ThaiPublica > คอลัมน์ > เคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่คุณควรจะรู้ก่อนเดินทางไปสัมภาษณ์งาน

เคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่คุณควรจะรู้ก่อนเดินทางไปสัมภาษณ์งาน

29 มีนาคม 2018


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ก่อนที่ผมจะได้มาทำงานประจำที่ Warwick นี้ ผมเคยมีประสบการณ์การทำงานมาแล้วห้าที่ด้วยกัน (Institute of Education, University of York, Nanyang Tech University, University of Melbourne เเละ London School of Economics) เเต่สิ่งที่ผ่านมามากกว่าสถานที่ทำงานนั้นก็คือการไปสัมภาษณ์งาน ทั้งที่ได้งานเเละที่ไม่ได้งาน ซึ่งถ้ารวมๆกันทั้งหมดก็คงน่าจะเกือบ 50 ที่ได้ตั้งเเต่ปี 2005 เป็นต้นมา

วันนี้ผมก็เลยอยากจะขอถือโอกาสนำสิ่งที่ตัวเองเคยเรียนรู้จากประสบการณ์การสัมภาษณ์งานหลายๆที่นำมาเขียนถึงเคล็ดลับง่ายๆเเต่ล้วนเเล้วเเต่เป็นเคล็ดลับที่สำคัญทั้งนั้น (จากประสบการณ์ของตัวเองที่เป็นคนถูกสัมภาษณ์เเละเป็นคนที่เคยสัมภาษณ์คนอื่น) ในเรื่องของการเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์งานซักสามเคล็ดลับด้วยกันนะครับ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้คนที่กำลังเตรียมตัวจะไปสัมภาษณ์งานได้บ้างไม่มากก็น้อย

1. ทำการศึกษาเเละวิจัยเกี่ยวกับงาน สถานที่ทำงานที่เรากำลังจะไปสัมภาษณ์ เเละคนที่จะมานั่งสัมภาษณ์เราให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะส่วนใหญ่คนที่ทำการสัมภาษณ์เรานั้นเขาต้องการจะรู้ว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับองกรณ์ของเขามากน้อยแค่ไหน ว่าเรามีความต้องการที่จะเป็นหนึ่งในทีมงานของเขามากน้อยขนาดไหน (เพราะสำหรับคนที่ทำการสัมภาษณ์เรา สัญญานที่ช่วยในการบ่งบอกที่ดีที่สุดว่าเราต้องการที่จะเข้าไปทำงานที่นั่นก็คือความรู้ของเราที่เรามีเกี่ยวกับองค์กรของเขา หรือเเม้เเต่ตัวของเขาเอง)

พูดง่ายๆก็คือ พยายามสืบมาให้หมดว่าคนที่อาจจะมาเป็นหัวหน้าของเราชื่ออะไร มีประสบการณ์การทำงานอะไรมาบ้าง (ถ้าเป็นงานอาจารย์เหมือนๆกับผมก็สืบไปว่ามีใครที่เราอยากจะเข้าไปทำงานด้วยเพราะมีความสนใจคล้ายๆกับเรา)

และที่สำคัญการเข้าใจว่าองค์กรเขาทำอะไร เก่งในเรื่องอะไรเป็นพิเศษ สามารถทำให้เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าเรามี value-added หรือมูลค่าเพิ่มอะไรให้กับองค์กรของเขาได้บ้าง อย่าลืมนะครับว่าการไปสัมภาษณ์งานที่ใดที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ไม่ใช่ตัวเราเท่านั้นที่มีความต้องการอยากจะได้งานทำ ทางคนสัมภาษณ์เขาก็อยากจะได้คนดีๆเข้าไป (พูดง่ายๆก็คือมันเป็น two-way street ไม่ใช่ one-way street) พยายามอย่าคิดแต่ว่า ทุกๆอย่าง ทุกๆ condition ของงานจะต้องดีพอให้กับตัวเราเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้เเคร์เลยว่าเเล้วเขาจะได้อะไรจากเราบ้าง เราต้องคิดด้วยว่าเเล้วเรามีดีเเค่ไหนในการที่จะช่วยที่ทำงานของเขาให้ดีขึ้นด้วย

2. เตรียมชุดที่จะใส่ไปสัมภาษณ์งานให้เป็นชุดที่เนี๊ยบที่สุดเท่าที่ทำได้ (เเต่ก็ต้องเเล้วเเต่งานที่สมัครไปด้วยนะครับ) Andrew Oswald ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมสมัยที่ผมยังเรียนปริญญาเอกอยู่เคยเล่าให้ผมฟังว่า ถึงเเม้ว่าเขาจะรู้ว่าผมมีความสามารถขนาดไหน คนอื่นๆที่เขาไม่มีข้อมูลของผมเหมือนๆกับเขาอาจจะตัดสินใจด้วยความรวดเร็วจากการเเต่งกายของผมได้ คือถ้าผมได้เข้าไปทำงานไปเเล้ว เเละคนที่ทำงานได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความสามารถที่เเท้จริงของผมเเล้ว การเเต่งกายของผมประจำวันอาจจะไม่ใช่ปัญหาอะไรมาก เเต่ถ้าเราพูดถึงวันที่ผมต้องไปสัมภาษณ์งานล่ะก็โอกาสที่คนเราจะตัดสินคนอื่นเเบบรวดเร็วเพราะการเเต่งกายนั้นก็อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย (สรุปคือวันนั้นผมรีบลงทุนไปถอยชุดสูทใหม่ออกมาทันที)

3. ทุกครั้งก่อนที่คุณจะไปสัมภาษณ์ที่ไหนให้คุณเตรียมคำถามที่คุณอยากจะถามเกี่ยวกับงานเเละที่ทำงานที่คุณจะไปสัมภาษณ์งานด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคำถามที่คุณจะถูกถามเป็นคำถามสุดท้ายส่วนใหญ่ก็คือ “เเล้วคุณมีคำถามอะไรที่อยากจะถามเราไหม” การที่เราโชว์ให้เขาเห็นว่าเราคิดถึงคำถามเกี่ยวกับเขาที่เราอยากจะรู้คำตอบเป็นสัญญาณว่าเราทำการบ้านเกี่ยวกับงานที่เราอยากจะทำมาเยอะ เเละเราอยากจะเข้าไปทำงานที่นั้นจริงๆ

เคล็ดลับสุดท้ายที่ผมไม่ได้รวมไว้ในสามข้อข้างบนก็คือ ถ้าคุณสามารถเลือกเวลาที่คุณจะไปสัมภาษณ์งานได้ ให้คุณพยายามเลือกเวลาสัมภาษณ์หลังการพักข้าวเที่ยงนะครับ พยายามอย่าไปนัดก่อนเขาทานข้าวเที่ยงกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่างานวิจัยทางด้านจิตวิทยาค้นพบว่า คนที่มีความสุข – ซึ่งอาจจะตอนท้องอิ่มๆ – สามารถจำคุณสมบัติดีๆของคนที่เขาเจอได้มากกว่าการจำคุณสมบัติที่ไม่ดี ส่วนคนที่ไม่ค่อยสุขเท่าไหร่ (อาจจะเป็นเพราะกำลังหิวอยู่) มักจะจำคุณสมบัติที่ไม่ดีของคนที่เขาเคยเจอได้มากกว่าคุณสมบัติที่ดีของคนๆนั้น

สุดท้ายนี้ผมขอให้ทุกท่านโชคดีกับการสัมภาษณ์งานนะครับ เเต่ถ้าท่านไม่ได้งานที่ท่านต้องการ ผมก็อยากให้ท่านคิดเสียว่างานนั้นๆไม่ใช่งานที่เหมาะสมกับตัวของท่านจริงๆ