ThaiPublica > เกาะกระแส > คมนาคมแจง ICAO ปัก “ธงแดง” ไทย เตรียมเชิญสายการบินหลักทดสอบมาตรฐาน ลอตแรก 9 ก.ย.นี้ “จรัมพร”ชี้ไม่กระทบแต่ถูกตรวจเพิ่มหลายเท่าตัว

คมนาคมแจง ICAO ปัก “ธงแดง” ไทย เตรียมเชิญสายการบินหลักทดสอบมาตรฐาน ลอตแรก 9 ก.ย.นี้ “จรัมพร”ชี้ไม่กระทบแต่ถูกตรวจเพิ่มหลายเท่าตัว

20 มิถุนายน 2015


เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization :ICAO) “ติดธงแดง” ประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO หลังจากกรมการบินพลเรือนไม่สามารถแก้ไขปัญหา “ข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัย” (Significant Safety Concerns : SSC) ได้ภายในกำหนดเวลา 90 วัน

วันที่ 19 มิถุนายน 2558 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม
วันที่ 19 มิถุนายน 2558 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ที่กระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม อาทิ นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม,นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม,นางปาริชาต คชรัตน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อสื่อมวลชน

“อาคม”แจงผลการหารือ ICAO

นายอาคม ระบุว่า กรณี ICAO ปักธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO นั้น ถือว่าเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติของICAOซึ่งไม่มีผลในทางลบเพิ่มเติมต่อธุรกิจการบินของไทย

“ข้อมูลสถานะของไทยเป็นข้อมูลเดิมที่ประเทศภาคีของ ICAO รับทราบแล้ว ICAO จึงขอให้ไทยดำเนินการแก้ไขตามแผน CAP ในช่วง 90 วันที่ผ่านมา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ได้เห็นถึงความจริงจังและความต่อเนื่องในการแก้ไขของไทย และจะส่งผลด้านบวกแก่ไทยแม้จะมีการติดธงแดงก็ตาม” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ICAO ยังให้ข้อแนะนำแก่ฝ่ายไทยในการดำเนินการต่าง โดยเฉพาะการว่าจ้างผู้ตรวจสอบ ซึ่งกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้อัตรากำลังมาทั้งหมด 48 อัตรา และปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบ การออกใบรับรองใหม่ให้แก่สายการบิน ทางกรมการบินได้นำข้อแนะนำเหล่านั้นมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

ส่วนท่าทีของ ICAOในขณะนี้ นายอาคมกล่าวว่า ทาง ICAO มีความพึงพอใจต่อความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาของไทย โดยมีการรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเป็นระยะๆ และรัฐบาลไทยได้ส่งบุคคลในระดับรัฐมนตรีไปหารือกับ ICAO ถือเป็นการแสดงเจตนารมย์ และความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่ ICAO ตรวจพบ

“ผมแจ้งให้ ICAO ทราบว่า ครม.อนุมัติงบประมาณและอัตรากำลังพลให้ บพ. เป็นกรณีพิเศษ พร้อมกับรายงานความคืบหน้าในการแก้ไข (Corrective Action Plan : CAP) ให้ ICAO รับทราบอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้าง บพ.และตารางกำหนดการต่างๆ ที่ชัดเจน ซึ่งทาง ICAO พร้อมให้ความช่วยเหลือไทยทุกด้าน โดยเฉพาะด้านวิชาการ และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำแก่ฝ่ายไทย” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวต่อว่า ไทยได้มีการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนการแก้ไข SSC เป็นประจำ ซึ่งเป็นการรายงานผ่านระบบออนไลน์ของ ICAO ที่ประเทศสมาชิกภาคีสามารถรับทราบการรายงานดังกล่าวด้วย เพียงแต่ว่าในรายละเอียดรายงานความก้าวหน้านี้ไม่มีการนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ

ด้านพล.อ.อ.ประจิน ชี้แจงว่าจากการตรวจสอบของ ICAO ที่ผ่านมานั้น มีหัวข้อสำคัญในการตรวจทั้งหมด 1,016 ข้อ ในจำนวนนี้มีประเด็นที่ต้องแก้ไข 850 ข้อ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มงาน ได้แก่การออกกฎหมาย (Legislation),โครงสร้างองค์กร (Organization),การออกใบอนุญาต (Licensing),การดำเนินการ (Operations) ด้านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการบิน (Airworthiness),การสอบสวนอุบัติเหตุ (Accident Navigation) การให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service) และสนามบินขนาดเล็ก (Aerohrone)

“กลุ่มงานด้าน Operations ไทยสอบไม่ผ่าน 33 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย กรณี SSCในเรื่องการขนส่งสินค้าอันตราย และการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

icao

icao

จากการสอบถามเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวในกรมการบินพลเรือน ระบุว่า การให้คะแนนของ ICAO ในด้านต่างๆ จะสูง หรือต่ำไม่มีผลต่อการปรับลดมาตรฐาน หากข้อบกพร่องที่ตรวจพบไม่ได้เป็นข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญ (SSC)

“จากกราฟที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ไทยได้คะแนนในส่วนของ Operations สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ยังมีข้อพกพร่องที่มีนัยสำคัญ ซึ่งหากไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก็จะถูกปรับลดมาตรฐานลง”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาไทยเคยได้รับการเตือนเรื่องการขนส่งสินค้าอันตรายเมื่อปี 2552 และ 2554 แต่ในช่วงเวลานั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลาที่กำหนด จึงไม่ถูกติดธงแดง อย่างไรก็ตาม การที่ไทยถูกปรับลดมาตรฐานครั้งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหามากขึ้น

จากข้อมูลในเว็บไซต์ ICAO นั้น นอกจากไทยแล้วยังมีอีก 12 ประเทศที่ถูกติดธงแดง ได้แก่ บอตสวานา เซียร์ราลีโอน แองโกลา จอร์เจีย จิบูตี อุรุกวัย เลบานอน คาซัคสถาน มาลาวี เนปาล เอริเทรีย และเฮติ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐาน SSC ในด้าน Operations

อ่านรายละเอียดการจัดอันดับเพิ่มเติมที่นี่ 

ชี้คำตัดสิน ICAO ไม่มีผลต่อการพิจารณาของ FAA

สำหรับการหารือกับองค์กรบริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา(Federal Aviation Administration : FAA) นายอาคม กล่าวว่า กรณี ICAO ตรวจพบข้อบกพร่อง SSC ของไทยนั้น ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวให้ FAA ได้รับทราบมาโดยตลอด จึงไม่มีผลต่อการพิจารณา หรือ การตัดสินใจของ FAA (คลิ๊กภาพเพื่อขยาย)

ICAO

ทั้งนี้ ICAO ถือเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลกติกาการบินของโลก ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการบินมีระบบตรวจสอบที่มีมาตรฐาน และมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องดูผลการตรวจสอบของ ICAO เป็นพื้นฐาน

“กรณี FAA กำลังจะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของ ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะผลจาก ICAO ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ FAA เนื่องจากการพิจารณาของ FAA จะตรวจสอบเฉพาะโครงการ IASA (Under the International Aviation Safety Assessment) เท่านั้น ซึ่ง ทาง FAA พร้อมให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และความร่วมมือทางด้านวิชาการกับประเทศไทย” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวต่อไปว่า ตนและคณะยืนยันกับ FAA ถึงการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร และได้รายงานถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินไทย มีประเด็นที่ FAA แสดงความเป็นห่วง คือ ปัจจุบันท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เริ่มแออัด  เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นข้อจำกัดที่ ICAO และ FAA ตรวจพบ ซึ่งอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน และระบบการกำกับดูแล ยังไม่ได้สัดส่วนกัน

“นโยบายตรึงอัตรากำลังพลของรัฐบาล ทำให้การกำกับดูแลทำได้ไม่ทั่วถึง ทาง FAA รับทราบปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ผมได้รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ICAO ให้ FAA รับทราบ โดย FAA จะติดตามการแก้ไขปัญหาของไทยผ่านทางเว็บไซต์ของ ICAO ต่อไป” นายอาคมกล่าว

ก่อนหน้านี้องค์การการบินยุโรป หรือ EASA ได้เชิญตัวแทน บพ.และการบินไทย เดินทางไปชี้แจงแล้วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง EASA พอใจต่อผลการชี้แจง และได้มีการพิจารณาผลการดำเนินงานของไทยไปแล้ว คาดว่าจะประกาศผลการพิจารณาวันที่ 25 มิถุนายน 2558

เตรียมเชิญ ICAO ตรวจมาตรฐานการบินใหม่ 9 ก.ย.58

ส่วนการดำเนินการในการออกใบรับรองการเดินอากาศ หรือ AOC ให้แก่สายการบินใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2558 นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทางกระทรวงคมนาคมได้ทำการปรับปรุงคู่มือการตรวจสอบให้ได้มาตรฐานสากล ทั้งตามแบบของ ICAO และ EASA และการทำ Check Lists สำหรับตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย

เมื่อทำการปรับปรุงระบบการตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ก็จะจัดเจ้าหน้าที่จำนวน 25 คนจากประเทศสิงคโปร์ เข้ามาฝึกอบรมให้แก่ผู้ตรวจสอบไทย จากนั้นจะแบ่งทีมงานออกเป็น 5 กลุ่ม พร้อมกับแจ้งให้สายการบินทั้งหมดจัดส่งเอกสาร เพื่อตรวจความพร้อม และเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบจริงได้ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2558

ทั้งนี้นายพงษ์ไชย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากติดขัดในเรื่องคู่มือ แต่ขณะนี้ได้ทำการปรับปรุงคู่มือเสร็จสิ้นแล้ว

icao

icao5

ส่วนนายวรเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคู่มือที่ได้มาแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบทบทวน และคาดว่าจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลงนามประกาศใช้คู่มือดังกล่าวได้ไม่เกินสัปดาห์หน้า ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสายการบินครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสิงคโปร์จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมในช่วงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 – 10 กรกฎาคม 2558 จากนั้นในช่วงวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 – 11 ตุลาคม 2558 จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบ เพื่อออก AOC ให้ใหม่ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 จะเชิญสายการบินทั้งหมดมีรับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับกฎระเบียบฉบับใหม่ พร้อมกับเปิดให้ยื่นแสดงความจำนงขอ AOC ใหม่ด้วย

“หลังจากเจ้าหน้าที่ของ บพ. และนักบินของสายการบินต่างๆผ่านการอบรมแล้วจะมีการจัดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (Inspector) ออกเป็น 5 ชุด โดย 4 ชุดหลักจะทำหน้าที่ตรวจสอบสายการบินต่างๆ ที่ถูกจัดเป็นกลุ่มๆเรียงตามลำดับ ส่วนกลุ่มตรวจสอบที่เหลืออีก 1 ชุด ทำหน้าที่ค่อยให้การสนับสนุน กรณีการปฏิบัติงานเกิดความล่าช้า นอกจากนี้ยังจัดให้มีกลุ่มตรวจสอบอีก 1 ชุด ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) โดยจะพยายามเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2558″

การจัดกลุ่มสายการบินที่จะตรวจสอบนั้นจะเรียงตามความพร้อมขององค์กร ขนาดของเที่ยวบินที่เปิดให้บริการ โดยในวันที่ 9 กันยายน 2558 บพ.จะทำการตรวจสอบสายการบินกลุ่มแรก ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ ไทยอินเตอร์ นกสกู๊ต และแอร์เอเชีย หลังจากตรวจสอบสายการบินหลักเสร็จเรียบร้อย ไทยจะทำหนังสือเชิญ ICAO มาตรวจอีกครั้งหนึ่ง

นายอาคมระบุว่า การเชิญครั้งนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ICAO จะตอบรับทันทีหรือไม่ หรือ ICAO อาจจะรอให้ฝ่ายไทยดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จก่อน จึงจะเดินทางมาตรวจสอบไทยอีกครั้ง หรือ ขอเข้ามาตรวจสอบระหว่างทีกำลังตรวจสอบสายการบินที่เหลือ

งัดม.44 รื้อกฎหมายการบิน-ปรับโครงสร้างบพ.

นายวรเดชกล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรและกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เพื่อนำเสนอ ครม.ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการแบ่งแยกองค์กรต่อไป

ส่วนงานด้านกำกับดูแล (Regulator) จะมีการจัดตั้งเป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ในด้านการบริหาร ด้านมาตรฐานการบิน มาตรฐานสนามบินการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) งานด้านความปลอดภัย และด้านเทคโนโลยีต่างๆ

ส่วนงานด้านการควบคุม (Operator) จะมีการจัดตั้งกรมท่าอากาศยาน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดูแลบริหาร สนามบินในความรับผิดชอบของ บพ.จำนวน 28 แห่ง ใช้เวลาในการดำเนินการต่อไปอีก 3 ปี ก่อนจะพิจารณาปรับบทบาทหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนงานด้านความปลอดภัย (Safety) คณะกรรมการค้นหา ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือ ผู้รอดชีวิต (National Search and Rescue) และคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (Accident and Incident investigations) จะทำการแยกออกมาเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับการดำเนินการปรับปรุงด้านกฎหมายนั้นขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศฉบับใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นครั้งแรก

“แม้การร่างกฎหมายจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่การดำเนินการกลั่นกรองต้องดำเนินการอย่างละเอียด ซึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น จะมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ด้วย รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันพิจารณา หลังจากออกกฎหมายเสร็จแล้ว คงใช้เวลาอีกไม่นาน” นายวรเดชกล่าว

‘จรัมพร’ยันธงแดงไม่กระทบการบินไทยแต่ถูกตรวจถี่มาก

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้ บพ.เร่งปลดล็อค SSC ให้เร็วที่สุด เนื่องจากการมีธงแดงปักอยู่เป็นความเสี่ยงที่ต่อสายการบินต่างๆ ที่ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลท์ หรือขยายเส้นทางการบินได้ อีกทั้งที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ โดนเข้มงวดตรวจมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น

“ปกติการบินไทยจะโดนสุ่มตรวจมาตรฐานเครื่องบิน ณ ลาดจอด (Ramp Inspection) เฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆ ได้รับทราบถึงกรณี ICAO พบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญของกรมการบินพลเรือนของไทยแล้ว และได้เพิ่มการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการบินในทุกๆ ด้านของการบินไทย (Ramp Inspection, Station Audit and Base Audit) ปัจจุบันโดนสุ่มตรวจเฉลี่ยเดือนละ 50 ครั้ง แต่ผลการตรวจสอบอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการบินไทยยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด อย่างไรก็ตามเพื่อเลี่ยงผลกระทบในระยะยาวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งปลดสถานะธงแดงให้เร็วที่สุด”

นายจรัมพร ชี้เจงเพิ่มเติมกรณีไทยมีสัญลักษณ์ธงแดงปรากฏ หน้าชื่อประเทศในเว็บไซต์ของ ICAO นั้น เป็นการแสดงถึงว่ากรมการบินพลเรือนของประเทศไทยยังมีการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยที่ยังไม่เพียงพอตามมาตรฐานของ ICAO แต่ไม่ได้หมายความว่าการบริการเดินอากาศ สายการบิน เครื่องบิน และสนามบินของประเทศไทยมีข้อบกพร่อง หรือไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด

ในส่วนของการบินไทย ยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูงมาโดยตลอด และได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจากองค์กรด้านความปลอดภัยการบินของประเทศต่างๆ อาทิ

-EASA (European Aviation Safety Agency) ของยุโรป

-FAA (Federal Aviation Administration) ของสหรัฐอเมริกา

-CASA (Civil Aviation Safety Authority) ของออสเตรเลีย

-CAAC (Civil Aviation Administration Of China) ของจีน

-JCAB (Japan Civil Aviation Bureau) ของญี่ปุ่น

-IOSA (IATA Operational Safety Audit) จาก IATA (International Air Transport Association)