ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดสูตรรัฐบาลพลิกโฉมภาคใต้ ศูนย์กลางพลังงาน-สะพานเศรษฐกิจ โฟกัสอ.สิชล นครศรีธรรมราชเป็น eco-industrial estate

เปิดสูตรรัฐบาลพลิกโฉมภาคใต้ ศูนย์กลางพลังงาน-สะพานเศรษฐกิจ โฟกัสอ.สิชล นครศรีธรรมราชเป็น eco-industrial estate

9 มกราคม 2012


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ทำการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อกำหนดเขตความพร้อม ในการลงทุนทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน และท่องเที่ยว

ไฮไลท์สำคัญที่สภาพัฒน์วางไว้ มุ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบายรัฐ ได้แก่ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และปิโตรเคมี, การสร้างสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ ตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย, ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ของกรมเจ้าท่า และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ค้างคามาหลายรัฐบาล

ประมาณการมูลค่าและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายฝั่งทะเลใต้ช่วง 15 ปีข้างหน้า

โดยในผลการศึกษา มีการระบุพื้นที่สำหรับโครงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไว้ที่จังหวัดชุมพร ซึ่งมีความเป็นไปได้ในเชิงศักยภาพ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติที่จะขยายตัวโดยเฉพาะในฝั่งอ่าวไทย

อย่างไรก็ตาม บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี เห็นว่า ทางสภาพัฒน์ยังไม่ควรนำวาระการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาพิจารณาในขณะนี้ เพราะจากการลงไปสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านพบว่า มีการต่อต้านอย่างหนัก นำโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ อีกทั้งหลังจากเกิดเหตุสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

บริษัทที่ปรึกษายังแนะนำว่า ภาครัฐยังควรมียุทธศาสตร์พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเชื่อมโยงท่อก๊าซไปยังประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และประเทศอื่นๆ

รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจากลม ซึ่งมีความเป็นไปได้ในพื้นที่นอกชายฝั่งทะเลสาบสงขลา โดยมีระยะเวลาประมาณ 5 เดือนต่อปี แต่ต้องลงทุนสูง และต้องเปรียบเทียบกับการอนุรักษ์พื้นที่เพื่อทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว

“ควรกระจายแหล่งผลิตพลังงานจากที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกไปยังภาคใต้ เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน” ผลการศึกษาระบุ

สำหรับโครงการตามนโยบายรัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ที่ดำเนินการแล้วและอยู่ในความสนใจของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์น ซีบอร์ด ครอบคลุม 5 จังหวัด คือสุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนกลางให้เป็นฐานการผลิตน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป ตลอดจนพัฒนาเมืองให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการดึดดูดให้เกิดกิจการต่อเนื่อง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

โดยกระทรวงพลังงานเสนอให้พัฒนาบริเวณอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐนิเวศ (eco-industrial estate) ประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง, อำเภอบ้านนาเดิมและเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไฮเทค หรืออุตสาหกรรมที่มีมลพิษน้อย นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์ บริดจ์) เชื่อมโยงระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทยด้วยระบบคมนาคมขนส่งร่วมแบบผสมผสาน ได้แก่ท่าเรือน้ำลึก และท่าเทียบเรือน้ำมันทั้ง 2 ฝั่ง

2.โครงการพัฒนาท่าเรือปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศด้านตะวันตก เป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา สามารถรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้โดยตรง จะช่วยให้การค้าด้านอันดามันขยายตัวอย่างมาก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมปากบารา แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ภาครัฐจะต้องมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งถนน รถไฟ การขนส่งทางท่อ และสถานีรวบรวมตู้สินค้า ในลักษณะแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงกับท่าเรือสงขลาด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 กรมเจ้าท่าได้ส่งหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอเพิกถอนพื้นที่อุทานแห่งชาติหมู่เกาเภตรา เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ้างถึงมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 ที่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเลระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาทบทวนและปรับรูปแบบการก่อสร้าง ให้เป็นท่าเรือเอนกประสงค์รองรับการขนส่งสินค้าและสนับสนุนการท่องเที่ยว

3.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จากกรุงเทพถึงตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระยะทาง 982 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งสองประเทศได้เห็นชอบร่างกรอบเจรจาความร่วมมือไปแล้ว โดยภาพรวมจะช่วยส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้การขนส่งสินค้า เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมันและผลไม้ สู่จีนได้สะดวกขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์จากมาเลเซียมาที่กรุงเทพ เพื่อกระจายไปสู่ตลาดต่างๆได้อย่างรวดเร็ว

โดยขณะนี้ยังต้องรอการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการพิจารณาเรื่องขนาดของรางและเส้นทาง ที่ทางสภาพัฒน์เกรงว่าจะมีการซ้ำซ้อนกันหลายโครงการ อีกทั้ง ในส่วนของรัฐบาลชุดนี้ก็จะมุ่งเน้นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานเป็นลำดับแรก

4.โครงการสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ เป็นการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าการลงทุนด้านท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ไฮไลท์สำคัญที่สุดของโครงการนี้คือการสร้างสะพานน้ำมัน (oil bridge) ท่าเรือน้ำลึก และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสองฝั่งทะเล ซึ่งในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้บริษัทดูไบ เวิลด์ ไปศึกษา ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ปัดฝุ่นมาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

โดยจากการศึกษาพบว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องสร้างสะพานน้ำมันและสะพานเศรษฐกิจในคราวเดียวกันหรือพึ่งพากันอย่างชัดเจน สามารถสร้างแบบคู่ขนานกันไป ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในพื้นที่แห่งเดียว และอาจลงทุนตามลำดับความจำเป็นของโครงการก่อน

5.การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณจังหวัดสงขลาและเมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดาห์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) เพื่ออุตสาหกรรมหนักทั้งไทยและเมเลซีย โดยจะเป็นเขตการผลิตเพื่อส่งออกชนิดโรงงานเดี่ยว (Single Factory EPZ) พร้อมตั้งคณะกรรมการอิสระจากภาครัฐ ซึ่งน่าจะมาจากการนิคมแห่งประเทศไทย เพื่อมาบริหารจัดการพื้นที่

นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ จะต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ผลการศึกษาที่เกิดขึ้นทำให้ทราบว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่กว่าจะผ่านจุดนั้นไปได้ก็ต้องเกิดการยอมรับของประชาชนด้วย

ในส่วนของนโยบายรัฐบาล ที่เคยแถลงเอาไว้ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ก็คงต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหากทำได้ ก็ต้องเดินหน้าโครงการ เพราะถือเป็นเรื่องที่ทางการเมืองหาเสียงเอาไว้ แต่หากไปไม่ได้ก็คงต้องหยุดชะลอไว้ก่อน

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ในแผนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ยังไม่มีความชัดเจน เราได้เขียนแผนการพัฒนาพลังงานสะอาดเอาไว้แบบกว้างๆ ไม่ได้ลงลึก คงต้องมีการพิจารณากับหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เรื่องความมั่นคงพลังงานต่อไปด้วย

ขณะที่นายสมชาย ศักดาเวคีอิศร ที่ปรึษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒน์ ยอมรับว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของภาคประชาชนที่เข้มแข็งมาก หลายโครงการที่ลงไปสำรวจความคิดเห็นเกิดกระแสการต่อต้าน ทั้งที่เป็นแค่การศึกษายังไม่มีการดำเนินโครงการใดๆทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้ สภาพัฒน์ ได้ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านต่อโครงการสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ตามนโยบายรัฐบาล ล่าสุด ก็พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน

นายสมชาย กล่าวว่า แนวโน้มที่แผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้จะเกิดได้ก่อนก็คือการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรูป ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์มากกว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนที่สนใจมาลงทุนก็รับทราบแล้วว่าโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย

“เมื่อทิศทางเป็นอย่างนี้เราอาจจะก้าวกระโดดจากเป้าหมายพัฒนาภาคอุตสาหรรมไปสู่ภาคบริการเลย เพราะชาวบ้านต้องการอย่างนั้นก็เป็นได้ เพราะเขาคิดว่าการท่องเที่ยวทำรายได้ดีกว่า”นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ ในรายงานผลการศึกษาของบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี ระบุว่า หากไม่มีโครงการขนาดใหญ่หรือนโยบายการพัฒนาเฉพาะด้านที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของภาคใต้แล้ว สัดส่วนการผลิตหรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

หมายความว่าโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพ และการจ้างงานของภาคใต้อาจลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่กันไปใน 3 ส่วน ระหว่างการลงทุนภาคเกษตร บริการ และอุตสาหกรรมให้เกิดความสมดุล