ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (6) – ขุมทรัพย์ใหญ่ของชาว”กานา”

ขยะพิษ: ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ (6) – ขุมทรัพย์ใหญ่ของชาว”กานา”

1 พฤศจิกายน 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

ในรายงานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ อินเตอร์เนชั่นแนล และเครือข่ายบาเซล แอ็กชัน เน็ตเวิร์ก รวมทั้งผลการวิจัยขององค์กรหลายองค์กรที่ร่วมกันติดตามปัญหาขยะพิษในประเทศกานาในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งกำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิตอลเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทำให้มีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มือสองราคาถูกจำนวนมาก หรือบางส่วนก็เป็นของบริจาคที่ใช้งานได้ไม่นานนัก โดยไม่สนใจว่าสินค้ามือสองของของบริจาคนี้จะเสียเร็วกว่าสินค้าใหม่แกะกล่อง ผลก็คือ ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของสินค้ามือสองนี้กลายเป็นขยะพิษภายในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะที่นิตยสาร Ecologist รายงานเพิ่มเติมว่า ประเทศตะวันตกได้ลักลอบทิ้งขยะพิษที่ชุมชนแออัดในประเทศกานา ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นหนึ่งในบ่อขยะพิษบ่อใหญ่ที่สุดในโลก และขยะพิษเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับสิ่งแวดล้อมเมื่อซึมลงสู่พื้นดิน หรือลอยสู่อากาศเมื่อถูกเผา และต่อสุขภาพประชาชนที่ล้มป่วยด้วยสารพัดโรคร้ายรวมไปถึงโรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทและสมอง

ผลการสำรวจของกลุ่มกรีนพีซพบว่า เมื่อปี 2552 ประเทศกานาได้นำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมกันสูงถึง 280,000 ตัน หรือเฉลี่ยราว 9 กิโลกรัมต่อคน ปรากฏว่ามีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นเครื่องใช้ใหม่แกะกล่อง ที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้ามือ 2 ของของบริจาค ในจำนวนนี้มีมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าชำรุดจนยากจะนำมาย้อมแมวขายได้ ต้องจำใจทิ้งเป็นขยะพิษ อีก 20 เปอร์เซ็นต์พอจะกล้อมแกล้มนำมาย้อมแมวขายได้

ในรายงานชิ้นนี้เผยว่า สินค้ามือสองเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคอมพิวเตอร์ จอภาพ และจอโทรทัศน์ยี่ห้อ ฟิลิปส์ โซนี่ ไมโครซอฟต์ โนเกีย เดล แคนนอน และซีเมนส์ ที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว แต่ติดป้ายที่ไม่ตรงกับความจริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลที่สูงมาก มีต้นทางมาจากประเทศเยอรมนี เกาหลี ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ขยะพิษเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปทิ้งตามแหล่งเก็บขยะทั่วไป กลายเป็นขุมทองของนักเก็บขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ที่จะคัดแยกชิ้นส่วนด้วยวิธีการง่ายๆ ตามมีตามเกิดแค่บดหรือเผาเพื่อคัดแยกหาเศษเหล็ก อะลูมิเนียม และทองแดง โดยไม่มีมาตรการป้องกันแม้กระทั่งการสวมถุงมือเวลาหยิบจับขยะพิษเพื่อความปลอดภัย ก่อนจะนำส่วนที่มีค่าออกไปขายต่อให้ร้านค้าในราคาแสนถูกแค่ประมาณ 2 ดอลลาร์ หรือ 60 บาทต่อ 5 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนที่ไม่มีค่าก็กองทิ้งไว้ก่อนจะนำไปเผาในภายหลังเพื่อลดปริมาณขยะลง ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อคนงานและสภาพแวดล้อม

ที่มาภาพ : http://s.ngm.com/2008/01/high-tech-trash/
ที่มาภาพ : http://s.ngm.com/2008/01/high-tech-trash/

ความที่เป็นประเทศด้อยพัฒนาและไม่สนใจในปัญหาขยะพิษ ทำให้การเก็บขยะพิษในประเทศกานาเป็นไปตามยถากรรม มีแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการเก็บขยะพิษตามมาตรฐานสากล จากการสำรวจสภาพอากาศในกรุงอักกรา นครหลวงของกานา พบว่า เฉพาะการรีไซเคิลสายเคเบิลด้วยการเผาเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดสารไดออกซินเข้มข้นประมาณปีละ 3 กรัม สูงกว่าการปล่อยสารไดออกซินจากขยะพิษที่เกิดจากการเผาทั่วยุโรปถึง 7.5-15 เปอร์เซ็นต์

คาดกันว่าสถานการณ์นี้จะเลวร้ายลงตามลำดับ ถ้าหากปล่อยให้นำเข้าเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มือสองอย่างเสรีต่อไป ซึ่งคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีก 6-7 ปีข้างหน้า เนื่องจากประเทศกานายังไม่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าสินค้าดังกล่าว รวมทั้งไม่มีมาตรการบังคับให้กำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธี

ในรายงานเรื่อง “สารพิษปนเปื้อนในแหล่งรีไซเคิลและการทิ้งขยะพิษในประเทศกานา” ซึ่งจัดทำโดยกรีนพีซ ระบุว่า ผลการตรวจตัวอย่างดินและตะกอนจากแหล่งทิ้งขยะพิษ 2 แห่ง คือ จากทะเลสาบตื้นๆ ใกล้ตลาดอักบอกโบลชี ในกรุงอักกรา และอีกแห่งที่เมืองโคลฟลอริดัว ที่มีการเผาขยะพิษในที่โล่ง ปรากฏว่าพบสารพิษอันตรายร้ายแรงปนเปื้อนในตัวอย่างดินและตะกอนจากแหล่งทิ้งขยะพิษทั้งสองแห่งนั้น

บางตัวอย่างยังพบโลหะหนักในปริมาณสูงมาก เช่น พบสารตะกั่วในปริมาณสูงหลายร้อยเท่าเมื่อเทียบกับตัวอย่างดินหรือตะกอนที่ไม่มีการปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังพบสารพิษพลาฟาเลท ซึ่งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ในเกือบทุกตัวอย่าง ยิ่งกว่านั้น จากการวิจัยตัวอย่างหนึ่ง พบว่าปนเปื้อนคลอรีนเนทไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงมาก

ดอกเตอร์เควิน บริกเดน นักวิจัยของกลุ่มกรีนพีซ ได้สรุปผลการตรวจสอบครั้งนี้ว่า “สารพิษที่พบในชั้นดินและอากาศนั้นมีปริมาณสูงมาก บางชนิดอาจส่งผลต่อพัฒนาการของระบบสืบพันธุ์ของเด็กที่อาจสัมผัสกับสารพิษเหล่านี้ในปริมาณสูงมาก หลายชนิดยังส่งผลต่อการพัฒนาของสมองและระบบประสาท”

ขณะที่อทิโม แซมสัน นักวิจัยชาวกานายอมรับกลางที่ประชุมของกลุ่ม “หยุดปัญหาขยะพิษ” ว่า จนถึงขณะนี้ กานาก็ยังไม่มีกฎหมายห้ามการนำเข้าขยะพิษ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากที่ยังยากจนอยู่ต่างหวังพึ่งพาขยะพิษเป็นแหล่งรายได้หลัก อาทิ ถ้าหากสามารถสกัดทองคำออกจากภูเขาขยะมือถือ 1 แสนเครื่อง ก็จะได้เศษทองคำชิ้นเล็กๆ มูลค่ากว่า 130,000 ดอลลาร์ นอกเหนือจากสกัดทองแดงมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ และแร่เงินมูลค่า 27,000 ดอลลาร์

เหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่รัฐบาลยากจะปฏิเสธการนำเข้าขยะพิษ แม้จะตระหนักดีว่าจะมีผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมก็ตาม

กลุ่ม “หยุดปัญหาขยะพิษ” ยืนกรานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายเพื่อควบคุมการรีไซเคิลขยะพิษ อาทิ สร้างโรงงานกำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธี เพื่อประกันความปลอดภัยในสุขภาพของผู้คนที่อาศัยขยะพิษเป็นแหล่งรายได้และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลาย แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งกว่าเข็นครกยักษ์ขึ้นภูเขาสูงชันก็ตาม

ด้านนิตยสารไทมส์รายงานว่า ในเมื่อรู้ๆ กันอยู่ว่า ที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งต้องยอมปิดตาข้างหนึ่งหรือถึงขั้นยอมเปิดประเทศให้นำเข้าขยะพิษโดยเสรี แม้ว่าองค์การระหว่างประเทศจะมีกฎหมายห้ามประเทศพัฒนาแล้วส่งออกขยะพิษที่ไม่ได้รับอนุญาตไปทิ้งที่ประเทศด้อยพัฒนาก็ตาม เหตุผลสำคัญก็มาจากปัญหาความยากจนนั่นเอง ดังนั้น ทางแก้ที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็คือ ต้องบังคับให้บริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หันมาออกแบบสินค้าใหม่ด้วยการกำจัดโลหะมีพิษเหล่านี้

ขณะเดียวกัน ก็ควรรณรงค์ให้ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ต้องมีกล่องสำหรับใส่สินค้าไอทีไม่ใช้แล้ว เพื่อที่จะนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี นอกเหนือจากรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้จักเลือกบริโภคอย่างชาญฉลาดและใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ “แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ ”

ส่วนสำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี ได้นำเสนอรายงานพิเศษชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยชีวิตของสองพ่อลูกชาวกานาที่ทำมาหากินด้วยการแยกชิ้นส่วนขยะพิษด้วยมือเปล่าปราศจากมาตรการป้องกันใดๆ โดยพ่อมีอายุ 45 ปี ส่วนลูกชายที่มีอายุแค่ 14 ปีก็ต้องเสี่ยงตายช่วยพ่อทำงาน ทั้งสองพ่อลูกช่วยกันแยกชิ้นส่วนโทรทัศน์อย่างขะมักเขม้น โดยไม่รู้สารู้สมกับควันดำขโมงที่ลอยฟุ้งอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก จากการเผาสายเคเบิลเพื่อแยกพลาสติกที่หุ้มอยู่ออก

ดีพีเอรายงานว่า พ่อลูกคู่นี้สาละวนทำงานท่ามกลางกองขยะพิษพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลกในย่านอักบอกโบลชี แหล่งสลัมใหญ่ใกล้ๆ กับย่านธุรกิจใจกลางกรุงอักกรา ในรายงานชิ้นนี้อ้างข้อมูลของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของกานาที่เผยว่า ในแต่ละปีจะมีสินค้าอิเลกทรอนิกส์มือสองส่งมาขายที่กานาถึงกว่า 5 ล้านชิ้น ส่วนใหญ่มาจากยุโรป สหรัฐฯ​และจีน ซึ่งกว่า 3 ใน 4 ส่วนของสินค้ามือสองนี้จะมากองที่เมืองนี้ และกลายเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่นั้นที่ช่วยกันค้นหาเศษขยะที่จะนำมารีไซเคิล เพื่อคัดแยกโลหะมีค่า อาทิ อะลูมิเนียม ทองแดง และเหล็ก ก่อนจะนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าในราคาถูก โดยไม่สนใจว่าขยะที่กองสูงเป็นภูเขาเลากาได้กลายเป็นขยะพิษที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของคนในพื้นที่และต่อสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ทั้งดิน น้ำ และอากาศ

จากรายงานของธนาคารโลกระบุว่า กว่า 1 ใน 4 ของชาวกานา 25 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก แค่วันละ 1.25 ดอลลาร์ หรือราว 30 บาทเท่านั้น ในจำนวนราว 40,000 คนรวมไปถึงเด็กๆ อาศัยอยู่ในสลัมใกล้กับภูเขาขยะพิษ ทำให้ได้รับสารพิษเข้าไปเต็มๆ โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงพ้น

ในรายงานของดีพีเออ้างคำเปิดเผยของชาวบ้านคนหนึ่งว่า หลังจากตกงานเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็ต้องหันมาเก็บและคัดแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ โดยมีลูกชายซึ่งต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยเป็นลูกมือ แม้จะรู้ว่างานนี้ทำให้สุขภาพย่ำแย่ลง ล้มป่วยกันง่ายๆ แต่ก็ไม่มีทางเลี่ยง เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน และถ้าวันไหนโชคดีมากๆ ก็อาจทำรายได้ถึง 10 ดอลลาร์ หรือราว 300 บาท

สำนักข่าวของเยอรมนียังได้สัมภาษณ์นายแพทย์คนหนึ่งที่เปิดคลีนิกไม่ไกลจากสลัมแห่งนั้น ที่เผยว่าในแต่ละวันจะมีคนไข้จำนวนหนึ่งมาขอรับการรักษา ส่วนใหญ่จะมีอาการผิวหนังพุพอง ปวดท้อง นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย หรือโรคจากพิษรังสี คนไข้บางคนเริ่มป่วยเป็นโรคมะเร็ง หรือมีอาการผิดปรกติในระบบสมองและประสาท

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำนักข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยเตือนว่า อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่นำเข้ามาที่กานาในรูปของการบริจาคหรือติดฉลากเป็นสินค้ามือสองนั้นล้วนเป็ยขยะพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่สำนักสิ่งแวดล้อมของกานาก็พยายามวิ่งเต้นให้ยุติการนำเข้าขยะพิษอย่างเสรี พร้อมกับล็อบบี้ให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพิษเหล่านี้ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังค้างคาอยู่ในรัฐสภา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมพยายามผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายนี้ภายในสิ้นปีนี้ โดยให้เหตุผลว่าจุดประสงค์ไม่เพียงแต่ควบคุมการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานไม่ได้แล้วเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการจัดตั้งระบบบริหารจัดการขยะพิษที่ยั่งยืน ซึ่งเท่ากับจะมีการจ้างงานจำนวนมากในระยะยาว

กว่าจะถึงตอนนั้น คนยากจนชาวกาน่าคงยังคงเก็บขยะพิษไปคัดแยกหาโลหะมีค่าต่อไป ซึ่งคงจะทำรายได้ราว 125 บาทต่อโลหะหนัก 100 กิโลกรัม

นอกเหนือจากประเทศกานาแล้ว เคนยาเป็นอีกประเทศหนึ่งในแอฟริกาตะวันออกที่กลายเป็นบ่อทิ้งขยะพิษจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้ประเทศนี้เป็นผู้นำในเรื่องของการนำขยะพิษมาหมุนเวียนแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เฉพาะที่กรุงไนโรบี นครหลวงของเคนยานั้น ศูนย์ขยะเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้แปรสภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ถึง 4,000 เครื่อง นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2550 โดยบริษัทแปรรูปขยะพิษแห่งหนึ่งกำลังเป็นหัวหอกสำคัญในการกำจัดขยะพิษด้วยวิธีการที่ปลอดภัย

เด็กนักเรียนของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ในกรุงไนโรบี ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มือสองที่ได้รับบริจาคมาจากกลุ่มองค์กรผู้ไม่หวังผลกำไรในยุโรปกลุ่มหนึ่ง คอมพิวเตอร์เหล่านี้ ผ่านการทำความสะอาด ตรวจสอบสภาพ และปรับแต่งเพื่อใช้ในโรงเรียน และหน่วยงานอื่นๆ แต่คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่บริจาคมายังแอฟริกาไม่ได้มีคุณภาพที่สูงนัก