ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk
เดี๋ยวนี้มีแต่คนพูดถึงไลฟ์โคช จิตวิทยาด้านบวก (positive psychology) กัน ถามว่า ถ้าคนไปเข้าคอร์สไลฟ์โคชพวกนี้แล้วเขาจะมีความสุขกับชีวิตเพิ่มมากขึ้นไหม ผมอยากจะบอกว่าได้ครับ เปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาจะมีความสุขขึ้นนั้นมีสูงเสียด้วย
แต่…
ที่มีคำว่า “แต่” ก็เพราะว่า สาเหตุใหญ่ๆ ที่คนพวกนี้มีความสุขหลังจากได้เข้าคอร์สพวกนี้อาจจะไม่ได้มาจากสิ่งที่เขาเรียน (ซึ่งตัวนี้ผมว่ายังต้องทำการวิจัยและพิสูจน์กันต่อไปว่าผลลัพธ์จริงๆ นั้นมันเล็กหรือใหญ่มากน้อยแค่ไหน) แต่จะมาจากปัจจัยสำคัญสองประการ นั่นก็คือ
1. Selection effect หรือพูดง่ายๆ ก็คือผลลัพธ์จากการเลือกที่จะเอาตัวเองเข้าไปเรียนคอร์สเอง คนที่สมัครใจเข้าไปเรียนคอร์สพวกนี้มักจะมีความต้องการอยากที่จะมีความสุข หรืออยากที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่เมื่อเทียบกับคนทั่วไป พวกเขาอาจจะมีความต้องการอยากจะให้คอร์สที่เขาลงเรียนนั้น “work” จริงๆ ซึ่งก็ช่วยส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองรู้สึกดีขึ้นจริงๆ หลังจากได้เทคคอร์สไปแล้ว (คล้ายๆ กันกับ placebo effect หรือการรักษาปลอมที่ดูคล้ายยา แต่ไม่ได้มีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อสุขภาพ แต่เมื่อให้กับผู้ที่คิดว่ากำลังได้รับการรักษา ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นเพียงเพราะเขาคาดว่าสิ่งนี้อาจจะช่วยได้ )
ถ้าจะให้เปรียบเทียบ selection effect ก็คงจะเหมือนกับเคสที่ว่าโอกาสที่คนที่มีความสุขจะแต่งงานในอนาคตนั้นมักจะสูงกว่าคนที่สุขน้อยกว่า — ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนที่มีความสุขมักจะเป็นที่ชอบของคนทั่วไปมากกว่า — ซึ่งถ้าดูเผินๆ เราอาจจะด่วนสรุปว่าการแต่งงานทำให้คนมีความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนหนึ่งมาจาก selection effect ตัวนี้
2. Sunk cost fallacy หรืออคติทางด้านความคิดเกี่ยวกับต้นทุนจม พูดง่ายๆ ก็คือยิ่งคอร์สแพง โอกาสที่คนจ่ายเงินไปแล้วจะรู้สึกดีขึ้น ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้รู้สึกดีขึ้นข้างในจริงๆ ก็จะสูงขึ้นตามๆ กันไปด้วย คล้ายๆ กับว่ายิ่งเราลงทุนอะไรลงไปมากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะหาเหตุผลมาบอกกับตัวเราเองว่า “นั่นเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด” ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ตาม ก็ยิ่งสูงขึ้นตามๆ กันไปด้วย
ผมไม่อยากจะด่วนสรุปว่าคอร์สพวกนี้มีผลลัพธ์จริงหรือไม่จริงยังไงนะครับ พอยต์ของผมคือถ้าคุณอยากจะรู้ว่าคำตอบของมันจริงๆ ล่ะก็คุณก็ต้องทำการวิจัยแบบ randomized controlled trial (RCT) หรือทำการสุ่มทดลองอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อเป็นการพิสูจน์ เพราะถ้าคุณไม่ลองทดลองคอร์สพวกนี้กับสามัญชนธรรมดาๆ ที่ถูกสุ่มขึ้นมา (โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินมาเรียน) แล้วล่ะก็ เราก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้เลยว่าคอร์สพวกนี้มีผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ หรือเปล่า
—
ผมขอจบด้วยคำถามที่ผมเคยถูกคนรู้จักถามมา
“โหย ถ้าอย่างพี่กลับมาเปิดคอร์สทางด้านความสุขนะ รวยแน่ๆ ”
คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ Andrew Oswald อาจารย์ของผม ที่เขาใช้กล่าวในงานเปิดงานประชุมวิชาการทางด้านความสุขที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้วว่า
“ผมรู้สึกดีใจมากที่เห็นเพื่อนๆ นักวิชาการบินมาประชุมจากเกือบทุกมุมโลก บางคนอุตส่าห์บินมาจากสหรัฐอเมริกาเพียงเพื่อมาประชุมแค่วันเดียวแล้วก็บินกลับ โดยทุกๆ ท่านที่สละเวลามาในวันนี้ไม่ได้ต้องการเงินตอบแทนในการมาประชุมครั้งนี้เลย
ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นนักวิชาการและเป็นอาจารย์ เพราะเราต่างคนก็มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน นั่นก็คือการเผยแพร่ความรู้ที่เรามีให้กันและกันและคนทั่วๆ ไปโดยไม่ได้หวังผลกำไร แต่แค่เพื่อให้ชีวิตของคนดีขึ้นจากงานที่เราทำลงไปเป็นหลัก”
ผมว่าชีวิตอาจารย์ของผมแค่นี้ ได้ทำงานวิจัยและได้สอนในสิ่งที่ผมรัก ได้เขียนให้ความรู้กับคนที่ไม่ได้มาเรียนกับผมโดยที่ไม่ได้หวังกำไร (แค่ค่าเขียนนิดๆ หน่อยๆ ให้พ่อแม่ของผมบ้าง) ก็ดีถมไปสำหรับผมในตอนนี้แล้วครับ 🙂