ 3% – ปัจจัยหนุนชะลอหมด

สภาพัฒน์หั่นเป้าจีดีพีลงอีกเหลือ 3% – ปัจจัยหนุนชะลอหมด

17 สิงหาคม 2015


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้าย) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายปรเมธี วิมลศิริ (ขวา) รองเลขาธิการ สศช.

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ว่าขยายตัวได้ 2.8% ลดลงเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 3% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังของปี 2557 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.2% และ 1.6% ตามลำดับ

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวถึงรายละเอียดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐตามความคืบหน้าของการเบิกจ่ายโครงการลงทุนที่สำคัญ ประกอบกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมไปถึงการลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลกและการอ่อนค่าเงินของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ ชะลอตัวลงและทำให้การส่งออกของภูมิภาคปรับตัวลดลงเป็นวงกว้าง ไม่เป็นเฉพาะเพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ประเทศไทยยังมี 4 ปัจจัยช่วยสนับสนุน 1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยคาดว่าในครึ่งปีหลังจะมีเม็ดเงินเบิกจ่ายอีก 1.6 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบ 2) ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์สูงและคาดว่าจะแตะที่ระดับ 30 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา 1 ล้านคน 3) การอ่อนค่าของเงินบาทช่วยภาคการส่งออก และ 4) ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีอุปสรรค 1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำและเสี่ยงที่จะผันผวนอย่างต่อเนื่อง 2) ประเทศคู่ค้าที่มีค่าเงินอ่อนมากกว่า 3) ราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งสามปัจจัยยังกดดันให้ภาคส่งออกยังชะลอตัวไปอีกสักระยะหนึ่ง 4) ภาวะภัยแล้งจะส่งให้การผลิตภาคเกษตรได้รับผลกระทบลดลง 3-4% โดยเฉพาะข้าวที่จะมีผลผลิตลดลง 6-10 ล้านตัน และทำให้จีดีพีลดลง 0.3-0.5% และ 5) การส่งผ่านของนโยบายการเงินยังค่อนข้างล่าช้า และสถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

จากปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับประมาณการจีดีพีลงจาก 3-4% หรือเฉลี่ย 3.5% ในครั้งที่ผ่านมา เหลือเพียง 2.7-3.2% หรือเฉลี่ย 3% นอกจากนี้ ยังปรับลดประมาณการของการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชน จาก 3.8% และ 2.3% เหลือเพียง 1.8% ขณะที่การส่งออกยังคงไม่ฟื้นตัวและถูกปรับลดประมาณจาก 0.2% เป็นหดตัว -3.5%

“อาคม” หนุนเอกชนลงทุน – ยัน “ลงทุนรัฐ-ท่องเที่ยว” เพียงพอชดเชยส่งออก

นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะเศรษฐกิจข้างหน้าไทยยังจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวขึ้นไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือญี่ปุ่น มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่ดูจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเพียงประเทศเดียว ส่งผลกระทบต่อการการส่งออก อย่างไรก็ตาม ถ้ารวมการส่งออกของภาคบริการคือภาคการท่องเที่ยวของไทยด้วยจะพบว่าด้านตัวเงินจะช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่หดตัวไป 5.5% ได้พอดี และทำให้โดยรวมการส่งออก “สินค้าและบริการ” ครึ่งปีแรกขยายตัว 1%

นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยที่มาจากภาครัฐผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2558 ถึง 30.9% เทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ที่หดตัวไปกว่า 10.9% ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติออกพระราชบัญญัติเรียกคืนงบประมาณที่คาดว่าจะเบิกจ่ายไม่ได้กลับมาประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ก่อนจะนำไปจัดสรรให้โครงการอื่นที่พร้อม ทำให้จะเป็นเม็ดเงินอีกก้อนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ในส่วนของภาคเอกชน แม้ว่าบางส่วนจะมีกำลังการผลิตเหลือ แต่ควรต้องวางแผนไปข้างหน้าและลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันภาวะการเงินได้ผ่อนคลายลงจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งติดต่อกันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการลงทุนของเอกชนถูกลง ประกอบกับภาครัฐได้พยายามส่งเสริมและช่วยเหลือการลงทุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสนับสนุนในรูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พยายามผลักดันอยู่

ด้านนายปรเมธี กล่าวถึงบริโภคของเอกชนว่า ยังขยายตัวไปได้แต่อาจจะไม่เต็มที่ สืบเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรที่ไม่ดี อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ไม่กล้าบริโภคเต็มที่ ส่วนการลงทุนของเอกชน สามารถมองได้ 2 ด้าน 1.เกี่ยวกับการแสวงหาโอกาสลงทุนในประเทศไทย ส่วนนี้ยังลงทุนอยู่ เห็นได้จากภาคก่อสร้างขยายตัวตาม โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐพยายามเร่งทำและเปิดประมูลดึงเอกชนเข้ามา และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่ยังขยายตัวทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าโครงการ 2. เอกชนที่มีกำลังการผลิตเหลือ อาจจะชะลอการลงทุน แต่ภาพรวมที่การลงทุนยังเพิ่มขึ้นมาได้ทุกวันนี้คาดว่าเพราะเอกชนเห็นโอกาสการลงทุนมากกว่า เช่น เห็นสินค้าราคาถูก เห็นวัสดุก่อสร้างราคาถูก จึงมองเป็นลักษณะโอกาสการลงทุน และลงทุนเพิ่ม

ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างช้าๆ ตามที่ ธปท. คาดไว้ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงบ้าง แต่ถือว่ามีเสถียรภาพท่ามกลางรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของ สศช. ที่ร้อยละ 2.7-3.2 ถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด ซึ่ง กนง. มองว่าแม้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนอาจจะต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรกได้ แต่ในรูปของอัตราการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสน่าจะเป็นการปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ

ดูเพิ่มเติม: แถลงข่าวQ2/2558 และแนวโน้ม 2558