ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3-4% ห่วงการเมืองลากยาวกระทบ “งบฯ ปี ’58-ท่องเที่ยว-ลงทุน”

สภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3-4% ห่วงการเมืองลากยาวกระทบ “งบฯ ปี ’58-ท่องเที่ยว-ลงทุน”

17 กุมภาพันธ์ 2014


สศช. รายงานจีดีพีไตรมาส 4/2556 ขยายตัว 0.6% และทั้งปีโตเพียง 2.9% จาก 6.5% ในปีก่อน ผลจากอุปสงค์ในประเทศลดลง ประชาชนขาดความเชื่อมมั่น และคาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 3-4% ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 4-5% หวัง “ส่งออก” โต 5-7% เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ห่วงการเมืองยืดเยื้อกระทบ “งบฯ ปี ’58-ท่องเที่ยว-ลงทุนภาครัฐและเอกชน”

จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมประท้วงShutdown Bangkok ทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ไม่สะดวกในการแถลงข่าวข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ของปี 2556 และจีดีพีทั้งปี 2556 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2557 ได้ตามปกติ ณ ที่ทำการของสศช.จึงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และส่งอีเมล์ถึงผู้สื่อข่าว

อุปสงค์ในประเทศฉุดจีดีพีปี 2556 โต 2.9%

ที่มา : สศช.
ที่มา: สศช.

สศช. รายงานตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 4 ของปี 2556 ขยายตัว 0.6% โดยเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวจากไตรมาส 3 ของปี 2556 0.6% และทั้งปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.9%

สศช. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2556 ขยายตัว 2.9% ชะลอตัวค่อนข้างมาก จากที่ขยายตัว 6.5% ในปี 2555 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศรวมชะลอตัวลงมาก ประกอบกับในช่วงปลายปีความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง การใช้จ่ายของครัวเรือนโดยรวมทั้งปีขยายตัวเพียง 0.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.8% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.3%

ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการยังชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว รวมทั้งสินค้าเกษตรส่งออกประสบปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง และสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตหน่วยความจำของฮาร์ดดิสก์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยทั้งปี 2556 มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 225,397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 0.2%

ทั้งนี้ การใช้จ่ายและการส่งออกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตในทุกสาขาชะลอลงทั้งปี 2556 โดยภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.4% ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 0.1% ภาคการก่อสร้างขยายตัว 1.2% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัว 12.1% โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.6%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพที่มั่นคง โดยที่อัตราการว่างงานทั้งปีเท่ากับ 0.7% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.6% ต่อ GDP

หวัง “ส่งอออก” ดันจีดีพีปีนี้โต 3-4%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 สศช. ปรับประมาณการจีดีพีลดลงจากเดิม 4-5% เป็น 3-4% เนื่องจากความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง

ทั้ง สมมติฐานการประมาณการจีดีพีปี 2557 ในครั้งนี้ สศช. คาดว่า (1) เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.6% (2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 102.5–107.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ (3) ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สศช. ระบุว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557 คือ การส่งออกที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสขยายตัวได้ 5–7% ซึ่งจะเป็นฐานรายได้และปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้

ที่มา : สศช.
ที่มา: สศช.

ห่วงการเมืองฉุด “ท่องเที่ยว-ลงทุนภาครัฐ-เอกชน”

ส่วนการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2557 จะมีจำนวนประมาณ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ต่ำกว่าสมมติฐาน 28 ล้านคนที่เป็นเป้าหมายของทางการและเป็นสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาของ สศช. เนื่องจากผลกระทบจากการประกาศของประเทศต่างๆ ที่แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวของตนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นเพียง 0.06%

ด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2557 จะเท่ากับ 92% ซึ่ง สศช. ปรับลงจากที่คาดไว้เดิม 95% เนื่องจากการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม ทั้งในส่วนของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนามคม 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีความล่าช้า ซึ่งจะทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียงบางส่วนเท่านั้นในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อาจจะมีความล่าช้าออกไป นอกจากนั้น นักลงทุนรายใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะรอดูความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.8% ต่ำกว่าที่ประมาณการเดิม 5.8%

ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 1.4% ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าการขยายตัว 0.2% ในปี 2556 ต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวรวมทั้งยังมีผลจากฐานปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ที่สูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสแรกและสองของปี 2557 จะยังคงลดลงประมาณ 38–48% และ 20–30% ตามลำดับ

อ่านฉบับเต็ม ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2556 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่ 4/2556