ThaiPublica > คอลัมน์ > เดนมาร์ก เคล็ดลับสู่แชมป์โลกโปร่งใส 3 ปีซ้อน

เดนมาร์ก เคล็ดลับสู่แชมป์โลกโปร่งใส 3 ปีซ้อน

5 มิถุนายน 2015


Hesse004

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสร่วมฟังปาฐกถาพิเศษของท่านเอกอัคราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย นายมิเคล เหมนิธิ วินเธอร์ (Danish Ambassador of Denmark “H.E. Mr.Mikael Hemniti Winther) ที่ให้เกียรติกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อบรรยายประสบการณ์การสร้างความโปร่งใส และต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศเดนมาร์ก

น่าสนใจทีเดียวว่า เดนมาร์กครองแชมป์ความโปร่งใสในโลก 3 ปี ติดต่อกันถึงสองช่วง (ค.ศ. 1997-1999 และช่วง ค.ศ. 2012-2014)

ความโปร่งใสเดนมาร์ก

จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่า ค่าดัชนีความโปร่งใสของประเทศเดนมาร์กนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมานั้น เดนมาร์กไม่เคยได้คะแนนต่ำกว่า 9 จาก 10 คะแนน หรือ 90 จาก 100 คะแนนเลย และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ พวกเขาได้คะแนนเต็ม 10 ติดต่อกันสองปีซ้อน (ค.ศ. 1998-1999)

…สถิติข้างต้นพิสูจน์ให้เห็นว่าเดนมาร์กได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นเมืองที่โปร่งใสจริงๆ

ท่านทูตมิเคลถ่ายทอดเรื่องราวการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศเดนมาร์กไว้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายถึงเคล็ดลับหรือปัจจัยที่ทำให้เดนมาร์กครองแชมป์ความโปร่งใสติดต่อกัน 3 ปีซ้อน

เดนมาร์กได้รับการยอมรับเรื่องการมีรัฐบาลที่โปร่งใส โดยปัจจัยที่ทำให้พวกเขาก้าวมาถึงจุดสูงสุดนี้ไดมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

(1) สังคมเดนมาร์กมีความโปร่งใสโดยพื้นฐานอยู่แล้ว การมีสังคมที่เปิดเผย (Open Society) ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ โดยเฉพาะ ข้อมูลสาธารณะที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องแสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยออกมา

(2) ปัจจัยที่เกิดจากความเชื่อมั่นของสาธารณะ (Public Trust) ความเชื่อมั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีมั่นใจว่า เงินภาษีของพวกเขาถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด (Value for Money)

ความเชื่อมั่นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ต่างสำนึกในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบเสมอว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ้างพวกเขามาปฏิบัติราชการนั้นคือเงินภาษีอากรของประชาชน

คำว่า Enhancing public trust หรือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน อธิบายได้ว่า หากประชาชนขาดความมั่นใจในรัฐแล้ว การจ่ายภาษีก็จะเป็นไปด้วยความ “ระแวง” สงสัย ทุกคนจึงพยายามหาวิธีการลดภาระภาษีของตนเอง ไม่ว่าจะหนีภาษี เลี่ยงภาษี หรือหาวิธีลดหย่อน เพราะตราบใดที่พวกเขาไม่มั่นใจว่า ภาษีที่จ่ายไปนั้นถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย ไร้ประโยชน์ รั่วไหลอยู่เสมอ ก็แน่นอนว่าไม่มีใครเต็มใจอยากจะจ่ายภาษี

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เป็น “รัฐสวัสดิการ” (Social Welfare State) นอกจากจะมีอัตราภาษีที่สูงแล้ว ความโปร่งใสจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นตามไปด้วย เพราะยิ่งเก็บภาษีสูงมาก ประชาชนย่อมคาดหวังว่าบริการที่พึงจะได้รับจากรัฐบาลนั้นจะต้องคุ้มค่ากับภาษีที่พวกเขาได้จ่ายไป

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ภาษีที่ทุกคนจ่ายไปนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและรั่วไหลน้อยที่สุด (ดูความสัมพันธ์ระหว่างอัตราภาษีของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการแถบสแกนดิเนเวียกับค่าดัชนีความโปร่งใส)

รัฐสวัสดิการกลุ่มสแกนดิเนเวีย

(3) ปัจจัยสำคัญประการต่อมา คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง (Law Enforcement) เช่นเดียวกันกับการสร้างนิติรัฐ ที่ไม่ได้ทำแค่ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง หากแต่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ใครก็ตามในสังคมที่ละเมิดกฎหมาย คนนั้นก็ต้องรับโทษเหมือนกัน

(4) ปัจจัยที่ช่วยควบคุมปัญหาคอร์รัปชันในเดนมาร์กได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องจากเดนมาร์กไม่มีหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง (Anti-Corruption Agency) เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนกับการปราบปรามคอร์รัปชัน ดังนั้น รัฐบาลเดนมาร์กจึงใช้องค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (Rigsrevisionen หรือ The National Audit Office of Denmark) เป็นกลไกสำคัญที่สร้างความโปร่งใส ผ่านกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณนั้นคุ้มค่ามากที่สุด

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ เคล็ดลับสร้างความโปร่งใสของเดนมาร์ก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีความซับซ้อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ไม่ใช่แก้กันด้วย “ปาก” หรือเก่งแต่วิจารณ์เพียงอย่างเดียว อัตราการคอร์รัปชันไม่อาจลดลงเพราะคนวิจารณ์ที่ยังตั้งอยู่บนฐานของความ “ไม่รู้” และ “ไร้เดียงสา” จนกลายเป็นพวกไม่เข้าใจปัญหาคอร์รัปชันอย่างถ่องแท้

เพราะคอร์รัปชันเป็นแรงจูงใจทางลบในสังคมที่หากควบคุมไม่ได้แล้ว แรงจูงใจดังกล่าวจะทำลายสังคมนั้น ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันโดยใช้องค์ความรู้นำ นอกเหนือจากปลูกฝังจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว

…ที่ผ่านมา เราได้ปลูกฝังจิตสำนึกกันมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นว่าไอ้เจ้า “ต้นสำนึก” นั้นมันจะโตสักที