ThaiPublica > เกาะกระแส > Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการเศรษฐกิจที่ชรา ต้อง “ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ” จะช่วยยกเครื่อง “คนชราที่อ่อนแอ” (ตอนจบ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ)

Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการเศรษฐกิจที่ชรา ต้อง “ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ” จะช่วยยกเครื่อง “คนชราที่อ่อนแอ” (ตอนจบ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ)

2 เมษายน 2015


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?"
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” โดยมีวิทยากรนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbooks ดำเนินรายการ ณ อาคาร UBC II KTC POP

ในตอนที่ 3 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็น “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: ป่วยจนเป็น “New Normal ความธรรมดาใหม่” หรือปกติตามวัย ส่วนในตอนที่ 4 ตอนสุดท้ายนี้ พบกับความเห็นของ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับอาการเศรษฐกิจชราของไทย และต้องทำอย่างไรถึงจะกลับมามีกำลังวังชาอีกครั้ง

ภิญโญ: อาจารย์สมประวิณ ตกลงอาการประเทศไทยเป็นอะไร

สมประวิณ: ผมจะให้นิยามก่อนและจะชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันจริงๆ แล้วมีปัญหาระยะสั้นกับยาวซ้อนกันอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องมีสั้นและยาว ผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่าอะไรที่เราขาด อะไรที่เรายังไม่ได้ทำ และเราต้องทำ

เอานิยามก่อน ซึ่งคุณภิญโญและทุกท่านที่พูดมาสรุปได้ดี ตรงกันกับที่ผมเขียนไว้ (เอกสารประกอบการเสวนา) คือว่า จริงๆ แล้วผมนิยามประเทศไว้ไม่ใช่คนป่วยนะครับ แต่เป็นคนแก่ที่อ่อนแอ

สาเหตุมี 2 อย่าง 1. ขยายความ “คนแก่” คือ ระบบเศรษฐกิจไทยหมดแรงที่จะผลิตหรือทำงานต่อ สาเหตุมาจากระยะยาว เป็นโครงสร้าง ที่สำคัญคือ 1) เราใส่ปัจจัยการผลิตไปเยอะแล้วจนอิ่มตัว เพราะฉะนั้น ปัจจัยการผลิตในประเทศเหมือนเกษียณแล้ว สิ่งที่ใส่เข้าไปกับที่ได้ออกมาไม่เท่ากัน นั่นคือสาเหตุที่เรียกว่าความชราของเศรษฐกิจไทย 2) เราไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ เราเป็นคนแก่ และไม่สามารถหาเครื่องทุนแรงหรืออะไรก็แล้วแต่มาช่วยให้เราเดินได้ 3) ที่ ดร.พิพัฒน์พูดก็คือว่า เราเป็นสังคมชราภาพ นอกจากไม่สามารถใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีแล้ว เรายังมีคนทำงานน้อยลงอีก

ทั้ง 3 สาเหตุนี้เป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งผมเรียกว่าเป็น “เศรษฐกิจที่ชรา”

2. ขยายความ “อ่อนแอ” สาเหตุที่อ่อนแอ เพราะเป็นสาเหตุระยะสั้น ภูมิคุ้มกันระยะสั้นเราค่อนข้างต่ำ ในปัจจุบันนี้เครื่องยนต์ดับไปหลายเครื่อง ถ้าเราสังเกตดูเดือนไหนก็แล้วแต่มีการปิดโรงงานบางอย่าง ภาพรวมทางเศรษฐกิจตัวเลขไม่ดี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าตลก เพราะว่าอะไรบางอย่างกระทบนิดเดียวอย่างเดียวในระบบเศรษฐกิจ ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดีแล้ว แสดงว่าเศรษฐกิจเปราะบาง อ่อนแอ

ถ้าสรุปเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ก็มีทั้งปัญหาระยะสั้นและยาว เพราะฉะนั้น เราต้องแก้ไขทั้งสองอัน การที่เราจะมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะโตกลับไปที่ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องยาก หลายคนคาดว่าเราจะเห็นตั้งแต่ต้นปี นักเศรษฐศาสตร์ว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์น่าจะได้ แต่ว่าตอนนี้คนเริ่มแผ่วๆ ลงเพราะเริ่มเห็นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ค่อยดี

เพราะเป็นอย่างนี้การแก้ปัญหาต้องมีทั้งสั้นและยาว

ในระยะสั้นปัญหาเกิดจากภายในกับภายนอกประเทศ นอกประเทศคือคู่ค้าเราอ่อนแอมากๆ ยุโรป อเมริกา แม้จะดีขึ้นแต่พฤติกรรมการนำเข้าของเขาเปลี่ยนไป ไม่ได้บริโภคสินค้าเรามากเท่าที่เคยเป็น ญี่ปุ่น จีน ก็แย่ เราบอกว่ามีเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เช่น CLM (กัมพูชา ลาว พม่า) ผมไม่รวม V (เวียดนาม) เพราะเขาไม่ค้ากับเรา จริงๆ CLM เราส่งออกได้สูงกว่ายุโรปแล้วก็จริง แต่ว่าชดเชยกันไม่ได้ เพราะว่าเราเห็นได้ว่าตัวเลขส่งออกรวมต่ำ ที่ผ่านมาเราเคยเห็นตัวเลขการส่งออก 2 Digits สบายๆ ทุกวันนี้มาลุ้นว่า 5 เปอร์เซ็นต์ จะถึงหรือเปล่า

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในประเทศเรามีปัญหาทำนโยบายการกระตุ้นที่ผิด คือให้คนกู้มากเกินไป ผมไม่ได้บอกว่าการกระตุ้นการบริโภคนะครับ รัฐบาลสามารถกระตุ้นให้คนบริโภคได้โดยรัฐเป็นผู้กู้แล้วให้คนเอาเงินไปใช้ แต่ว่าเรากระตุ้นให้คนกู้นะครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปกู้บางอย่างที่สินทรัพย์มันเสื่อมค่าลง ความมั่งคั่งมันลดลง มันจะจำกัดการบริโภคของประเทศเราอยู่พอสมควร

เพราะฉะนั้น มองไปในอนาคตอีกหน่อย ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ก็มีอยู่ ประการแรกคือ ทุกคนพยายามทำนโยบายการเงินให้มันผ่อนปรนมากขึ้น การผ่อนปรนที่เกิดขึ้นไม่เหมือนช่วงวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งผ่อนปรนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศกำลังพัฒนาประเทศและประเทศคู่แข่งทางการค้ากับเราก็แข่งกันทำ เพราะฉะนั้น ก็มีแรงกดดันการทำนโยบายของเรามากขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น Policy Space (พื้นที่นโยบาย) ที่จะทำได้ในอนาคตอาจจะน้อยลง เราจะเก็บภาษีได้น้อยลง เงินเฟ้ออาจจะกลับมาในปลายปี เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกดดันและปัญหาระยะสั้น

สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นทำได้ วิธีการทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง

นโยบายการเงินเห็นแล้ว ลดดอกเบี้ยไปแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่เราขาดคือนโยบายการคลัง ซึ่งปัจจุบันมีเฉพาะ on budget (งบประมาณ) ไม่ได้มีการกระตุ้นพิเศษออกมา พยายามเบิกจ่ายให้เร็วแต่เราก็ไม่เคยเบิกจ่ายได้เร็ว ก็เป็นเรื่องปกติ

อย่าลืมว่าปัญหามีทั้งสั้นและยาว เจตนาที่เราทำทุกวันนี้เป็นเจตนาดี คือเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการพัฒนาระยะยาว แต่ปัญหาปัจจุบันเรามีระยะสั้นด้วย เพราะฉะนั้น เราต้องการเครื่องมือระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น คือการกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นความเชื่อมั่นคนในระบบเศรษฐกิจ ทำได้และต้องทำครับ

จริงๆ แล้วประชานิยมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างกัน ผมพยายามตีความเองว่า ผู้ดำเนินนโยบายกังวลอะไร อาจจะกังวลหรือเปล่าว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกตีความว่าประชานิยม ผมคิดว่าสังคมเข้าใจได้นะครับว่าประชานิยมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแตกต่างกัน ถ้าคุณทำนโยบายอย่างโปร่งใส มีแผนงานทำงานอย่างไร มีการศึกษาที่มาที่ไป ผลกระทบเป็นอย่างไร แล้วสื่อสารให้สาธารณชนรับทราบ ผมคิดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดนั้นก็จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องระยะยาว สาเหตุมาจากการอิ่มตัวของการใช้ทรัพยากร ไม่สามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และการเข้าสู่สังคมชราภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ มีงานวิจัย ผลของสังคมชราภาพจะหั่น GDP ระยะยาวของเราไป 1-1.5% เพราะฉะนั้น ถ้าเราเชื่อว่า แต่ก่อนศักยภาพการเติบโตประมาณ 5% อนาคตก็เหลือประมาณ 3.5-4% ระยะยาวนี่มันกระทบมากนะครับ และอาจจะเป็น New Normal เหมือนที่เราหลายคนๆ พูดไว้

ขั้นตอนการพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยนไป แต่ก่อนที่เราเห็นการเจริญเติบโตเยอะๆ เพราะการทำให้มีความเจริญเติบโตไม่อยาก เราแค่ขุดทรัพยากรขายก็มีผลผลิตแล้ว ต่อมายุคที่สองก็ไม่ยากมาก ก็จับคนมาทำงานใส่เครื่องจักรเข้าไป แต่ยุคที่สาม เป็นยุคที่ยาก เพราะว่าปัจจัยการผลิตอิ่มตัว ดังนั้น เราต้องหานวัตกรรมหรือหาอะไรก็แล้วแต่ ที่เรามีเครื่องจักรกลที่ทำให้เก่งและผลผลิตมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เป็นทางออก

ผมจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ มีหลักฐานทางวิชาการย้อนไป 20 ปีแล้วว่าประเทศไทยต้องใช้ R&D (การวิจัยและพัฒนา) และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คำถามคือเรารู้แล้วทำไมไม่ทำ นักเศรษฐศาสตร์พยายามตอบ ผมพยายามอิงกับเศรษฐศาสตร์สถาบัน

มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง Mancur Olson เขียนหนังสือที่ชื่อว่า Rise and Decline of Nations ตั้งคำถามง่ายๆ จากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกว่าทำไมประเทศที่รุ่งเรืองมากอย่างเยอรมันในอดีต ทำไมอยู่ดีๆ ซบเซาลง ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือใครมาตีประเทศเขานะ แต่ว่าทำไมเศรษฐกิจถึงแย่ลง

โอลสันบอกว่า จริงๆ แล้วระบบเศรษฐกิจมีกลุ่มประโยชน์ หรือ Vested Interest Groups เกิดขึ้นไปพร้อมๆ การพัฒนาเศรษฐกิจ และกลุ่มเหล่านี้ก็มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม ทำให้ปฏิรูปไม่ได้หรือเกิดขึ้นได้ช้า ซึ่งการยกระดับจาก 2.0 เป็น 3.0 เป็นการปฏิรูป คือการยกนวัตกรรม เราชินกับการที่ทำงานง่ายๆ อยู่ เพราฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ(ซ้ายสุด)
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ (ซ้ายสุด)

นักเศรษฐศาสตร์คนต่อมาชื่อ ดารอน อาเจโมกลู (Daron Acemoglu) ที่ MIT บอกว่า สิ่งที่โอลสันพูดเป็นปัญหาเชิงสถาบัน หรือ “institutions” ซึ่งมีความสำคัญมาก และ institutions ยิ่งสำคัญมากขึ้นถ้าประเทศพัฒนามากขึ้นด้วย และผมจะบอกว่าปัจจุบันประเทศไทยอาจไปถึงจุดนั้นแล้ว

หากเราไปดูข้อมูลของ Global Competitiveness Report 2014-2015 ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) พบว่าประเทศไทยได้อันดับ 31 จาก 144 ค่อนข้างดีนะครับ สิ่งที่เราทำได้ดีมากคือ macro performance การรักษาเสถียรภาพทำได้ดีมาก แต่สิ่งที่แย่มากๆ อันดับรั้งท้ายของโลกเลยเกี่ยวข้องกับ soft infrastructure ทั้งนั้น ซึ่งคือ institutions ทั้งนั้น เช่น ปัญหาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา, ปัญหาเรื่องจริยธรรม, ปัญหาคอร์รัปชัน, ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (ซึ่งส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่โครงสร้างที่เห็นจับต้องได้นะครับ รุนแรงกว่า

หากจะสรุป ข้อมูลจาก Competitiveness Report 2014-2015 กับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าระบบสถาบันทางเศรษฐกิจของไทยปัจจุบัน วิ่งตามระดับการพัฒนาประเทศไม่ทัน จึงเป็นปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้น

ทีนี้เราจะทำอะไรได้ ถ้าเราไปดูประสบการณ์ประเทศอื่นจะพบว่าการปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาวและทำยาก ไปดูสิงคโปร์ เกาหลีใต้ การเมืองต้องมีเสถียรภาพมาก และผู้นำประเทศต้องมีความตั้งใจมากในการปฏิรูป

“ผมคิดว่าถ้าประเทศไทยเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เรายอมรับว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องดีไซน์ระบบสถาบันทางเศรษฐกิจแยกออกจากระบบความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ผมไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน อาจจะมีหน่วยงานวางแผนขับเคลื่อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจแยกออกมาหรือเปล่า ที่อย่างน้อยๆ ก็พัฒนาความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว”

ผมคิดว่า ณ ปัจจุบันเรา pick the winners มาตลอด ที่ผ่านมาเรามีอุตสาหกรรมที่เป็นการผลิตของประเทศ แต่ ณ วันนี้ ระดับการพัฒนาวันนี้เราไม่จำเป็นต้อง pick the winners แล้ว แต่เราต้องการคนเก่งทุกๆ ที่ ทุกๆ ภาคการผลิต และนั่นคือนวัตกรรมที่จะเกิด และกำลังการผลิต (productivity) ที่จะเพิ่มขึ้น

ถ้าเราต้องการคนเก่งทุกๆ ที่ ระบบสถาบันที่ต้องการคือสถาบันที่ส่งเสริมคนขยัน พัฒนาคนเก่ง สิ่งเหล่านั้นทำได้ 3 ทาง คือ 1. ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในระบบตลาด ก็เป็นการคัดสรรคนเก่ง 2. ลดความบิดเบือนในตลาด การแทรกแซงต่างๆ ต้องลดลงไป 3. ให้แรงจูงใจผู้ที่คิดค้น คือให้อำนาจตลาดชั่วคราวเท่านั้น ซึ่ง 3 สิ่งนี้นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าจะสร้างกลไกทำลายอย่างสร้างสรรค์ (creative destruction) ซึ่งจะเป็นกลไกสร้างในระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการ “ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ” ซึ่งผมก็หวังว่าถ้าเราทำได้ จะช่วยยกเครื่องให้ระบบเศรษฐกิจ “คนชราที่อ่อนแอ” ค่อยๆ กลายเป็นคนหนุ่มที่ก้าวเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

ภิญโญ: เวลาที่เราสนทนากับนักเศรษฐศาสตร์มักจะมีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา ต่อให้ทำได้จริง ทำไมปัญหาในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีนวัตกรรมสูงๆ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ มันแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังโลกเผชิญได้จริงหรือ เรามีอะไรที่จะออกนอกกรอบได้บ้างครับอาจารย์

สมประวิณ: ผมคิดว่าในแต่ละระดับของการพัฒนาปัญหาก็ต่างกัน ถ้าให้เปรียบเทียบประเทศไทยการแก้ปัญหาอาจจะง่ายกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยซ้ำไป ลองคิดดูว่าประเทศที่มีความมั่งคั่งมาก เราพูดถึงการเติบโต การที่ทำให้มีการเติบโต รวยขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ยากขึ้นอีก อย่างญี่ปุ่นก็ไม่รู้จะสร้างอะไรอีก รถไฟก็มีเยอะแล้ว ถนน ทุกอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น การผลักไปที่การเจริญเติบโตมันก็ยาก

ประเทศไทยยังมีการเติบโตได้อีกเยอะ แต่วันนี้ที่เราสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา ผมคิดว่ามันหลายอย่าง ไม่ได้เกี่ยวกับการศึกษาอย่างเดียว คิดว่าเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานด้วย การบิดเบือนในตลาดแรงงานของเรายังมีเยอะมาก เช่น เราควรจะให้คนที่ได้มีมูลค่าในการทำงานอะไรบางอย่างมากที่สุดได้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ทุกวันนี้อาจไม่ใช่ เพราะว่ามีการบิดเบือนในตลาดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นการบิดเบือนในตลาด และนโยบายการอุดหนุนการผลิตบางประเภท ก็ทำให้คนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด หรือคนที่จบนักเศรษฐศาสตร์แล้วมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

ผมขอแตะไปเรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ในมุมมองผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญมาก เพราะว่าขนาดมหาศาล เวลาผมพูดเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันในระบบตลาด ผมพูดถึงรัฐวิสาหกิจด้วย เราลองคิดดูว่าถ้าเราให้ทุกคนสามารถแข่งขันได้ และเขาเป็นคนเก่งจริงๆ ทุกวันนี้เราต้องการคนเก่งจริงๆ และเป็นคนขยันจริงๆ เราไม่ต้องการคนที่อยู่สบายๆ เพราะเราต้องการเป็นประเทศที่เก่งขึ้น เพราะฉะนั้น หากการแข่งขันเปิดเอื้อไปถึงรัฐวิสาหกิจด้วย ให้คนเขามาแข่งอย่างเสรีเป็นธรรม ในการให้บริการบางประเภท ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงก็ควรจะทำ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดประกาย และจุดเริ่มต้นให้คนพัฒนาได้อีก ผมคิดว่าแค่ทำเรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจก็จะช่วยได้เยอะแล้ว

เสวนาประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย Thaipublica Forum

ขอแตะเรื่องประชากรนิดหนึ่ง ปัญหาผมเคยพูดไว้หลายเวทีแล้ว และทุกครั้งที่พูดผมจะบอกเลยว่า ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่ผมกังวลใจมากที่สุด ผมพูดเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่งานประชุมของแบงก์ชาติ ผมบอกว่าปัญหาที่หนักใจมากที่สุดคือ ปัญหาโครงสร้างประชากร เพราะว่าญี่ปุ่นใช้เวลาเตรียมการในการเข้าสู่สังคมชราภาพ 30 ปี บ้านเราเข้าแล้ว อีกไม่กี่ปีเราจะเห็น 1 ใน 4 เป็นคนอายุเกิน 60 ปี

เพราะฉะนั้น เรายังเตรียมการไม่ดีเท่าไหร่ทุกรูปแบบ ทุกวันนี้คนที่กังวลเยอะหน่อยอาจเป็นกลุ่มทางด้านสุขภาพ หมอเขาอยู่ใกล้กลุ่มนี้ก็จะกังวลว่าจะดูแลอย่างไร รัฐบาลก็เริ่มกังวลใจว่าจะให้เงินอย่างไร แต่ว่ามีมิติอื่นอีกเยอะ เช่น จะผลิตยังไง จะเอาคนมาทดแทนอย่างไร จะสร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานอย่างไร พูดไปถึงความมั่นคงระดับชาติก็ได้ ต่อไปใครจะมาเป็นตำรวจ ทหาร มันไปไกลมาก แต่เราไม่มีการพูดถึงตรงนี้สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นทำได้ วิธีการทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง

แต่ทางออก ผมเองไมใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นประชากรศาสตร์ คงต้องไปดูตรงนั้น แต่ว่าแสดงความคิดเห็นง่ายๆ คือ ทางออกคงไม่ใช่การเพิ่มประชากรของคนไทยเอง หลายคนก็บอกว่ามีภาษี มีลูก ไม่มีลูก สิ่งเหล่านั้นแก้ที่ปลายเหตุ เพราะทุกวันนี้เรามีประชากรลดลงเพราะว่า ในอดีตเราบอกว่ามีประชากรเยอะเกินไป มันเป็นความตั้งใจของเรา ถ้าเราไปเพิ่ม อนาคตมันก็เกิดคำถามอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการทำอย่างไรให้คนที่มีอยู่ทำงานได้หลายอย่างขึ้น เก่งขึ้น นั่นคือทางออก ไม่ใช่บังคับให้คนมีลูกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขอขยายความและสรุปของผมนะครับ ขยายความอาจารย์พิพัฒน์ที่พูดเรื่องการขยายอายุเกษียณ คือมีงานวิจัยว่าถ้าขยายอายุเกษียณจาก 60 ไป 65ปีจะมีผลกระทบอย่างไร หลายคนบอกเป็นทางออก แต่จริงๆ แล้วคือเป็นการชะลอผลกระทบเท่านั้นเอง งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าชะลอได้ 10 ปีนะครับ ฉะนั้นท้ายที่สุดแล้วผลของประชากรสูงอายุมาอยู่ดี เพราะฉะนั้น คุณก็ซื้อเวลาก่อนที่คุณยังไม่คิดทำ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องยกระดับการผลิตของเราด้วยเทคโนโลยี

ข้อสรุปของผมก็กลับมาที่ประเด็นแรกว่า เราอย่าไปกลัวการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าเรายังมีความหวังกับประเทศไทย เราพัฒนามาได้ถูกคือการพัฒนาโดยใส่ทรัพยากรไปเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันนี้การยกระดับอีกเกิดขึ้นได้ยาก มันต้องการใช้การ “ปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ” คำนี้ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงนัก และผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเป็นพื้นฐานในการยกระดับประเทศของเรา

การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจผมเรียนแล้วเรามาทางประเทศแนวทางที่เป็นระบบตลาด มันอาจถึงเวลาที่เราต้องลงทุนว่า เราต้องการตลาดที่เป็นธรรม อย่าไปกลัวว่าเราจะแข่งขันไม่ได้ แต่ระบบตลาดกลไกระบบนี้ถูกพิสูจน์มาแล้วในหลายๆ ที่ว่าระบบจะส่งเสริมให้คนที่ขยัน เราต้องการคนที่ขยัน และพัฒนาคนเก่ง คัดสรรคนเก่งให้เขาเติบโตไปได้และสิ่งเหล่านี้ก็มี market failure บ้างบางอย่าง แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็มีทางแก้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควรส่งเสริมสิ่งเหล่านี้และผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วประเทศเราก็พัฒนาได้