ThaiPublica > คอลัมน์ > เร่ขาย CoST จนสำเร็จ

เร่ขาย CoST จนสำเร็จ

9 มีนาคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

หลังจากกว่าหนึ่งปีที่ “หางกระดิกหมา” พยายามแนะนำผลักดัน CoST Thailand ก็ได้เกิดขึ้นจริง ขอนำเอาบทความเก่าเมื่อ 6 ม.ค. 2557 มาโพสต์อีกทีนะครับ

“ปราบโกงกินอย่างเป็นรูปธรรม”

พูดเรื่องลดคอร์รัปชันทีไร หลายคนก็จะปรามาสว่าดีแต่พูด ไม่เห็นเคยมีใครในประเทศนี้ทำได้จริง เห็นแต่อัตราการเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์การโกง หรืออันดับโลกใน Corruption Perception Index

วันนี้ “หางกระดิกหมา” ขอเล่าเรื่องของวิธีการต่อต้านการโกงในกระบวนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งเป็นวิธีการสากล ที่ใช้ได้ผลมาแล้วในหลายๆ ประเทศ และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่ได้ผลในประเทศไทย

ไหนๆ ทุกคนทุกฝ่ายก็ประกาศตะโกนก้องว่าจะต้านโกงกันเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิรูปประเทศ เราร่วมกันกดดันให้รัฐเข้าร่วมโครงการ CoST ที่มีมาตรฐานนี้เถอะครับ

ทีนี้ เอ็งจะลงโครงการน้ำ 350,000 ล้าน โครงการขนส่ง 2 ล้านล้าน พวกเราก็จะได้ผลคุ้มค่าจริงๆ เสียที

ไม่ต้องไปควานหาคนดีที่ไหนหรอกครับ ใช้ “ระบบดี” เข้าจับ เข้าคุม ไว้ใจได้มากกว่ากันเยอะครับ

บทความตอนที่ 49: คาถาปราบคอร์รัปชัน 6 มกราคม 2557 “หางกระดิกหมา”

ถึงตอนนี้ ทุกคนคงเห็นแล้วว่าหนึ่งในคาถาปราบคอร์รัปชันที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดก็คือ “ความโปร่งใส” เพราะขนาดคนไทยที่รู้กันอยู่ว่ารักสบายเหนืออะไรนั้น พอได้รู้ ได้ทราบเรื่องคอร์รัปชันมากๆ เข้า ยังพร้อมจะออกมาประท้วงกันถึงขั้นปิดเมือง

อย่างไรก็ตาม ความโปร่งใสนั้น ไม่ใช่ของที่จะเสกขึ้นมาง่ายๆ หลักที่ว่ารัฐต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นทุกคนรู้แน่ แต่การสักแต่ว่าเอาข้อมูลออกมาเทกลางพื้นนั้นมันก็จะไม่ช่วยอะไรอยู่ดี ตรงกันข้าม ถ้าจะเล่นกันเรื่องความโปร่งใสจริงๆ เราต้องใส่ใจทำกันตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตข้อมูล เก็บข้อมูล บริหารข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เรื่อยไปจนการเผยแพร่ข้อมูลให้ถูกต้องได้มาตรฐาน ไม่เช่นนั้นต่อให้เปิดเผยเท่าใด มันก็ทึบเท่าเดิม หาประโยชน์ไม่ได้

นี่จึงเป็นความโชคดีที่โลกนี้มีโครงการอย่าง Construction Sector Transparency Initiative (CoST)

CoST หรือที่พอจะเรียกได้ว่าโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคการก่อสร้างนี้ เป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ ที่มุ่งช่วยให้ประเทศต่างๆ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการวางระบบในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจกต์การก่อสร้างที่มาจากเงินภาษีในประเทศของตน โดยเขาจะช่วยให้การสนับสนุนความรู้หรือแม้กระทั่งเงิน เพื่อตั้งไข่จนกว่าประเทศนั้นๆ จะสามารถพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมกับสภาพโครงสร้างทางกฎหมาย/สถาบันของประเทศ สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว อีกทั้งได้มาตรฐาน ได้ผลลัพธ์ในระดับที่น่าพอใจ

นอกจากนั้น เนื่องจากข้อมูลที่ได้มาจากการเปิดเผยพวกนี้มักจะละเอียดพิสดารและมาจากหลายทิศหลายทาง CoST จึงยังวางระบบสำหรับรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้ และแปรให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคนจะเข้าใจได้ เพื่อที่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียเห็นข้อมูลปุ๊บ ก็จะได้เห็นภาพทันทีว่าตนจะได้จะเสียอย่างไร และถ้าผู้นั้นอยากจะโวยวายเอาเรื่องก็จะสามารถเอาข้อมูลจาก CoST ไปดำเนินการต่อได้ เรียกได้ว่าระบบของ CoST นั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปิดเผยข้อมูลเฉยๆ แต่จะพยายามทำให้การเปิดเผยนั้น นำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการเอาผิดในกรณีที่มีเหตุผิดปกติ ซึ่งนั่นเองจะทำให้ความผิดปกติลดลง ในขณะที่ความมีประสิทธิภาพของโปรเจกต์จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุ้มเงินภาษีขึ้นเรื่อยๆ จนพูดแบบเล่นโวหารได้ว่า CoST นั้นมีไว้เพื่อลด cost ของโปรเจกต์ต่างๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ CoST จะทำโดยเข้ามาตั้งคณะกรรมการร่วมของผู้มีส่วนได้เสียหรือที่เรียกว่า Multi-Stakeholder Group (MSG) ขึ้นในแต่ละประเทศเพื่อเป็นแม่งานหลักในการวางระบบ โดยคณะกรรมการนี้ จะต้องมีคนครบทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อที่ว่าการวางระบบใดๆ จะได้เป็นไปท่ามกลางการตรวจสอบ และการประเมินผลของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ กัน เช่น ภาคประชาสังคม ก็ย่อมจะสนใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของโครงการ ผลกระทบต่อการย้ายที่อยู่ ความล่าช้า หรือการใช้เงินบานปลาย ทางภาคเอกชนก็เน้นเรื่องความเป็นธรรมในกระบวนการเสนอราคาและจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา การจ่ายเงิน ความเสี่ยงต่อธุรกิจและการลงทุน ภาครัฐ ก็ต้องระวังเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ การปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ผลประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่วนผู้ให้กู้ ก็ย่อมต้องห่วงเรื่องความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ ความคุ้มค่าในการใช้ทรัพย์สินของโปรเจกต์ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น นอกจากประโยชน์ในด้านการตรวจสอบแล้ว ในเมื่อผู้ส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้มานั่งโต๊ะเดียวกันตั้งแต่ต้นอย่างนี้ จึงปรากฎว่าการวางมาตรการ วางระบบต่างๆ ของ CoST มักเป็นไปโดยแยบยล สอดคล้องกับสภาวะ และเหตุปัจจัยรายล้อมผู้มีส่วนได้เสียในโปรเจกต์ทุกฝ่าย ไม่เป็นมาตรการคิดเองเออเองอยู่ฝ่ายเดียว ทำให้มาตรการต่างๆ ไม่เจ๊งในเวลาปฏิบัติจริง และมักปรากฏว่ามีอายุยืนนาน ไม่ค่อยพังแม้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งหลาย

ทั้งนี้ CoST ได้ร่วมมือพัฒนาระบบเพื่อความโปร่งใสอย่างนี้ จนได้ผลดีมาแล้วในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ มาลาวี แซมเบีย แทนซาเนีย กัวเตมาลา เอธิโอเปีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

รายงานบอกว่า ในแต่ละประเทศนั้น พอเข้าโครงการแล้ว ข้อมูลหลายอย่างที่ไม่เคยมีการเปิดเผยก็กลายเป็นถูกเปิดเผย ซึ่งบางครั้งถึงกับนำไปสู่การแก้กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐบาลเลยทีเดียว เช่นในกรณีของมาลาวีนั้น พอข้อมูลเปิดเผยออกมาทำให้เห็นว่าโปรเจกต์ก่อสร้างนั้นล่าช้า 97% ส่วนงบก็บานปลายไปถึง 6% กระทรวงที่รับผิดชอบก็ถูกตรวจสอบจนพบกันว่ากำลังของกระทรวงนั้นไ่ม่พอแก่งานในมือ สุดท้ายจึงมีการแบ่งแยกหน้าที่กระทรวงเสียใหม่เพื่อกระจายงาน รวมทั้งยังมีการแก้กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างตามที่ CoST กำหนด หรืออย่างในกรณีของอังกฤษ ซึ่งอะไรต่างๆ ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ก็ยังได้ประโยชน์จากระบบการเปิดเผยข้อมูลของ CoST ในการนำราคาโปรเจกต์ไปเปรียบเทียบกับราคาของนานาชาติเพื่อจะได้เป็นแนวพัฒนาความคุ้มค่าของโปรเจกต์ให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ วิธีการเข้าร่วม CoST นั้น เขาอธิบายไว้ละเอียดลออที่เว็บไซต์ www.constructiontransparency.org แต่หลักการคร่าวๆ ก็คือ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรก่อสร้างที่รัฐรับรองจะต้องทำจดหมายเข้าไปที่คณะกรรมการนานาชาติของ CoST โดยประกอบด้วยสิ่งต่างๆ เช่นเจตจำนงจะใช้หลักการของ CoST คำมั่นว่าในเบื้องต้นรัฐจะให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 1 แห่งเข้าร่วมวางระบบโครงการ คำมั่นว่ารัฐจะประสานและแบ่งปันข้อมูลกับคณะกรรมการนานาชาติและสำนักงานเลขาธิการของ CoST ตลอดจนร่างแผนการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งดูๆ ไปก็ไม่ถึงกับยากเย็นอะไรนัก

สรุปเลยก็ได้ว่า CoST นั้นผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่านำไปใช้ได้ผลสัมฤทธิ์ แม้ในประเทศที่มีความต่างทางการเมือง สังคม หรือกรอบกฏหมาย

รออยู่แต่ว่ารัฐไหนจะดวงตาเห็นธรรม และสมัครเข้าไปขอร่วมโครงการเท่านั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 7 มีนาคม 2558