ThaiPublica > คอลัมน์ > เปิดใจเล่าให้ฟัง (ตอนที่ 1): สองปีครึ่งไปทำอะไรมา ผลเป็นยังไง เรียนรู้อย่างไรบ้าง

เปิดใจเล่าให้ฟัง (ตอนที่ 1): สองปีครึ่งไปทำอะไรมา ผลเป็นยังไง เรียนรู้อย่างไรบ้าง

15 ธันวาคม 2016


บรรยง พงษ์พานิช

ตามที่เป็นข่าวน่ะแหละครับ ผมได้ยื่นหนังสือลาออกจากการทำงานในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้แล้วทั้ง 4 ตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2559 อันได้แก่ กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กรรมการต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งสองชุดนี้ท่านนายกฯ เป็นประธาน อีกสองชุดคือ คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน) และคณะทำงานสานพลังประชารัฐชุด E4 การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ (ชุดนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม กับคุณกานต์ ตระกูลฮุน เป็นประธานร่วม)

ตอนแรกผมตั้งใจจะลาออกมาเงียบๆ ไม่อยากให้เป็นข่าวอะไร เพราะสำนึกตัวดีว่าผมไม่ใช่คนสลักสำคัญอะไร แต่มันก็ดันเป็นข่าว แถมบางฉบับก็ลงคลาดเคลื่อนอันอาจทำให้มีการเข้าใจผิด ก็เลยชี้แจงไปสั้นๆ ว่า ทั้งหมดนั้นเป็นการ “ลาออก” โดยสมัครใจ เพราะเห็นว่าเป็นเวลาอันสมควรแล้ว ได้ทำงานมาสองปีครึ่งแล้ว นานกว่าที่ตั้งใจดั้งเดิมไว้เกือบปี

ด้วยนิสัยและคติส่วนตัวที่ว่า “พูดจริง พูดหมด ไม่ต้องจำ” กับต้องการที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้เรื่องที่ผมได้ร่วมทำ ร่วมทุ่มเท ร่วมริเริ่มกับท่านอื่นๆ ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งผมมั่นใจว่าล้วนเป็นประโยชน์ยิ่งกับประเทศชาติ ให้ได้มีการสานต่อจนเกิดประโยชน์แท้จริง จึงจะขอมาบันทึกเรื่องราว เล่าให้เพื่อนๆ ทั้งหลายฟังกัน (คนที่ไม่ใช่เพื่อนจะแวะเวียนเข้ามาด่าทอบ้างก็ไม่ว่ากันนะครับ)

ต้องขอเริ่มโดยการเล่าเรื่อง ย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เลยนะครับ

ช่วงปลายปี 2556 ในสมัยปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการเสนอ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” และมีการประท้วงยืดเยื้อกว้างขวางนั้น ผมได้เคยเขียนบทความขนาดยาว 7 ตอนเรื่อง “ข้อเสนอต่อประเทศไทย” วิเคราะห์ถึงปัญหา ที่มา และรากฐานของปัญหา ของประเทศ ของระบอบทักษิณ รวมทั้งเสนอทางออกทางแก้ไว้ (ใครสนใจกลับไปอ่านได้ในโพสต์ 12 ธ.ค. 2556 ได้ครับ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าสองปีครึ่งของการทำงานต่อมา ผมยึดหลักการเดิมมาตลอด เพียงปรับเพิ่มบางเรื่องตามการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น

พอต้นปี 2557 ผมก็เข้าร่วมกลุ่มกับกลุ่ม “สองเอา สองไม่เอา” คือ เอาปฏิรูป เอาเลือกตั้ง ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอารัฐประหาร พยายามให้มีการรอมชอม เดินหน้าปฏิรูปทุกด้านภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยผมเชื่อว่าการปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่ทางแก้ปัญหา และไม่น่าจะมีขึ้นได้

แล้วผมก็คาดผิด วันที่ 22 พ.ค. 2557 สถานการณ์ก็สุกงอมจนเกิดการปฏิวัติขึ้น คณะ คสช. ก็เข้ายึดอำนาจปกครองประเทศมาจนทุกวันนี้ ซึ่งในระยะแรกผมก็พยายามเรียกร้องให้ คสช. “ทำให้น้อย แล้ว ถอยให้เร็ว” ซึ่งโรดแมปในตอนแรกก็ประกาศว่าจะกลับสู่ประชาธิปไตยในเร็ววัน ประมาณว่าจะเลือกตั้งได้ในสิ้นปี 2558

พอปฏิวัติไปได้สักสองสัปดาห์ ผมก็ได้รับการติดต่อเชิญให้เข้าไปหารือถึงปัญหาของประเทศ ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน ซึ่งทีแรกผมนึกว่าถูกเรียกตัวเพื่อไป “ปรับทัศนคติ” แต่ให้เกียรติไม่ประกาศเรียกทางทีวี แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นการเชิญมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของชาติและแนวคิดในการแก้ไขจริงๆ

ผมเข้าไปพร้อมกับท่านอื่นๆ อีก 3 ท่าน โดยได้ประชุมกันถึง 5 ชั่วโมง 18.00-23.00น. โดยมีฝ่ายทหาร 4 ท่าน ยศพลเอกหนึ่งท่าน ที่เหลือยศพันเอก เข้าร่วมรับฟัง (ขอสงวนนานผู้เข้าร่วมประชุมนะครับ) ซึ่งผมคิดว่าเป็นการรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจและจริงใจ

โดยในส่วนของผม ก็จะเน้นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ การขยายตัวของขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในช่วงสิบปีหลัง ที่จำนวนข้าราชการและพนักงานราชการเพิ่มขึ้นถึง 50% และค่าใช้จ่ายบุคคลากรเพิ่มเกือบสามเท่าตัว (ส่วนนี้อ้างอิงจากงานวิเคราะห์ของสถาบันไทยอนาคตศึกษา) และการที่รัฐวิสาหกิจขยายตัวโดยมีสินทรัพย์เพิ่มจาก 4.7 ล้านล้านบาท เป็น 13 ล้านล้านบาท และรายได้เพิ่มจาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็น 5.1 ล้านล้านบาท และแน่นอนครับ การขยายตัวของรัฐและรัฐวิสาหกิจย่อมหมายถึง “ความไม่มีประสิทธิภาพ” และ “คอร์รัปชัน” ซึ่งผมมั่นใจว่านี่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทย “ติดกับดัก” กลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย”

และในวันนั้น ผมก็ได้เสนอแนวทางและหลักการในการปฏิรูปไว้หลายอย่าง รวมทั้งได้พูดถึงมาตรการที่อาจทำได้ในระยะสั้นบางอย่าง เช่น การนำเอามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของ Construction Sector Transparency Initiative (CoST) มาใช้ในบางโครงการ และการควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ที่เดิมใช้เงินรวมปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท โดย TDRI ได้เคยวิจัยว่าประมาณครึ่งหนึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับประชาชนเลย เป็นการเอางบประมาณไปหาเสียงทางการเมือง มีการรั่วไหลเยอะ และที่สำคัญ ในบางครั้งกลายเป็นงบ “ซื้อสื่อ” ทำให้สื่อไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอย่างที่ควร ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วเขาจะมีกฎควบคุมเรื่องนี้ (จริงๆ เสนอหลายอย่างมาก ที่ยกสองเรื่องนี้เพราะมีผลแทบทันที)

ที่ผมประทับใจในการประชุมคืนนั้นก็คือ ดูฝ่ายทหารจะมีความตั้งอกตั้งใจอย่างมาก มีการซักถามรายละเอียดและจดบันทึกอย่างดี มีการทบทวนความถูกต้องก่อนเลิกประชุม แต่ที่ประทับใจมากกว่าก็คือ วันรุ่งขึ้นก็ได้รับการแจ้งว่า หัวหน้า คสช. เห็นด้วยในหลายเรื่อง และขอให้ผมติดต่อองค์กร CoST International ได้เลย จะเอามาใช้ในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย ซึ่งผมก็ได้ดำเนินการประสานงานจนในที่สุดประเทศไทยก็ได้เป็นสมาชิก CoST Inter ในต้นปี 2558 และในขณะนี้ก็ได้ใช้กับโครงการสุวรรณภูมิและโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ (การดำเนินงานอาจจะยังล่าช้าและขลุกขลัก กับยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากหน่วยงานอยู่บ้าง ซึ่งก็ทราบว่ากำลังปรับปรุงกันอยู่) ซึ่งโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตอังกฤษเป็นอย่างดี จนวันลงนามร่วมโครงการ ทางสถานทูตก็เป็นเจ้าภาพ เอกอัครราชทูตมาร์ก เคนต์ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์กับนายกรัฐมนตรี

8ปีรัฐบาลซื้อสื่อโฆษณา

ในขณะที่เรื่องกฎหมายประชาสัมพันธ์นั้น ทาง คสช. ก็ขอให้เริ่มดำเนินการได้เลย โดยในระยะสั้นหัวหน้า คสช. ได้สั่งการให้ระงับการเอาภาพผู้นำ ภาพผู้ใหญ่ ใน คสช. และรัฐบาล ไปทำการขึ้นบิลบอร์ดคัตเอาต์ รวมทั้งห้ามเอาภาพลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไปพลางก่อนแล้ว (เขาบอกว่าโชคดีที่ผมไปทักดักไว้ก่อน เพราะมีข้อเสนอของเอเยนซี่เยอะแยะที่จะเอารูปบิ๊กๆ ทั้งหลายขึ้นบิลบอร์ดกับลง นสพ. เพื่อทดแทนรูปใบหน้านักการเมืองทั้งหลายที่เคยมีอยู่เกลื่อนเมืองและต้องเอาลงหลังการรัฐประหาร จนทำให้คัตเอาต์ว่างครึ่งเมือง)

พวกเราคงชักจะลืมกันไปแล้วนะครับว่า เมื่อก่อนน่าเบื่อแค่ไหนที่ตามริมถนน ตามหน้าหนังสือพิมพ์ มีคัตเอาต์มีรูปหน้านักการเมืองเต็มพรืดไปหมด โดยที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ ผมได้ไปขอให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสี่องค์กรสื่อ คือ สมาคมนักข่าวฯ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ฯ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ฯ ขอให้ TDRI ช่วยร่างกฎหมาย แล้วร่วมกันนำไปยื่นให้กับ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม (ขณะนั้น) ในวันที่ 15 สิงหาคม 2557 (จะเห็นว่าทำงานได้รวดเร็วมาก) ซึ่งภายหลังทาง คสช. ได้ขอให้นำเข้าสภาปฏิรูปพิจารณาดำเนินการ ยื้อกันไปยื้อกันมา (ก็จะลดงบตั้งปีละสี่ห้าพันล้านนี่ครับ ใครจะยอมกันง่ายๆ) จน สปช. ยุบไปก็ไม่เห็นเรื่องออกมา

ล่าสุดนี่ได้ข่าวว่าจะไม่ออกเป็นกฎหมายแล้ว จะออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ แทน เอาเถอะครับ ออกมาเป็นอะไรก็ยังดี (ผมคิดว่าร่างกฎหมายที่พวกเราจัดทำนั้นดีมาก ครอบคลุมวัตถุประสงค์ และปฏิบัติได้ไม่ยาก หาอ่านได้นะครับ เราร่างสองเดือนเสร็จ แต่ผ่านไปสองปียังไม่คืบหน้าเลย นี่แหละครับกระบวนการปฏิรูปไทย)

เล่าสองเรื่องเล็กๆ ที่พยายามทำแล้ว ขอกลับมาเรื่องใหญ่นะครับ

หลังจากกลับมาจากการประชุมที่กองทัพบกได้สักสองสัปดาห์ กลางเดือนมิถุนายน 2557 ขณะที่ผมอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ได้รับแจ้งว่า ทาง คสช. รับทราบและเห็นด้วยว่าการปรับปรุงและดูแลการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล จะขอเชิญให้ผมเข้าร่วมด้วยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน ซึ่งในทีแรกผมก็ปฏิเสธทันที เพราะไม่เคยคิดจะรับตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐประหารเลย ด้วยผมมีจุดยืนและท่าทีคัดค้านต่อต้านการปฏิวัติมาโดยตลอด (ก็อยู่ในกลุ่มสองเอา สองไม่เอา นี่ครับ) แต่เมื่อได้รับฟังเจตนา และโครงสร้างการทำงาน รวมทั้งผู้ที่จะได้ร่วมทำงาน กับทั้งภรรยาผมสนับสนุนให้เข้าไปลองทำ เพราะเป็นเรื่องที่ผมศึกษาผลักดันมาตลอดในทุกๆ รัฐบาล ก็เลยยอมตอบรับ

พอวันที่ 26 มิถุนายน 2557 แค่เดือนเศษหลังการรัฐประหาร คสช. ก็ออกคำสั่งที่ 75/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ มีกรรมการเป็นนายทหารและข้าราชการ 11 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน คือ คุณทวีศักดิ์ กออนันตกูล คุณบัณฑูร ล่ำซำ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.วิรไท สันติประภพ คุณรพี สุจริตกุล และผม ซึ่งภายหลังเมื่อมีการตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อ 31 สิงหาคม ก็ได้ปรับเอารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามาแทน คสช. บางราย และเมื่อปรับ ครม. หรือแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็มีการปรับตามความเหมาะสม แต่ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒินั้นไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนจนกระทั่งผมลาออกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้

ที่เล่ามาทั้งหมดก็คือเรื่องราวที่ทำให้ผมเริ่มเข้าไปรับทำงานในรัฐบาลนี้ ซึ่งตลอดเวลาสองปีครึ่งที่ทำงานผมยึดถือหลักการที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเริ่มตลอดเวลา ดังนี้

  • งานที่ทำจะเป็นงานปฏิรูปเท่านั้น จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับงานบริหารทั่วไป พยายามหลีกเลี่ยงไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการระยะสั้นใดๆ นอกจากถ้ามาตรการนั้นๆ จะมีผลกระทบต่อการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องอยู่
  • ผมจะมุ่งเน้นแต่การปฏิรูปเชิงสถาบัน (Institutional Reform) คือ การเปลี่ยนรูปแบบกฎกติกา เปลี่ยนรูปแบบหลักการบริหารจัดการ ไม่เน้นเรื่องตัวบุคคล หรือการปฏิรูปเชิงกายภาพใดๆ (เช่น การลงทุน การเลือกอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม)
  • ผมเชื่อและตระหนักดีว่าการปฏิรูปที่ดี ควรเกิดในเวทีประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม และควรต้องมีการถกเถียงต่อรอง ดังนั้น ผมจึงจะพยายามเลือกทำในสิ่งที่ค่อนข้างชัดแจ้งว่าควรปฏิรูปแต่เนื่องจากในภาวะประชาธิปไตย (ที่ยังไม่พัฒนา) ที่ผ่านมาไม่มีการปฏิรูปเพราะมีเงื่อนไขหรือผลประโยชน์บางอย่างขัดขวางอยู่
  • วิธีการและแนวทางการปฏิรูปที่ทำนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือนวัตกรรมใดๆ เกือบทั้งหมดเป็นวิธีการและแนวทางที่ผ่านการศึกษาและผ่านการปฏิบัติพิสูจน์ที่ได้ผลมาแล้วในนานาประเทศ เพียงแต่นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทและจังหวะเวลาของไทย
  • ในสภาพทำงานแท้จริงนั้นมีสภาวะและเงื่อนไขหลายอย่างที่อาจไม่สามารถทำการปฏิรูปไปสู่อุดมการณ์ได้ทันที จำเป็นต้องทำอย่างมีขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป
  • การทำงานทั้งหมดเป็นรูปแบบคณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย ผมต้องเคารพการตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น ความคิดเห็นและการทำงานทั้งหมดจะเป็นข้อสรุปร่วม ความคิดเห็นของเราอาจไม่ได้รับการเห็นด้วยนำไปปฏิบัติเสมอไป ทั้งผลงานทั้งความรับผิดชอบไม่ได้เป็นของผมคนเดียว

ทั้งหกข้อนั้น เป็นหลักการที่ผมใช้ในการทำงานตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องที่ผมเกี่ยวข้องนั้นมีอยู่สามเรื่องเท่านั้นเอง คือ รัฐวิสาหกิจ-ต่อต้านคอร์รัปชัน-ปฏิรูปกฎระเบียบ

วันนี้ ผมจะขอเล่าแค่ที่มาที่ไป และหลักการที่ผมใช้ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วจะทยอยมาเล่ารายละเอียดทั้งสามเรื่องให้ฟังเท่าที่ในส่วนที่ไม่เป็นความลับและคิดว่าไม่กระทบกระเทือนใคร

ขอเรียนว่า ที่นำมาบันทึกเล่าไว้นี้ ผมไม่ได้ต้องการอวดอ้างเอาความดีความชอบใดๆ (เพราะมันไม่ใช่งานของผมคนเดียวตามที่ว่าไว้แหละครับ) แต่เป็นเพียงความหวังว่าจะสร้างเสริมความเข้าใจให้ผู้ที่สนใจได้มากขึ้น กับหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้การปฏิรูปที่ยังดำเนินต่อไปมีโอกาสสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว การปฏิรูปใดๆ จะเกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ประชาชนต้องเอาด้วย ต้องเห็นประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันเท่านั้น ไม่ว่าจะปฏิรูปภายใต้ระบอบใดๆ ก็ตาม

รออ่านตอนต่อไปนะครับ น่าจะมีสามด้าน อีกสามตอน