ThaiPublica > คอลัมน์ > ผลกระทบของการมีลูกสาวต่อทัศนคติทางการเมืองของผู้เป็นพ่อเเละเเม่

ผลกระทบของการมีลูกสาวต่อทัศนคติทางการเมืองของผู้เป็นพ่อเเละเเม่

24 พฤศจิกายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เมื่อประมาณปลายปี ค.ศ. 2005 แอนดรูว์ ออสวอลด์ (Andrew Oswald) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผมตอนที่ผมกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวอร์วิก (Warwick) ในประเทศอังกฤษ ได้มาเยี่ยมผมที่ทำงานแรกของผมในกรุงลอนดอน ระหว่างที่เรากำลังรับประทานข้าวกลางวันกันอยู่นั้น แอนดรูว์ก็เล่าให้ผมฟังถึงผลงานการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยที่เยล (Yale) คนหนึ่งที่มีชื่อว่า อีบอนยา วอชิงตัน (Ebonya Washington) โดยผลสรุปของการวิจัยของอีบอนยามีอยู่ว่า ในการลงคะแนนโหวตของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อลงมติอนุญาตให้รัฐบาลนำกฎหมายที่รัฐสภาเสนอขึ้นมาไปใช้ได้หรือไม่นั้น สมาชิกวุฒิสภาที่มีลูกสาว – หรือมีจำนวนลูกสาวมากกว่าลูกชายในจำนวนลูกที่มีทั้งหมด – มักจะโหวตให้กฎหมายที่เพิ่มสิทธิประชาชนให้กับผู้หญิงมากขึ้น เช่น กฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะมีสุขภาพที่แย่หรือดี สามารถทำแท้งได้ (legalised abortion) เป็นต้น ผ่านมากกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มีลูกชาย – หรือมีจำนวนลูกชายมากกว่าลูกสาวในจำนวนลูกที่มีทั้งหมด

พอได้ฟังที่แอนดรูว์เล่ามาแล้วทำให้ผมถึงกับอึ้ง เพราะผมไม่เคยที่จะคิดมาก่อนเลยว่าการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภานั้นจะมีปัจจัยที่เป็นส่วนตัวอย่างนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง และหลังจากคุยกับแอนดรูว์เรื่องนี้อีกไม่นาน เราสองคนก็ตั้งข้อสมมติฐานกันว่าการมีลูกสาวนั้นน่าจะมีผลกระทบต่อทัศนคติทางการเมืองของผู้ที่เป็นพ่อและแม่ธรรมดาทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ได้

ที่มาภาพ : http://www.fffc.org.uk/graphics/children-welcome.jpg
ที่มาภาพ : http://www.fffc.org.uk/graphics/children-welcome.jpg

เศรษฐศาสตร์ของการมีลูกสาว

ข้อสมมติฐานที่เจาะจงลงมาหน่อยของผมกับแอนดรูว์ก็คือ คนที่มีลูกสาวน่าจะชอบและโหวตให้มีรัฐบาลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเสรีนิยม (liberal หรือ left-wing) ส่วนคนที่มีลูกชายก็น่าจะชอบและโหวตให้มีรัฐบาลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอนุรักษนิยม (conservative หรือ right-wing)

ทำไมหรือครับ ผมกับแอนดรูว์คิดทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาสองข้อด้วยกันตามนี้

ในโลกของเราที่เป็นอยู่นี้ มีความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายด้ายระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย พูดง่ายๆ เลยก็คือ เมื่อเทียบทุกอย่างให้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือการศึกษา ผู้หญิงก็มักจะได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายอยู่ดี และผู้หญิงจะได้ผลประโยชน์มากกว่าผู้ชายจากนโยบายที่จะให้มีสินค้าสาธารณะ (public goods) อย่างเช่น การรักษาโรคฟรี การมีการบริการขนส่งมวลชนที่ดี เป็นต้น

ทั้งสองข้อนี้บอกกับเราว่า อรรถประโยชน์ที่ต้องเสียไป (marginal disutility) จากการเพิ่มภาษีรายได้ 1% ของผู้ชายนั้นโดยทั่วไปแล้วน่าจะสูงกว่าของผู้หญิง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ได้เงินเดือนที่สูงกว่าผู้หญิงที่มีความสามารถและวุฒิการศึกษาเท่าเทียมกัน พูดง่ายๆ ก็คือ เพราะผู้ชายมีเงินเดือนเยอะกว่าผู้หญิง ผู้ชายจึงเกลียดการขึ้นภาษีเงินเดือนมากกว่าผู้หญิง และอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ได้มาจากการเพิ่มสินค้าสาธารณะของผู้หญิงก็น่าจะสูงกว่าผู้ชาย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าผู้หญิงได้ผลประโยชน์จาก public goods มากกว่าผู้ชาย

และด้วยเหตุผลที่ว่า ตามประวัติศาสตร์แล้วนั้น ประเทศที่มีรัฐบาลเป็นเสรีนิยม (อนุรักษนิยม) มักจะเรียกเก็บภาษีประชากรเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างมาก (น้อย) แต่ก็ให้คืนเป็นสินค้าสาธารณะในปริมาณที่มาก (น้อย) เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็น่าที่จะชอบรัฐบาลที่เป็นเสรีนิยมมากว่าผู้ชาย และในทางกลับกัน ผู้ชายก็น่าที่จะชอบรัฐบาลที่เป็นอนุรักษนิยมมากว่าผู้หญิง

ก็เป็นความจริงถ้าเรามองไปที่รัฐสภาของประเทศอังกฤษในปี 2005 จากจำนวนผู้แทนประชาชนที่เป็นผู้หญิงในรัฐสภาของประเทศอังกฤษจำนวน 127 คน เกือบร้อยคนอยู่สังกัดของพรรคแรงงาน (Labour) ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยม และแค่ 17 คนเท่านั้นที่อยู่สังกัดพรรคอนุรักษนิยม (Conservative)

และเพราะความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก และอยากที่จะให้ลูกโตขึ้นมาในสังคมที่ดีที่สุดกับเพศของตัวลูก ข้อสมมติฐานสุดท้ายของผมและแอนดรูว์ก็คือ คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็น่าจะเปลี่ยนทัศนคติการเมืองที่เขามีไปทางเสรีนิยมมากขึ้นหลังจากการมีลูกสาว และไปทางอนุรักษนิยมมากขึ้นหลังจากการมีลูกชาย

หลักฐานจากประเทศสหรัฐราชอาณาจักร

หลังจากคิดค้นทฤษฎีขึ้นมาเรียบร้อยแล้วนั้น ตัวผมก็เริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูลการโหวตของคนในการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐราชอาณาจักร พร้อมๆ กันกับเทียบดูว่าคนที่โหวตให้พรรคแรงงานที่เป็นเสรีนิยมนั้นมีลูกสาวมากกว่ามีลูกชายไหม

และก็เป็นอย่างที่คิดไว้จริงๆ ผมพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนที่โหวตให้กับพรรคแรงงานของอังกฤษมีลูกสาวมากกว่าลูกชายจริงๆ (และในทางกลับกัน คนที่โหวตให้กับพรรคอนุรักษนิยมก็มักจะมีลูกชายมากกว่าลูกสาว) แต่หลักฐานทางสถิติที่สำคัญที่สุดที่ผมเจอก็คือ การที่ลูกคนแรกเกิดมาเป็นผู้หญิงนั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนที่เคยโหวตให้กับพรรคอนุรักษนิยมในปีก่อนที่ลูกจะเกิดเปลี่ยนไปเป็นโหวตให้กับพรรคแรงงานในปีที่ลูกเกิดเกือบถึง 2% ด้วยกัน (ซึ่ง 2% อาจจะฟังดูน้อย แต่ผมต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปลี่ยนใจในการเลือกพรรคที่ตนเองชอบนะครับ เพราะฉะนั้น 2% จึงเป็นตัวเลขที่ใหญ่พอสมควร)

การมีลูกสาว

รูปที่ 1: ผลกระทบของการมีลูกคนแรกเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกับโอกาสที่จะเปลี่ยนจากการโหวตให้กับพรรคอนุรักษนิยมในปีก่อนที่ลูกจะเกิดไปเป็นโหวตให้กับพรรคแรงงานในปีที่ลูกเกิดของประเทศสหรัฐราชอาณาจักร

หลังจากนั้น ผมก็สามารถพิสูจน์โดยใช้ข้อมูลการโหวตในประเทศเยอรมนีให้เห็นว่าการมีลูกสาวก็ทำให้คนเยอรมันมักที่จะเปลี่ยนไปโหวตให้กับพรรคเสรีนิยมแทนพรรคอนุรักษนิยมเช่นเดียวกัน

และผมยังเจออีกด้วยว่า ผลกระทบของการมีลูกผู้หญิงต่อทัศนคติทางการเมืองนั้นจะสูงกว่าสำหรับคนที่เป็นพ่อเมื่อเทียบกันกับคนที่เป็นแม่นะครับ

หลังจากนั้นไม่นาน ผลงานของผมและแอนดรูว์ชิ้นนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีชื่อว่า Review of Economics and Statistics และนักวิจัยต่อๆ มาก็พบว่าการมีลูกสาวนั้นก็สามารถทำให้ผู้พิพากษามีความอ่อนโยนขึ้นในการตัดสินคดีต่างๆ แถมยังทำให้ CEO ของบริษัททั้งหลายมีความเป็นธรรมกับสังคมในการบริหารบริษัทของเขาอีกด้วย

เพราะฉะนั้น คุณผู้อ่านท่านใดที่อยากจะมีลูกชายแต่กลับได้ลูกสาวแทนก็อย่าไปเสียใจนะครับ เพราะว่าการมีลูกสาวนั้นสามารถที่จะทำให้เรามีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น พร้อมกันกับทำให้เรามีความอ่อนโยนมากขึ้นได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม
Cronqvist, H., & Yu, F. (2015). Shaped by Their Daughters: Executives, Female Socialization, and Corporate Social Responsibility. Female Socialization, and Corporate Social Responsibility (June 15, 2015).
Glynn, A. N., & Sen, M. (2015). Identifying Judicial Empathy: Does Having Daughters Cause Judges to Rule for Women’s Issues?. American Journal of Political Science, 59(1), 37-54.
Oswald, A. J., & Powdthavee, N. (2010). Daughters and left-wing voting. The Review of Economics and Statistics, 92(2), 213-227.
Washington, E. L. (2008). Female Socialization: How Daughters Affect Their Legislator Fathers. The American Economic Review, 98(1), 311.