ThaiPublica > เกาะกระแส > Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: ป่วยจนเป็น “New Normal ความธรรมดาใหม่” หรือปกติตามวัย (ตอนที่ 3 กรณ์ จาติกวณิช)

Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: ป่วยจนเป็น “New Normal ความธรรมดาใหม่” หรือปกติตามวัย (ตอนที่ 3 กรณ์ จาติกวณิช)

1 เมษายน 2015


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?"
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” โดยมีวิทยากรนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbooks ดำเนินรายการ ณ อาคาร UBC II KTC POP

ในตอนที่ 2 ได้นำเสนอความคิดเห็นของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: ป่วยเรื้อรัง-โรคแทรกซ้อน แถมให้ยาผิดมาตลอด หวั่นเป็นบอนไซ”

ภิญโญ: ตอนนี้พาดหัวข่าวเปลี่ยนเป็น “แก่ จน ไร้คนเหลียวแล โรคร้ายรุมเร้า” ยิ่งยากไปอีก คุณกรณ์ว่าอย่างไรบ้าง วิเคราะห์อาการด้วย

กรณ์: ไม่มีประเด็นไหนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองท่าน อยากเพียงเสริมว่าความจริงแม้รัฐบาลยุคปัจจุบันก็คงเห็นด้วยกับเราเต็มร้อย และเชื่อว่าน่าจะดีใจด้วยที่มีการจัดงานสัมมนาแบบนี้ ในแง่ของเขา ถ้าเราไม่ป่วย ก็คงไม่มีเหตุผลที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ที่เข้าทำหน้าที่ในวันนี้ แบบนี้ก็เพราะว่าเราป่วย เพราะฉะนั้นถือว่าเราเห็นตรงกัน

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผม จากตารางที่พรีเซนต์ (ดร.พิพัฒน์และ ดร.เศรษฐพุฒิ) เมื่อสักครู่มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่มีตารางการเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวในอดีต และอัตราการขยายตัวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่าระยะหลังประเทศไทยเราโตได้เฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 3-4% ต่อปี และเราเรียกอัตรานั้นว่าเป็น “New Normal” คือ “ความธรรมดาใหม่” เป็นระดับปกติแบบใหม่ ซึ่งถ้าเช่นนั้น มันอาจจะเป็นเรื่องของนิยาม หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะพูดได้ว่า เราไม่ป่วยก็ได้ เพียงแต่ว่าเราเป็นปกติตามวัย เราเริ่มช้าลงก็ไม่ถือว่าป่วย คือถ้าป่วยก็ต้องหมายถึงว่าเรามีอะไรผิดปกติ

คำถามคือ การขยายตัวเท่านี้ถือว่าผิดปกติสำหรับประเทศอย่างเราหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะขยายความในประเด็นนี้ได้ คำถามก็คือด้วยทรัพยากรที่เรามีทั้งหมด เราควรจะโตมากกว่านี้หรือไม่ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบจะเป็นเช่นใด แต่ที่ผมมั่นใจคือ ประเด็นที่ทั้งสองท่าน (ดร.พิพัฒน์ และ ดร.เศรษฐพุฒิ) พูดถึงคือ factor input ของไทยนั้นด้อยคุณภาพ ทั้งด้านคุณภาพแรงงาน ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนที่สุดในเรื่องมาตรฐานการศึกษา ซึ่งคงเถียงกันไม่ได้ว่าด้อย และด้อยลงไปเรื่อยๆ

หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องของการใช้ที่ดิน ซึ่งก็ถือว่าเป็น factor input ที่สำคัญมากที่สุดอีกปัจจัย ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพน้อยมาก โดยการผลผลิตทางการเกษตรต่อพื้นที่ต่อไร่ เทียบกับประเทศคู่แข่งในทุกประเภทของการเกษตร จะเห็นว่าผลผลิตของไทยต่ำมาก ข้าว มันสำปะหลัง หรือยาง

เพราะฉะนั้น ราคาสำหรับทุกคนเป็นราคาเดียวกัน เพราะมันมีราคาตลาดโลก แต่ถ้าเขาผลิตได้มากกว่าเราต่อพื้นที่ ก็ไม่มีทางที่จะแข่งขันกับเขาได้ เพราะต้นทุนเฉลี่ยของเขาน้อยกว่า ฉะนั้นจะเห็นว่าคนเราก็ต่ำในแง่ประสิทธิภาพ การใช้ที่ดินของเราก็ต่ำในแง่ของประสิทธิภาพ เรื่องการใช้ทุนดูจะเป็นปัญหาน้อยที่สุด แต่การเข้าถึงทุนยังเป็นปัญหาอยู่ ในเรื่องของการพัฒนาตลาดเงิน การตลาดทุนยังถือว่าเป็นข้อจำกัดของประเทศอยู่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของไทยที่มีอยู่นั้นเป็นปัญหาจริง

เมื่อพูดถึงโลกของความเป็นจริง เดินออกมาจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์ แล้วตั้งคำถาม ถ้ามันเป็นจริงดังที่ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เป็นอย่างนี้มาหลายรัฐบาล (นโยบายการแก้ปัญหา) การที่ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวอย่างนี้เพื่อที่จะไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร ซึ่งเมื่อมองผิวเผินเป็นอย่างนั้นจริง บางยุคเป็นอย่างมาก บางยุคเป็นอย่างนั้นน้อยหน่อย แต่เท่าที่ผ่านมา อย่างน้อยนโยบายแต่ละนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เราจำได้ ก็ล้วนแล้วเข้าเกณฑ์ประชานิยมทั้งสิ้น

ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้

นายกรณ์ จาติกวณิช  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับผม ในฐานะนักการเมือง ผมมองว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากโจทย์ที่สังคมตั้ง เราเข้ามาทำหน้าที่ในการรับใช้ประชาชนส่วนหนึ่ง ในการเป็นผู้นำส่วนหนึ่ง ผสมผสานกันไป ใครเก่งหน่อยก็นำได้มากหน่อย โดยส่วนใหญ่นักการเมืองในระยะหลังทั่วโลกแทบจะทุกประเทศมีบทบาทคือทำตามที่ประชาชนต้องการมากหน่อย คือทำหน้าที่ในฐานะผู้รับใช้ จึงขึ้นอยู่กับว่า “โจทย์” ที่สังคมกำหนดให้กับภาคการเมืองคืออะไร แล้วใครเป็นผู้กำหนด ก็คือ “สื่อมวลชน” มีบทบาทสำคัญในกำหนดโจทย์

เมื่อมีการจัดงานสัมมนาแบบนี้ ที่ผมถือว่าเป็นการพยายามตั้งโจทย์ที่สำคัญจริงๆ ให้กับสังคม นั้น มีพื้นที่ข่าวหรือมีระดับความสนใจมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับการตั้งโจทย์หลายๆ เรื่องที่ขณะนี้เป็นข่าวดังทุกวัน ที่ผมมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อเทียบกับประเด็นที่กำลังพูดกันอยู่ในวันนี้ นี่คือหนึ่งในปัญหา

ดังนั้นถามว่าใครที่มีอำนาจในวันนี้ เขาต้องตอบโจทย์ไหน ก็ต้องจอบโจทย์ที่เป็นข่าว และสังคมให้ความสำคัญ แทนที่จะมานั่งพูดกันในเรื่องที่มีผลต่ออนาคตของประชาชน ของประเทศมากกว่าในระยะยาว ผมมองว่าตรงนี้เป็นปัญหาจริงๆ ไม่ได้เป็นข้ออ้างหรืออะไรเลย เพียงแค่สะท้อนตามความเป็นจริง

ผมพยามพูดทุกเวทีที่ชวนผมไปพูด แล้วพยายามเรื่องรัฐธรรมนูญ พยายามพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ผมก็จะวกกลับมาเรื่องนี้ทุกครั้ง ผมว่าจริงๆ เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญคือคุณรู้หรือไม่ว่า ตอนนี้อายุเฉลี่ยของเกษตรกร 25 ปีที่แล้วอายุ 31 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 51 ปี อีก 10 ปี อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยทั้งประเทศจะอยู่ในวัยเกษียณ ถามว่าใครจะทำนาให้กับเรา ไม่มีใครแม้จะตั้งคำถาม

เพราะฉะนั้น เหล่านี้ผมมองว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากกว่า และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะฝ่าด่าน ในฐานะนักการเมืองในการที่จะพูดถึงเรื่องที่เรามองว่ามีความสำคัญเท่านั้น ซึ่งรับประกันได้ว่าหากทำแค่นั้น รับรองว่าสอบตกไม่มีวันที่จะชนะการเลือกตั้ง…แน่นอน แต่เราก็ต้องบริหารในกรอบของปัญหา และข้อจำกัดที่มี พยายามทำเท่าที่ทำได้ ในการผสมผสานเรื่องที่ตอบโจทย์ความต้องการระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้

เพียงแต่ว่าต้องมองว่าเราต้องหยิบยกขึ้นมาว่าประเด็นที่ท้าทายประเทศไทยมากที่สุดในระยะยาวคืออะไร ในมุมมองของผม 1. การศึกษา 2. การปฏิรูปเรื่องการทำการเกษตร 3. ตอบโจทย์ demographic เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ

ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ๆ ถ้าเรามีวิธีที่จะนำเสนอนโยบายที่จะตอบทั้งความต้องการในระยะสั้นและยาวของประชาชนในแต่ละเรื่องได้ อาทิ จะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ดูแลชาวนาอย่างไร แก้ปัญหาเรื่องเยาวชนอย่างไรในระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว ผมคิดว่าที่เรามองว่าเป็นปัญหาของเราในวันนี้เราแก้ได้แน่นอน อย่างไรความได้เปรียบของประเทศไทยที่พูดกันไว้ว่าเรามี ก็ยังคงมีอยู่

ผมยกตัวอย่าง ข้อเดียว ถ้าเราดูเมกะเทรนด์ (mega trend) สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดคือ แม้ประชากรไทยเริ่มลด แต่ประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ ทางธนาคารโลกก็มีการประเมินว่า ในปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านคน ซึ่ง ณ วันนั้นในจำนวนทั้งหมด 7 พันล้านคน จะเป็นคนเอเชีย และในจำนวนนี้ก็จะมีสัดส่วนของคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น (urbanization) อีกต่างหาก

ความหมายของการแปรจากการเป็นคนที่อาศัยในชนบทมาเป็นคนเมืองก็คือ รายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ความเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น

เมื่อคุณเป็นชนชั้นกลาง พฤติกรรมการบริโภคคุณก็สะท้อนแบบชนชั้นกลางที่เขาทำกันทั่วไป 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. บริโภคอาหารมากขึ้น 2. เริ่มคิดเรื่องอื่น เช่น เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องนี้เคยพูดกันมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เกิดขึ้นกับจีน ใน 5 ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยประมาณ 6-7 แสนคน/ปี แต่ปัจจุบันมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในไทยประมาณ 5 ล้านคน/ปี มันเกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งผมกำลังจะบอกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เขาเรียกว่าเมกะเทรนด์แบบนี้ มันมีหลายเรื่องที่เข้าทางเราเต็มๆ เป็นเรื่องที่ไทยเองมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องประเภทนี้ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชากรในอีก 10-20 ปีข้างหน้าได้

อาทิ การเป็นฮับในแง่การคมนาคมในเอเชีย เราควรจะเป็นฮับถ้าหากเราแก้ปัญหาในกรมการบินพลเรือนได้ ประมาณนั้น แต่ว่าปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสเรามี เพียงแต่เราต้องแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหาที่เป็นคอขวด เป็นข้อจำกัดต่างๆ ให้ได้ อย่าเพิ่งท้อนะครับ โรคนี้แก้ได้

ภิญโญ: คุณกรณ์ ตกลงหมอรู้ไหมว่าจะให้ยาอย่างไร จำเป็นต้องให้ยาที่คนไข้เรียกร้องไหม

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา_1

กรณ์: หมอบางคนรู้ ไม่สามารถพูดถึงหมอทุกคนได้ ปัญหาคือมีหมอหลายคนที่ไม่ได้มีความตั้งใจอยากจะรักษาคนไข้ด้วยซ้ำไป คิดแต่ว่าจะหากินกับคนไข้อย่างไร

แต่ประเด็นที่ ดร.เศรษฐพุฒิพูด ผมขอยกตัวอย่างสั้นๆ นิดเดียว ปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่างงาน ผมไม่มีอะไรทำ ผมไปทำนา ในขณะที่พูดคุยกับเกษตรในหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดหนึ่งที่ยากจนที่สุดในภาคอีสาน ผมนั่งคุยกับเขา ถามเขาว่า สมมติมีใครมาเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ ให้คุณขอหนึ่งเรื่องหนึ่งอย่าง คุณขออะไร

ที่ผมแปลกใจคือทุกคนตอบเหมือนกันหมด คืออยากได้น้ำ คือถ้าเขามีน้ำเขาจะทำให้ดูว่า แม้แต่ชาวนายากจนอย่างเขา จะทำตัวให้เป็นเศรษฐีได้อย่างไร ผมมานั่งคิด ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ว่าสิ่งที่เกษตรกรรู้ ว่าเขาอยากได้คือระบบสาธารณูปโภค ที่ทำให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ทั้งปี

คำถามคือ ทำไมเรายังไม่ให้เขา มีวิธีไหนไหมที่จะให้เขาในรูปแบบที่มีเสน่ห์ทางการเมืองที่เท่ากับการให้เงิน 15,000 บาทต่อไร่ ซึ่งไม่ง่าย ปัญหาเขา เขารู้ เขาอยากได้น้ำ แต่มีคนเสนอว่าเอาไหมปีนี้ให้ 15,000 บาท เขาก็ยังเอา แล้วที่ผมกังวลใจอยู่คือ เมื่อมีการเลือกตั้ง ผมมั่นใจว่าจะมีพรรคการเมืองเสนอ 15,000 บาท ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และผมมั่นใจว่าชาวนาก็จะเอาอีก เพราะเป็นสิ่งที่เขาจับต้องได้ และได้ทันที

ดังนั้น เหมือนที่ ดร.เศรษฐพุฒิว่า เราต้องหาวิธีที่จะตอบโจทย์ หรือกิเลส หรือความต้องการระยะสั้นของประชาชนในด้านต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสมดุลกับโครงการที่จะตอบโจทย์ความต้องการในระยะยาว ไม่ใช่เขาไม่รู้ เขารู้

ภิญโญ: ฟังดูนักเศรษฐศาสตร์พูด ก็เหมือนเคลิ้มฝัน คือมันมีทางออกเสมอ แต่เป็นทางออกในตำรา ต้องถามนักการเมืองหน่อยว่าเราจะสร้างระบบสถาบันอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหวังได้หรือเปล่า และกลุ่มผลประโยชน์ในเมืองไทยที่ควรจะปฎิรูปไปพร้อมกับการเติบโตเศรษฐกิจ จริงๆ ปฎิรูปได้จริงหรือเปล่า หรือปฏิรูปอยู่หรือเปล่า

กรณ์: ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าดร.สมประวิณ ได้กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในดวงใจผมไปแล้ว คือพูดในประเด็นที่ผมเองมีความรู้สึก แต่ไม่ได้ด้วยหลักวิชาการว่ามันควรจะต้องเป็นเช่นนั้น คือเรื่องของการเปิดให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง และการยอมรับด้วยว่าเราอาจต้องสร้างระบบที่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรม และจุดอ่อนของโครงสร้างสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองของไทย

ถามว่าตรงนี้…ความหมายคืออะไร ผมขอนุญาตขยายความ คือ เจ้านายของ ดร.พิพัฒน์ นั่นคือคุณบรรยง พงษ์พานิช มักจะกล่าวไว้เสมอว่า ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ขนาดของรัฐกลับมากขึ้น ขยายตัวใหญ่มากขึ้น เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวม จนทำให้ส่วนแบ่ง (share) เศรษฐกิจที่เป็นส่วนของรัฐเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ฟังจาก ดร.สมประวิณเมื่อสักครู่นั้น สิ่งนี้ควรจะต้องตรงกันข้าม ขนาดของรัฐจะต้องปรับลดลง ตรงนี้คือหัวใจ เมื่อเราดูแต่ละภาคอุตสาหกรรม เรามองเห็นปัญหา ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากกลไกของรัฐ หรือราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมตรงนั้น

เมื่อสักครู่ผมพูดทีเล่นทีจริงเกี่ยวกับเรื่องของกรมการบินพลเรือน เป็นต้น ที่ไทยพยายามจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศ ซึ่งไทยมีโอกาสสูงมาก ซึ่งจุดยุทธศาสตร์ของประเทศที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ไทยน่าจะมีบทบาทด้านนี้ได้ แต่ไทยกลับมาสะดุดกับ ขอใช้คำว่า เรื่องโง่ๆ ซึ่งไม่น่าคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ คือปัญหาในระบบราชการทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ราชการ หรือภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด นั่นน่าที่จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ยกตัวอย่าง

ผมก็สนับสนุนเรื่องของการจัดตั้งซูเปอร์โฮลดิงส์ที่จะเข้ามาบริหารจัดการกับรัฐวิสาหกิจ มาจัดการกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็เช่นกัน ตัวเลขที่คุณบรรยงนำเสนอหลายครั้งก็คือ ขนาดของวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแทบไม่มีการตรวจสอบในระดับเดียวกันกับงบประมาณแผ่นดินเลย ทั้งๆ ที่งบประมาณแผ่นดินวันนี้มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แต่งบของรัฐวิสาหกิจรวมกันเกือบๆ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาต่อประสิทธิภาพเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น ถามว่าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ไหม …ได้ แต่ต้องฝ่าอุปสรรคอีกมาก ดังที่ อาจารย์สมประวิณอธิบายให้ฟังเมื่อสักครู่ ว่า เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น มีการรวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์ ที่ต้องการจะปกป้องประโยชน์ที่เขาได้สร้างมามากขึ้นเรื่อยๆ และตอบคำถามว่า เราจะยกระดับของเราไปอีกขั้นได้หรือไม่ ก็คือคำถามว่าเราจะสามารถทะลุทะลวงฝ่าด่านกลุ่มผลผระโยชน์นี้ได้อย่างไร

สำหรับผมนั้น เป็นตัวอย่างที่อยากจะยกตัวอย่างขึ้นมาให้พวกเราได้เห็น คือ ผมมองว่าหลายปีมาแล้วนักธุรกิจบ้านเราไม่ได้แข่งกันด้วยคุณภาพสินค้า หรือคุณภาพบริการเท่าที่ควร แต่เป็นการแข่งแย่งชิงความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจ จะสังเกตได้ว่าผู้ใหญ่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาครัฐ นิยมการเข้าเรียนหลักสูตรโน้น หลักสูตรนี่กันมาก

“ผมขอออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยเข้าแม้แต่ 1 หลักสูตร คือไม่ชอบตั้งแต่แรก สาเหตุเราก็เห็นกันอยู่ว่าส่วนใหญ่ที่เข้าไป และจะเห็นว่าทุกคนเรียนทุกหลักสูตร เพราะต้องการจะมีเส้น ต้องการทำความรู้จักกับผู้ที่จะมาเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองในอนาคต และประเด็นปัญหาคือได้ผลด้วย”

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?"
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

หากมองย้อนกลับไปดู ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน หรือดูความก้าวหน้าของข้าราชการ ชุดปัจจุบัน ชุดรัฐบาลที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในหลักสูตรรุ่นใดรุ่นหนึ่งกับผู้ที่เป็นใหญ่ในยุคนั้นกันทั้งสิ้น ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะเขาไม่ดี เพียงแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่คนเราเมื่อรู้จักใครก็รู้จักคนนั้น เมื่อรู้จักก็มีแนวโน้มที่จะให้ความไว้วางใจมากกว่า ก็เอามาใช้งาน

เมื่อคนเห็นว่านั่นเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ ทุกคนก็จะใช้กำลังแรงในการวิ่งเข้าโอกาสที่จะอยู่ในสถานะนั้น อยู่ในหลักสูตรนั้นมากกว่าที่จะมาทำงานวิจัย ค้นคิดประเภทของสินค้า เนื่องจากเมื่อเขาอยู่ในสถานะนั้นเขาสามารถปิดกั้นไม่ให้มีการแข่งขันได้ เพราะเขาอยู่ใกล้ผู้มีอำนาจ และนี่คือปัญหา

ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังที่เพิ่งเดินทางไปประเทศจีนมา ผมไปเยี่ยมบริษัทหัวเหว่ย สำนักงานใหญ่ของเขาที่ เซินเจิ้น เดิมทีภาพลักษณ์ที่ผมมีกับหัวเหว่ยคือบริษัทจีน ขายของถูก ด้อยคุณภาพ แต่เมื่อไปเห็นกลับเปลี่ยนความคิดที่ผมมีโดยสิ้นเชิง กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในยุคปัจจุบัน

หัวเห่วยมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 170,000 คน ปรากฏว่าเขามีพนักงานที่ทำงานวิจัยเพียงอย่างเดียวอยู่ประมาณ 8 หมื่นคน คือเกือบครึ่งหนึ่ง และใน 10 ปีที่ผ่านมาเขาใช้งบประมาณในการทำงานวิจัยกว่า 1 ล้านล้านบาท นี่คือมหัศจรรย์นะครับ วันนี้เขากำลังกำหนดมาตรฐานว่าใน 5 G ควรจะเป็นอะไร และซึ่งน่าจะสรุปได้ในปี 2558 นี้ เมื่อ 3 ปีก่อนเขายังเลียนแบบของตะวันตกอยู่ วันนี้ผู้ที่กำหนดมาตรฐาน 5 G คือหัวเหว่ย นั่นคือชัดเจนว่าแนวทางพัฒนาที่เรากำลังจะเห็นจากประเทศจีน

ที่สำคัญคือเขาเป็นบริษัทเอกชน ที่มีการกระจายการถือหุ้นยิ่งกว่าบริษัทตะวันตกเสียอีก คือ ผู้ก่อตั้งถือหุ้นเพียง 1.5% หุ้นที่เหลือเป็นของพนักงานกว่า 8 หมื่นคน รัฐไม่เกี่ยวข้องเลย ผมคิดว่าหากเราจะฝ่าอุปสรรคไปได้นั้นส่วนหนึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระบบรัฐ และรวมไปถึงระบบราชการ ขณะเดียวกันเราก็ต้องมีเหมือนกับเส้นทางคู่ขนานที่ทางภาคเอกชน ภาคประชาชน เดินไปกันเอง ผมคิดว่ารอให้เพียงภาครัฐปฎิรูปนั้น จะไม่ทันต่อความต้องการของประเทศ

ภิญโญ: แล้วคุณกรณ์เห็นด้วยไหมครับกับมาตรการที่ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวมาว่าการลงทุนเป็นทางออก

กรณ์: ในตัวมาตรการนี้ผมคิดว่าก็น่าจะช่วย แต่เมื่อสักครู่ฟังไปแล้วคิดไป ในเรื่องการกระตุ้นให้มีการลงทุนนั้น หากมองในเรื่องของการไปสู่การปฏิรูปด้วยในหลายๆ ปัญหาที่เราพูดถึง ก็อาจจะต้องคิดเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่ไปจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะรื้อมัน รื้อแบบโละออกไปเลย คือกฎหมายนี้มีไว้เพื่อปกป้องและให้โอกาสผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาตนเองขึ้นมา แข่งขันได้ก่อนที่จะเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีที่แท้จริง แล้วเราจะรออีกกี่สิบปี และสุดท้ายจริงๆ มันป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเพียงไม่กี่คน หรือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผมเองมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการแข่งขัน

เราลองนึกภาพธุรกิจโทรคมนาคมที่ชัดเจนที่สุด เมื่อ 20 ปีที่แล้วเทียบกับวันนี้เป็นอย่างไร เป็นเพราะอะไรที่ทุกวันนี้คนไทยเข้าถึงบริการที่ดีขึ้นในทางที่ถูกลง ก็เพราะมีการแข่งขัน และการแข่งขันก็ต้องยอมรับว่าหลายส่วนมาจากต่างประเทศ แต่ ณ วันนี้มีข้อจำกัดมากมาย

เพราะฉะนั้น หากเสน่ห์ของไทยในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนเริ่มลดลง ก็ต้องเริ่มมีภูมิออกไปว่าเรามีการปรับระดับการปฏิรูปทัศนคติที่ดี และนโยบายที่ดีกับนักลงทุนทั่วโลก ขอให้นักลงทุนต่างประเทศคิดใหม่ มองประเทศไทยในมุมมองที่เปลี่ยนไป โดยสร้างความตื่นตัว สร้างความกะปรี้กะเปร่า และยกระดับความสนใจที่เขาจะมีในการเข้ามาลงทุน ซึ่งมันจะเป็นการช่วย

พร้อมกันนั้น หากเราเอาจริง ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจด้วย เรายอมรับว่าควรที่จะเปิดให้ผู้ประกอบการซึ่งอาจจะเป็นต่างชาติเข้ามาร่วมบริหาร หรือเข้าไปบริหารแทน ก็ต้องทำอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะเอาจริงแค่ไหน ถามว่ามาตรการและวิธีการในการแก้ปัญหาเหล่านี้มีหรือไม่ คือมี

ก็อย่างที่ ดร.สมประวิณ กล่าว ข้อได้เปรียบของเราคือเรามีความด้อยประสิทธิภาพหลายเรื่องเสียจนมีอะไรให้เราทำมากมาย ในขณะที่เขาพัฒนาไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะไปทำแล้ว คือดูเหมือนว่าทุกอย่างนั้นดีไปหมด ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนประเทศไทยนั้นยังแก้ได้ มีเรื่องให้แก้อีกเยอะ ส่วนจะแก้ได้หรือเปล่านั่นอีกประเด็น

daer to do

แต่ผมขอฝากเป็นมุมมองแล้วกันว่า ณ ปัจจุบัน มีหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจของไทย ที่หลายคนอาจจะมองไม่เห็น หากอยากเห็นสามารถซื้อหนังสือของผมได้ ชื่อ “Dare to Do: กล้าลุยไม่กลัวล้ม” คือ จริงๆ ผมอยากจะกลับไปเขียนในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็น entrepreneurship แล้วก็มองว่าสิ่งนี้คือวิญญาณการสร้างธุรกิจ การก่อตั้งกิจการ สิ่งนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันจริงๆ เป็นตัวขับเคลื่อนที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย เรามีความโชคดีที่จริงๆ แล้วความเป็นนักลงทุนของคนไทยนั้นค่อนข้างสูง แล้วประเทศไทยเป็นปัจเจกนิยมอยู่แล้ว คือชอบทำอะไรเอง ไม่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ที่มักไปอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ

และในอนาคตนี่คือความหวังของประเทศ แต่เมื่อเราไปดูก็จะเห็นว่ากำลังมีลักษณะของธุรกิจใหม่ๆ การสร้าง wealth ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ บางครั้งก็อาจจะมองไม่เห็น อาทิ ในโลกของธุรกิจอินเทอร์เน็ตจะเห็นชัด เพราะเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีใครเข้าไปควบคุม มีการแข่งขันที่เสรีจริง และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเปิดพื้นที่ให้แข่งขันจริงนั้นเขาแข่งขันได้ แล้วเขาประสบความสำเร็จด้วย ผมขอยกตัวอย่างบริษัทอีบุ๊ก ที่ชื่อ OOKBEE เป็นของเด็ก 4 คน ที่สร้างขึ้นในระยะเวลา 4 ปี เวลานี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 5 ล้านคน และวันนี้เป็นบริษัทอีบุ๊กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายไปในประเทศเพื่อนบ้านก่อนที่ประเทศเพื่อนบ้านจะตื่นในเรื่องนี้

คนไทยโดยรวมมีอัตราการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่สูงติดอันดับต้นๆ ในโลก เพราะฉะนั้น การเข้าถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่อง wifi internet หรือฮาร์ดแวร์ที่เป็นสมาร์ทโฟน เหล่านี้ของไทยมีการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของการค้า การลงทุนในอนาคต ที่จะไปเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายภาคอุตสาหกรรม

เราควรที่จะลงไปศึกษาว่าทำไมถึงประสบความสำเร็จ ทำไมเด็กรุ่นใหม่กำลังขึ้นมาแล้วสามารถประสบความสำเร็จได้ และนำบทเรียนเหล่านั้นมาใช้กับเรื่องอื่นๆ เรื่องเดิมๆ ที่เรายังพยายามหาวิธีแก้ปมอยู่ คือ เมื่อไปเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็จะเห็นความหวังว่าเรามีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในวิธีไหน

ภิญโญ: คนไทยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเยอะจริง วันก่อนที่ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนสำคัญของประเทศสิงคโปร์เสียชีวิตเป็นข่าวเล็กๆ ผมเห็นสื่อไทยพาดหัวข่าวว่า “แป้งหย่าแล้ว” กระแสข่าวบันเทิงเรื่องการหย่าร้างของนักแสดงรายหนึ่งเป็นที่แพร่หลายไม่แพ้กัน เป็นข่าวใหญ่มากและมีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย

กรณ์: ก็วกกลับมาที่ประเด็นที่ผมเคยนำเสนอไว้ว่า มันขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์จริงๆ ประเด็นตรงนี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ ในความรู้สึกของผม รัฐอยากให้มีการหยิบยกเรื่องที่มีความสำคัญ ที่มีการถกเถึยงมีการพูดคุย แต่กลับหาพื้นที่ได้ยาก

อ่านต่อ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย