ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์เผยจีดีพีปี’57 โตแค่ 0.7% แต่การลงทุน ส่งออก ส่งสัญญาณฟื้นชัดเจน คาดปีนี้โต 3.5 – 4.5% จี้ลดดอกเบี้ยช่วย

สภาพัฒน์เผยจีดีพีปี’57 โตแค่ 0.7% แต่การลงทุน ส่งออก ส่งสัญญาณฟื้นชัดเจน คาดปีนี้โต 3.5 – 4.5% จี้ลดดอกเบี้ยช่วย

17 กุมภาพันธ์ 2015


นายอาคม เติมพิทยาพสิฐ(ซ้าย) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)
นายอาคม เติมพิทยาพสิฐ(ซ้าย) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ว่าขยายตัว 0.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคของครัวเรือน และการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งขยายตัว 2.8%, 0.3% และ 1.1% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกและการลงทุนโดยรวม ยังหดตัวที่ -0.3% และ -2.8% ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวลง -6.7% เหลือเพียง 24.8 ล้านคน

สำหรับความกังวลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน นายอาคมกล่าวว่า เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยขยายตัวได้ 2.3% เทียบกับ 3 ไตรมาสก่อนหน้าที่ไตรมาสแรกหดตัว -0.5% ก่อนจะกลับมาขยายตัว 0.4% และ0.6% ในสองไตรมาสถัดมา

ขณะที่การลงทุนได้ขยายตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ที่ 3.2% จากที่ก่อนหน้านั้นหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีแรงส่งจากการขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ขยายตัวสูงถึง 329.2% เป็นมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท สูงสุดตั้งแต่มีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2546 ขณะที่ด้านการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน ได้ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส

เช่นเดียวกับการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว อาศัยแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของส่งออกของสินค้าหมวดอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 88.7% ของการส่งออกรวม โดยเติบโตสูงถึง 3.1% จากที่หดตัว 0.3% และ 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังหดตัว -8.4% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ ส่งผลให้โดยรวมในไตรมาส 4 การส่งออกกลับมาขยายตัว 1.5% หลังจากที่หดตัวในไตรมาสที่ผ่านมา -1.7%

ทั้งนี้ เมื่อดูตลาดส่งออกในปัจจุบันของไทย พบว่าสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอาเซียน กลับมาขยายตัวอย่างชัดเจน จากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 3.4%, 1.1% และ -14.4% เป็น 7.2%, 5.2% และ 14.6% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปและจีน หดตัวจากไตรมาส 3 ที่ 2% และ -6.3% เป็น 1.7% และ -15.3% ในไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ

“โดยรวมเศรษฐกิจปี 2557 ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 อย่างชัดเจน ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2558 คาดการณ์ว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากไตรมาสแรกปีที่ผ่านมาจีดีพีหดตัวไป -0.5% ดังนั้นถ้าแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเริ่มก่อสร้างได้ รวมไปถึงผลผลิตเกษตรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอ้อยที่ออกมาช้า ซึ่งรวมกันจะทำให้จีดีพีโตไตรมาสแรกสูงกว่าปีที่แล้วแน่นอน” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ในปี 2558 สภาพัฒน์ยังคงประมาณการจีดีพีที่ 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุน 6 ด้าน คือ 1) การฟื้นตัวของการส่งออกตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 2) การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว 3) แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2557 หลังจากที่หดตัวมา 4 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงก่อนหน้านี้ 4) การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนได้ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.7% ของจีดีพี 5) การเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะก่อหนี้ผูกพันได้ตามเป้าหมายภายในเดือนมีนาคม 2558 และ 6) การปรับตัวเช้าสู่ภาวะปกติของปริมาณการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ ซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการเติบโของเศรษฐกิจในรอบ 3 ปี หลังจากมาตรการรถคันแรกสิ้นสุดไป

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงและข้อจำกัดอีกหลายด้าน ได้แก่ 1) การปรับตัวของการผลิตสินค้าเกษตร เนื่องจากการลดลงและมีแนวโน้มจะทรงตัวของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เป็นข้อจำกัดของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนได้ 2) ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความผันผวนได้มาก 3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินต่างประเทศจากผลของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจต้องมีต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงมากขึ้น

“พอลดดอกเบี้ยลงไปๆ แบงก์ชาติจะบอกว่าเดี๋ยวหมดหน้าตัก พอคราวนี้อย่างที่เห็น ถามว่าจีดีพีของเรามันไม่ใช่ว่า 5-6% มันยังไล่เลี่ยแบบนี้ ปี 2557 0.7% ปี 2558 อยู่ที่ 3.5-4.5% ถามว่าเราปกติไหม ก็ไม่ค่อยปกติ มันค่อยๆ ฟื้น แต่ส่วนใหญ่เราจะตอบสนองต่อตัวเลขจีดีพีเร็วเกินไป อย่างพอจีดีพีบวกขึ้นมา ก็เริ่มบอกว่าดอกเบี้ยตอนนี้เหมาะสมแล้ว ไม่ขึ้น แต่ก็ไม่เห็นว่าได้เข้ามาช่วยเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เขาต้องการเม็ดเงินมากกับดอกเบี้ยที่ถูก เพราะฉะนั้น ภาคธุรกิจต้องการเงิน ถ้าเราช่วยลดต้นทุนได้ เขาจะมีความเข็มแข็ง เริ่มต้นธุรกิจได้” นายอาคมกล่าว