ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมคนดีถึงนอกใจ

ทำไมคนดีถึงนอกใจ

6 มีนาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ถ้าคุณมีโอกาส คุณว่าคุณจะนอกใจเเฟน/สามี/ภรรยาของคุณไหม

ถ้าคำตอบของคุณคือ “ไม่เเน่” หรือ “เเน่นอนอยู่เเล้ว” บทความนี้ไม่เกี่ยวกับตัวคุณ เเต่ถ้าคำตอบของคุณคือ “ไม่อย่างเเน่นอน” (เเละเเฟน/สามี/ภรรยาของคุณไม่ได้นั่งอ่านบทความนี้อยู่ข้างๆ) ผมขอเเสดงความยินดีด้วย เพราะคุณเป็นคนดีคนหนึ่งที่อาจจะนอกใจเเฟน/สามี/ภรรยาของคุณเมื่อไหร่ก็ได้

Hot-cold empathy gap

เมื่อประมาณหกปีที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยยอร์ก (York) ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนเเฟนที่คบกันมาห้าปีของผม (ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนสถานะจากเเฟนมาเป็นภรรยาเรียบร้อยเเล้ว) ก็ได้เดินทางกลับไปเมืองไทยเพื่อที่จะไปเริ่มอาชีพนักกฎหมายของเขาเต็มตัว ในบ้านที่อังกฤษที่ผมกำลังเช่าอยู่ตอนนั้น ผมได้เเขวนรูปเเฟนของผมไว้เต็มไปหมดจนน้องๆ นักศึกษาคนไทยหลายๆ คนจากสมาคมนักเรียนไทยยอร์กที่ผมเคยชวนมากินข้าวที่บ้านเเซว

“เเหม อาจารย์ ดูอาจารย์รักเเฟนอาจารย์มากเลยนะ มีรูปของเขากับอาจารย์ติดบ้านอยู่เต็มไปหมดเลย”

ผมยิ้มเเบบอายๆ ก่อนที่จะตอบกลับไปว่า “รักเเฟนก็รักนะ เเต่การรักเเฟนก็ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจเเขวนรูปของเขาไว้เต็มบ้าน (เรารักเเบบเงียบๆ ก็ได้ จริงไหม) เเละที่ติดไว้ก็ไม่ได้จะตั้งใจอวดคนที่จะมาเที่ยวที่บ้านด้วย (ปกติผมกับเเฟนก็ไม่ใช่คนที่ชอบอวดความรักที่เรามีให้ต่อกันนัก เเถมตอนที่เราอาศัยอยู่ด้วยกันเราก็ไม่ได้ติดรูปเขารูปเราเยอะเหมือนตอนที่ผมอยู่คนเดียวเเละเราต้องอยู่ไกลกันคนละประเทศ) เเต่สาเหตุสำคัญที่ผมตัดสินใจติดรูปของเขาไว้ที่บ้านเยอะๆ นั้นเพื่อเตือนใจของผมเอง ผมรู้ตัวเองดีว่าผมไม่ใช่คนเจ้าชู้เเละไม่เคยมีประวัติเจ้าชู้ เเต่ผมก็ทราบดีว่า hot-cold empathy gap นั้นมันเป็นยังไง เเละทำไมเราไม่ควรที่จะดูถูกมัน”

เมื่อได้ยินดังนั้น น้องๆ ก็ตอบผมกลับมาว่า “เเซวเล่นเฉยๆ ครับ/ค่ะ (อาจารย์ตอบมาเสียยาวเลยทั้งๆ ที่ไม่ได้ขอคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น)”

อะไรคือ Hot-cold empathy gap

hot-cold empathy gap ซึ่งเป็นผลงานจากการวิจัยของจอร์จ โลเวนสไตน์ (George Loewenstein) จากมหาวิทยาลัยคานากี เมลอน (Canargie Melon) ในสหรัฐอเมริกา ก็คือการที่คนเรามักจะประเมินค่าของการมีอิทธิพล (influences) ของการเปลี่ยนเเปลงภายในของเรา (visceral drives) ที่มีต่อพฤติกรรมภายนอกของเราตำ่จนเกินไป อธิบายง่ายๆ ก็คือ ขั้นตอนในการตัดสินใจของคนเรานั้นมักจะขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นเรากำลังรู้สึกยังไงอยู่ (state dependent) เเละมันก็เป็นอะไรที่ยากมากในการที่เราจะจินตนาการว่าความรู้สึกอีกอย่างนั้นเป็นยังไง เพราะฉะนั้น การตัดสินใจอะไรก็ตามที่จะมีผลกับความรู้สึกของเราในอนาคตมักจะถูกความรู้สึกของเราในปัจจุบันบงการอยู่อย่างที่เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัวกัน

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราอิ่ม (cold state) เราจะจินตนาการไม่ค่อยออกว่าความรู้สึกหิวนั้นเป็นยังไง เเละถ้าเราต้องออกไปซื้อกับข้าวเพื่อที่จะนำมาทำกินตอนเย็นในขณะที่เรากำลังอิ่มอยู่นั้น เราก็อาจจะซื้อไม่ได้เยอะ (เพราะว่ายังอิ่มอยู่) ถึงเเม้ว่าตอนเย็นอาจจะหิวอีกก็ได้ (hot state)

เเล้วมันเกี่ยวกับการนอกใจของคนดียังไง

The heat of the moment

หนึ่งในงานวิจัย hot-cold empathy gap ของจอร์จ โลเวนสไตน์ ซึ่งทำร่วมกันกับเเดน อาริเอลี (Dan Ariely) ก็คือการให้นักศึกษาอาสาสมัครชาย 35 คนที่ไม่ได้มีรสนิยมเป็นเกย์ (อายุได้ซักประมาณ 18-21 ปี) จากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ (Berkeley) ตอบคำถามที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศหลายๆ อย่าง (บางคำถามก็เเปลกจนไม่อยากจะเชื่อ) ในเเลปทอปที่ทั้งสองได้จัดหาให้ โดยตอนเเรกเขาทั้งสองให้นักศึกษาตอบคำถามพวกนี้ในช่วง cold state หรือช่วงชีวิตประจำวันธรรมดา (พูดง่ายๆ ก็คือช่วงที่พวกเขาไม่ได้ตื่นตัวทางเพศอยู่) หลังจากนั้นเขาทั้งสองก็ให้นักศึกษาเหล่านี้นำเเลปทอปกลับบ้านเเละให้พวกเขาตอบคำถามใหม่ในช่วง hot state หรือในขณะที่กำลัง “ช่วยตัวเอง” อยู่ (พูดง่ายๆ ก็คือช่วงที่พวกเขากำลังตื่นตัวทางเพศอยู่)

ทั้งนี้ คำถามในการวิจัยครั้งนี้มีอยู่เยอะ ผมขอยกตัวอย่างคำถามมาห้าคำถามก่อนละกันนะครับ

คุณยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีอายุ 60 ไหม
คุณยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม
คุณคิดว่าคุณสามารถที่จะกระตุ้นตัวเองพอที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ได้ไหม
คุณคิดว่าคุณจะยังพยายามมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ปฏิเสธไปเเล้วว่าเขาไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคุณอยู่ไหม
คุณคิดว่าคุณสามารถที่จะมอมยาผู้หญิงเพื่อที่คุณจะได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอไหม

คำตอบในขณะที่ยังอยู่ในช่วง cold state ต่อคำถามห้าข้อนี้เป็นดังต่อไปนี้

คุณยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีอายุ 60 ไหม (7% ตอบว่า “ยอม”)
คุณยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม (53% ตอบว่า “ยอม”)
คุณคิดว่าคุณสามารถที่จะกระตุ้นตัวเองพอที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ได้ไหม (6% ตอบว่า “ได้”)
คุณคิดว่าคุณจะยังพยายามมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ปฏิเสธไปเเล้วว่าเขาไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคุณอยู่ไหม (20% ตอบว่า “ใช่”)
คุณคิดว่าคุณสามารถที่จะมอมยาผู้หญิงเพื่อที่คุณจะได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอไหม (5% ตอบว่า “ได้”)

เเละคำตอบในขณะที่ยังอยู่ในช่วง hot state ต่อคำถามห้าข้อนี้เป็นดังต่อไปนี้

คุณยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีอายุ 60 ไหม (23% ตอบว่า “ยอม”)
คุณยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม (77% ตอบว่า “ยอม”)
คุณคิดว่าคุณสามารถที่จะกระตุ้นตัวเองพอที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ได้ไหม (16% ตอบว่า “ได้”)
คุณคิดว่าคุณจะยังพยายามมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ปฏิเสธไปเเล้วว่าเขาไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคุณอยู่ไหม (45% ตอบว่า “ใช่”)
คุณคิดว่าคุณสามารถที่จะมอมยาผู้หญิงเพื่อที่คุณจะได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอไหม (26% ตอบว่า “ได้”)

สรุปเเล้วก็คือ ในช่วงที่คนเราอยู่ใน cold state นั้น เรามักจะเชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะทำอะไรนอกลู่นอกทางได้ (รวมไปจนถึงการนอกใจเเฟนของเรา หรือเเม้กระทั่งการที่จะทำอะไรไม่ดีๆ อย่างเช่นการตัดสินใจที่จะข่มขืนใครซักคนด้วย) เเละในการคิดใน cold state นี้สามารถที่จะทำให้เราตัดสินใจนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อเเหลมได้ เเละผลของการวิจัยชิ้นนี้ก็ได้ชี้ให้เรารู้ว่า ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีหรือไม่ดี อะไรๆ ก็เกิดขึ้นก็ได้ถ้าเราอยู่ใน hot state

เหมือนกันกับที่สุภาษิตเยอรมันเคยบอกเอาไว้ว่า When the penis gets hard, the brain goes soft

นักการเมืองดีๆ กับการตัดสินใจที่จะคอรัป

เเต่ hot-cold empathy gap ก็ไม่ได้ใช้เเค่ในการอธิบายการตัดสินใจดิบๆ ของคนเพียงอย่างเดียว เรายังสามารถนำ hot-cold empathy gap มาช่วยในการอธิบายการตัดสินใจที่เกี่ยวกับศีลธรรมเเบบมหภาคอย่างเช่นการตัดสินใจของนักการเมือง (เเม้เเต่นักการเมืองที่เราคิดว่าเป็นคนดี) ที่จะกระทำการทุจริต หรือเเม้เเต่ทำไมคนที่สนับสนุนพรรคเสื้อเเดงถึงไม่สามารถทำความเข้าใจคนที่สนับสนุนพรรคเสื้อเหลือง เเละคนที่สนับสนุนพรรคเสื้อเหลืองถึงไม่สามารถทำความเข้าใจคนที่สนับสนุนพรรคเสื้อเเดงได้

เพราะฉะนั้น การมี empathy หรือความสามารถที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา (ไม่ว่า “เขา” จะเป็นคนอื่นหรือตัวเราเองใน “hot state” ในอนาคตก็ตาม) จึงเป็นความสามารถที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของคนเรา เเละควรที่จะเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้เป็นพ่อเเม่ควรเริ่มปลูกฝังให้กับลูกตั้งเเต่ยังเป็นเด็ก เพื่อที่ลูกจะได้โตไปมีความสามารถในการกันตัวเองออกจากพฤติกรรมที่ในช่วง cold state เขาไม่ได้อยากจะทำเลย

อ่านเพิ่มเติม
Ariely, D., & Loewenstein, G. (2006). The heat of the moment: The effect of sexual arousal on sexual decision making. Journal of Behavioral Decision Making, 19(2), 87-98.
Loewenstein, G. (2000). Emotions in economic theory and economic behavior. American economic review, 426-432.
Read, D., & Van Leeuwen, B. (1998). Predicting hunger: The effects of appetite and delay on choice. Organizational behavior and human decision processes, 76(2), 189-205.