หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานผลการตรวจสอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 7 ข้อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายบริหารจัดการความรู้ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 นายกายสิทธิ์ได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้รายงานผลการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของ สปสช. พบว่า
1. สตง. ตรวจพบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด กรณีการปรับเงินเดือนให้เลขาธิการ สปสช. (นพ.วินัย สวัสดิวร) ไม่เป็นไปตามมติ ครม. กล่าวคือ การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการหลังการประเมินผลการปฏิบัติงานปีที่ 1 นั้น คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเดือนเป็นเดือนละ 200,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ซึ่งเป็นกรอบสูงสุดของกรอบเงินเดือนเลขาธิการตามมติ ครม. ทำให้การปรับเงินเดือนของเลขาธิการปรับได้เฉพาะการปฏิบัติงานปีที่ 2 ไม่สามารถปรับเงินเดือนตามผลงานเป็นระยะๆ ตลอดอายุสัญญา จึงไม่เป็นตามเงื่อนไขของการได้รับเงินเดือนของเลขาธิการตามมติ ครม. โดย สตง. เสนอแนะให้แก้ไขการกำหนดอัตราเงินเดือนของเลขาธิการ สปสช. ให้มีการปฏิบัติตามมติ ครม. อย่างเคร่งครัด
ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความเห็นว่า ประธานกรรมการ สปสช. (รมต.สาธารณสุข) ควรแก้ไขการกำหนดอัตราเงินเดือนและปรับขึ้นเงินเดือนของเลขาธิการ สปสช. โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาจ้างอย่างชัดเจนให้สอดคล้องกับมติ ครม. อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่เจ้าหน้าที่พนักงานและลูกจ้างไม่เหมาะสม โดย สตง. ตรวจพบว่ามีการจ่ายเงินโบนัสแก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างของ สปสช. โดยที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่คณะกรรมการ ปี 2549 จ่ายโบนัส 18.70 ล้านบาท โดยไม่มีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ขณะที่ปีอื่นๆ ทุกปีจะมีมติจากคณะกรรมการอนุมัติให้จ่าย และในปีงบประมาณ 2550-2551 สปสช.จ่ายโบนัสให้พนักงานที่ไม่ใช่ลูกจ้างของ สปสช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล และไม่ได้นำเสนอข้อมูลนี้เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ จำนวน 2.75 ล้านบาท
ทางคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่าเห็นด้วยกับ สตง. ที่ให้ สปสช. ทบทวนขั้นตอนการจ่ายเงินโบนัสให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของ สปสช. โดยประสานกับสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ เพื่อเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง รวมทั้งการกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยงต้องปฏิบัติให้เหมาะสมตามกฎหมายของ สปสช. และการว่าจ้างที่ปรึกษาให้ชัดเจน และควรให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่ต้องมีที่ปรึกษา และกำหนดอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม
2. การบริหารพัสดุไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ สตง. พบว่า สปสช. ไม่ส่งแผนการจัดซื้อจัดจ้างให้ สตง. ภายในกำหนด 31 ตุลาคมของทุกปี และการจัดซื้อจัดจ้างมีรายการไม่ครบถ้วน และ สปสช. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของ สปสช. ว่าด้วยการพัสดุ
นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างมีการเปิดประมูลทั่วไปไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด โดยไม่ได้คัดเลือกงานจ้างของผู้เสนอราคาที่ตรวจสอบแล้วว่ามีคุณภาพ และคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขและขั้นตอนการยื่นขอเสนอราคา ทางคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า สปสช. ควรทำตามที่ สตง. เสนอแนะเพื่อให้การประมูลมีความโปร่งใส เป็นธรรม
3. การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดย สตง. พบว่าเงินก้อนดังกล่าวจำนวน 165.56 ล้านบาท ได้มาในปี 2552-2552 และ สปสช. นำเงินก้อนนี้เข้ากองทุนสวัสดิการ จากนั้นได้เบิกจ่ายเงินนี้ไปดูงานต่างประเทศ เบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ทำประโยชน์แก่ สปสช. จำนวน 90.43 ล้านบาท
คณะกรรมการตรวจสอบให้ความเห็นว่า สปสช. ชี้แจงไม่ตรงตามประเด็นที่ สตง. ทักท้วงว่า การนำเงินที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีที่มาจากการใช้เงินกองทุน สปสช. ไปซื้อยา ควรนำไปใช้สำหรับบริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ และจากการชี้แจงของ สปสช. ไม่ได้ปฏิเสธว่าเงินสนับสนุนที่ได้จากองค์การเภสัชกรรม ไม่ได้มาจากการใช้เงินกองทุน สปสช. ซื้อยาจากกองค์การเภสัช เพียงแต่อ้างว่าเป็นคนละส่วนกับที่องค์การเภสัชกรรมให้กับหน่วยบริการแล้ว และยอมรับว่าการใช้เงินดังกล่าวเพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่การบริการประชาชนในระบบ สปสช. คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่าให้ปรับปรุงระเบียบเพื่อให้การใช้เงินมีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยบริการ
4. การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่าให้เลขาฯ สปสช. นำเสนอการเปลี่ยนแปลงการจัดส่วนงานของ สปสช. ต่อคณะกรรมการก่อนประกาศใช้
5. ค่าใช้จ่ายบุคลการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
6. สตง. พบว่า สปสช. จ่ายเงินในปี 2552 ในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 95.32 ล้านบาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อการดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบระบุว่าเห็นด้วยกับ สตง. ที่ให้เลขาฯ สปสช. บริหารกองทุนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 โดยให้จ่ายเงินเฉพาะหน่วยบริการเท่านั้น และเลขาฯ สปสช. ต้องกำกับดูแลให้สาขาพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือการบริหารกองทุน สปสช. แต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด
7. การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามคู่มือกำหนด
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 3 เมษายน 2555 ก่อนที่จะมีการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ ซึ่งหนึ่งในชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ มี นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขา สปสช. เป็นหนึ่งในคู่แข่งคัดเลือกเลขา สปสช. คนใหม่ด้วย ทั้งนี้ นพ.วินัยเป็นผู้บริหาร สปสช. ในช่วงที่ สตง. ตรวจสอบว่าสำนักงาน สปสช. ดำเนินการงานไม่ถูกต้อง 7 ข้อ รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบได้ระบุชัดเจนตามรายละเอียดข้างต้น และผลการลงมติของคณะกรรมการ สปสช. ได้คัดเลือดให้ นพ.วินัยกลับมาเป็นเลขาธิการ สปสช. อีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม)
ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. ไม่ได้ดำเนินการใดๆ แม้จะมีรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบออกมาแล้วก็ตาม
อนึ่งก่อนหน้านี้หลังการคัดเลือกเลขาธิการสปสช.คนใหม่ สำนักข่าวอิศรารายงานว่าแหล่งข่าวจากคณะกรรมการสปสช.ระบุว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบไม่มีประเด็นเรื่องทุจริตหรือทำให้ทางราชการเกิดความเสียหาย เป็นเพียงการบริหารงานที่ยึดกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันของ สตง.และ สปสช. ซึ่งมีบางประเด็นที่อาจต้องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติในอนาคต และมอบให้ สปสช. ทำรายละเอียดข้อชี้แจงเสนอ สตง.ต่อไป ( อ่านที่นี่)