ThaiPublica > คอลัมน์ > ความโชคดีของคนเรามันเท่ากันไหม

ความโชคดีของคนเรามันเท่ากันไหม

26 ตุลาคม 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Luck#/media/File:Four-leaf_clover.jpg

ทำไมคนบางคนถึงโชคดีจัง แล้วทำไมบางคนถึงดูไม่มีโชคเข้าข้างเลย แล้วมันเป็นความจริงไหมที่คนที่โชคดีส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีโอกาสในสังคมสูงอยู่แล้ว (อย่างเช่นเป็นคนที่มีเงิน มีหน้าตาดี หรือมีชื่อเสียงอยู่แล้ว) แล้วความโชคดีนั้นมันเป็นอะไรที่เกิดจากการสุ่มจริงหรือไม่ หรือความโชคดีมาจากการทำบุญทำทาน หรือการทำดีเท่านั้น

วันนี้ผมก็เลยถือโอกาสมาเขียนถึงทฤษฎีที่มาของความโชคดีในเชิงพฤติกรรมศาสตร์เหล่านี้นะครับ

ก่อนอื่นเลย เรามาตั้งนิยามของโชคชะตา หรือ luck กันก่อนละกัน

ถ้าพูดกันตามทฤษฎีแล้วล่ะก็ luck ควรเป็นอะไรที่ random คล้ายๆ กับการทอยลูกเต๋าที่แฟร์อะนะครับ (พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพูดกันตาม classical definition จริงๆ ล่ะก็ luck ควรเป็นอะไรที่เรากำหนดเอาไว้ก่อนไม่ได้เลย) แต่ในความเป็นจริงในชีวิตของคนเราแล้ว นิยามของคำว่า luck ใน classical sense นี้จะค่อนข้างเบลอๆ หน่อย ยกตัวอย่างตามข้อเท็จจริงแรกนี้นะครับ

Fact #1: คนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว มีหน้าตาดี มีชื่อเสียงในสังคมมักจะ “โชคดี” กว่าคนอื่น

อันนี้เป็นข้อเท็จจริงนะครับ ไม่ใช่ข้อสันนิษฐาน แต่ผมใส่เครื่องหมายคำพูดตรงคำว่า “โชคดี” ตรงนี้เอาไว้เพราะว่านิยามของคำว่าโชคดีตัวนี้ไม่ตรงกับนิยามของ luck ใน classical sense

ขอผมอธิบายนะครับ

ที่มาของข้อเท็จจริงแรกตัวนี้ก็คือ The Matthew Effect (TMF, ถ้าใครยังไม่เคยอ่านในคอลัมน์ที่ผมเคยเขียนถึง TMF ล่ะก็ สามารถไปหาอ่านได้ที่ไทยพับลิก้านะครับ) แต่ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ ล่ะก็ TMF ก็คือการที่คนที่มีการศึกษาดีกว่า รวยกว่า หน้าตาดีกว่า มีชื่อเสียงมากกว่า มักจะได้โอกาสในสังคมมากกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยเรียนได้ที่หนึ่งในชั้น ป.1 คุณครูก็อาจจะเลี้ยงดูคนคนนี้มากเป็นพิเศษ ซึ่งก็ส่งผลทำให้เขาเรียนดีขึ้นไปอีก พอเรียนดีขึ้นไปอีก เมื่อทางโรงเรียนจะเลือกคนเพื่อส่งต่อไปเรียนเมืองนอก เขาคนนี้ก็จะมีโอกาสสูงมากกว่าคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นความโชคดีที่ในปีแรกเขาบังเอิญสอบได้ที่หนึ่งเท่านั้นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งของ TMF ที่อาจจะเกี่ยวกับความสามารถของคนน้อยยิ่งกว่านั้นก็คือหน้าตา คนที่เกิดมาหน้าตาดีมักจะได้รับโอกาสจากคนในสังคมมากกว่าคนที่หน้าตาไม่ดี (อันนี้ดูได้จากหลักฐานของ the beauty premium ของ Dan Hamermesh ที่คนที่สวยมักจะมีรายได้ประมาณ 17% สูงกว่าคนที่หน้าตาไม่ดีเท่าแต่มีการศึกษาเท่ากัน)

เพราะฉะนั้นความ “โชคดี” เหล่านี้ ซึ่งผมขอเรียกมันว่า “โอกาสในสังคม” จึงดูไม่ค่อยจะ random เท่าไหร่นักเพราะ TMF แต่ต้นกำเนิดของ “โอกาสในสังคม” ที่แตกต่างกันระหว่างคนเหล่านี้อาจจะสุ่มจริงๆ อย่างเช่นความแตกต่างในเรื่องของหน้าตา หรืออาจจะไม่สุ่ม อย่างเช่นการทำงานสร้างชื่อเสียงของตนเองจึ้นมาจากศูนย์ ก็ได้

ส่วน Fact #2 ก็คือ สำหรับคนที่มีคุณสมบัติคล้ายๆกัน luck จะมีการกระจายที่สุ่ม แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของการเก็บเกี่ยว luck เหล่านี้ของคนเราจะไม่เท่ากัน

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราตัดปัจจัยของ TMF ออกไปล่ะก็ คนเรามีโอกาสที่จะโชคดีเท่าๆ กันนะครับ ตกแต่ว่าคนที่โชคดีมากกว่าก็คือคนที่รู้ตัวถึงความโชคดีนั้นแล้วนำไปสานต่อ ยกตัวอย่างนะครับ สมมติว่าอาจารย์ต้องการหานักเรียนคนหนึ่งไปทำโปรเจกต์ให้กับโรงเรียน โดยที่นักเรียนคนนี้จะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก่งมาก

สมมติอาจารย์สุ่มไปได้นักเรียน A มา อาจารย์ก็ไปถามนักเรียน A ว่า “ไปทำโปรเจกต์นี้ไหม ไม่ได้เงินแต่ได้ประสบการณ์นะ” นักเรียน A มองโปรเจกต์นี้ว่าเป็นอะไรที่เสียเวลาก็เลยปฏิเสธอาจารย์ไป อาจารย์ก็เลยไปถามนักเรียน B นักเรียน B เห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาฝีมือตัวเอง เขาก็เลยตอบรับอาจารย์ไป และพอนักเรียน B ไปทำงานนี้จริงๆ เขาก็ได้เจอกับคนมากมาย พอทำโปรเจกต์นี้จบ เจ้าของโปรเจกต์ที่ชอบการทำงานของเขามากก็เลยเสนองานให้กับนักเรียน B

พอนักเรียน A มาเห็นนักเรียน B ได้งาน เขาก็คิดกับตัวเองว่า ทำไมนักเรียน B ถึงโชคดีกว่าตัวเอง ทั้งที่การเรียนก็พอๆ กัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว luck ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นกับนักเรียน A ก่อนด้วยซ้ำไป เพียงแต่เขาไม่เห็นโอกาสที่ซ่อนตัวมากับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็เลยพลาดโอกาส ทำให้นักเรียน B ซึ่งจริงๆ แล้วโชคไม่ดีเท่า ได้เก็บเกี่ยวโอกาสตัวนี้ไป

สรุปก็คือ luck มีนิยามที่แตกต่างกันตามสถานการณ์นะครับ มันมีปัจจัยของ TMF และการที่คนเราบางคนไม่สามารถรับรู้ถึงโอกาสที่มากับ luck ด้วย เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องตอบตกลงกับโอกาสที่อาจจะตามมาที่เราอาจจมองไม่เห็นให้บ่อยขึ้นนะครับ

คำถามสุดท้ายก็คือ แล้วทำบุญทำทาน หรือทำความดีนั้นมันช่วยโอกาสของ luck ของเราในอนาคตได้ไหม ผมเชื่อว่าได้ ถ้าการทำบุญทำทาน และการทำความดีช่วยทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นในสังคมจริงๆ (ไม่ใช่เป็นแค่การทำบุญล้างบาป) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าสังคมชอบคนทำดี ซึ่งก็อาจจะส่งผลทำให้ TMF สามารถเกิดขึ้นกับเราได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ (ส่วนผลของการทำบุญต่อ luck ในชาติหน้าจะเป็นยังไงนั้น ผมไม่ทราบนะครับ อันนี้พิสูจน์ไม่ได้ตามหลักของพฤติกรรมศาสตร์ :))