ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวร่วม 4 เหล่า

แนวร่วม 4 เหล่า

18 สิงหาคม 2013


หางกระดิกหมา

การสู้กับคอร์รัปชันในเมืองไทยทุกวันนี้ นอกเหนือจากจะทำโดยการผลักดันให้เกิดระบบที่จำกัดควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสเรียกสินบนได้ง่ายๆ อย่างเช่นลดข้อกฎหมายที่ให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานฟุ่มเฟือยแล้ว อีกทางหนึ่งก็ต้องทำโดยการรณรงค์ไม่ให้เอกชนจ่ายสินบนควบคู่กันไปด้วย

อย่างหลังนี่ ที่เป็นรูปธรรมมากในตอนนี้ก็คือโครงการของ “แนวร่วมภาคปฏิบัติของเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition)” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่บริษัทห้างร้านต่างๆ ตระหนักว่าคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ จึงได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์เข้าเป็นสมาชิกของแนวร่วมฯ โดยสัญญาว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบอีกต่อไป และทุกวันนี้ก็มีบริษัทมาลงนามแสดงเจตนารมณ์เป็นจำนวน 168 บริษัทแล้ว

สิ่งที่ดีมากของโครงการนี้ก็คือ เขาไม่ได้ให้บริษัทแค่ลงนามแสดงเจตนารมณ์ “เข้าเป็น” แนวร่วมฯ แล้วก็ได้เป็นแนวร่วมฯ ในทันที หากแต่ยังมีกระบวนการคัดกรองอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ ภายหลังลงนามแล้ว แต่ละบริษัทยังจะต้องไปสร้างนโยบาย ออกแบบกลไกต่างๆ เพื่อลดปัจจัยคอร์รัปชันในบริษัทของตัวเองบนแนวทางที่แนวร่วมฯ วางไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากมาตรฐานอันเป็นสากลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของ UN, World Bank, Transparency International หรือ CIPE อีกด้วย โดยต่อเมื่อบริษัทใดปฏิบัติได้ครบตามมาตรฐานของแนวร่วมฯ เท่านั้น จึงจะได้รับการ “รับรอง” เป็นสมาชิกของแนวร่วมฯ ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดกว่า 617 บริษัท ปัจจุบันนี้กลับมีบริษัทที่ลงนามแสดงเจตนารมณ์ “เข้าเป็น” สมาชิกของแนวร่วมฯ เพียง 67 บริษัทเท่านั้น ซึ่งทางหนึ่งก็น่าตกใจว่าทำไมบริษัทที่มีเจตนาจะต้านคอร์รัปชันถึงได้มีจำนวนร่อยหรอแค่นี้ แต่อีกทางหนึ่ง การจะด่วนสรุปว่าบริษัทที่ไม่ลงนามล้วนแล้วแต่ไร้เจตนาจะต้านคอร์รัปชันเสียเลยก็ยังไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริงอีก เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเท่ากับว่าสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแนวร่วมฯ นี่ขึ้นมา แอบสู่รู้ก่อตั้งแนวร่วมฯ ไปเองโดยไม่สอดคล้องกับเจตนาส่วนใหญ่ของสมาชิก ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

กรณีนี้ จึงคิดว่าบริษัทที่ไม่เข้ามาแสดงเจตนารมณ์น่าจะยังแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มต่างกัน ปะปนกันไปดังนี้ต่างหาก

กลุ่มที่หนึ่ง คือกลุ่มที่ไม่สนใจ กล่าวคือพวกที่เห็นว่าคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในสัจธรรมของโลก ไม่มีทางที่จะกำจัดให้หมดไปได้ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงไม่เห็นว่าจะต้องมาแสดงเจตนารมณ์ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทำไม

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มนี้ยิ่งหนักไปกว่ากลุ่มแรกเข้าไปอีก คือกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่เชื่อว่าคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในสัจธรรมของโลกเท่านั้น แต่ตัวเองก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมนั้นด้วย กล่าวคือเป็นบริษัทที่หากินในทางคอร์รัปชันเสียเอง เช่น บริษัทที่เป็นตัวกลางแทนบริษัทอื่นในการจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ขืนบริษัทเหล่านี้แสดงเจตนารมณ์ ก็เท่ากับแสดงเจตนารมณ์ที่จะทุบหม้อข้าวตัวเอง จึงย่อมเป็นไปไม่ได้

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ไม่แน่ใจ กล่าวคือกลุ่มบริษัทที่อยากแสดงเจตนารมณ์เหมือนกัน แต่ด้วยเหตุที่แสดงเจตนารมณ์ไปแล้วก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการแต่งเนื้อแต่งตัว ปรับนโยบาย ปรับโครงสร้างบริษัทเสียใหม่เพื่อให้ได้รับการ “รับรอง” เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งบางครั้งก็ยังประเมินได้ยากว่าจะเป็นต้นทุนแก่บริษัทสักเท่าใด บริษัทเหล่านี้จึงอาจเลือกที่จะดูสถานการณ์ไปก่อน ต่อเมื่อเห็นต้นทุนต่างๆ ชัดเจนแล้ว จึงค่อยตัดสินใจอีกทีหนึ่ง

กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ลงนามไม่ได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุด คือเป็นกลุ่มที่อยากลงนามแสดงเจตนารมณ์ แต่รู้ตัวเลยว่าลงนามไม่ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เพราะว่าบริษัทเหล่านี้ศรัทธาหรือกะจะหากินในทางคอร์รัปชันอะไรทั้งนั้้น แต่เป็นเพราะธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ยังต้องติดต่อกับรัฐเป็นอย่างมาก เช่น พวกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้าง หรือธุรกิจนำเข้า ฯลฯ ซึ่งสำหรับธุรกิจพวกนี้ ถ้าลงติดต่อกับรัฐแล้วคิดจะไม่จ่ายสินบนก็เป็นอันทำธุรกิจได้ยาก เพราะขออนุญาตอะไรก็มีแต่จะล่าช้าติดขัด หนึ่งปีแทนที่จะสร้างได้สิบโรงแรม ก็กลายเป็นสิบปีสร้างได้โรงแรมเดียว ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงเหมือนถูกเอาความอยู่รอดของธุรกิจเป็นตัวประกันแลกกับการจ่ายสินบน ทำให้บริษัทอยู่ในฐานะที่ไม่อาจลงนามได้ (หรือถ้าจะลงนามให้ได้ก็หมายความว่าบริษัทจะต้อง outsource การให้สินบนไปให้บริษัทอื่นที่หากินในทางเป็นตัวกลางคอร์รัปชันมาหิ้วเงินแทน ซึ่งก็จะเป็นการสนับสนุนธุรกิจคอร์รัปชันให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก เรียกว่าลดบริษัทกลุ่มนี้ ก็ไปเพิ่มบริษัทกลุ่มสองอยู่ดี ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น)

อย่างไรก็ตาม จากที่ว่ามานี้ ถ้าเราอยากจะให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เข้าลงนามกันให้มากขึ้นจนถึงทั้งหมด ก็เห็นจะต้องมีการไปสำรวจดูสักทีว่าบริษัทที่เขาไม่ลงนามนั้น จัดเป็นพวกไหนในสี่กลุ่ม เพราะถ้าไม่รู้ก็ไม่มีทางจัดวางยุทธศาสตร์การรณรงค์ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุที่แต่ละกลุ่มล้วนมีมูลเหตุและแรงจูงใจต่างไปทั้งสิ้น รณรงค์แบบหว่านไปก็จะเปลืองเปล่าๆ

โดยนัยนี้ อยากจะเสนอว่าสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวตั้งตัวตีของแนวร่วมฯ ควรจะรับเอาเป็นธุระของตนในการส่งคนเข้าไปสอบถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างๆ เสียเลย ว่าแต่ละบริษัทได้ลงนามแสดงเจตนารมณ์แล้วหรือไม่ และถ้าไม่ บริษัทเหล่านั้นจัดเป็นกลุ่มใดในสี่กลุ่มที่ว่ามานี้ โดยจะต้องให้มีการบันทึกคำถามและคำตอบที่ได้ลงในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย เพื่อให้เป็นที่รู้ในวงกว้างและเป็นการกดดันให้แต่ละบริษัทพยายามเข้าเป็นแนวร่วมฯ ให้ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ แม้ในกรณีที่บริษัทตอบคำถามส่งเดช โดยไม่ตรงกับความจริง เราก็ยังจะได้มีบันทึกไว้ใช้อ้างยันกับบริษัทนั้นๆ ในโอกาสข้างหน้าได้อีกต่างหาก นับเป็นการก่อกวนคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดี

ลำบากเพราะคอร์รัปชันมาเยอะแล้ว สร้างความลำบากให้คอร์รัปชันบ้างเป็นไรไป

อ่านเพิ่มเติม “IOD รับรองฯ 7 บริษัท แนวร่วมภาคเอกชนต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2556