ThaiPublica > คอลัมน์ > จาก “สินบนโรลส์-รอยซ์” ถึงนาฬิกาหรู “ริชาร์ด มิลล์” สร้างความโปร่งใสในม่านหมอก

จาก “สินบนโรลส์-รอยซ์” ถึงนาฬิกาหรู “ริชาร์ด มิลล์” สร้างความโปร่งใสในม่านหมอก

31 ธันวาคม 2017


Hesse004

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้หยิบยก 10 ประเด็นคอร์รัปชัน ปี 2560 ที่สังคมไทยควรจับตา (รายละเอียดในกล่องข้อความ)…ประเด็นที่ว่านี้มีทั้งเรื่องทุจริตที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิดรัฐบาล คดีเงินทอนวัด สินบนต่างประเทศ รวมถึง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายป้องกันการทุจริตฉบับใหม่

อย่างไรก็ดี เมื่อประมวลเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นกระแสสังคมซึ่งมีทั้งเรื่องความโปร่งใส ความคลุมเครือ ไปจนกระทั่งการทุจริตแบบโจ่งแจ้งนั้น…เราลองมาลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ไล่ตามรายเดือนตั้งแต่เดือน ม.ค. จนกระทั่งวันสุดท้ายของเดือน ธ.ค. (ดูตาราง)

จากตาราง จะเห็นได้ว่า เพียงแค่เดือนแรกของ ปี 2560 ข่าวร้อนกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ ออกมายอมรับต่อ UK Senior Fraud Office (SFO) ว่า บริษัทได้ติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ไทยในการซื้อขายเครื่องยนต์ ระหว่างปี 2534-2548 ซึ่งหน่วยงานที่ถูกระบุถึง คือ การบินไทย และ ปตท.

แน่นอนว่า…ข่าวนี้สะเทือนต่อภาพลักษณ์ของทั้งสองบริษัทบิ๊กเนม ทำให้การบินไทย และ ปตท.ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ขณะที่ ป.ป.ช. ออก “แอ๊คชั่น” ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษา กำหนดแนวทางในการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ตลอดจนเร่งรัดติดตามการทำงานของหน่วยงานต่อต้านทุจริตทุกฝ่าย

กระทั่งเดือน มี.ค. สำนักงาน ป.ป.ช.ได้จัดทำรายงานผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสินบนข้ามชาติ โรลส์-รอยซ์ กรณีขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้กับการบินไทยและขายเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานให้ ปตท.และ ปตท.สผ. โดยรายงานฉบับนี้เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อในช่วงนั้นได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ จึงมีมติรับเรื่องกล่าวหาในประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเข้าไปดูความคืบหน้าของเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ ในเว็บไซด์ ป.ป.ช. พบว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง

ในรอบปีที่ผ่านมา การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดเรื่องสำคัญ ๆ ไปแล้วหลายเรื่อง เช่น เดือน มิ.ย. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีโกงแวตพันล้าน รวมทั้งจัดซื้อจัดจ้างผิดระเบียบ เรียกรับเงิน รวม 4 คดี เดือน พ.ย. ชี้มูลกรณีเลขานายบุญทรงฯ ร่ำรวยผิดปกติ เช่นเดียวกับชี้มูลกรณีนายสมบัติ อุทัยสาง อดีต รมช.มหาดไทย ที่ร่ำรวยผิดปกติเหมือนกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ชี้มูลเจ้าหน้าที่สังกัดกรุงเทพมหานคร กรณีจัดทำโครงการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (Motif of Light) โดยมิชอบ และส่งท้ายในเดือน ธ.ค. ด้วยการชี้มูลความผิด ผอ.สำนักพุทธศาสนาและพวก กรณีทุจริตเงินทอนวัด

ขณะที่การทำงานของศาล มีเรื่องเด่น ๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค. เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาจำคุกนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมลูกสาว ในคดีรับสินบนข้ามชาติ กรณีจัดเทศกาลภาพยนตร์ Bangkok Film Festival

และคดีสำคัญ”จำนำข้าว” ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกทั้งนายบุญทรง เตยะภิรมย์ และพวก รวมทั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ส่วนเดือน พ.ย. ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนจำคุกนางเบญจา หลุยเจริญ ข้อหาช่วยเหลือให้มีการเลี่ยงจ่ายภาษีหุ้นบริษัทชินคอร์ป

มาดูในแง่การป้องกันการทุจริตกันบ้าง…ปี 2560 ทุกภาคส่วนยังคงตื่นตัวต่อต้านคอร์รัปชันกันอย่าง “หนักหน่วง” เช่นเดิม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงบทบาทหัวหมู่ทะลวงฟันของภาคประชาสังคมในการพยายามต่อสู้กับปัญหาทุจริต…ส่วนของสื่อมวลชนนั้น สำนักข่าวเจาะเช่น “สำนักข่าวอิศรา” หรือแม้แต่ Thaipublica เองต่างก็เกาะติดรายงานสถานการณ์ทุจริตและความโปร่งใสอยู่ตลอดเวลา

หันมาดูความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของภาครัฐบ้าง… การตรากฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐทุ่มเทสรรพกำลังในการลดปัญหาคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเพิ่มกลไกการตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact

หากจะกล่าวกันตามตรง ปีนี้สังคมไทยเราพยายามรณรงค์การต่อต้านคอร์รัปชันและผลักดันแนวทางต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อลดโอกาสการคอร์รัปชัน

ตัวอย่างล่าสุด ที่รัฐออกมารณรงค์งดจัดหาของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้ผู้บังคับบัญชา โดยขอเป็นเพียงคำอวยพรแบบไม่ต้องมีของขวัญ ของกำนัลติดไม้ติดมือมาให้…สิ่งเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่ดีในการป้องกันการติดสินบน

…ปิดท้ายด้วยเรื่องกังขา หากติดตามข่าวคราวประเด็นฮอตมาตั้งแต่ต้นปี ดูเหมือนเรื่องกังขาที่น่าสนใจจะมีอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. เมื่อ กองทัพบกประกาศปลดระวางเรือเหาะตรวจการณ์มูลค่า 350 ล้านบาท โดยกองทัพบกจัดซื้อเรือเหาะลำนี้มาตั้งแต่ปี 2552 แต่เกิดปัญหา คือ เรือไม่สามารถเหาะได้ตามมาตรฐาน สุดท้ายต้องส่งซ่อม จอดค้างนานแรมปี จนต้องตั้งงบประมาณอีกปีละ 50 ล้าน เพื่อบำรุงรักษา และต้องปลดระวางในที่สุด

ส่วนเรื่องที่สอง ความกังขาเกิดขึ้นกับรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคง เมื่อพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ถูกตั้งคำถามจากเพจ Facebook ในโลกออนไลน์ถึงเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาหรูยี่ห้อ “ริชาร์ด มิลล์” ที่ท่านใส่ในวันถ่ายภาพหมู่ ครม.พลเอกประยุทธ์ ชุดที่ 5

ความกังขาดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามและขุดคุ้ยกันต่อ พร้อมทั้ง “เผือกร้อน” ชิ้นนี้ถูกโยนให้ ป.ป.ช. ชี้แจงอีกด้วยว่า กรณีไม่ปรากฏทรัพย์สินดังกล่าวในบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งทรัพย์สินก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง และแจ้งเมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว นั้น ถือเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือไม่
….แต่คำตอบเรื่องแหวนมารดา นาฬิกาหรู คงปรากฏชัดเจนแล้วด้วยท่าทีของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

ปี 2560 เป็นปีที่ประเทศไทยโปร่งใสขึ้นจริงหรือไม่นั้น เราคงทราบ “คำตอบ” อีกไม่นาน โดยเฉพาะจากการจัดอันดับเรื่องคอร์รัปชันที่วัดจากดัชนีชี้วัดความโปร่งใส (Corruption Perception Index)ของ Transparency International

ความโปร่งใสที่ว่านี้จะเป็นความโปร่งใสระดับ “ใสปิ๊ง” จนต่างชาติยกนิ้วให้ หรือ เป็นเพียง “ความโปร่งใสในม่านหมอก” เพราะแม้แต่บางเรื่องที่พอจะเห็นเค้าลางความผิดปกติแล้ว แต่ด้วยม่านหมอกที่ “บังตา” อยู่ เลยทำให้คนทำหน้าที่ “แกล้งทำ” เป็นมองไม่เห็นซะอย่างงั้น