ThaiPublica > สัมมนาเด่น > “บรรยง พงษ์พานิช” ตั้งโจทย์บทบาทรัฐไทย มีขนาดและอำนาจแค่ไหน! และการซื้อหาความได้เปรียบทางธุรกิจ

“บรรยง พงษ์พานิช” ตั้งโจทย์บทบาทรัฐไทย มีขนาดและอำนาจแค่ไหน! และการซื้อหาความได้เปรียบทางธุรกิจ

10 ธันวาคม 2012


งานสัมมนา "พลิกเส้นทางพัฒนา... สถาปนาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ" จัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555
งานสัมมนา “พลิกเส้นทางพัฒนา… สถาปนาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ” จัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555

สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 โดยมีดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นประธานกรรมการบริหาร สถาบันฯ และได้ให้ข้อมูลว่าสถาบันฯนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มนักธุรกิจ ผู้นำทางความคิด ที่เป็นห่วงอนาคตกับทิศทางของประเทศ จากภาวะที่ผู้บริหารประเทศใส่ใจเพียงเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องระยะสั้น แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องระยะยาว เรื่องของทิศทาง จึงเล็งเห็นว่า ควรมีสถาบันวิจัยเพื่อหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูด เพื่อให้คนเห็นความสำคัญกับตรงนี้

ในครั้งนั้นได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย…เราเลือกได้” เป็นการขับเคลื่อนเพื่อจุดประเด็นให้สังคมได้ตระหนักในความเป็นจริงและความเป็นไปของสภาพประเทศไทย และการสัมมนาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ในหัวข้อ “พลิกเส้นทางพัฒนา…สถาปนาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ” ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานบริหารสถาบัน ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำในเรื่องเหล่านี้ว่า งานสัมมนาในหัวข้อ “พลิกเส้นทางพัฒนา…สถาปนาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ” มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดในเรื่องของการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ (moving up the value chain) ว่าเราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาอาจจะต้องทำภายใต้มิติที่หลากหลาย ภายใต้ความร่วมมือในการผลักดันจากหลายภาคส่วน และจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

เวทีเสวนาได้โฟกัสไปที่เรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ว่าจะขับเคลื่อนหรือผลักดันอย่างไรให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยกัน ใครจะเป็นผู้ริเริ่ม เอกชนหรือหน่วยงานวิชาการ หรือว่าจะเริ่มไปพร้อมๆ กัน และบทบาทภาครัฐควรจะให้การสนับสนุนอย่างไร

ในข้อเท็จจริง ประเด็นเหล่านี้มีการพูดกันมานานแต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม มีแต่การจับมือเป็นโครงการๆ ที่เกิดจากการรู้จักกันเป็นการส่วนตัว หรือว่าจ้างกันเป็นรายโครงการระหว่างเอกชนกับวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ การเสวนาในวันนั้นเป็นการเล่าสู่กันฟังว่าใครทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไปแล้วบ้าง รวมทั้งสะท้อนปัญหาในบางแง่มุม โดยไม่มีข้อสรุปว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร แต่เป็นการบ้านให้ทุกคนที่ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ได้กลับไปคิด

ผู้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “พลิกเส้นทางพัฒนา…สถาปนาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ” ได้แก่ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบาไทยแลนด์ จำกัด, นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน–ภัทร และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ในที่นี้ ขอนำประเด็นที่ “บรรยง พงษ์พานิช” หยิบยกและตั้งเป็นโจทย์ให้สถาบันอนาคตไทยศึกษาทำการวิจัยต่อไปโดยกล่าวว่า วันนี้ ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน เฟือง 4 ตัวนี้ขาดการวางแผนที่เป็นองค์รวมที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น และไม่มีการสอดประสานกันทุกภาค จากข้อมูลของ ดร.เศรษฐพุฒิ ที่พูดเรื่องนวัตกรรม วัดโดยงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D; Research & Development) กับระดับความเจริญของประเทศ ซึ่งชัดเจนว่าประเทศที่พัฒนา ที่เจริญแล้ว มีค่าใช้จ่ายใน R&D สูง อย่างประเทศจีน การพัฒนาเท่ากับเรา แต่ R&D เขาสูงกว่าประเทศไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

“จึงเกิดคำถามว่า นวัตกรรมทำให้เกิดการพัฒนา หรือการพัฒนาทำให้เกิดนวัตกรรม คือพัฒนาแล้วถึงจะมีทรัพยากรมาทำ R&D หรือนวัตกรรมทำให้เกิดการพัฒนา ก่อนหน้านี้มีการสัมมนา ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งหัวหน้าเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกตั้งประเด็นคำถามว่า ประเทศต้องพัฒนาแล้วถึงลดคอร์รัปชัน หรือลดคอร์รัปชันแล้วประเทศถึงพัฒนาได้

“สองเรื่องนี้เกี่ยวกัน และผมจะโยงให้เกี่ยวกัน”

นายบรรยงกล่าวต่อว่า คำถามว่าทำไมประเทศไทยลงทุน R&D น้อย ในส่วนภาครัฐไม่ต้องพูดถึง ที่ ดร.เศรษฐพุฒิให้ตัวเลขว่า R&D ของไทยน้อยกว่างบประมาณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(9,000 ล้านบาท) และตนไม่แน่ใจว่าน้อยกว่างบประมาณประชาสัมพันธ์ผลงานภาครัฐ ของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นหน้ารัฐมนตรี อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือไม่

แม้แต่ในภาคเอกชนก็มีงบ R&D ต่ำ ทั้งที่เอกชนมีหน้าที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันเพื่อเพิ่มผลกำไร ซึ่งต้องเพิ่มนวัตกรรมให้มากขึ้น แต่บังเอิญประเทศเราหรือประเทศที่มีคอร์รัปชันเยอะๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ความได้เปรียบในการแข่งขันซื้อหาได้” อันได้แก่ การจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อกีดกันไม่ให้คนอื่นแข่ง หรือการล็อคสเปคเงื่อนไขการประมูล ล็อคสเปคสัมปทาน หรือล็อคอะไรทุกอย่าง

“ลองนึกดู การซื้อหาความได้เปรียบมันชัวร์ปึ้กยิ่งกว่า R&D ซึ่ง R&D มีความเสี่ยงเยอะแยะ แต่การซื้อหา จ่ายไปแล้ว สัจจะวาจาดิลิเวอร์แน่นอน อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเอกชนจึงไม่จำเป็นต้อง R&D อันนี้มันจะนำไปสู่เหตุผลข้อที่2 พอมีความได้เปรียบในการซื้อหาได้ จะเกิดประเด็นของโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเศรษฐกิจไหนที่มีกำไรเยอะ ทรัพยากรที่ดีจะไหลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจนั้น ทั้งคนเก่ง เงินทุน ผมเรียนเลยว่า ในประเทศไทย ภาคที่มีกำไรสูงที่สุดคือภาคที่มีคอร์รัปชัน ที่จ่ายเงินได้ คนอัจฉริยะจะไปอยู่ที่ภาคนี้มาก รวมทั้งการลงทุน ผมจะชี้ว่า ภาคที่คอร์รัปชันได้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคที่เราไม่เปิดกับโลก ไม่ใช่ภาคส่งออกที่จ่ายเงินซื้อก็ช่วยไม่ได้ เพราะตลาดโลกค้ำคออยู่ จึงทำให้การลงทุนของไทยไปลงทุนในภาค non tradable ซึ่งไม่ได้ต้องการการแข่งขัน”

นายบรรยงกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องนวัตกรรม ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรมในด้านคอร์รัปชันก้าวหน้าล้ำลึก เพียงแต่ว่าจดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ไม่มีประเทศที่พ้นกับดักการพัฒนาประเทศไหนที่มีดัชนีคอร์รัปชันต่ำกว่า 6 ของเราย่ำอยู่ที่ 3.5 ซึ่งนายบรรยงสงสัยว่า หน่วยงานที่จัดอันดับซึ่งก็คือหน่วยงานความโปร่งใสสากลคงตามเราไม่ทัน ไม่อย่างนั้นดัชนีคอร์รัปชันของเราน่าจะลงไปสัก 2

“นวัตกรรม ความมั่งคั่งของประเทศ จะเกิดได้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อาทิ โครงสร้างพื้นฐานการผลิต หรือที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรม ในประเทศไทยภาครัฐใหญ่มาก ซึ่งภาครัฐรับผิดชอบทั้งหมด การมีคอร์รัปชันสูง แน่นอนเป็นเครื่องการันตีว่าโครงสร้างพื้นฐานเราจะมีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ 1. ด้อยคุณภาพ 2. ต้นทุนสูง 3. ไม่เพียงพอ”

นายบรรยงอธิบายว่า ที่กล่าวมาอาจจะไม่เกี่ยวกับนวัตกรรมโดยตรง แต่โจทย์ทั้งหมดคือ จะทำอย่างไรที่จะ “พัฒนาประเทศ” คำว่าพัฒนาหมายถึง 3 ประเด็น 1. ความมั่งคั่ง 2. การกระจาย และ 3. ความยั่งยืน และทั้งหมดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลิตภาพรวมของประเทศของทุกภาคส่วน

“เมื่อ “นวัตกรรม” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของอันนั้น ประเทศไทยพัฒนาประเทศมา 50 กว่าปี จากแผนพัฒนาฉบับที่ 1 เราทำได้ไม่ถึงครึ่งทาง ปัจจุบันเราพัฒนาได้ 5,400 เหรียญ (รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี) ในนิยามที่ประเทศที่พัฒนาเขาต้องมี 12,000 เหรียญ เรามาไม่ถึงครึ่งทาง คำถามก็คือว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการ แค่เราเพิ่มนั่นเพิ่มนี่ มันเพียงพอไหม ผมพูดง่ายๆ ว่า ปี ค.ศ. 2620 เราคงจะไปถึงเป้าหมาย ซึ่งในห้องนี้จะมีใครได้เห็นสักกี่คน ถ้าเราโตไปกันในอัตราอย่างนี้ เราจะได้เห็นในปีนั้น”

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)

นายบรรยงกล่าวย้ำว่า“ผมอยากขอกลับมาที่ประเด็นว่า ผมมีคำถามเกี่ยวกับโครงสร้าง อยากฝากให้เป็นประเด็นวิจัยเพิ่มในเรื่องของขนาดและบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจไทย มันเหมาะสมและสมควรขนาดไหน อย่างไร ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้บ่นในงานเสวนาต่างๆ และได้ฟังมาบ้าง หรือไปร่วมบ่น สุดท้ายข้อสรุปมักจะบอกว่าอยากให้รัฐทำอย่างไร”

การที่สรุปว่าต้องการให้รัฐแก้ปัญหาหรือรัฐทำ มาจากสมมติฐาน 2 ข้อ เพราะ 1. รัฐแสนดีแสนเก่ง เรามีปัญหาเราก็อยากให้รัฐแก้ไข 2. รัฐใหญ่มาก และกุมอำนาจทั้งหมด นั่งทับคอขวดเอาไว้ หากรัฐไม่ทำไม่มีใครทำได้

ในโลกเศรษฐกิจปัจจุบัน คำว่ารัฐแสนดีแสนเก่ง ไม่ต้องเถียงกันแล้ว มันค่อนข้างยืนยันได้ว่า “ไม่ใช่” เป็นไปไม่ได้ และไม่มีที่ไหนในโลกที่มี “รัฐแสนดีแสนเก่ง” อย่าง ศ.เอ็ดวาร์ด ซี. เพรสคอทท์(Professor Edward C. Prescott) ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2004 ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่า ถ้ารัฐมีบทบาทน้อย ประเทศจะเจริญ ส่วนประเทศไหนที่รัฐมีบทบาทมาก ก็จะเจริญช้าหรือถอยหลังด้วยซ้ำ และมักจะมีข้อยืนยันว่า การที่รัฐมีบทบาทมาก มักจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. เพิ่มบทบาทตัวเอง แล้วมักจะนำไปสู่หายนะ อย่างกรีซ หรือ 2. ต้องเพิ่มบทบาทเมื่อมีความหายนะเกิดขึ้นแล้ว

“ผมจึงอยากตั้งประเด็นว่า ในประเทศไทย รัฐเราใหญ่เกินไปหรือไม่ ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกบอกว่าต้องลดบทบาทอำนาจรัฐ ผมจึงกลับมายังประเด็นที่ว่ารัฐที่แสนดีที่เก่งไม่มีในโลก และทำไมเวลาเรามีปัญหายังต้องให้รัฐทำอะไรๆ คำว่า “รัฐ” ในความหมายของผมไม่ได้หมายถึงรัฐบาล แต่หมายถึงองคาพยพต่างๆ ที่ใช้ทรัพยากรและอำนาจของส่วนกลางอยู่ คือ ตัวรัฐบาล ระบบราชการ รวมทั้งกลไกองค์กรอิสระทั้งหลาย ที่เป็นองค์ประกอบรวมกันเป็นรัฐ ผมไม่ได้โจมตีรัฐบาลไหน แต่อยากจะชี้ตัวเลข 3-4 ตัว ที่ผมรวบรวมมา เพื่อจะดูว่าขนาดและบทบาทรัฐของไทยเป็นอย่างไร”

ก่อนจะกล่าวต่อไป นายบรรยงได้ยกตัวอย่างว่า “ที่พิสูจน์ว่า การลดบทบาทรัฐและเพิ่มขนาดของเอกชน นำมาสู่ความเจริญ ในปี 1979 ประเทศจีนยังเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ชัดเจนว่า เพิ่มบทบาทเอกชน ลดบทบาทรัฐ ในปี 1979 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของจีน 182 เหรียญ ของไทย 589 เหรียญ ห่างกัน 3 เท่าเศษ แต่ในปี 2011 (ปี2554) จีนแซงเราเล็กน้อย 5,545 เหรียญ ของไทย 5,400 เหรียญ ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มของความเจริญเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจน”

กลับมาที่ตัวเลขของไทย ถ้าจะวัดขนาดการลงทุนของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ เราจะวัดจากอะไร

1. วัดที่งบประมาณของภาครัฐ ในปี 1996 เรามีงบประมาณร้อยละ 18.6 ของจีดีพี ปัจจุบันร้อยละ 21 ดูแล้วไม่เพิ่มมาก ถ้าดูอย่างนี้ก็อาจจะแย้งว่าดูแล้วรัฐไทยไม่ได้ใหญ่ เพราะงบประมาณต่อจีดีพีน้อยกว่าประเทศที่เจริญกว่า หากดูประเทศเจริญแล้วงบประมาณส่วนใหญ่เป็นเรื่องสวัสดิการ แต่ของไทยไม่ได้ให้สวัสดิการมากขนาดนั้น

2. วัดจากตัวเลขของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจคือรัฐและอำนาจรัฐ คือผู้ใช้ทรัพยากร ในปี 1996 มีขนาด 13% ของจีดีพี ปีที่แล้ว (ปี 2011) มีขนาด 36.7% ต่อจีดีพี ซึ่งเงินของรัฐวิสาหกิจเหมือนกับว่าไม่ได้ผ่านกลไกงบประมาณ แต่ผ่านกลไกรัฐวิสาหกิจ

“ตรงนี้สำคัญมาก ผมมีส่วนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่ได้แปรรูป (จริงๆ) มันเป็นการไปกวาดต้อนทรัพยากรเอกชนมาให้อยู่ใต้อำนาจรัฐ มันกลับข้างกลับกัน ซึ่งผมมองว่า ในแง่องค์กร การทำอย่างนั้นดีกว่าไม่ทำ แต่ทำไม่เสร็จ หากทำสำเร็จต้องปล่อยให้เป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ถือหุ้น 49% ตามนิยามกฎหมาย แต่วัดโดยอะไร วัดโดย เมื่อไหร่ที่รัฐมนตรีตั้งกรรมการไม่ได้ (หัวเราะและมีเสียงตบมือจากผู้ร่วมฟังเสวนา) ซึ่งผมให้ความสำคัญมากกับตลาดหลักทรัพย์ เพราะบริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าราคาตลาดรวมรวม 10 ล้านล้านบาท ท่านรู้ไหมครับว่า ในนั้นเกือบ 40% อยู่ใต้อำนาจรัฐ คือรัฐมนตรียังสั่งได้ทุกอย่าง ผมว่าอันนั้นเป็นประเด็นว่า ในเศรษฐกิจไทย รัฐใหญ่มาก”

และ 3. วัดจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เป็นเครื่องมือในการใช้ทำนโยบายของรัฐ ในปี 1996 มีขนาด 11 % ของจีดีพี ปัจจุบันมีขนาด 33% ของจีดีพี

เมื่อรวม 3 ตัวนี้ บทบาทของภาครัฐจากเดิมมีขนาดรวม 43 % ของจีดีพี ปัจจุบันรวมกัน 91% ของจีดีพี (ทั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบกับขนาดจีพีดี โดยเฉพาะตัวเลขของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของรัฐ) จะเห็นว่าโตขึ้นกว่าเท่าตัว นั่นคือขนาดของภาครัฐ

“ถามว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังฝืนเทรนด์ของโลก นี่คือข้อสังเกตเบื้องต้น ผมก็หวังว่าจะมีงานวิจัยมาให้คำตอบนี้”

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

นายบรรยงกล่าวต่อว่า “หากกลับไปที่อำนาจหน้าที่ของรัฐ เราจะเห็นว่าจริงๆ รัฐมีหน้าที่อยู่ พอเราแยกไม่ออก เอาอำนาจไปปนกับหน้าที่ แทนที่จะให้บริการประชาชนกลับไปโขกสับขูดรีดประชาชนและภาคเอกชน เพราะแยกแยะอำนาจกับหน้าที่ไม่ค่อยออก และการใช้อำนาจรัฐมันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ผมยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ว่า รัฐที่ใหญ่และมีอำนาจที่ซับซ้อน อย่างกรณี 3G ผ่านมา 5 ปี แล้วเรายังไม่มีใช้ (งานเสวนามีขึ้นก่อนมีคำตัดสินของศาลปกครองว่าไม่รับคำฟ้องของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) มันมาจากวิธีการใช้อำนาจ ผมไม่ได้ว่าอะไรใคร แต่มันชี้ให้เห็นชัดเจน มันอาจจะมาจากความระแวง เสียเวลาในการออกแบบประมูล สุดท้ายออกมาเป็นประเคนอย่างที่เขาว่ากัน ทำให้ผมอยากตั้งโจทย์ให้สถาบันอนาคตไทยศึกษา ว่าบทบาทของขนาดของภาครัฐ และการยื่นมือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้นสำคัญที่สุด รัฐแทรกแซงทุกเรื่อง แทนที่จะลดบทบาทและอำนาจภาครัฐ หรือกรณีการเอาตลาดข้าวมาอยู่ในมือ เพราะรัฐเท่านั้นที่จะกักตุน เก็งราคา ปั่นราคาตลาดโลกได้”

นายบรรยงย้ำว่า “ผมไม่ได้ว่ารัฐบาล แต่ประเด็นของผมคือ ขนาดและโครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และเราเดินมาถูกทางหรือไม่ เพราะอำนาจที่ยิ่งใหญ่และขนาดที่ยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดปัญหาอื่น อาทิ การคอร์รัปชัน มาจากตรงนี้ ความแตกแยกก็มาจากตรงนี้ ลองคิดดูว่าเมื่ออำนาจและขนาดใหญ่ขนาดนั้น ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เพราะมันยิ่งใหญ่หอมหวานเหลือเกิน”

นายบรรยงอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ในยุคแรก เมืองไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องผลจากการที่มีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ในช่วงที่มีเงินทุนทางตรงเข้ามาลงทุนในไทย เป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจ เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี เพราะเมื่อมีการลงทุนก็ต้องย้ายเทคโนโลยีมาด้วย

ต่อมา ในยุคโลกาภิวัตน์ มีเงินลงทุนทางอ้อมที่เข้ามาในตลาดทุน ปัจจุบันมีเงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยประมาณเกือบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนต่างชาติเหล่านี้จะกดดันให้บริษัทจดทะเบียนปรับเรื่องคุณภาพทุกอย่าง เพราะเขาเปรียบเทียบกับการลงทุนกับประเทศอื่นๆ

“เงินลงทุนต่างชาติมีอิทธิพลมาก ระบบ Good Corporate Governance หรือ CG ที่เกิดขึ้นมาจากการลงทุนต่างชาติ”

เมื่อประเทศมาถึงอีกจุดหนึ่ง เป็นคลื่นที่สามที่ต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งสำคัญมาก มันเป็นทฤษฎีเก่าที่ว่าเรามีทรัพยากรจำกัด เราต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายทุน โดยมองว่าทรัพยากรของเราควรพัฒนาประเทศเรา แต่ในเรื่องใหม่ การออกไปลงทุนต่างประเทศของเอกชนเป็นการผลักดันและส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะถ้าคุณไม่เก่ง คุณไม่มีทางออกไปได้ คุณต้องถูกผลักดันให้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะออกไปแข่งขันได้ หรือถ้าหากคุณไม่เก่ง คุณก็ออกไปซื้อความได้เปรียบ อาจจะมีบางประเทศที่คุณหาซื้อความได้เปรียบได้ คุณอาจจะมีนวัตกรรมการจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่หากต้องออกไปสู้จริงๆ แล้วมันต้องเก่ง

“ทีนี้ มันสอดคล้องกับลักษณะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอย่างมากเลย รัฐที่ต้องพยายามผลักดัน เรามักถูกบ่นว่าเรามีเงินออมมหาศาล และเอาเงินออมไปกองไว้ด้วยการไปซื้อพันธบัตรสหรัฐอเมริกา อันนี้จึงเป็นแรงกดดันและมีแนวคิดว่า เงินก้อนนั้น 1.รัฐควรต้องตั้งกองทุนความมั่งคั่ง เหมือนกองทุนเทมาเส็ก ซึ่งประเด็นนี้ผมค้านเลย เพราะกองทุนมั่งคั่งมีจำนวนมาก แต่ที่ประสบความสำเร็จมีไม่กี่แห่งในโลก และที่ประสบความสำเร็จคือกองทุนความมั่งคั่งในประเทศที่มีดัชนีคอร์รัปชันสูงกว่า 7 ในขณะที่ดัชนีคอร์รัปชันของเราอยู่ที่ 3.5” นายบรรยงกล่าว

2. นำไปลงทุนในประเทศ ซึ่งนายบรรยงกล่าวว่าตนเห็นด้วย แต่ต้องระมัดระวังเพราะรัฐบาลประกาศว่า การลงทุนส่วนใหญ่จะผ่านรัฐวิสาหกิจ คือ แปลว่าใครก็ตามที่แบกการผูกขาดอยู่ การลงทุนไม่มีทางและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

และ 3. ผลักดันให้เอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศ อันนี้มีนัยยะอื่นๆ นอกจากนัยยะกดดันในเรื่องทรัพยากรที่เราสะสมไว้และไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะในเรื่องโครงสร้างในจีดีพีประเทศไทย หากมองในแง่ด้านรายได้มี “wage” และ “non wage”

“wage” คือรายได้ประชาชาติที่ตกถึงผู้ที่กินเงินเดือนและค่าจ้างทั้งหมด ซึ่งมี 39 ล้านคน หรือร้อยละ 38 ตกถึงผู้กินเงินเดือนและค่าจ้างทั้งหมด เป็นอัตราที่ต่ำมาก ขณะที่จีน ร้อยละ56 และประเทศเจริญแล้วร้อยละ 60 กว่า

“ผมสนับสนุนค่าแรง 300 บาท แต่สงสัยวิธีการนิดหน่อย เพราะค่าแรงเราถูกดมานาน หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อะไรโตรู้ไหมครับ ที่โตคือกำไรของภาคเอกชน ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำเราติดลบ 3% กว่าๆ แต่กำไรบริษัทเอกชนโต 386% in real term ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐจัดเก็บได้ 570,000 ล้านบาท เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โตปีละ 20% ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แฮปปี้กัน”

นายบรรยงกล่าวย้ำว่า แต่ประเด็นสำคัญคือ หากวัดจากฐานภาษีของสรรพากร กำไรของภาคเอกชนก่อนจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็น 33% ของจีดีพี มันใหญ่มหาศาล มันชัดเจนว่า ในด้านรายได้แล้วตกถึงคนไม่กี่แสนคน คือ เจ้าของกิจการภาคเอกชนหรือเจ้าของหุ้นทั้งนั้น อันนี้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่ผู้บริหารกิจการ ถ้าหากทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าจีดีพีเขาก็ถูกให้ออก ดังนั้นทุกคนจะพยายามเพิ่มกำไรของบริษัท หากไม่ไปหากำไรเพิ่มจากข้างนอกประเทศ ก็ต้องมากินจากข้างใน

“ดังนั้น การพัฒนาภาคเอกชน คีย์หลักต้องส่งเสริมให้เขาไปแข่งกับโลก อย่างแข่งกับแรงงานไทย ไม่อย่างนั้นเขาก็มากินจากภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม นัยยะนี้ผมถึงกลับมาที่ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องส่งเสริมเอกชนให้ไปแข่งขันนอกประเทศได้ ปัจจุบันเราส่งเสริมน้อย และเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ อาทิ เรื่องระบบภาษีซ้ำซ้อนจากการลงทุน ต่างจากบทบาทของ “ไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA)” ของญี่ปุ่น ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้ควรจะเปลี่ยน รัฐต้องพยายามสนับสนุน”

“มองเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าไปส่งเสริมเอกชนทำไม ก็รวยอยู่แล้ว แต่การไปลงทุนต่างประเทศมีนัยยะตามที่กล่าวมาข้างต้น”

นายบรรยงกล่าวว่า นอกจากประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชัน และการกำหนดและปรับปรุงขนาดและบทบาทภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้น ขอลงในรายละเอียดอีก 2 ประเด็น คือ 1. สังคมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการเปิดเสรี โดยเฉพาะความรู้สึกหวงแหนว่าธุรกิจต้องอยู่ในคนสัญชาติไทย เช่น กรณีของ “พ.ร.บ.ประกอบอาชีพคนต่างด้าว” ที่ตนเรียกว่า “พ.ร.บ.กีดกันผู้มีประสิทธิภาพ”

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างกรณี 3G ที่มีปัญหา วงเงิน 4,600 ล้านบาท (ประมูล 3G) 3G จะไม่มีปัญหาเลยถ้าองค์การโทรศัพท์มีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่นอน สะท้อนกลับไปเรื่องเดิม คือ รัฐและรัฐวิสาหกิจ หรือปัญหาจะน้อยลงถ้าไม่จำกัดว่าผู้ประมูลต้องสัญชาติไทย ถ้าบอกว่าต้องสัญชาติไทย ผมว่าไปปกป้อง 3 บริษัท เจ้าสัวกี่คน ที่ผมยกตัวอย่างนี่หมายรวมถึงทุกๆ ธุรกิจ หากต้องเป็นสัญชาติไทย โดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นการปกป้องคนน้อยมาก สังคมตกเป็นเครื่องมือของเจ้าสัวไม่กี่คน ผมพูดตรงๆ นะ

2. ตลาดการเงินของไทยเป็นหัวใจของการรวบรวมจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้งหมด ผมว่าต้องพัฒนาอีกเยอะ เป็นวาระทั้งตลาดเงินและตลาดทุน น่าจะเป็นตัวสำคัญของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ทั้งหมดจึงเป็นประเด็นที่ฝากไว้